ThaiPublica > คอลัมน์ > คุยเรื่องลักลอบขุดของโบราณจากมุมมองเศรษฐศาสตร์: (ตอนที่ 2) “Micro-Level”

คุยเรื่องลักลอบขุดของโบราณจากมุมมองเศรษฐศาสตร์: (ตอนที่ 2) “Micro-Level”

29 กันยายน 2017


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

“มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย”
– พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

จากบทความที่แล้วเรื่องลักลอบขุดของโบราณจากมุมมองเศรษฐศาสตร์: ตอนที่ ๑ “Macro-Level” ผู้เขียนได้เสนอว่าทรัพยากรมรดกทางโบราณคดีมีลักษณะเป็นทรัพย์สาธารณะที่มีจำนวนจำกัดและมีมูลค่าสูงทำให้การดูแลและพัฒนาให้ทั่วถึงโดยภาครัฐฝ่ายเดียวนั้นเป็นไปได้ยาก ทั้งยังเป็นภาระในเชิงงบประมาณและกำลังคนในการบังคับกฎหมายและการศึกษา

ท่ามกลางกระแสความต้องการของตลาดที่จะเสพวัฒนธรรมและมรดกโบราณคดีมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการลักลอบขุดของโบราณจึงแพร่ขยายในลักษณะการขุดหาของเล็กแต่ขุดเยอะขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวต่อทรัพยากรที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศและชุมชนได้ในระยะยาว ดังนั้น การเพิ่มโทษทางกฏหมายอาจจะไม่ใช่ทางออกที่สามารถหยุดยั้งหรือลดปัญหานี้ได้

มูลเหตุของพฤติกรรมการละเมิดกฏหมายนั้นมีหลายสาเหตุ การมองผู้กระทำผิดแบบเผินๆ ว่าทำไปเพราะ “ความโลภ” หรือ “ขาดจิตสำนึกและความเข้าใจ” ทำให้การแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ตรงจุด ผู้เขียนมองว่าวิธีการแก้ปัญหาการลักลอบขุดจำเป็นจะต้องแบ่งกลุ่มผู้ลักลอบและเหตุปัจจัยในการลักลอบขุดออกเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันเพื่อแก้ปัญหาไปตามลำดับ

ในบทความนี้ผู้เขียนจะยังคงการเน้นปัญหาการขุดหาของเล็กเป็นหลัก ซึ่งแม้จะไปด้วยกันกับการลักลอบขุดหาเทวรูปและพระพุทธรูปต่างๆ แต่ปัญหาของเล็กเช่นการหาลูกปัด พระเครื่อง เหรียญ เป็นลักษณะปัญหาที่มีความแตกต่างกับของโบราณชิ้นใหญ่ซึ่งมีการศึกษาโครงสร้างกิจกรรมทางอาชญากรรมและพฤติกรรมของผู้ลักลอบและผู้ค้ามากกว่า

หลุมที่เกิดจากการลักลอบขุดในแหล่งโบราณคดี

เดิมทีปัญหาการลักลอบขุดของโบราณนั้นอาจจะมีมิติที่ซับซ้อนน้อยกว่าในสมัยปัจจุบัน ในอดีตมีผู้ลักลอบขุดที่มาจากพื้นฐานะยากจนแต่อาศัยอยู่ในบริเวณโบราณสถาน มีกลุ่มพ่อค้าของโบราณที่คอยไปหาแหล่งซื้อจากผู้ลักลอบขุดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนซื้อซึ่งเป็น กลุ่มชนชั้นบนในเมืองและชาวต่างชาติที่นิยมของชิ้นใหญ่หรือของที่ราคาสูง และกลุ่มที่นิยมเก็บเครื่องรางของขลัง เช่น พระเครื่อง แต่ในปัจจุบันการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางและเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้กลุ่มเหล่านี้แตกตัวออกไปเป็นหลายระดับ

