ThaiPublica > เกาะกระแส > เต๋อโจว เมืองแห่งอนาคตภายใต้ One Belt, One Road โอกาสทางธุรกิจในจีนของนักลงทุนไทย

เต๋อโจว เมืองแห่งอนาคตภายใต้ One Belt, One Road โอกาสทางธุรกิจในจีนของนักลงทุนไทย

12 กรกฎาคม 2017


ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับสภาธุรกิจจีน-อาเซียน สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และเมืองเต๋อโจว (Dezhou) จัดงานเสวนา The Chinese Link Forum ในหัวข้อ “ความคืบหน้าการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21″ (Belt and Road Initiative): การส่งเสริมการค้าระหว่างเมืองเต๋อโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน กับประเทศไทย

โครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง One Belt, One Road ที่ริเริ่มโดยจีน เพื่อเชื่อมโยงโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศบนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 จะได้ประโยชน์จากหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางอย่างไร และโอกาสของไทยอยู่ในพื้นที่ไหนของจีน

จีนเป็นประเทศที่มีโอกาสทางการค้าและการลงทุนมหาศาล ธุรกิจจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าจีนอย่างไม่ขาดสาย ด้วยขนาดตลาดที่มีประชากรจำนวนกว่า 1,300 ล้านคน การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องหลายทศวรรษ ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ยิ่งทำให้โอกาสทางธุรกิจและการค้าการลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเสรีของรัฐบาลจีน และการเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้ความสนใจจากประชาคมโลกที่มีต่อจีนสูงขึ้น

โอกาสธุรกิจ การค้าการลงทุนในจีนทวีขึ้นอีกมาก เมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศผลักดันโครงการ เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ภายใต้ชื่อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ “One Belt, One Road (OBOR)” ในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งการพัฒนา OBOR มีความคืบหน้ามาตามลำดับ โดยล่าสุดจีนได้ให้มีการประชุมสุดยอด The Belt and Road Forum for International Cooperation เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม ที่ปักกิ่ง โดยมีผู้แทนจาก 110 ประเทศและผู้นำ 29 ประเทศเข้าร่วม

ในการประชุมครั้งนี้จีนได้เผยแผนลงทุน Belt and Road Initiatives หรือ BRI ที่มีมูลค่าลงทุนร่วม 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มุ่งสร้างครือข่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมตั้งแต่เส้นทางถนน ทางรถไฟ โทรคมนาคม ท่อส่งน้ำมัน และท่าเรือ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคครอบคลุมตั้งแต่ยูเรเชีย แอฟริกาตะวันออก และอีกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

BRI ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ หนึ่ง เส้นทางบก หรือแถบเศรษฐกิจสายไหม (The Silk Road Economic Belt: SREB) คือส่วนที่เป็นแถบหรือ Belt และส่วนที่สองคือ เส้นทางน้ำ หรือเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (The 21st-century Maritime Silk Road: MSR) โอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุนในจีนภายใต้ BRI ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เมืองหลวง กรุงปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้ และมหานครทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของจีนเท่านั้น แต่ขยายครอบคลุมไปถึงอีกหลายเมืองที่กำลังเติบโตตามภูมิภาคต่างๆ ของจีน

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีฐานธุรกิจในจีนมาหลายทศวรรษ ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง อย่างต่อเนื่องขึ้นหลายครั้ง เพื่อให้นักธุรกิจไทยได้เห็นถึงโอกาสและประโยชน์ ล่าสุดได้ร่วมกับสภาธุรกิจจีน-อาเซียน สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และเมืองเต๋อโจว (Dezhou) จัดงานเสวนา The Chinese Link Forum ในหัวข้อ “ความคืบหน้าการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21″ (Belt and Road Initiative): การส่งเสริมการค้าระหว่างเมืองเต๋อโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน กับประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อเครือข่ายพันธมิตรระหว่างองค์กรต่างๆ ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเมืองเต๋อโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ทางเศรษฐกิจและการคมนาคมสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน รวมไปถึงกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีการพบปะเพื่อจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจจากเมืองเต๋อโจวด้วย

ฯพณฯ นิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย

ไทยบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่

ฯพณฯ นิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ยกคำกล่าวเปิดการประชุมสุดยอด BRI ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มาถ่ายทอดในการกล่าวปาฐกถาเปิดการสัมมนาว่า จีนยึดมั่นในการร่วมมือ การสร้างการร่วมแบ่งปันกลยุทธ์ เพื่อเป้าหมายเชื่อมโยงการพัฒนาที่จะนำไปสู่เส้นทางแห่งความรุ่งเรือง และแผนปฏิบัติการที่ได้มีการลงนามร่วมกันนับเป็นโรดแมปที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเกิดผลดีอย่างมาก เพราะเป็นการเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ ระเบียง เศรษฐกิจ และความร่วมมือทางการเงิน

