ThaiPublica > คอลัมน์ > โต้วาที สร้างนักคิดหรือแค่พูดเก่ง? เรื่องเล่าจากการคัดนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

โต้วาที สร้างนักคิดหรือแค่พูดเก่ง? เรื่องเล่าจากการคัดนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

25 ธันวาคม 2018


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

การโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษเป็นกิจกรรมในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการศึกษาและเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในการสร้างมิตรภาพที่ดีเหมือนกิจกรรมในวัยเรียนอื่นๆ ดีเบตหรือการโต้สาระวาทีกำลังเป็นที่นิยมในสถาบันการศึกษาของเอเชียด้วยความพยายามผลักดันของเหล่าบุคลากรที่เคยได้รับประโยชน์ของการสอนวิถีการโต้สาระวาทีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

สำหรับผู้เขียน กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติวัยเรียนทั้งการแข่งขันโต้สาระวาทีของโรงเรียนนานาชาติ การจำลองประชุมสหประชาชาติ (Model United Nations) กิจกรรมตัวแทนผู้นำเยาวชนนานาชาติ และในมหาวิทยาลัยผู้เขียนได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติในการแข่งขันโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษในระดับมหาวิทยาลัย และเป็นทีมไทยทีมแรกที่ได้ผ่านเข้ารอบสิบหกทีมสุดท้ายของการแข่งขันโต้สาระวาทีมหาวิทยาลัยโลก (Worlds University Debating Championship) และได้มีโอกาสเดินทางสอนการโต้สาระวาทีทั้งในไทยและต่างประเทศในก่อนที่ผู้เขียนจะตัดสินใจเลิกจากกิจกรรมดังกล่าว

ปัจจุบันหนทางชีวิตได้มอบโอกาสให้ผู้เขียนได้ใช้เวลาสี่ปีที่ผ่านมาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษสองแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ผู้เขียนได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ออกข้อสอบ คัดเลือกและสอบสัมภาษณ์นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยในเวลาสองปีที่ผ่านมา โอกาสนี้ทำให้ได้เห็นอีกด้านหนึ่งของระบบการศึกษาในสหราชอาณาจักร และที่สำคัญ เข้าใจคุณสมบัติที่ทางมหาวิทยาลัยอย่างออกซ์ฟอร์ดให้ความสำคัญ ซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในฐานะนักศึกษาสอบเข้าหรือคนภายนอกคิดเสมอไป

หลักสูตรและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ผู้เขียนรับผิดชอบในขั้นตอนการสอบเข้าของคณะประวัติศาสตร์ ซึ่งการเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นจะเรียนภายในวิทยาลัยแยกตัวมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแบ่งออกเป็น 38 วิทยาลัย ครอบคลุม 5 สาขาวิชาโดยแบ่งเป็นกลุ่มวิชาดังนี้

    1) สาขาวิชามนุษยศาสตร์ (Humanities)
    2) สาขาวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ (Mathematical, Physical and Life Sciences)
    3) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Sciences)
    4) สาขาวิชาสังคมศาสตร์ (Social Sciences)
    5) สวน ห้องสมุด และ พิพิธภัณฑ์ (Gardens, Libraries, and Museums)

กลุ่มวิชาเหล่านี้จะแบ่งเป็นคณะและสถาบันย่อยออกไปอีก สำหรับการเรียนในระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ แทบจะไม่มีหลักสูตรวิชาเอกเทศ โดยเฉพาะในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เช่น ปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ล้วนๆ เหตุผลคือการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นการปูพื้นนักปฏิบัติการที่ใช้ความรู้สูงกว่าวิชาชีพ และการฝึกในระดับปริญญาตรีควรเปิดกว้างให้นักศึกษาเรียนรู้ทักษะและเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ประเด็นเชิงสังคมหรือมนุษยศาสตร์โดยพื้นฐานก่อนที่จะเริ่มวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อในการศึกษาระดับปริญญาโท การฝึกสอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีจึงเน้นด้านการเปิดโลกทัศน์และเพิ่มทักษะให้ครอบคลุมมิติต่างๆ ภายใต้หัวข้อหลวมๆ ของปริญญาที่นักศึกษาเลือกเรียน

ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดการเรียนจะแบ่งออกเป็น เลคเชอร์ที่จะสอนภาพรวม และติวเตอร์เรียลที่จะเจาะลึกประเด็น โดยนักศึกษาจะได้รับรายการหนังสือภาพรวมจากผู้สอนเลคเชอร์และรับรายการหนังสือเพิ่มพร้อมการบ้านจากติวเตอร์ ทั้งเลคเชอร์และติวเตอร์เรียลมักมีความยาวไม่เกินหนึ่งชั่วโมง หัวใจของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดคือระบบติวเตอร์ซึ่งเรียนกันไม่เกินนักศึกษาสี่ห้าคนต่ออาจารย์หนึ่งคน โดยวิทยาลัยที่เน้นคุมคุณภาพจะบังคับให้เป็นนักศึกษาสองคนต่ออาจารย์หนึ่งคนต่อชั่วโมง เรียกว่าแทบจะบังคับกันเรียนให้คิดและเข้าใจก็ว่าได้ นักศึกษาจะต้องส่งงานและอ่านเนื้อหามาตามกำหนดก่อนที่จะเข้าเรียน

ศาสตราจารย์เจรามี แคตโต ผู้ซึ่งสอนหน้าที่ “ติวเตอร์” ให้กับผู้เขียนได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า “หน้าที่ของติวเตอร์ออกซ์ฟอร์ดไม่ใช่สอนให้นักศึกษาเรียนรู้ว่าจะพูดอะไร แต่เรียนรู้ว่าอะไรที่พูดแล้วผิด”

การเรียนระดับปริญญาตรีนั้นถ้าเปรียบแล้วก็คือการชอปปิงทักษะให้มากจนสามารถเริ่มเข้าสู่แนวทางลงลึกได้ ทักษะเหล่านี้ต้องรู้และเข้าใจว่ามีที่มาอย่างไร มีไว้ใช้สำหรับอะไร และเพราะอะไรถึงมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย อธิบายง่ายๆ คืออ่านหนังสือหรือบทความแล้วเข้าใจเชิงลึกแต่อาจจะยังทำวิจัยหรือเขียนงานวิชาการเองเต็มๆ ไม่ได้ การเรียนการสอนไม่ได้เน้นให้เรียนเพื่อสอบรายปีแต่มีการสอบและประเมินพัฒนาการไปเรื่อยจนสอบปีสุดท้ายที่จะวัดคะแนน โดยที่ข้อสอบปีสุดท้ายมักจะเป็นการตอบคำถามสามข้อกว้างๆ ในเชิงลึก เช่น

การค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจริงหรือไม่?

คุณจะให้คำปรึกษาอะไรกับรัฐบาลในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งสนใจนโยบายที่จะลดอัตตราการเกิดของประชากร? ในการบริหารอัตราการเกิด สวัสดิภาพและสิทธิส่วนบุคคลกับการพัฒนาโดยรวมเป็นปัจจัยที่ขัดแย้งกันเสมอไปหรือไม่?

ซึ่งนักศึกษาจะต้องดึงสิ่งที่เรียนมาตลอดสามปีมาใช้อ้างอิงและวิเคราะห์คำถามดังกล่าว

การตอบคำถามนั้นจะเห็นได้ว่ามีหลายมิติ ดังนั้น วิชาที่นักศึกษาเรียนมาและนำมาใช้วิเคราะห์จะสร้างมุมมองทั้งเหมือนและแตกต่างออกไป

ในการเลือกเรียนปริญญานักศึกษาสนใจที่สนใจวิชารัฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี จะมีตัวเลือกหลักสูตรที่จะสมัครได้โดยหลักคือ

    1. หลักสูตรการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ (Politics, Philosophy, and Economics หรือ PPE)
    2. หลักสูตรประวัติศาสตร์และการเมือง (History and Politics)

