ThaiPublica > เกาะกระแส > เรื่องเล่าจากราชสกุล…network effect – legacy ความร่วมมือร่วมใจท่ามกลางความโศกเศร้าพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

เรื่องเล่าจากราชสกุล…network effect – legacy ความร่วมมือร่วมใจท่ามกลางความโศกเศร้าพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

29 ตุลาคม 2017


ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีการคัดเลือกตัวแทนราชสกุลทุกมหาสาขา โดยได้ประมาณ 80 ราชสกุลมาเข้าร่วมเดินริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ราชกิจจานุเบกษาสมัยรัชกาลที่หกพบว่ามีราชสกุลทั้งสายวังหลวง วังหน้า และวังหลัง 131 โดยปัจจุบันหลายราชสกุลไม่พบผู้สืบทอด


ภาพรวมราชสกุลมหาสาขา เครดิตภาพ Hello Magazine

การริเริ่มรวบรวมราชสกุลมหาสาขา ริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงสมัยงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมี พล.ท.ม.ล กุลชาติ ดิศกุล เป็นผู้ประสานงานและสืบหา รวบรวมราชสกุลต่างๆที่ได้กระจายตัวออกไปตามกาลเวลาทำให้การสืบหาและรวบรวมข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ได้ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีส่งผลทำให้มีการรวบรวมประวัติได้เยอะและเกิดกิจกรรมต่างๆขึ้นระหว่างทุกราชสกุลมหาสาขา

การคัดเลือกตัวแทนจากราชสกุลต่างๆเพื่อมาเดินในริ้วพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น คัดเลือกจากผู้มีประสบการณ์ถวายงานในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพก่อนๆ ประวัติการถวายงานและชันษาหรืออายุของสมาชิกราชสกุลที่ส่งใบสมัครเข้าไปตามประกาศที่ได้ส่งต่อไปยังผู้ประสานงานสมาชิกราชสกุลต่างๆ

โดยตัวแทนราชสกุลจะถูกจัดอันดับในริ้วขบวนพระราชพิธีโดยแบ่งตาม ฐานันดรศักดิ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตำแหน่งทางราชการ และ ส่วนสูง โดยเรียงแถวจากผู้ชายและตามด้วยผู้หญิง มีการแบ่งราชสกุลเป็นสองตอนคือ ตอนหนึ่งและตอนสองเพื่อปฏิบัติหน้าที่คนละส่วนของแต่ละตอนการเดินริ้วขบวน ซึ่งมีสมาชิกราชสกุลตอนที่หนึ่งเดินในริ้วขบวนที่ 2 เป็นริ้วเชิญพระมหาพิชัยราชรถจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง และมารวมกับราชสกุลตอนที่สองในริ้วขบวนที่ 3 ในการเชิญพระบรมโกศเวียนรอบพระเมรุมาศสามรอบ และมีการจัดแบ่งสมาชิกราชสกุลจากทั้งสองตอนเพื่อเดินในริ้วขบวนที่ 4 คือการเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระบรมมหราชวัง ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

สมาชิกราชสกุลที่ได้รับการคัดเลือกได้ริเริ่มฝึกซ้อมทุกอาทิตย์ตั้งเดือนกันยายนไปจนถึงการซ้อมใหญ่ในวันที่ 21 และ 22 ตุลาคม 2560 โดยในเดือนกันยายนมีการฝึกที่มณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนที่จะย้ายไปสู่การฝึกซ้อมในพื้นที่จริง

การฝึกซ้อมที่มทบ. 11

นางสาว พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา (แพง) อาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์และโบราณคดีมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่าการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งนี้ถือเป็นโอกาสูงสุดในชีวิตที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซึ่งมีความหมายกับคนจำนวนมาก นอกจากจะได้ทำหน้าที่แล้วยังได้เรียนรู้เรื่องราวอีกมากมายซึ่งได้ทำการจดบันทึกส่วนตัวไว้เพื่อทำงานวิชาการในอนาคต โดยได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของริ้วขบวนที่ 3

การเตรียมตัวสำหรับพระราชพิธีคงจะเป็นไปไม่ได้หากไม่ได้ทีมครูฝึกชั้นเยี่ยมจาก ผบ.กองพลทหารราบที่ 11 ผ่านการนำของ พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภัคดี การเดินในตอนที่หนึ่งจะใช้การเดินแบบ Slow March หรือการเดินสืบเท้าโดยยกสองจังหว่ะ ในขณะที่ตอนการเดินที่สองจะใช้การเดินแบบสวนสนาม คือการเตะขาไปข้างหน้าและกดปลายเท้าลงเป็นจังหว่ะ หนึ่ง สอง สาม ตามเพลงมารช์ราชวัลลภที่ใช้สำหรับการเดินในริ้วขบวนที่ 3

พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หนึ่งในผู้แทนราชสกุล “พนมวัน”

“พชรพร” เล่าวว่าตนเองได้พอสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เคยร่วมเดินในพระราชพิธีก่อนๆมีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆตั้งแต่สมัยงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ จังหว่ะสำหรับริ้วที่สองนั้นเหมือนจะช้ากว่าและมีการปรับเปลี่ยนจากวิธีการเดินแบบ slow march ในต่างประเทศมาเป็นเดินสืบเท้าเพื่อไม่ให้ผู้เดินริ้วขบวนต้องหักโหมเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องนับถือเหล่าครูฝึกจริงๆที่สามารถฝึกพลเรือนที่มีตั้งแต่หนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงอายุจำนวนสองร้อยกว่าคนให้สามารถเดินสวนสนามได้พร้อมเพรียงและสวยงามในพระราชพิธีภายในแค่เวลาสองเดือน

นอกจากท่าเดินแล้วยังมีการฝึก ท่าการยืนตรง การวางมือ การหันต่างๆ และการแสดงความเคารพซึ่งต้องมีความพร้อมเพรียง โดยเฉพาะการยืนจะต้องหน้านิ่งไม่ก้ม ไม่มีการถือผ้าเช็ดหน้ามาซับเหงื่อหรือเอายาดมขึ้นมาสูดระหว่างยืนเข้าแถวหน้าพระเมรุหรือระหว่างเดินเพื่อให้เกิดภาพที่สวยงาม บางคนอาจจะมองว่าเข้มงวดเกินจำเป็น แต่สำหรับคนที่ชอบศิลปะวัฒนธรรมและกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การเอาตัวเองเข้าไปปฏิบัติตามเป็นสิ่งที่ประทับใจและถือว่าเป็นเกียรติอย่างมาก เพราะทุกสังคมมักมีวัฒนธรรมหลายระดับและมีความสำคัญหรือน่าสนใจพอๆกัน พระราชพิธีถือเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมละเอียดหรือ ideal ของเจ้าของวัฒนธรรมดังนั้นการมีโอกาสได้เรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก

“ในส่วนที่ยากที่สุดสำหรับหลายๆท่านคือการสู้กับสภาวะอากาศทั้งแดดทั้งฝน แม้ว่าจะมีคนหน้ามืดเป็นลมป่วยอย่างไรก็ไม่มีใครย่อท้อ ผู้หญิงที่ต้องสวมชุดไทยจิตรลดาไม่มีแม้แต่หมวกและต้องฝึกยืนนิ่งๆเกือบครึ่งชั่วโมงกลางแดดช่วงเที่ยงวัน หน้ามืดและไหม้ไปตามๆกันแต่ก็ไม่มีใครถอยค่ะ คอยระวังและช่วยสังเกตกันในแต่ละแถว ซึ่งก็มีทั้งจิตอาสาและแพทย์พยาบาลมาคอยช่วยดูแล”นางสาวพชรพรกล่าว

ตัวแทนราชสกุล “พนมวัน” ถ่ายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนที่จะออกเดินทางขึ้นเรือมาร่วมพระราชพิธีฯในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ราชสกุลพนมวันเป็นรัชสกุลสายรัชกาลที่สอง สืบเชื้อสายจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทรฯ

นอกจากนี้ “พชรพร” ได้กล่าวต่อว่าตนยังได้เกร็ดความรู้ด้านด้านผ้าไหมไทยไปด้วย จริงๆเป็นคนสนใจอุตสาหกรรมผ้าไทยอยู่แล้วเพราะเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ผลิตนอกเหนือการเป็นงานศิลปะที่สวยงามและมีประวัติศาสตร์ แต่งานพระราชพิธีครั้งนี้ทำให้ได้ใช้ผ้าไหมไทยและบังคับให้เราหัดดูและรักษา ซัก รีด และ สังเกตเทคนิคการผลิตมากขึ้น