1. การลักลอบขุดของโบราณที่เกิดจากสภาวะความยากจนของพื้นที่

กลุ่มผู้ลักลอบขุดที่มีฐานะยากจน (subsistence looter) มักอาศัยอยู่ในพื้นที่การเกษตรแต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพแรงงานรับจ้างเป็นหลักหรือในบางกรณีคือเป็นพื้นที่ซึ่งห่างไกลการพัฒนาทำให้รายได้ของชุมชนไม่ดี แม้ว่าจะพอขายของโบราณยังชีพได้บ้างแต่จะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาต่ำกว่าราคาที่ไปขายจริงหลายเท่า หลายๆ ครั้งที่พบกิจกรรมการลักลอบขุดจะเป็นไปในลักษณะที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและมักกระทำโดยเด็กและเยาวชนเป็นหลัก เช่น การลักลอบเข้าไปขุดแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในพื้นที่ของเอกชนที่มีพื้นที่เป็นป่าไผ่ การลักลอบขุดมักกระทำช่วงฝนตกทำให้มีความเสี่ยงที่ดินจะถล่มทับผู้ขุดและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตผู้ขุดได้

แม้ว่าจะมีรายได้หลักมาจากแหล่งอื่นเพื่อจุนเจือบ้างแต่การขุดของโบราณที่สำหรับกลุ่มที่มีฐานะยากจนเหมือนกับการเล่นพนันหรือลงทุนในสินค้าการเกษตรที่สร้างรายได้เร็ว (cash crop) แต่ก็ไม่ยั่งยืน รายได้ที่ได้จากการขายของโบราณนั้นมักจะถูกนำไปใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ

การแก้ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มชุมชนที่ลักลอบขุดโบราณวัตถุลักษณะนี้จึงต้องเน้นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความยากจนเป็นหลัก สร้างศักยภาพให้ชุมชนมีจุดร่วมในการรักษาและมีบทบาทในการบริหารจัดการและศึกษาทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่อนำมาเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพในระยะยาว

2.การลักลอบขุดของโบราณเพื่อเป็นรายได้เสริม

กลุ่มที่ลักลอบขุดของโบราณเป็นรายได้เสริมมักมีงานประจำแต่เป็นลักษณะฤดูการณ์ เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและงานประมง โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีที่ดินเป็นของตนเองหรือเช่าที่ดินในการลักลอบขุด หากเป็นเจ้าของที่ดินมักจะทำไปพร้อมๆ กับกิจกรรมการเกษตร เช่น การปลูกข้าวโพดซึ่งสามารถใช้อำพรางการขุดได้อย่างดี คนกลุ่มนี้ให้ความสนใจกับข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาลักษณะและราคาโดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตามสื่อและงานเสวนาหรือนิทรรศการต่างๆ กลุ่มนี้มักจะทำการขายตรงหรือรับซื้อจากกลุ่มแรกอีกที

เราสามารถแบ่งกลุ่มนี้ออกเป็น พ่อค้าคนกลางชั้นต้น (early stage intermediary) หรือผู้ลักลอบขุดและค้าซึ่งยังเป็นกลุ่มที่เข้าสู่ตลาดใหม่ และพ่อค้าคนกลางที่มีประสบการณ์ (later stage intermediary)

พ่อค้าคนกลางชั้นต้นเป็นกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลทางตลาดโบราณวัตถุและศิลปวัตถุได้โดยมีข้อจำกัด กลุ่มนี้มักซื้อขายสินค้าตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น โดยสินค้าที่วนเวียนอยู่ในตลาดมักมีทั้งของจริงและของปลอมปนไปอาศัยประสบการณ์ของผู้ซื้อเป็นหลัก

พ่อค้าคนกลางที่มีประสบการณ์จะมีแหล่งปล่อยสินค้าและข้อมูลอยู่ในมือเยอะ คนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ถ่ายของออกจากตลาดที่ผิดกฎหมายไปสู่ตลาดเทาหรือตลาดที่ก้ำกึ่งผิดและถูกกฎหมาย เช่น ห้องประมูลต่างๆ และร้านขายของโบราณที่ได้รับอนุญาตในเมือง คนกลุ่มนี้มักมีข้อมูลและเครือข่ายในมือเยอะและทำหน้าที่ส่งของจริงจากพ่อค้าคนกลางชั้นต้นหรือผู้ลักลอบขุดไปให้ผู้ขายในตลาดใหญ่หรือไม่ก็ส่งของที่ “ไม่ได้คุณภาพ” ลงไปสู่ตลาดของพ่อค้าคนกลางชั้นต้นและตลาดผู้สะสมรายย่อยอีกที