จีนในฐานะเจ้าภาพได้มีการเสนอมาตรการใหม่เพิ่มเติมหลายประการ โดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศในที่ประชุม The Belt Road Forum ว่า จีนจะสนับสนุนทางการเงินโครงการ One Belt, One Road ด้วยการใส่เงินเข้ากองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) เพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 100,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ล้านหยวนเดิมที่ตั้งไว้ เพื่อรองรับการสนับสนุนทางการเงิน และคาดว่ากองทุนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นราว 300,000 ล้านหยวน

ไทยเป็นหนึ่งประเทศสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 โครงการ One Belt, One Road ซี่งจะเป็นการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและมีส่วนในการกระตุ้นการพัฒนาหลายด้าน โดยเฉพาะในไทยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลดีตามไปด้วย รวมไปถึงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาดีขึ้น ตลอดจนเป็นการเริ่มการสร้างความเชื่อมโยงใน AEC มากขึ้นด้วย

One Belt, One Road ที่ได้ริเริ่มเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นการสร้างแรงผลักดันใหม่ระหว่างไทย-จีน มีการพัฒนาเครือข่ายไทย-จีน ซึ่งจีนมุ่งหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยและเริ่มสร้างยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศให้มากขึ้น ที่ผ่านมาความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีมากขึ้นทั้งในด้านดิจิทัล โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) รวมไปถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อประเทศไทย 4.0 ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี พลังงาน สอดคล้องกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่เชื่อมต่อลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อสองประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบใหม่ของทั้งสองประเทศ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนจะส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ หากมองไปถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟจีน-ยุโรป ที่เปิดใช้งานไปแล้วนั้นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปี 2554 เส้นทางฉงชิ่ง-ดุยส์บวร์ก เริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในปี 2559 มีการเปิดขบวนมากถึง 1,700 ครั้ง คาดว่าในปี 2563 จะมีการเปิดขบวนปีละ 5,000 ครั้ง รถไฟมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้า ปัจจุบันมี 28 เมืองของจีนที่เชื่อมโยงกับยุโรปได้ การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากจีนไปเยอรมนีใช้เวลาเพียง 10 วันเท่านั้น หรือใช้เวลาเพียง 1/3 ของการขนส่งทางน้ำ ส่วนการขนส่งไปที่สเปนซึ่งมีระยะทาง 13,000 กิโลเมตรใช้เวลานานกว่าเยอรมนีเล็กน้อย

ไทยยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญของจีน เป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตร ยางพารา มูลค่าการค้าไทยจีนในปี 2559 รวม 76,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.9% และในรอบ 5 เดือนปีนี้ มกราคมถึงพฤษภาคม มูลค่าการนำเข้าส่งออกระหว่างไทย-จีนรวม 24,470 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 11.4%

นอกจากนี้การลงทุนของจีนในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2559 การลงทุนโดยตรงของจีนในไทยไม่รวมการลงทุนในภาคการเงินมีมูลค่ารวม 830 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 88.3%

จีนกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ามากขึ้น โดยเมืองเต๋อโจวที่ได้มาร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการลงทุนในครั้งนี้ แม้เป็นเมืองขนาดเล็กของจีนมียอดการค้ากับไทยเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ และยังเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมาก

ส่วนความสัมพันธ์ทางการเงินนั้น ธนาคารกลางจีนยังได้ทำข้อตกลงทวิภาคี Bilateral Swap Agreement กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อรองรับสภาพคล่องเงินบาทและเงินหยวนมูลค่า 70 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งธนาคารไอซีบีซีของจีนยังได้รับการแต่งตั้งจาก ธปท.ให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวน

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนและนักศึกษาจีนเดินทางเข้าไทยจำนวนมาก โดยปี 2559 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยจำนวน 8.7 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 นี้มีจำนวน 3.95 ล้านคน คาดว่าทั้งปีจะมีจำนวน 9 ล้านคน ส่วนนักศึกษาจีนที่เดินทางเข้ามาศึกษาในไทยมีจำนวน 31,000 คน

