ThaiPublica > เกาะกระแส > สงครามวิวาทะ สหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ ที่อาจลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์

สงครามวิวาทะ สหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ ที่อาจลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์

17 สิงหาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.dw.com

เมื่อวันอังคารที่ 8 สิงหาคม โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศว่า “ดีที่สุด เกาหลีเหนือไม่คุกคามสหรัฐฯมากไปกว่านี้ พวกเขาจะเผชิญกับไฟบรรลัยกัลป์ (fire and fury) ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน” คำพูดของทรัมป์นับเป็นการเตือนที่รุนแรงสุดต่อเกาหลีเหนือ เป็นคำพูดที่ไม่สนใจต่อหลักการที่ยึดถือกันมาตลอดว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่โอ้อวดเรื่อง คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ เหมือนกับที่พวกวัยรุ่นชอบพูดข่มขู่กัน แต่ทรัมป์ดูจะไม่สนใจว่า อาวุธนิวเคลียร์นั้น มีไว้เพื่อป้องปรามและยับยั้ง ไม่ได้มีไว้เพื่อนำมาใช้

คำแถลงของทรัมป์มีขึ้นทันที หลังจากที่หนังสือพิมพ์ Washington Post ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม รายงานข่าวว่า เมื่อเดือนที่แล้ว สำนักงานข่าวกรองกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปว่า เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการผลิตหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ที่จะบรรจุอยู่ในขีปนาวุธข้ามทวีป ที่มีรัศมีทำการถึงสหรัฐฯ ทำให้เกาหลีเหนือสามารถก้าวข้ามจุดสำคัญ ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ที่สมบูรณ์ และยังประเมินอีกว่า เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง 60 ลูก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม คณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คว่ำบาตรรุนแรงที่สุดกับเกาหลีเหนือ หลังจากที่ประเทศนี้ทดลองขีปนาวุธข้ามทวีปในวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 มติคว่ำบาตรห้ามเกาหลีเหนือส่งออกถ่านหิน แร่เหล็ก แร่ตะกั่ว และอาหารทะเล สินค้าที่ห้ามส่งออกนี้ มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกของเกาหลีเหนือ ที่ปีหนึ่งประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ประเทศต่างๆออกใบอนุญาตทำงานใหม่ให้กับคนงานเกาหลีเหนือ

มติคว่ำบาตรของสหประชาชาติ ทำให้เกาหลีเหนือออกแถลงการณ์โดยขู่คุกคามว่า จะใช้มาตรการที่ถูกต้องทำให้สหรัฐฯ ต้องจ่ายในราคาแพงจากการคว่ำบาตรครั้งนี้ และตอบโต้คำพูดของทรัมป์โดยประกาศแผนการที่มีรายละเอียดว่า จะยิงขีปนาวุธฮวาซอง-12 (Hwasong-12) จำนวน 4 ลูก ข้ามญี่ปุ่น และให้ไปตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเกาะกวม “30-40 กิโลเมตร” เพราะเกาะกวมเป็นฐานทัพของเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ B-1B ที่สหรัฐฯมาบินเหนือคาบสมุทรเกาหลี

เมื่อวันอังคาร 15 สิงหาคม นายเจมส์ แมททิส (James Mattis) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวเตือนว่า หากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธมายังดินแดนสหรัฐฯ ก็อาจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นสงคราม สหรัฐฯสามารถรู้แทบจะทันทีว่า ขีปนาวุธถูกยิงมาที่เกาะกวมหรือไม่ หากโจมตีมาที่เกาะกวม คิมจองอุน ผู้นำเกาหลีเหนือก็จะจัดการกับมัน หากว่ามุ่งสู่ทะเลรอบๆเกาะกวม ก็ขึ้นกับประธานาธิบดีสหรัฐฯว่าจะตอบโต้อย่างไร

ล่าสุด สำนักข่าวของเกาหลีเหนือรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม คิมจองอุน ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้ไปเยือนกองกำลังขีปนาวุธ เพื่อประเมินแผนการที่จะยิงขีปนาวุธ 4 ลูก ให้ไปตกยังน่านน้ำห่างจากเกาะกวม 30-40 กิโลเมตร โดยจะขอดูอีกระยะหนึ่งว่า สหรัฐฯจะดำเนินการอย่างไรต่อภูมิภาคนี้ ท่าทีล่าสุดของเกาหลีเหนือ ทำให้นักวิเคราะห์เห็นว่า เป็นการส่งสัญญาณที่จะหยุดสงครามวิวาทะกับสหรัฐฯ และเปิดโอกาสให้มีการเจรจา เพื่อปลดชนวนการเผชิญหน้าที่ร้ายแรงครั้งนี้