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศซึ่งอยู่ในระดับรายได้ปานกลางบนนั้น แม้ว่าจะมีปัญหาความยากจนแต่ปัญหาการลักลอบขุดหลักจะมาจากผู้ลักลอบขุดเพื่อเป็นรายได้เสริมมากกว่าเพื่อเป็นการหาเลี้ยงชีพ โดยในกลุ่มที่หารายได้เสริมนั้นอาจจะมีปัญหาความยากจนบ้างแต่ก็ไม่ได้เหมือนประเทศเช่นกัมพูชาหรือลาวซึ่งยังเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างและรายได้น้อย การแก้ปัญหาพฤติกรรมการลักลอบขุดและขายจึงจำเป็นต้องมองมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายหรือการแก้ปัญหาความยากจน แต่ควรแก้ปัญหาเพื่อลดพื้นที่เศรษฐกิจนอกระบบ

การสร้างโอกาสทางอาชีพและการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง

หากเราจำแนกเหตุผลการลักลอบขุด ค้า และสะสมของโบราณชิ้นเล็กออกมาเป็นชนิดจะได้ข้อสรุปดังนี้

    1. ความต้องการรายได้เพิ่มเติม
    2. ความเชื่อท้องถิ่นว่าทรัพยากรทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เป็นเหมือนทรัพย์สมบัติตกทอดจากบรรพบุรุษ
    3. ความสนใจในการเก็บสะสมและศึกษา

การแก้ปัญหาเรื่องรายได้เสริมนั้นละเอียดอ่อนแต่หากมองในแง่ตลาดงานและรายได้เป็นหลักกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเป็นแรงงานที่มีค่าในการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมหากมีการบริหารให้ถูกต้อง

ปัจจุบันขั้นตอนการค้นคว้า ศึกษา และอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ ยังคงเป็นหน้าที่ของรัฐและสถานบันการศึกษาเป็นหลักแต่งานหลายๆ อย่างทางการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมสามารถแยกออกมาเป็นลักษณะ งานช่างเทคนิค (Technician) งานผู้ชำนาญการพิเศษ (Specialist) และงานบริหารจัดการ (Managerial)

ความแตกต่างระหว่างงานช่างเทคนิคกับงานของผู้ชำนาญการในแง่การศึกษาและบริหารมรดกทางวัฒนธรรมคือ งานช่างเทคนิคนั้นสามารถฝึกฝนได้ผ่านการจัดหลักสูตรการสอนระยะสั้นหรืออนุปริญญาและใช้การปฏิบัติงานเป็นการเรียนรู้เป็นหลัก ในขณะที่งานของผู้ชำนาญการพิเศษนั้นเป็นงานวิชาการศึกษาซึ่งต้องสร้างผ่านการศึกษาในระดับปริญญาไปถึงปริญญาเอก

งานหลายๆ อย่าง เช่น การรักษาและแยกแยะ หรือแม้กระทั่งงานการขุดค้นทางโบราณคดี มีลักษณะของทักษะทางเทคนิคซึ่งผู้ที่มาปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาระดับปริญญาแต่สามารถเป็นงานที่สร้างและแบ่งให้กับบุคคลากรท้องถิ่นได้หากมีการจัดสอนและฝึกเหมือนกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การเกษตร เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน การนำเอาชุมชนมาเป็นส่วนร่วมในการค้นคว้าเป็นการสร้างงานและมูลค่าทางสังคมให้แก่บุคคลากรที่มีความสนใจอยู่แล้วแต่เลือกที่จะปฏิบัติกับศึกษาอย่างผิดแนวทาง เช่น การเก็บสะสมลูกปัดและของโบราณต่างๆ