จีนให้ความสำคัญกับความร่วมมือในสาขาต่างๆ ของไทย ด้วยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการในไทยให้บริการแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยหัวเหว่ยบริษัทมือถือใหญ่ของจีนที่เปิดศูนย์ปฏิบัติการต่างประเทศเป็นแห่งแรกในไทย นับเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งของหัวเหว่ย นอกจากนี้ อาลีบาบา (Alibaba) ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ของจีนสนใจที่จะลงทุนใน EEC โดยกำลังร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอีคอมเมิร์ซ การค้าออนไลน์ในภูมิภาคและมีผลดีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย

วิสาหกิจจีนเห็นศักยภาพของไทย คาดว่าจะเข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยมากขึ้น รวมทั้งจีนกำลังออกแบบเพื่อก่อสร้างศูนย์นวัตกรรม ASEAN ในกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยคาดว่าจะเปิดในปี 2562 จะเป็นเวทีแห่งความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจีนกับไทย รวมทั้งการบินอวกาศ ชีวการแพทย์

ไม่ค้าขายกับจีนพลาดอนาคต

เอกอัครราชทูตจีนยังได้ตอกย้ำให้เห็นถึงโอกาสธุรกิจการค้าการลงทุนในจีน โดยอ้างคำพูดของ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง อาลีบาบา ที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าทิ้งโอกาสที่จะขายของให้จีน ก็พลาดอนาคต” เหตุผลสำคัญคือ จีนเป็นตลาดที่ใหญ่ มีกำลังซื้อสูง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลงานวิจัยที่ระบุว่า คนจีน 150 ล้านคนที่เดินทางท่องเที่ยว ใช้จ่ายเงินสูงถึง 260 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในต่างประเทศ

ในสหรัฐฯ เมืองที่มีประชากรในจำนวนเกิน 1 ล้านคนมีไม่มากนักราว 10 เมือง แต่ในจีนเมืองที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคนมีจำนวนถึง 102 เมือง นอกจากนี้คนจีน 500 ล้านคนยังซื้อของผ่านระบบออนไลน์ โดยที่ 200 คนในกลุ่มนี้ซื้อของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอาลีบาบา

ในอีก 10-15 ปีข้างหน้าคาดว่าจีนจะเป็นประเทศที่นำหน้าในเชิงจำนวนชนชั้นกลาง เพราะคาดว่าจะเพิ่มเป็นราว 400-500 ล้านคน ชนชั้นกลางนี้ต้องการสินค้าคุณภาพดี หายาก ดังนั้น อีก 30 ปี ข้างหน้า ตลาดจีนจะเป็นตลาดแห่งการบริโภคที่ใหญ่มากของโลก

ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวช้าแต่การบริโภคของจีนกลับเพิ่มขึ้นถึง 10% ปี 2560 คาดว่ามูลค่าการบริโภคในจีนมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ตลาดบริโภคของจีนจะขยายตัวจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ข้อแรก ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอง วิถีการซื้อของผ่านออนไลน์ และสามช่องทางการค้าที่มีมากขึ้นทั้งจากช่องทางปกติและช่องทางออนไลน์

นาย นิ่ง ฟู่ขุย ยังเปิดเผยว่า ในปี 2561 จีนจะจัดงานแสดงสินค้านำเข้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญานต่อทั่วโลกว่า จีนจะมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น และหวังว่าไทยจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์

ที่มาภาพ : http://www.dezhou.gov.cn/en/n21661785/n21661932/c21854310/content.html
ที่มาภาพ : http://www.dezhou.gov.cn/en/n21661785/n21661932/c21854350/content.html

เต๋อโจว เมืองธุรกิจใหม่ของไทยในจีน

นายเฉิน เฟย นายกเทศมนตรีเมืองเต๋อโจว เปิดเผยว่า ได้นำนักธุรกิจชั้นนำจากเมืองเต๋อโจวเข้าร่วมงานเสวนาที่กรุงเทพฯ จำนวน 51 คน โดย 7 คนเป็นผู้บริหารธุรกิจของเต๋อโจวที่โดดเด่นและคาดว่าน่าจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนไทยประกอบด้วย ธุรกิจเหล็กกล้า คือ บริษัทหย่งคง ที่เสียภาษีสูงสุดให้กับเมือง ธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโซลาร์เซลล์ ธุรกิจอุปกรณ์กีฬา ที่ได้รับการยอมรับในระดับกีฬาโลกโอลิมปิก ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ธุรกิจน้ำตาล ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ปีที่ผ่านมา เมืองเต๋อโจวมีการค้ากับอาเซียนเพิ่มขึ้น 47% โดยส่งออกเพิ่มขึ้น 25.8% นำเข้าขยายตัว 102.2% ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2560 มูลค่าการค้าเมืองเต๋อโจวกับอาเซียนเพิ่มขึ้น 51.9% การส่งออกเพิ่มขึ้น 33.8% ส่วนการนำเข้าโต107.9%

