ThaiPublica > คอลัมน์ > ความแตกต่างในการยอมรับนวัตกรรมการสอนเด็กปฐมวัย

ความแตกต่างในการยอมรับนวัตกรรมการสอนเด็กปฐมวัย

17 กันยายน 2017


วีระชาติ กิเลนทอง [email protected] พนิตา สุรชัยกุลวัฒนา [email protected] มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2560 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “เศรษฐกิจ คิดใหม่” ในวันที่ 18-19 กันยายน 2560
(รายละเอียดที่ https://www.bot.or.th/BOTSymposium2017)

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2017/09/picture_RIECE_bot_1_resized.png

หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือแนวคิดที่ค้นพบว่ามีประสิทธิภาพในต่างประเทศมาปรับใช้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ มักจะเป็นการใช้ในลักษณะผิวเผินเท่านั้น ทำให้เมื่อนำมาใช้แล้วไม่เห็นผล ไม่ได้คุณภาพ หรือประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม แต่เกิดจากการยอมรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม (technology adoption)

งานวิจัยนี้ศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการสอนเด็กปฐมวัย โดยอาศัยข้อมูลจากโครงการลดความเลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ “ไรซ์ไทยแลนด์” (Reducing Inequality through Early Childhood Education in Thailand: RIECE Thailand) ซึ่งได้นำกระบวนการเรียนรู้แบบไฮสโคป (HighScope) มาใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับเด็กและเยาวชน และสร้างฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุนมนุษย์ต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์หลังจากดำเนินโครงการผ่านไปแล้วกว่า 2 ปี คือ ครูปฐมวัยบางรายยอมรับกระบวนการสอนแบบไฮสโคป และสามารถประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี หรือในเชิงวิชาการเรียกว่า การยอมรับเทคโนโลยีแบบแท้จริงสูง (high-fidelity adoption) บางรายยอมรับแต่ทำเพียงผิวเผิน (ceremonial adoption or low-fidelity adoption) ในขณะที่บางรายไม่ยอมรับและไม่เปลี่ยนแปลงเลย

ความหลากหลายของการยอมรับเทคโนโลยีนี้เป็นความท้าทายทั้งในด้านวิชาการและด้านนโยบายการศึกษา ดังนั้น นักวิจัยจึงต้องการเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อความหลากหลายของการยอมรับเทคโนโลยีดังกล่าว โดยประยุกต์ใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ (economics) และการบริหาร (management) ทั้งเชิงเชิงปริมาณ (quantitative) และเชิงคุณภาพ (qualitative) เพื่อในที่สุดจะสามารถเข้าใจองค์ประกอบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีแบบแท้จริงสูงอย่างมีคุณภาพ

ข้อค้นพบจากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหลักที่มีผลต่อระดับการยอมรับเทคโนโลยี ได้แก่

    (1) การได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการร่วมสอนของครูไรซ์ไทยแลนด์ (technology and knowledge transfer)
    (2) การได้รับการยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานภายนอก (reassurance)
    (3) ความสนใจของผู้บริหารและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders’ attention and interest)
    และ (4) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กปฐมวัยอันเป็นผลเชิงประจักษ์ (empirical outcome realization)

หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งขาดหายไปจะมีผลทำให้ยอมรับเทคโนโลยีแบบแท้จริงสูงเกิดขึ้นได้ยาก กล่าวคือ การยอมรับเทคโนโลยีแบบแท้จริงสูงเป็นผลมาจากการทั้งสี่ปัจจัยร่วมกันไม่ใช่แค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ในทำนองเดียวกัน ผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณชี้ให้เห็นว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการร่วมสอนของครูไรซ์ไทยแลนด์สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพของการสอนหรือการยอมรับเทคโนโลยีแบบแท้จริงสูงอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่การถ่ายทอดผ่านการฝังตัวในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสามารถกระตุ้นให้เกิดการยอมรับแบบผิวเผินแต่ไม่มีผลต่อการการยอมรับเทคโนโลยีแบบแท้จริงสูง ส่วนปัจจัยอื่นไม่ว่าจะเป็น การจบการศึกษาด้านปฐมวัย การมีระบบโบนัส ภาระหนี้สิ้นของครู ทัศนคติของครูปฐมวัย การเป็นคนในพื้นที่ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ล้วนแล้วแต่ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการยอมรับเทคโนโลยีในการสอนแบบไฮสโคปทั้งในแบบผิวเผิน และการยอมรับอย่างแท้จริงสูง

การวิเคราะห์ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณชี้ให้เห็นตรงกันว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีในระดับสูงที่สำคัญที่สุด คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการร่วมสอนของครูไรซ์ไทยแลนด์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้เพียงปัจจัยเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีแบบแท้จริงสูง จำเป็นต้องอาศัยกลไกด้านการได้รับการยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานภายนอก และความสนใจของผู้บริหารและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วยจึงจะเห็นผล หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีแบบผิวเผินเท่านั้น

ถึงแม้ว่าผลการวิเคราะห์ในที่นี้จะเป็นเพียงผลเบื้องต้นจากข้อมูลที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้นักวิจัยสามารถปรับปรุงรูปแบบการทำงานในภาคสนามให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อว่าการผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์เชิงปริมาณ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และประสบการณ์โดยตรงจากการทำงานจริงในภาคสนาม สามารถช่วยให้เข้าใจความหลากหลายของการยอมรับเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น

ในท้ายที่สุด นักวิจัยเชื่อว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยอมรับเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่อยู่ในรูปแบบของกระบวนการ (process technology) มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสังคมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้จำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงสูง

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์