ในอีกระดับการจัดการกับปัญหาการค้าขายของโบราณขนาดเล็ก ทางออกในการจับหรือห้ามไม่น่าจะเป็นสิ่งที่หยุดปัญหาได้แต่ควรหันมาเน้นการกระจายวิถีทางการขุดและพัฒนาตลาดให้ถูกต้องและเป็นระบบ เช่น หากมีการเจอของโบราณควรมีกฎหมายบังคับจำนวนวันที่จะต้องแจ้งทางการโดยระบุข้อปฏิบัติให้แน่ชัด เช่น การบันทึกตำแหน่งสถานที่การไม่ลักลอบขุดเพิ่มเติมและให้ผู้แจ้งได้รับสิทธิ์ในการเสนอขายในส่วนของราคาประเมินที่ถูกต้องแก่พิพิธภัณฑ์ก่อน หากพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถรับซื้อได้ก็บันทึกในทะเบียนและรับรองของแท้ให้แก่ผู้พบโดยมีระบบทะเบียนและควบคุมให้เป็นสินค้าซื้อขายและใช้ได้แค่ภายในประเทศ

Department for Culture, Media, and Sport (กรมวัฒนธรรม สื่อ และ การกีฬา) ของสหราชอาณาจักรได้จัดตั้ง Portable Antiquities Scheme ขึ้นในปี พ.ศ 2539 โดยมีเป้าหมายคือการสนับสนุนให้ประชาชนที่เจอโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุทำการบันทึกและศึกษาเองอย่างถูกต้องโดยทำงานส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานของรัฐ โดยมีการขอความร่วมมือจากเหล่านักล่าสมบัติสมัครเล่นที่ใช้เครื่องตรวจจับโลหะจดทะเบียนหาของเล็กๆ น้อยๆ เป็นงานอดิเรกและนักสะสมต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการ Portable Antiquities Scheme

ตัวอย่างของที่ค้นพบโดยผู้เข้าร่วมโครงการ Portable Antiquities Schemeและ แผนที่การกระจายตัวของบริเวณที่ค้นพบโบราณวัตถุในอังกฤษโดยประชาชนโครงการดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งของรัฐบาลและส่งผลในการแก้ปัญหาการทำลายแหล่งโบราณคดีอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังสร้างอาชีพในสายอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่มาเข้าร่วมโครงการอีกด้วย

ปัจจุบันโครงการนี้ประสบความสำเร็จในแง่การขยายข้อมูลทางโบราณคดีซึ่งนักโบราณคดีมักไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนนักล่าสมบัติหลานหมื่นคนให้กลายเป็นนักอนุรักษ์แหล่งโบราณสถาน ช่างเทคนิค และผู้ชำนาญการทางด้านโบราณคดีท้องถิ่นกว่าหมื่นคน โดยในปี พ.ศ 2559 ได้มีการบันทึกของเพิ่มเติมถึง 82,272 ชิ้น จากจากจำนวน 1,211,201 ชิ้นในฐานข้อมูลเดิม 90% ของโบราณวัตถุถูกพบโดยผู้ใช้เครื่องตรวจจับโลหะโดย 88% เจอในพื้นที่ทำการเกษตร มีการพบสมรภูมิรบโบราณและบ้านโรมันเพิ่มเติม นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังถูกใช้สำหรับทำงานวิจัยใหญ่ๆถึง 25 โครงการไม่นับงานวิจัยย่อยและงานวิจัยในระดับปริญญาเอกถึงหกร้อยกว่าโครงการ

ในขณะเดียวกันก็ควรเพิ่มสิทธิประโยชน์เช่นการลดภาษีและให้สิทธิประโยชน์ทางสังคมให้กับผู้เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีหากรักษาและไม่มีการทำลายแหล่งดังกล่าว พร้อมๆ ไปกับการสร้างทุนทรัพย์ที่จะทำให้เจ้าของที่ดินเหล่านี้สามารถพัฒนาแหล่งโบราณคดี “ในบ้าน” ของตนมาเป็นแหล่งรายได้เสริมในระยะยาวสำหรับชุมชนและท้องที่

การแก้ปัญหาการลักลอบขุดหัวใจสำคัญคือการเข้าใจปัญหาในระดับผู้พบและหาของ การจับบุคคลเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นที่หยุดยั้งปัญหาได้เพียงชั่วข้ามวัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อหาทางเลือกที่ดีกว่าน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนมากกว่าแนวทางปฏิบัติแบบดั้งเดิมผ่านการใช้กฎหมาย