การก้าวกระโดดของเกาหลีเหนือ

ที่ผ่านมา นักเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เกาหลีเหนือยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก และขีปนาวุธข้ามทวีป วุฒิสมาชิก จอห์น แม็กเคนกล่าวเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่า ปัญหาเกาหลีเหนือ เหมือนกับการเผชิญหน้าในอดีตระหว่างสหรัฐฯกับโซเวียต ในกรณี“วิกฤติขีปนาวุธคิวบา” แต่เป็นวิกฤติคล้ายภาพยนตร์แบบสโลว์โมชั่น แต่นาย โรเบิร์ต ลิทวัค (Robert Litwak) ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือของสหรัฐฯกล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ เหมือนกับเกาหลีเหนือกำลังเร่งทำ “โครงการแมนฮัตตัน” (Manhattan Project) แบบเดียวกับที่สหรัฐฯเร่งสร้างระเบิดปรมาณู ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2

Washington Post รายงานว่า ปี 2017 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธทั้งหมด 14 ครั้ง ประสบความสำเร็จ 10 ครั้ง แต่การทดลองขีปนาวุธในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทางเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือ การทดลองในเดือนพฤษภาคม เป็นขีปนาวุธพิสัยกลาง หากยิงในระดับแนวนอนปกติ จะสามารถยิงถึงเกาะกวม แต่เกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธให้สูงขึ้นไปในระดับ 1,300 ไมล์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปตกในประเทศอื่นๆ และต้องการให้ตกลงมาในทะเลญี่ปุ่น

ในเดือนมิถุนายน เกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธข้ามทวีปแบบฮวาซอง-14 (Hwasong-14) ที่ประกอบด้วย 2 ท่อน ทำให้สามารถยิงไกลถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ขีปนาวุธแบบ 2 ท่อนจะมีเชื้อเพลิงมากขึ้น และยิงได้ไกลมากขึ้น หากว่าเชื้อเพลิงท่อนแรกหมดลง ท่อนที่ 2 ก็ทำงาน การทดลองขีปนาวุธระยะไกลในวันที่ 28 มิถุนายน เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธขึ้นไปสูงถึง 2,300 ไมล์ หากยิงในระดับแนวนอนปกติ ขีปนาวุธนี้จะไปไกลถึง ชิคาโก นิวยอร์ก และบอสตัน

แสตมป์ชุดฉลองความสำเร็จการทดลองชีปนาวุธที่มาภาพ : https://www.washingtonpost.com/graphics/2017/world/north-korea-launch/img/1200-HwasongLaunchersIsolated.jpg?c=d8c9d6f4cc3f4c59bfd1f393e3c61d58a11c8ba0-1502452053

ความสำเร็จของการทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล ทำให้เกาหลีเหนือเฉลิมฉลอง โดยการออกแสตมป์ชุดเป็นภาพขีปนาวุธ แต่ความสำเร็จครั้งนี้ของเกาหลีเหนือมีความหมายสำคัญอยู่ที่ว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ที่จะสกัดกั้นไม่ให้เกาหลีเหนือก้าวมาถึงจุดนี้ และก็มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดความขัดแย้งทางทหาร

นาย Rodjer Baker นักวิเคราะห์ของบริษัท Stratfor กล่าวกับสำนักข่าวออนไลน์ dw.com ว่า สหรัฐฯกับเกาหลีเหนือเข้ามาใกล้ความขัดแย้งแย้งทางทหาร มากกว่าช่วง 30 ปีที่ผ่านๆมา สิ่งที่เป็นแรงกดกันไปสู่ความขัดแย้งคือ พัฒนาการของเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือต้องการไปถึงจุดที่ตัวเองมีขีปนาวุธข้ามทวีปที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ ก่อนที่สหรัฐฯจะมีความมุ่งมั่นในการเข้าแทรกแซงทางทหาร แต่สหรัฐฯก็รู้ดีว่า โอกาสที่จะขัดขวางเกาหลีเหนือนั้น หมดไปแล้ว ทำให้การปฏิบัติการทางทหารมีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด

ทางเลือกที่เลวร้ายน้อยสุด

แม้สงครามวิวาทะจะขยายตัวรุนแรงมากขึ้น แต่สถานการณ์ทางภาคพื้นดินก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง การใช้มาตรการป้องกันด้วยการเปิดฉากโจมตีทางทหารของสหรัฐฯต่อเกาหลีเหนือ จะเป็นหายนะภัยครั้งใหญ่ต่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ส่วนระบอบคิมจองอุนของเกาหลีเหนือก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่า การเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐฯ หมายถึงประเทศเกาหลีเหนือจะถูกทำลายลงไป ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีเหตุจูงใจใดๆที่จะขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไป สหรัฐฯและเกาหลีใต้ก็ยังไม่มีการอพยพประชาชนออกจากรุงโซล

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ความสามารถของเกาหลีเหนือที่จะคุกคามโดยตรงต่อสหรัฐฯจากอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้วิวาทะที่ก้าวร้าวของทรัมป์ต่อเกาหลีเหนือ ที่แตกต่างจากวิธีการทางการทูตของสหรัฐฯในอดีตที่ผ่านๆมา รัฐบาลทรัมป์ประกาศชัดเจนว่า ไม่ยอมรับฐานะของเกาหลีเหนือที่มีขีปนาวุธพิสัยไกลกับอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนเกาหลีเหนือก็ประกาศว่า จะไม่ล้มเลิกการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของระบอบเกาหลีเหนือ การครอบครองอาวุธนี้เป็นเสมือนมาตรการยับยั้งป้องปราม เหมือนกับประเทศอื่นๆที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ก็มีเป้าหมายเดียวกันนี้