สำหรับการค้าระหว่างเมืองเต๋อโจวกับไทย ในรอบ 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าโตสูงถึง 225.2% โดยที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 180% และการนำเข้าขยายตัวสูงถึง 344.7% การส่งออกนำเข้า ส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องจักร สินค้าเกษตร

เมืองเต๋อโจวมีประชากรราว 6 ล้านคน มีศักยภาพในด้านการค้าการลงทุนอย่างมาก เพราะเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งแห่งหนึ่งของจีน โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงเพียง 1 ชั่วโมงจากกรุงปักกิ่ง และ 3 ชั่วโมงจากเซี่ยงไฮ้

การเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจระหว่างกันนี้ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศภายใต้ BRI ซึ่งเมืองเต๋อโจวเองได้สนับสนุนนักธุรกิจของเมืองได้ขยายการลงทุนขยายการค้ามายังไทยและอาเซียน

นายหวัง เจี้ยน อธิบดีกรมการค้าเมืองเต๋อโจว กล่าวว่า เต๋อโจวเป็นเมืองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงอย่างชัดเจน ตลาดมีการขยายตัว การส่งออกและการนำเข้า มีการพัฒนาพื้นที่รองรับการพัฒนาเทคโนโลยี 150 ตารางกิโลเมตร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ มีพื้นที่เรือนกระจกประมาณ 30 ล้านเอเคอร์และเต๋อโจวมีแรงงานนับล้านคน

เต๋อโจวเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นในหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นเมืองแห่งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar City) เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ เมืองแห่งวัฒนธรรม เมืองแห่งการกีฬา เนื่องจากมีบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์กีฬาได้มาตรฐานกีฬาโอลิมปิก ตลอดจนยังเป็นแหล่งผลิตอาหาร ธัญพืช ผักผลไม้ขนาดใหญ่ของจีน ทางการเต๋อโจวยังได้ร่วมกับกลุ่มซีพีในการนำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่ายในไทย

นอกจากเต๋อโจวมีนิคมอุตสาหกรรม (Economic Park) แล้วยังมีมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 10 แห่ง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการเกษตรแผนใหม่ (modern agriculture) อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือ (equipment manufacturing industry) อุตสาหกรรมเคมี (chemical industry) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า (textile and clothing industry) อุตสาหกรรมอาหาร (food industry) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology industry) อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก (new energy industry) อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ (new material industry) อุตสาหกรรมกีฬาและวัฒนธรรม (cultural and sports product industry) อุตสาหกรรมประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม (energy-saving and environment protection industry) อุตสาหกรรมบริการ (service industry) และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (tourism industry) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจลง เต๋อโจวยังขยายความร่วมมือกับอาเซียน อาเซียนจึงเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญอันดับสองของเต๋อโจว โดยในปี 2559 การส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น 17.2% ในรอบ 5 เดือนของปี 2560 การค้าของเต๋อโจวกับอาเซียนเพิ่มขึ้น 52%

เต๋อโจวยังตั้งคณะกรรมการความร่วมมือเต๋อโจว-อาเซียน มีศูนย์ธุรกิจเต๋อโจว-อาเซียน เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น คาดหวังความร่วมมือจะมากขึ้น โดยตั้งเป้าให้การค้าระหว่างเต๋อโจวกับอาเซียนเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 50% การลงทุนระหว่างกันขยายตัวไม่ต่ำกว่า 30% ต่อปี

เมืองเต๋อโจวอยู่ในด้านตะวันตกเฉียงเหนือในมณฑลซานตง เป็นหนึ่งในเมืองเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของ One Belt, One Road เมืองเต๋อโจวมีพื้นที่ 10,300 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในมณฑลชานตง มีประชากร 5.7 ล้านคน แม้ตั้งค่อนไปทางเหนือของกรุงปักกิ่งแต่ใช้เวลาเดินทางจากปักกิ่งเพียง 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง และใช้เวลา 3 ชั่วโมงจากเซี่ยงไฮ้

ที่มาภาพ : http://www.dezhou.gov.cn/en/n21661785/n21661932/c21854335/content.html

ที่มาภาพ : http://www.dezhou.gov.cn/en/n21661785/n21661932/c22028553/content.html