หรือถ้าใครสนใจจะเรียนเศรษฐศาสตร์ ก็จะมีตัวเลือกดังต่อไปนี้

    1. หลักสูตรประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ (History and Economics)
    2. หลักสูตรเศรษฐศาสตร์และบริหาร (Economics and Management)
    3. หลักสูตรการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ (Politics, Philosophy, and Economics หรือ PPE)

หลักสูตรเหล่านี้ไม่ได้สอนในทุกวิทยาลัย และผู้สมัครจะมีตัวเลือกจำกัด โดยอัตราการรับเข้าโดยรวมมีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่การสอบนั้นจะทำการสอบรวมทั้งมหาวิทยาลัยตามปี ดังนั้น ผู้เรียนจะเรียนแยกแต่สอบข้อสอบเดียวกัน นั่นทำให้วิทยาลัยต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีการแข่งขันด้านคุณภาพของนักศึกษา

สำหรับสาขาวิชาภายใต้คณะประวัติศาสตร์นั้นแบ่งออกเป็น

  • หลักสูตรประวัติศาสตร์ (History)
  • และหลักสูตรที่ร่วมกับคณะอื่นคือ

  • หลักสูตรประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่ (Ancient and Modern History)
  • หลักสูตรประวัติศาสตร์และการเมือง (History and Politics)
  • หลักสูตรประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ (History and Economics)
  • หลักสูตรประวัติศาสตร์และภาษาสมัยใหม่ (History and Modern Languages)
  • การสอบเข้าหลักสูตรวิชาร่วมนั้นจะต้องผ่านการสอบจากสองคณะ เช่น ถ้าสมัครประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จะต้องสอบทั้งสองวิชาจากคณาจารย์ผู้สอนในวิทยาลัยที่สมัคร

    การคัดนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดหลายๆ คณะนอกจากจะต้องยื่นคะแนนการศึกษาแล้ว ผู้สมัครมักจะต้องสอบการวัดทักษะความถนัดทางวิชาหรือการวิเคราะห์ และต้องส่งตัวอย่างงานที่ทำในโรงเรียนประกอบนอกเหนือจากหนังสือแสดงเจตนาในการเข้าศึกษาวิชาและจดหมายแนะนำจากทางโรงเรียน

    สำหรับหลักสูตรภายใต้คณะประวัติศาสตร์ ออกซ์ฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในอังกฤษที่มีข้อสอบทักษะการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ (History Aptitude Test) ที่สำหรับผู้สมัครคือฝันร้ายย่อยๆ เพราะคำถามนั้นบางทีก็ออกแปลกๆ อยู่ แต่สำหรับเหล่าอาจารย์ที่ต้องตรวจข้อสอบจากผู้สมัครทุกคนมันคือมหกรรมที่เกิดขึ้นทุกปี นอกจากนี้ ถ้าสมัครหลักสูตรร่วมอย่างการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ ผู้สมัครจะต้องสอบข้อสอบทักษะในการคิด (Thinking Skill Assessment) เพิ่มด้วย

    โดยคะแนนดังกล่าวจะถูกนำมาผนวกกับค่าเฉลี่ยการเรียนในระดับ GCSE และ A-Levels (หรือระบบเทียบเคียง) มีการปรับค่าปัจจัยความเท่าเทียม เช่น ผู้สมัครมีปัญหาด้านสุขภาพกายหรือทางจิตเวช มาจากโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นรายได้ต่ำหรือเป็นโรงเรียนที่ส่งเด็กนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยน้อย บ้านอยู่ในเขตรายได้ต่ำ ฯลฯ หากคะแนนสูงพอ ผู้สมัครจะได้รับการเรียกตัวเข้าสอบสัมภาษณ์