“เหตุเกิดเพราะต้องใส่ชุดไทยจิตรลดาพร้อมกับถุงน่อง โดยปกติคนส่วนมากจะเดินนิดหน่อยแล้วไปนั่ง แต่นี่ใส่ถุงน่องที่เป็นใยสังเคราะห์เต็มตัวในสภาพอากาศร้อน พอใยสังเคราะห์ถูกับผ้าไหมก็เกิดไฟฟ้าสถิตย์ขึ้น ทำให้ครั้งแรกที่ใส่ขาไหม้ไปเลยเพราะพอผ้าติดเราต้องฝืนเตะขาไปเรื่อยๆ ขาไหม้ไม่พอผ้าไหมมีสภาพยู่เป็นดอกนูนๆขึ้นมาตามลาย เราเห็นแบบนั้นก็ตกใจเพราะเสียดายผ้ามากวิ่งไปถามทั้งร้านผ้าไหม ทั้งร้านซักรีดอย่างดี ไม่มีใครแก้รอยยู่ได้แล้วไฟฟ้าสถิตย์ก็ทำให้อาการใยไหมยึดมากขึ้นเรื่อยๆ จนโทรไปปรึกษาคนที่ทอผ้าไหมรุ่นเก่าทำให้รู้ว่าไหมสมัยนี้บางครั้งจะผสมไหมจีนไหมญี่ปุ่นเข้าไปในเส้นยืนไฟฟ้าจึงสถิตย์ง่ายและเป็นลายยู่ลักษณะนั้นโดยวิธีกันที่ดีที่สุดคือภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณคือการจุ่มไหมหลังซักและลงน้ำยาปรับผ้านุ่มในน้ำแป้งมัน ก่อนจะนำไปฉีดเสปรย์น้ำยารีดผ้าแข็งให้ชุ่ม นำไปแช่ช่องเย็นไว้สักพักและรีด ผ้านี่พอรีดออกมานิ่มและเรียบคมเลย” นางสาวพชรพรกล่าว

นอกจากนี้การซ้อมครั้งนี้ยังเป็นการรวม “เครือญาติ” ที่ใหญ่มากซึ่งทุกคนก็มาด้วยใจที่อยากจะทำให้งานออกมาดีที่สุด ญาติในนามเลยเกิดความผูกพันธ์รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปในเวลาสองเดือน เพราะถ้าคนหนึ่งพลาดทั้งแถวก็ต้องหัดใหม่จึงต้องคอยช่วยเหลือกันสร้างความสามัคคีแบ่งปันกันไปโดยปริยายตั้งแต่ความรู้ไปจนถึงอาหารและขนมต่างๆที่จะช่วยไม่ให้ใครเป็นลมไประหว่างการปฏิบัติภาระกิจ

“โดยส่วนตัวแล้วได้เห็นว่ามีความร่วมมือดีๆเกิดขึ้นจากการเพิ่มความสัมพันธ์ของ “เครือญาติ” ทำให้เรานึกถึงงานแนว network effect ที่ศึกษาผลกระทบของสังคมและเศรษฐกิจผ่านการรวมตัวและเกี่ยวโยงของกลุ่มคนไม่ได้ เพราะแน่นอนว่ากาลเวลาทำให้หลายๆบุคคลที่มารวมตัวกันมีอาชีพและสถาณะที่แตกต่างกันออกไปแต่ก็สามารถจบลงได้ที่ output ลักษณะเดียวกันภายในเวลาอันสั้น”นางสาวพชรพรกล่าว

ส่วนที่ประทับใจมากที่สุดคือการอัญเชิญพระราชนิพนธ์มาใช้เป็นเพลงประกอบการเดิน นอกจากเพลงพญาโศกและเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ซึ่งเป็นทำนองเก่ามาแต่โบราณ ลักษณะการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดพระราชพิธีสะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนและบูรณาการณ์อัตลักษณ์ตะวันตกและตะวันออกมาเป็นวิถีไทยสมัยใหม่ ตอนช่วงที่รออยู่ในศาลาลูกขุนระว่างการซ้อมและมีการเปลี่ยนเพลงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์จากเดิมที่ใช้ทำนองพญาโศก ทำให้หลายๆคนน้ำตาร่วง ด้วยความหมายของเพลงและลักษณะการใช้ทั้งๆที่เป็นเพลงซึ่งมีทำนองรื่นเริงกว่าเพลงพญาโศกแต่กลับมีความหมายลึกซึ้งกว่า

“อีกส่วนที่ประทับใจมากคือความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัท Toyota Motors Thailand ซึ่งหลายๆท่านตื่นแต่ตีสามมาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมเดินริ้วขบวนทุกคน นับถือน้ำใจมากเลยและยังทำให้เห็นด้วยว่างานที่ดีจะประสบความสำเร็จได้ด้วยการรวมตัวของกองทัพมดที่คอยช่วยเหลือและทำหน้าที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน”

และกล่าวต่อว่า”อยากเห็นความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีครั้งนี้ไม่ว่าจะทั้งการจัดงานหรือการช่วยกันแก้ปัญหาและจิตสำนึกที่ทำเพื่อส่วนรวมดำเนินต่อไปหลังพระราชพิธีจบ เพราะสิ่งดีๆเหล่านี้จะเป็น legacy ที่ทิ้งท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในความโศกเศร้าปรากฏการณ์ความร่วมมือร่วมใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฟังความเห็นต่างเพื่อแก้ปัญหาอย่างถี่ถ้วน นี่เป็นดั่งของขวัญให้กับคนไทยในช่วงเวลาที่เปราะบางเพื่อเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งกว่าเดิม”