เมืองพลังงานทางเลือก

จากเว็บไซต์เมืองเต๋อโจว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมือง ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2559 ไว้ว่า เต๋อโจวเป็นทั้งเมืองธุรกิจและเมืองแห่งการท่องเที่ยว จึงขนานนามเต๋อโจวไว้หลากหลาย เช่น เมืองแห่งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar City บางครั้งเรียกว่า Solar Valley เนื่องจากแทบทุกหลังคาบ้านในเมืองเต๋อโจวมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือ Solar Cell รวมทั้งการเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองแห่งวัฒนธรรม เมืองแห่งการกีฬา เมืองแห่งธัญพืช น้ำมัน และอาหาร เมืองแห่งอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ เมืองแห่งน้ำตาลเพื่อสุขภาพ (Functional Sugar) เมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งเป็นฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ แต่เต๋อโจวมีชื่อเสียงมากที่สุดในแง่การเป็นเมืองพลังงานทางเลือก และยังเป็นเมืองตัวอย่างที่อาคารสำนักงานมีการประยุกต์การใช้พลังงานใหม่ ประกอบกับเป็นฐานพลังผลิตพลังงานทางเลือกภายใต้โครงการ National Torch Program

เมืองเต๋อโจวห่างจากนครหลวงกรุงปักกิ่ง 320 กิโลเมตร มีพื้นที่จากตะวันออกไปตะวันตกยาว 200 กิโลเมตร จากเหนือลงใต้ 175 กิโลเมตร พื้นที่รวมของเต๋อโจวคิดเป็นสัดส่วนราว 7.55% ของมณฑลซานตง ตั้งอยู่บนชุมทางรถไฟปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ตัดกับเส้นทางเต๋อโจว-ฉือเจียจวง มีทางด่วนปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ (ฝูเจี้ยน) ทางด่วนชิงเต่า-ยินฉวน ทางด่วนเต๋อโจว-ฉือเจียจวงพาดผ่าน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เส้นทางรถไฟเต๋อโจว-ยานไถ เส้นทางเต๋อโจว-ปินโจว ส่งผลให้เต๋อโจวเป็นศูนย์กลางคมนาคม (National Transportation Hub City) แห่งหนึ่งของจีน

ประชากรของเมืองเต๋อโจวเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำ ณ สิ้นปี 2543 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5.7 ล้านคน ซึ่ง 4.1 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร คุณภาพชีวิตของประชากรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประชากรเมืองซึ่งมีเนื้อที่ของที่พักอาศัยต่อหัว (per capita housing space) จำนวน 31.87 ตารางเมตร มีรายได้ที่สามารถใช้ได้ต่อหัว (per capita disposable income) จำนวน 17,410.48 หยวน เพิ่มขึ้น 10.9% มีการใช้จ่ายต่อหัว (per capita consumption expenditure) 11,628.18 หยวน เพิ่มขึ้น 14.4% ซึ่งจำนวน 3,804.32 หยวน เป็นการใช้จ่ายสำหรับอาหาร เพิ่มขึ้น 7.2% ใช้จ่ายเพื่อเสื้อผ้า 1,461.04 หยวน เพิ่มขึ้น 13.7% ใช้จ่ายเพื่อการเดินทางค่ารถ 1,634.12 หยวน ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาด้านวัฒนธรรมพักผ่อนหย่อนใจ 1,593.12 หยวน ใช้จ่าย 1,405.88 หยวนสำหรับภายในบ้าน และใช้จ่าย 582.95 หยวนเพื่อสุขภาพค่ารักษาพยาบาล

ส่วนประชากรในภาคเกษตรมีรายได้ต่อหัว 7,028.21 หยวน เพิ่มขึ้น 14.5% มีการใช้จ่ายต่อหัว 3,044.60 หยวน เพิ่มขึ้น 7.1% โดยใช้จ่ายสำหรับอาหาร 1,333.09 หยวน สำหรับเสื้อผ้า 189.14 หยวน ใช้จ่ายสำหรับภายในบ้าน 512.38 หยวน ใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง 392.07 หยวน และ 157.46 หยวนเพื่อสุขภาพ

ประชากรในภาคเกษตรมีเนื่อที่ที่อยู่อาศัยต่อหัว 34.02 ตารางเมตร

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของเต๋อโจวมีมูลค่า 165.782 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.9% จากปีก่อน โดยภาคบริการมีการเติบโตที่ดี ขณะที่ภาคเอกชนก็ขยายตัวในอัตราสูง โดยมีธุรกิจเอกชนรวม 126,400 ธุรกิจ มีการจ้างาน 497,200 ราย มีทุนจดทะเบียน 49.42 พันล้านหยวน มีการจ่ายภาษีเข้ารัฐสูงถึง 6.228 พันล้านหยวน จากรายได้รวมทั้งหมด 544.252 พันล้านหยวน