    การสอบสัมภาษณ์แบ่งเป็นคำถามสั้นและยาว หากผู้สมัครอยู่ต่างประเทศสามารถใช้อินเทอร์เน็ตโทรเข้าจากศูนย์สอบในภูมิภาคต่างๆ ได้ แต่จากประสบการณ์การสอบผู้เขียนอยากแนะนำว่าผู้สมัครควรบินมาสอบเพราะการแสดงความสามารถผ่านระบบการโทรทางอินเทอร์เน็ตกับการสอบตัวต่อตัวนั้นต่างกันมาก คำถามสั้นนั้นจะมักจะเป็นคำถามที่ออกแบบมาให้แปลกเพื่อผู้สมัครจะเตรียมอะไรมากไม่ได้ เป็นการตรวจสอบความสร้างสรรค์ ทักษะการวิเคราะห์และสังเกต ความยืดหยุ่นในเชิงทัศนคติและความคิด ส่วนที่สองจะเป็นการทดสอบทักษะการเรียนรู้ การอ่าน และการวิเคราะห์แก้ปัญหา โดยจะมีผู้สอบสองคนต่อผู้สมัครหนึ่งคนผลัดกันถามและช่วยกันสังเกตผู้สมัคร การสอบภาคสองผู้สมัครสอบจะต้องอ่านบทความที่กำหนดไว้ให้โดยมีเวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนสอบ

    ตัวอย่างคำถาม เช่น คุณเปรียบเทียบการวิเคราะห์ กาน้ำสมัยราชวงศ์ถังที่ทำจากดินเผาและเคลือบวัสดุที่ไม่แพงมากแต่พบได้ทั่วไป กาดังกล่าวที่มีรูปแบบมาจากกาน้ำกรีกมีลายแบบเปอร์เซีย กับกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าสมัยใหม่แบรนด์อิตาลีแต่ผลิตในจีนได้อย่างไร?

    ที่มาภาพ : http://www.wudc2018.mx/gallery.html

    ผู้สอบที่มีประวัติทำกิจกรรมโต้สาระวาทีหรือดีเบต

    เข้าสู่ประเด็นเรื่องการโต้สาระวาทีในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมวัยเรียนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนในเอเชียโดยเฉพาะการโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษ

    ผู้เขียนและอาจารย์อีกหลายท่านซึ่งมีประสบการณ์สอบสัมภาษณ์มากว่าสิบปีต่างลงความเห็นว่า เด็กที่ผ่านกิจกรรมการโต้สาระวาทีแบบแข่งขันมาหรือกิจกรรมเชิงการพูดในที่สาธารณะมักเป็นเด็กที่พูดเก่ง ไม่ประหม่าในที่สัมภาษณ์ แต่กลับกลายเป็นเด็กที่เดินเข้ามาแล้วสอบตกการสัมภาษณ์ชนิดที่บางคนแม้คะแนนเต็มแทบทุกอย่างแต่กลับเป็นเด็กที่มหาวิทยาลัยไม่อยากรับเข้ามาสอน

    ในช่วงการสอบสัมภาษณ์ที่เพิ่งผ่านมา ผู้เขียนได้พยายามสังเกตและรวบรวมปัญหาที่เจอไว้เพื่อนำมาเสนอให้ผู้อ่าน เพราะทิศทางการพัฒนาแนวทางการคิดของประเทศไทยนั้นมักเน้นคำว่า “สร้างสรรค์” “คิดต่าง” “กล้าพูด” คำเหล่านี้มักถูกนำขึ้นมาเป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาบ่อยๆ แต่นักเรียนที่สมัครเข้าจากเอเชียนั้นส่วนใหญ่มักแสดงทักษะทั้งสามอย่างแบบชัดเจนแต่ทำไม่จึงสอบไม่ผ่าน?