นายริ ยอง โฮ (Ri Yong Ho) รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือแถลงในช่วงการประชุม ASEAN regional Forum ที่กรุงมนิลาว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ที่รับผิดชอบ ไม่มีเจตนาที่จะคุกคามหรือใช้กับประเทศอื่น ยกเว้นสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนๆ เกาหลีเหนือจะไม่นำเรื่องอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ เข้าสู่โต๊ะการเจรจา ยกเว้นนโยบายการเป็นศัตรูและการคุมคามทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯต่อเกาหลีเหนือ จะถูกขจัดไปโดยมูลฐาน

ขีปนาวุธข้ามทวีปแบบฮวาซอง-14 (Hwasong-14) ที่มาภาพ : https://i2.wp.com/missilethreat.csis.org/wp-content/uploads/2017/07/Hwasong-14-a.png

Rodjer Baker จาก Stratfor กล่าวว่า สหรัฐฯยอมรับจีน รัสเซีย อินเดีย และปากีสถานเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ในบางด้าน ฝ่ายทหารของสหรัฐฯเริ่มจะถือแล้วว่า เกาหลีเหนือเป็น “ประเทศนิวเคลียร์” ในแง่มุมทางทหาร สหรัฐฯสามารถจัดการเกาหลีเหนือที่มีนิวเคลียร์ โดยผ่านกลยุทธการยับยั้งป้องปรามแบบเดิมๆ โดยไม่ต้องใช้ปฏิบัติการทางทหาร แต่ในแง่มุมการเมือง ยังไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯจะยอมรับหรือไม่ ที่เกาหลีเหนือจะเป็นประเทศสมาชิกสโมสรนิวเคลียร์

เมื่อปี 2013 ศูนย์ศึกษา Belfer Center for Science and International Affairs ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พิมพ์รายงานเรื่อง สถานการณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ รายงานนี้กล่าวว่า หากเกาหลีเหนือมุ่งมั่นพัฒนาความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ในปริมาณจำนวนหนึ่ง ช่องทางที่จะจัดการปัญหานี้ ก็ไม่อยู่ไม่มาก ช่องทางหนึ่งที่จะจัดการปัญหานี้ได้ คือ ทำให้ความพยายามของเกาหลีเหนือ เป็นเรื่องที่ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายที่แพง การโจมตีเกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแบบสงครามธรรมดาหรือนิวเคลียร์ ก็จะเกิดผลอย่างเดียว คือเกาหลีเหนือนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาตอบโต้ เพราะผู้นำเกาหลีเหนือจะเห็นว่า ต้องการจะเปลี่ยนระบอบ ผู้นำเกาหลีเหนืออาจเชื่อว่า ตัวเองไม่มีอะไรสูญเสีย ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2017 จดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Bulletin of the Atomic Scientists) ที่ตั้งขึ้นมาโดยนักวิทยาศาสตร์ที่บุกเบิกการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ได้ปรับเวลานาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock) ใกล้เข้ามาอยู่ที่ 2.30 นาทีก่อนจะถึงเที่ยงคืน เพื่อสะท้อนภัยคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ ที่เข้าใกล้โลกเรามากที่สุดในระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และคำกล่าวของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯต่ออาวุธและสงครามนิวเคลียร์

นาย Lawrence M. Krauss นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ชื่อดังและประธานกลุ่มจดหมายข่าวฯ กล่าวว่า การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ จะกลายเป็นการทำลายล้าง ความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งทางทหารแบบธรรมดา จะขยายตัวเป็นสงครามนิวเคลียร์ เฉพาะเกาหลีเหนือและใต้ คนหลายล้านคนจะเสียชีวิต ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นทั่วโลก การใช้อาวุธนิวเคลียร์ 50-100 ลูก จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ และต่อเกษตรกรรมทั่วโลก โลกในยุคที่รวมเป็นหนึ่งเดียว จะส่งผลกระทบที่หายนะภัย ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

Lawrence Krauss กล่าวว่า นาฬิกาวันสิ้นโลกไม่ช่วยให้โลกเราปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องการชี้ให้เราเห็นถึงภัยอันตรายมากขึ้น หลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนากาซากิ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า “ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด ยกเว้นวิธีคิดของเรา” เราต้องกดดันให้ผู้นำการเมืองปรับวิธีคิดและการกระทำของพวกเขา ต่อความจริงที่น่าสละพึงกลัว ที่เราจะประสบจากอาวุธนิวเคลียร์

เอกสารประกอบ
1.How three recent launches signaled new leaps in North Korea’s missile capacities, the Washington Post, August, 10, 2017.

2.Terence Roehrig. North Korea’s Nuclear Weapons: Future Strategy and Doctrine, Belfer Center for Science and International Affairs, Harvard University.

3.Lawrence M Krauss. North Korea, Donald Trump and the ticking Doomsday Clock, Los Angeles Times, August 13, 2017.

4.The War of Words the Could Go Nuclear, Der Spiegel, August 12, 2017.