    การโต้สาระวาทีนั้นเป็นการสร้างนักพูดโน้มน้าวซึ่งอาจจะเป็นทักษะที่ดีสำหรับเด็กที่สนใจหลักสูตรการเมืองอย่าง PPE แต่ไม่ได้เจาะลึกวิเคราะห์อย่าง History and Politics เพราะสร้างองค์ความรู้ทั่วไปและพื้นฐานการวิเคราะห์ให้นักเรียน แต่ในเวลาเดียวกัน การโต้สาระวาทีที่เน้นเถียงให้ชนะนั้นเป็นการสร้างบุคคลิกความมั่นใจที่บางครั้งอาจจะมั่นใจมากเกินไปให้กับเด็กวัยรุ่น ซึ่งในการสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นผู้เข้าสอบจะต้องใช้ทักษะดังต่อไปนี้

    1. การอ่านและฟังอย่างรอบคอบ

    ปัญหาที่มักพบในเด็กที่ผ่านการฝึกโต้สาระวาทีมาคือการที่ผู้เข้าสอบไม่ฟังผู้สอบให้ดี

    คำถามที่ใช้ในการสอบสัมภาษณ์นั้นมักเป็นสิ่งที่ผู้เข้าสอบจะไม่ได้พบเห็นมาก่อนในการเรียนระดับมัธยม เหตุผลในการเลือกข้อสอบแปลกออกไปจากหลักสูตรการเรียนประวัติศาสตร์ที่นักเรียนจะผ่านมาคือความต้องการแยก “ความรู้” ออกจาก “ความคิด” ดังนั้น คำถามที่สร้างความเท่าเทียมให้กับเด็กที่มาจากพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างมากๆ คือคำถามที่นักเรียนไม่เคยเห็นหรือทราบรายละเอียดมาก่อนหรือทราบน้อยมาก

    ผู้ประเมินมองหาความสามารถในการรับข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และใช้ข้อมูล โดยผู้สอบมักจะใบ้หรืออธิบายบริบทให้ผู้เข้าสอบฟังระหว่างที่สัมภาษณ์ เด็กที่ผ่านการโต้สาระวาทีมามักมองผู้สอบเหมือนคู่แข่ง คนดู หรือกรรมการตัดสิน ทำให้ทันทีที่ผู้สอบเริ่มถามผู้เข้าสอบก็จะตอบแบบไม่หยุด มั่วบ้าง สร้างเรื่องบ้าง เอาความรู้ข้างนอกสิ่งที่ให้อ่านหรือดูมาเทียบเคียงแบบลวกๆ ถูกบ้างผิดบ้าง โดยไม่เปิดจังหวะหรือฟังคำใบ้ที่ผู้สอบพยายามจะช่วยเวลาที่ออกนอกเรื่องหรือผิด หลายๆ ครั้งผู้สอบมักจะพยายามสอนหรือใบ้ว่าควรวิเคราะห์และใช้เนื้อหาอย่างไร แต่ผู้เข้าสอบมักไม่สามารถปรับเพื่อนำเสนอแนวคิดนอกวิถีการโต้สาระวาทีซึ่งไม่ได้ลงเนื้อหาละเอียดตามแนวทางที่ควรจะตอบคำถามได้

    คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เหล่าอาจารย์หาคือการพูดและย้อนกลับไปมองความคิดและสิ่งที่ตนเองพูด เช่น เสนอความคิดออกไปแล้วอาจจะขอถอนสิ่งที่พูดไปและเสนอใหม่เพราะคิดขึ้นมาได้และขอแก้แนวทางการวิเคราะห์ ตรวจสอบโจทย์ที่ให้ใหม่ระหว่างวิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทักษะที่จะทำให้เถียงชนะในการโต้สาระวาทีแต่เป็นทักษะของนักวิเคราะห์ที่ดี เพราะจะทำให้ตอบคำถามได้ครบถ้วน ผ่านการสังเคราะห์ และละเอียดอ่อน

    2. คิดต่างแบบไม่สุดโต่ง แต่มองเห็นความแตกต่างปลีกย่อยของประเด็น ความย้อนแย้ง และบริบท

    นักเรียนที่ผ่านการโต้สาระวาทีมานั้นมักถูกสอนให้รู้ทุกเรื่อง พูดได้ทุกเรื่อง มั่นใจทุกเรื่อง และมีความเห็นทุกเรื่อง แต่ไม่รู้เรื่องใดๆ ในเชิงลึกเกินกว่าที่หนังสือพิมพ์หรือสื่อที่เสพโดยทั่วไปมอบให้ ดังนั้น ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของเหล่าผู้เข้าสอบคือการมีความเห็นที่สุดโต่งหรือมั่นใจในประเด็นสังคมบางประเด็นมาก ซึ่งสำหรับผู้สอบนั้นแม้ว่าจะเคารพมุมมองที่แตกต่างแต่ปัญหาคือเวลาในการศึกษาประเด็นหรือมุมมองเหล่านี้ในระยะเวลาและสื่อที่เข้าถึงซึ่งมีจำกัดสำหรับผู้เข้าสอบที่อายุเพียง 17 ถึง 20 ปีนั้น มักสร้างความเห็นที่บางทีไม่กระจ่างนัก

    มากไปกว่านั้นคือการหลงประเด็น เพราะผู้เข้าสอบมัวแต่แสดงความเห็นบางประเด็นที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับคำถามและโจทย์ การสอบสัมภาษณ์กับผู้เข้าสอบที่มัวแต่แสดงความเห็น มักจะกลายเป็นการนั่งฟังการกล่าวคำปราศรัยไปโดยที่ผู้เข้าสอบจะเสียโอกาสแสดงว่าตนเองอ่านโจทย์ได้แตกฉานและใช้ข้อมูลที่ถูกมอบให้ในการวิเคราะห์ได้ดี ที่สำคัญคือการตอบคำถามแบบพูดไปเรื่อย ทำให้ผู้สอบมองว่าผู้เข้าสอบเป็นบุคคลที่ขาดทักษะการเรียนรู้ เพราะมัวแต่เถียงหรือพูดโดยไม่ฟัง และเป็นคนที่สอนไม่ได้เพราะยึดกับอัตตาและความคิดของตนมากเกินไปจนไม่สังเกตหรือฟังผู้สอบที่พยายามจะช่วยพัฒนาคำตอบ

    บทความหรือโจทย์ที่มักใช้ในการสอบนั้นมักมีประเด็นปลีกย่อย เช่น การใช้คำที่คล้ายกันแต่ใช้ต่างเพื่อวิเคราะห์ต่างประเด็น (nuances) มีแนวทางการนำเสนอบางอย่างที่อาจจะย้อนแย้งในเชิงแนวทางการคิดหรือปฏิบัติ (tensions) และมักมีบริบท (contexts) หลากหลายมิติ หากผู้เข้าสอบไปติดประเด็นย่อยใดประเด็นหนึ่งจะไม่สามารถวิเคราะห์ส่วนที่เหลือและเรียบเรียงการวิเคราะห์ออกมาได้ครบถ้วน ดังนั้น ทักษะความยืดหยุ่นทางความคิดและการมองสะท้อนสิ่งที่คิดหรือที่อ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ

    3. อาการ “มั่นใจจนฉุดไม่อยู่ พูดรวมๆ กว้างๆ ไป จะมีอะไรมากก็ตอบหมดแล้วนี่”

    การสอบสัมภาษณ์คือการนั่งคุยเพื่อให้ผู้สอบได้มองเห็นระบบความคิดและทัศนคติของผู้เข้าสอบ โจทย์ที่ให้นั้นมักจะท้าทายความสามารถทั้งการวิเคราะห์และการอ่าน ซึ่งเนื้อหาที่ให้อ่านและวิเคราะห์ในหนึ่งชั่วโมงนั้น มักเป็นบทความวิชาการที่มีความยาวสิบกว่าหน้าขึ้นไป แน่นอนว่าผู้เข้าสอบยากที่จะอ่านครบหมด ดังนั้น การยอมรับว่าตนเองอ่านไม่หมดและทักษะการถามคำถามที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ผู้สอบแสวงหาในตัวผู้เข้าสอบ การโต้สาระวาทีหรือกิจกรรมเยาวชนที่เน้นทักษะการพูดปราศรัยหรือนำเสนอประเด็น เช่น การจำลองสภา การจำลองสหประชาชาตินั้นเป็นเรื่องดีในการฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างน่าฟัง และโรงเรียนที่มอบกิจกรรมเหล่านี้ให้นักเรียนทำได้มักเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพหรือเป็นโรงเรียนที่มีทุนทรัพย์ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ยิ่งถ้าเป็นการโต้สาระวาทีแบบแข่งขันด้วยแล้วมักเป็นที่นิยมของโรงเรียนชนชั้นกลางบนขึ้นไปของอังกฤษและในหลายๆ ประเทศ กิจกรรมเหล่านี้ไม่เป็นประเด็นการพิจารณาสำหรับการรับนักศึกษาเข้า

    ในทางตรงกันข้าม การบริหารกิจกรรมเพื่อชุมชน เช่น การหาทุนด้วยตนเองเพื่อไปพัฒนาสังคมหรือการไปหารายได้เสริม เช่น เป็นพนักงานขายของ รับเป็นล่ามหรือไปฝึกงานแบบได้รับค่าแรงตอบแทน กลับเป็นสิ่งที่ผู้สอบจะนำมาพิจารณาว่าผู้สมัครเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ดังนั้น กิจกรรมในโรงเรียนจึงเป็นการเพิ่มทักษะชีวิตมากกว่าทักษะที่เหล่าอาจารย์จะนำมาเป็นประเด็นที่จะพิจารณารับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ความมั่นใจที่เกิดจากการผ่านการสอนว่า “เถียงให้ดูมีสาระและชนะ” มักสร้างปัญหากลายๆ เมื่อผู้สอบไม่รู้จริง เพราะจะติดนิสัยสร้างเรื่องหรือประเด็นนอกเรื่องขึ้นมาเสริม เนื้อหาที่ใช้ในการสอบนั้นมักผ่านการประชุมอย่างน้อยสองครั้งเพื่อคัดบทความหรือคำถาม และจะมีการถกเถียงกันระหว่างอาจารย์ผู้สอบอย่างน้อยสี่คนว่าธงคำตอบที่ต้องการฟังจากผู้เข้าสอบมีอะไรบ้าง ดังนั้น สิ่งที่ผู้สอบรำคาญมากที่สุดคือการที่ต้องนั่งฟังผู้เข้าสอบ “พูดไปเรื่อยและแต่งเรื่องไปด้วย” เป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง

    นิสัยอย่างหนึ่งของนักโต้สาระวาทีคือการพูดรวบๆ ประเด็นให้ดูครอบคลุมและมีหลักการ เช่น อาจจะเน้นแนวปรัชญาหรือจรรยาบรรณบางอย่างเพราะทำให้ดูมีพื้นฐานความคิด หรือบางครั้งอาจจะแต่งหรือโยงเรื่องอื่นเข้ามาเล็กน้อยเพื่อโน้มน้าวผู้ฟัง ทักษะนี้ใช้ไม่ได้ในการสอบ (โดยเฉพาะการแต่งเรื่อง)

    ที่มาภาพ : http://www.wudc2018.mx/gallery.html

    โต้สาระวาทีมีประโยชน์อย่างไร?

    แม้ว่าโดยรวมแล้วผู้เขียนจะมองว่ากิจกรรมการโต้สาระวาทีอาจจะมีโอกาสสร้างนิสัยที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์จากมุมมองของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องการแสวงหาเด็กฉลาดที่เป็นนักคิดวิเคราะห์นัก แต่โดยรวมหากการโต้สาระวาทีถูกสอนอย่างถูกต้อง กิจกรรมดังกล่าวสามารถเป็นส่วนขยายของระบบการศึกษาและมอบโอกาสในการฝึกทักษะในการอ่านและวิเคราะห์พื้นฐานให้กับเด็กในโรงเรียนด้อยโอกาสได้ แต่การจะสร้างโอกาสดังกล่าวก็ติดกับปัญหาเรื่องครูสอนซึ่งเป็นปัญหาของคุณภาพการศึกษาโดยรวม หากครูที่สอนโต้สาระวาทีเน้นแต่การพัฒนาภาษาหรือเน้นเพียงแค่ทักษะการเถียงให้ชนะมากกว่าการอ่านและคิดวิเคราะห์ นักเรียนจะไม่ได้อะไรไปมากกว่าเป็นบุคคลที่พูดเยอะ ดูมีประเด็นมากว่าผู้อื่น แต่ไร้ซึ่งเนื้อหาที่จะเติมเต็มหรือวิเคราะห์ประเด็นได้อย่างแตกฉาน

    เปรียบเสมือนครูสอนประวัติศาสตร์หลายๆ คนในโรงเรียนชั้นนำของโลกที่ส่งนักเรียนมาสมัครที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแต่เมื่อผู้เขียนและอาจารย์ในคณะผู้เขียนอีกหลายท่านตรวจงานที่ครูเหล่านี้ตรวจกลับพบปัญหาการสอนมากมายในระดับมัธยม โดยเฉพาะโรงเรียนดังๆ ของอังกฤษที่นิยมจ้างครูที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดหรือเคมบริดจ์ในระดับปริญญาตรีไปสอน แต่ครูเหล่านี้จะชินกับการเป็น “ผู้ถูกสอน” มากกว่าการเป็น “ผู้สอน” หรือ “ผู้ออกข้อสอบ” มากไปกว่านั้น ประสบการณ์การเรียนของครูแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน ดังนั้น ในการฝึกนักเรียนให้เป็นผู้สมัครเข้าออกซ์ฟอร์ดหรือเคมบริดจ์มักมีปัญหาเพราะตรวจไปตามทัศนคติของผู้ที่ผ่านการเรียน

    การโต้สาระวาทีเป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนอ่านข่าวและหัดเริ่มอ่านบทวิเคราะห์ ฝึกทักษะการนำเสนอประเด็นและการพูด แต่ทั้งนี้ทักษะเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพผ่านกิจกรรมอย่างการเขียนบทความ อ่านหนังสือ เขียนบทวิจารย์หนังสือได้ แต่ควรนำมาใช้เป็นเพียงกิจกรรมเสริม

    ที่สำคัญ ความมั่นใจในการพูดโน้มน้าวนั้นไม่ควรเป็นสิ่งที่สร้างไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรมดีเบต ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาคือการสร้างเรื่องราวขึ้นมาหรือสร้างสมมติฐานแบบกว้างเพื่อเอามานำเสนอให้ชนะประเด็น การดีเบตแบบนี้ไม่ได้สร้างนักพูดและนักคิดที่มีความรับผิดชอบ แต่เป็นการสร้างบุคลากรที่เฉยชาต่อการนำเสนอเรื่องราวที่หยาบและไร้ซึ่งการไตร่ตรองให้ครบถ้วนอย่างที่นักพูดและนักคิดพึงจะทำ

    มากไปกว่านั้น ในการแข่งขันโต้สาระวาที ปัญหาที่มักพบคือเมื่อผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายไม่รู้เรื่องประเด็นหรือผิดทั้งสองด้าน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เจอหัวข้อที่ไม่ได้อ่านมาทั้งสองฝ่าย กรรมการจะไม่สามารถตัดคะแนนความผิดได้ เพราะไม่มีใครนำเรื่องราวหรือประเด็นที่ถูกต้องขึ้นมา มิหนำซ้ำส่วนใหญ่แล้วยังมีปัญหาที่กรรมการอาจจะไม่ชำนาญการเรื่องดังกล่าวอีกด้วย ในกรณีนั้น การดีเบตจะกลายเป็นการให้รางวัลทีมที่สามารถสร้างเรื่องราวให้ฝั่งตนเองดูดีได้มากกว่าการนำเสนอประเด็นอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมการอ่านและวิเคราะห์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการฝึกฝนนักคิดและนักพูด

    ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลและมุมมองที่ได้เขียนมาจะทำให้ผู้อ่านหลายๆ ท่านได้คิดและนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง ว่าแนวทางในการพัฒนาทักษะการคิดและการศึกษาไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร