ThaiPublica > สู่อาเซียน > “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เปิดแผนยุทธศาสตร์ไทยศูนย์กลางเชื่อมโยง CLMVT สร้าง Power of Connectivity

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เปิดแผนยุทธศาสตร์ไทยศูนย์กลางเชื่อมโยง CLMVT สร้าง Power of Connectivity

31 สิงหาคม 2018


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Focus 2018: The Future is Now” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “Thailand in Connectivity with China’s Belt and Road Strategy”หรือ กลยุทธ์เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ “One Belt, One Road”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวเปิดว่า วันนี้จะมาพูดถึงว่าไทยจะร่วมมือกับโลกอย่างไรที่จะเชื่อมโยงกับ One Belt, One Road(OBOR) ของจีนรวมทั้ง แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยเอง เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก One Belt, One Road อย่างเต็มที่ และมั่นใจว่าหลังจากที่ผู้เข้าร่วมงาน Thailand Focus ได้ฟังข้อมูลในส่วนที่ประเทศไทยจะดำเนินการแล้ว ก็คงจะบอกตัวเองว่า ต้องลงทุนในประเทศไทยเสียแล้ว

ดึงประเทศเล็กรวมกลุ่มไทยศูนย์กลางเชื่อม OBOR

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายทุกประเทศในภูมิภาคนี้ คือ การเป็นประเทศขนาดเล็ก ทุกประเทศเล็กมากเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน อินเดีย 1.2 พันล้านคน ไทยมี 60 ล้านคน ซึ่งหากย้อนไป 20 ปีก่อนการชักชวนให้มาลงทุนในไทยไม่ยาก เพราะมีประชากร 60 ล้านคน แต่ปัจจุบันขนาดตลาด 60 ล้านคนไม่มีความหมายเพราะมีตลาดที่ใหญ่กว่าในระดับพันล้านคน นี่คือความท้าทายของทุกประเทศในภูมิภาคกำลังประสบ

แต่โชคดีที่ที่เรากำลังอยู่ในยุคที่อาเซียนกำลังรุ่งเรือง อาเซียนจะเป็นแหล่งทำธุรกิจที่น่าสนใจในอีก 15-20 ปีข้างหน้า เพราะประเทศหลัก อย่าง ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 5-5.5% และยังมีประเทศกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 7-8% ขึ้นไป โดยเวียดนามขยายตัว 6.5% ลาวเติบโต 7.5% เมียนมา 7.5-8% และกัมพูชา 7% ซึ่งถือว่าขยายตัวเร็วมากเมื่อเทียบกับการเติบโตตามมาตรฐานการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

เมื่อมองออกนอกอาเซียนไปในเอเชียด้วยกัน บังคลาเทศ ก็มีอัตราเติบโตในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 7% ซึ่งสะท้อนว่า ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่สำคัญทางธุรกิจและการลงทุน ขณะที่จีนและอินเดียก็มีการขยายตัวในระดับดี แต่ที่สำคัญคือ ประเทศทั้งหมดนี้ล้อมรอบไทย

“ไทยจึงสามารถเป็นศูนย์กลาง เป็นเกตเวย์ เป็น cross-road ของทุกอย่าง และเมื่อพิจารณาจากนโยบายของหลายประเทศในโลกนี้ โดยเริ่มจาก One Belt,One Road ของจีนที่ประกาศมาใน 5 ปีก่อนและนับจากนั้นได้มีโครงการเกิดขึ้นจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ก็ต้องการที่จะรู้ว่าจีนจะทำอะไร และพื้นที่ไหนเหมาะสมที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า เส้นทางรถไฟของ One Belt One Road เริ่มต้นจากอังกฤษ ตัดตรงจากยุโรปกลางมายังเอเชียกลางมาถึงจีน รวมไปถึงเชื่อมตะวันกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อมองทั่วโลก ยุโรปยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยุโรปตะวันตกก็ยังไม่เติบโตนัก ตราบใดที่ยุโรปโดยรวมยังไม่ดีขึ้น เอเชียกลางมีขนาดเล็กเกินไป ส่วนตะวันออกกลางขึ้นลงตามราคาน้ำมันดิบ ส่วนอินเดียสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจไม่เอื้อนัก และประเทศเหล่านี้ก็พยายามแข่งขันกัน

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเป็นภูมิภาคที่เหมาะสมสำหรับ One Belt, One Road ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของจีนที่ต้องการขยายลงมาทางใต้ และไปทางตะวันตก เพราะมีขนาดตลาดถึงเกือบ 800 ล้านคน มีระยะทางไม่ห่างจากจีนมากนัก และจุดหมายปลายทางสุดท้ายคือ ประเทศไทย ซึ่งไทยเองมีแผนงานที่จะช่วยให้จีนสามารถขยายลงไปทางใต้ได้อีก โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่ได้หยุดที่กรุงเทพ แต่ลงไปถึงทางใต้ของไทย ดังนั้นทุกอย่างจะเชื่อมกับ One Belt,One Road”

One Belt, One Road ไม่ได้มีเพียงทางรถไฟ แต่มีการเชื่อมโยงผ่านเส้นถนนด้วย จากคุนหมิงลงมาที่เชียงราย ลงมายังกรุงเทพ จากตะวันตกของจีนมายังตอนเหนือของไทย อีกเส้นหนึ่งมาจากหนานหนิง ลงมาที่เวียดนาม ลาว มุกดาหาร ของไทย เชื่อมกับตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ถนน 2 สายนี้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว R3a ในคุนหมิง

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ถนนสายนี้สร้างเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายด้านการขนส่ง โลจิสติกสินค้าจากตะวันตก และตอนใต้ของจีนมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ One Belt,One Road จึงเชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศที่มองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดหมายปลายทางไม่ได้มีเพียงเฉพาะจีน แต่อินเดียก็ให้ความสำคัญด้วย ผ่านนโยบาย Act East และหาแนวทางในการสร้างถนนทะลุภาคตะวันออกของอินเดียลงมาผ่านเมียนมา เชื่อมไทย อินเดียยังได้เจรจากับบังคลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากร 60 ล้านคนเศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 7% มาตลอด 10 ปีนี้และยังคงขยายตัวต่อเนื่องไปอีก 10 ปี โดยเชื่อมเมือง กัลกัตตา ผ่านมัณฑะเลย์ เมียนมา มาที่คุนหมิงภายใต้โครงการ BCIM Bridge

ดังนั้น จะเห็นได้ความเชื่อมโยงทุกเส้นทางนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว เชื่อมจีนที่ต้องการลงมาทางใต้ อินเดียที่ต้องการขยายมาด้านตะวันออก ขณะเดียวกันญี่ปุ่นเองก็ตระหนักดีว่าตลาดในประเทศที่มีประชากรกว่า 126 ล้านคนก็เล็กไป ที่สำคัญ 1 ใน 3 เป็นประชากรสูงวัย ซึ่งหากหักประชากรสูงวัยออกไป ญี่ปุ่นก็จะมีประชากรที่ยังทำงานอยู่เพียง 80 ล้านคน จึงจำเป็นต้องหาเพื่อน เพื่อหาตลาดที่ใหญ่โดยประกาศนโยบาย Indo-pacific ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมโยงมาที่ภูมิภาคนี้ โดยมีจุดเชื่อมคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีไทยอยู่ตรงกลาง

“ไทยอยู่ตรงกลางของทุกสิ่ง อยู่ตรงกลางของ action และนี่คือสถานการณ์ที่รัฐบาลหาแนวทางที่จะจัดทำงานแผนงาน ริเริ่มแนวทางต่างๆเพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่รวมทั้งจากธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลหวังที่จะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน โดยเมื่อมองจาก One Belt, One Road มุ่งลงใต้ และอินเดียต้องการมาทางตะวันออก ทุกคนต้องการลงมาที่ภูมิภาคนี้ ไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมเหล่านี้ให้ได้ และแนวทางที่จะทำให้เป็นศูนย์กลางได้ ไทยจะต้องสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆรวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงภายในประเทศ”

สี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการไปหลายอย่างเพื่อรองรับอนาคต ในการที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การขนส่งโลจิสติกของภูมิภาค

เสนอทางเลือกสร้างตลาดใหญ่

ความเชื่อมโยงได้เปลี่ยนแปลงไปมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ลาว จาก Landlocked country มาเป็น Landlinked country และส่งผลให้หลายประเทศได้ยกระดับมาอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้จากการความเชื่อมโยงทางถนนนี้ คือจะกลายตลาดเดียวกัน(Integrated market) ที่มีประชากรมากกว่า 230 ล้านคนในภูมิภาคอินโดจีน ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนและหากรวมบังคลาเทศเข้าไปด้วยตลาดจะใหญ่ขึ้นเป็น 400 ล้านคนจากเส้นทางถนนที่เชื่อมโยงระหว่างกัน สามารถขนส่งสินค้าระหว่างกันโดยไม่ต้องพึ่งพาการขนส่งทางเรืออีกต่อไป ดังนั้นจึงเป็นแหล่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

ไทยต้องการให้นักลงทุนใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตและกระจายสินค้าไปทุกประเทศซึ่งหากทำได้ ก็จะทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นตลาดที่ดีที่สุดในอีก 15-20 ปีข้างหน้า เพราะทุกประเทศรอบไทยขยายตัวในอัตราอย่างน้อย 6.5%-8% ในอีก 15-20 ปีข้างหน้า ไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาเติบโตในอัตรา 5% ได้อีก

เมื่อเห็นอนาคตอย่างนี้แล้ว ก็ได้แนวคิดที่จะทำทางเลือกที่ 3 (Third Alternative) ขึ้นที่ชื่อ Third Alternative Ex-China, Ex-India Strategy บนแนวคิดที่ว่าจะเดินสายพูดคุยกับทุกประเทศ ยกเว้น จีน กับอินเดีย โดยจะชี้ให้เห็นว่าเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่สามารถเดินไปแบบเดี่ยวๆ ต้องเดินไปด้วยกัน ซึ่งหากสามารถรวมกลุ่มกันได้ก็จะกลายเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เหตุผลก็คือ หากไปทำธุรกิจในจีนก็จะเจอภาวะและเงื่อนไขที่กดดันอย่างมาก โอกาสที่จะทำกำไรมีน้อย ส่วนในอินเดียยิ่งมีภาวะยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ดังนั้นภูมิภาคที่เหมาะสมที่จะเข้ามาทำธุรกิจเข้ามาลงทุน และจากการสอบถามนักลงทุนจากยุโรป จากสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่าภูมิภาคนี้เป็นแหล่งทำกำไรให้กับธุรกิจ เพราะมีความเป็นมิตร เปิดรับนักลงทุน

ปัจจุบันนี้อาเซียนมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( ASEAN Economic Community:AEC) แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์แม้ว่าจะมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน รวมไปถึง บังคลาเทศ รัฐบาลได้เริ่มเจรจาเขตการค้าเสรีกับศรีลังกาแล้ว รวมไปถึงการเจรจา FTA กับบังคลาเทศเพื่อเปิดโอกาสให้ ธุรกิจของประเทศนี้เข้าถึงตลาดที่นอกจากจีน อินเดีย ขณะเดียวกันภูมิภาคนี้ก็สามารถป้อน The power of Integrated Supply chain ให้กับธุรกิจจากประเทศนี้ได้

นอกจากนี้ยังเดินหน้า RCEP( Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ(ASEAN+6) คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยมีเป้าหมายที่บรรลุข้อตกลงในบางส่วนก่อน หากผลักดันได้สำเร็จ ก็จะทำให้อินเดียเข้ามาอยู่ในส่วนนี้ด้วย นักลงทุนก็จะมีตลาดของตัวเองที่มีขนาด 800 ล้านคน และหากคิดว่ายังไม่ใหญ่พอก็สามารถขนส่งสินค้าผ่านเครือข่ายเส้นทางถนนเข้าสู่ตอนใต้ของจีนหรือ อินเดียได้ มีต้นทุน

“ไม่มีที่ไหนที่อีกแล้วในโลกที่นักลงทุนจะหาได้และมีคุณสมบัติเหมือนกับภูมิภาคนี้ ที่สามารถครองตลาดได้ และหากคิดว่าตลาดยังไม่มากพอ ก็ยังมีตลาดอีกเกือบ 3 พันล้านคนที่อยู่ใกล้ โดยที่ไม่ต้องขนสินค้าขึ้นเรือเพื่อส่งไปจำหน่าย เพียงขนผ่านเครือขายถนนได้ภายใน 1 วัน”

Single Master Plan แผนยุทธศาสตร์รวมเชื่อมโยงทั่วภูมิภาค CLMVT

รัฐบาลยังได้เดินหน้าผลักดันความเชื่อมโยงในภูมิภาคอินโดจีน โดยได้นำเสนอแผนสร้างความเชื่อมโยง(ACMECS Connectivity Master Plan)กลุ่ม ACMECS ในการประชุมประจำปี ACMECS ที่ไทยเป็นเจ้าภาพใน 3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้ภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ในทุกด้าน ทั้ง การคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านดิจิทัล เป็นความร่วมมือของ 5 ชาติ( ACMECS หรือ Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Coorperation เป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างประเทศไทย พม่าลาวกัมพูชา และเวียดนาม)

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า หากไม่มีมาสเตอร์แพลน แต่ละประเทศก็จะมีแผนของตัวเอง ซึ่งอาจจะส่งผลทั้ง 5 ประเทศไม่มีสามารถเชื่อมโยงกันได้ แต่หากมีแผนฉบับเดียว จะทำให้ทุกประเทศเชื่อมโยงกัน และกลายเป็นภูมิภาคที่มีพลังมหาศาล ซึ่งจะทำให้หลายประเทศใหญ่สนใจที่จะเจรจาด้วย

สำหรับประเทศไทยมีแผนงานเสริม โดยจะพิจารณาว่าจะสร้างสะพานเชื่อมโยงได้จุดใดอีก รวมทั้งพิจารณาเปิดด่านให้มากขึ้น สร้างความเชื่อมโยงให้ไร้พรมแดน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การสร้างสะพานเชื่อมที่นครพนมกับลาว ทำให้ไม่ต้องขนสินค้าทางเรือ ทำให้การค้าระหว่างกันขยายตัวจาก 1 พันล้านบาทต่อปีก่อนสร้างสะพานเป็น 5 พันล้านบาทหลังสร้างสะพานเฉพาะในปี 2011 ที่เปิดสะพานครั้งแรก ต่อมา 5 ปีหลังจากปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 100 พันล้านบาท หรือ 20 เท่า เพราะไม่ได้ขนสินค้าไปที่ลาวเท่านั้น แต่ขนส่งต่อไปที่เวียดนาม และจีน แสดงให้เห็นชัดถึง power of connectivity ที่เกิดขึ้นแล้ว ไทยมีต้นทุนค่าก่อสร้างสะพานนี้ 2 พันล้านบาท แต่ให้ผลตอบแทนสูงมาก

ส่วนเส้นทาง R3a ก็มีสะพานเชื่อมโยงมาที่เชียงราย ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะก่อสร้างสะพานเชื่อมอีกหลายจุดของประเทศ เช่น บึงกาฬ เพื่อให้ประเทศไทยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแข็งแกร่ง ที่สำคัญ One Belt, One Road ก็มีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงมาตรงนี้

ทางด้านการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติม ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมสำรวจความว่าต้องการจะเปิดด่านชายแดนบริเวณใด เพื่อที่ไทยจะดำเนินการให้สอดคล้องกัน รวมทั้งยังได้หารือเพื่อปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนทางศุลกากรให้กระชับและใช้เวลาน้อยลง ตลอดจนยังได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดน ซึ่งโครงการยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากมีแนวคิดให้บริษัทที่ไปลงทุนนั้น ขยับพื้นที่ลงไปในเขตประเทศลาว หรือ กัมพูชาในรัศมี 10 กิโลเมตรจากชายแดนไทย เพื่อที่จะให้ได้สิทธิภาษีเพื่อการส่งออก เช่น GSP จากสหรัฐและสิทธิภาษีอื่น แต่ไทยจะก่อสร้างศูนย์รับและกระจายสินค้าในบริเวณใกล้เคียง

ที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศกัมพูชาหลายราย โดยเหตุผลหนึ่งคือ เส้นทางคมนาคมความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับกัมพูชาดีขึ้นมาก ทำให้สามารถขนส่งสินค้าจากกัมพูชามาไทยได้อย่างสะดวก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Supply chain ของภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นSupply chain ที่เชื่อมโยงกันแบบข้ามประเทศ ข้ามไปมาระหว่างกัน จึงยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติก

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า เพื่อให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของ Integrated supply chain อย่างแท้จริง โดยศุลกากรไทยจะหารือร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำความตกลงในหลักการจัดทำรายชื่อบริษัทที่มีฐานการผลิตข้ามชาติและอนุญาตให้ขนวัตถุดิบบนเส้นทางถนน เพื่อการผลิตผ่านประเทศต้นทางไปยังประเทศปลายทางที่เป็นฐานการผลิต หรือขนสินค้าจากประเทศฐานการผลิตกลับมาประเทศต้นทาง เพื่อส่งออก โดยที่ไม่ต้องหยุดให้ตรวจสอบอีก เพียงแค่แจ้งชื่อบริษัทเท่านั้น เช่น ขนสินค้าจากกัมพูชามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง หรือขนวัตถุดิบจากไทยไปผลิตที่กัมพูชา แต่ก็จะมีระบบการสุ่มตรวจเป็นระยะ หากพบว่าทำผิดเงื่อนไขก็จะยกเลิกสิทธิประโยชน์นี้

Connectivity ภายในประเทศ

นอกจากการเชื่อมโยงในภูมิภาคแล้ว ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ภายในประเทศก็ต้องมีการเชื่อมโยงทางคมนาคมภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย ทั้งทางถนน ทางรถไฟ และทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในภายในกรุงเทพเช่นกัน เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาของการเชื่อมโยงจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไทย

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการจัดทำหลายโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของภูมิภาค อาทิ โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ได้แก่ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี นอกจากนี้โครงการมอเตอร์สายย่อย เส้นทาง east-west corridor เชื่อมจากมุกดาหาร สู่แม่สอด เชื่อมไปถึงย่างกุ้ง และอินเดีย ในเส้นทางเดียวกันก็จะวิ่งมายังดานัง ตอนใต้ของเวียดนาม

ส่วนทางรถไฟ ก็มีการลงทุนในรถไฟรางคู่ พร้อมกับขยายไปถึงชายแดนตามจุดสำคัญๆ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพ-โคราช กำลังดำเนินการ ส่วนโครงการรถไฟ เชื่อมกรุงเทพ-อู่ตะภา กำลังอยู่ระหว่างการเปิดประมูล ส่วนทางอากาศนั้นมีการขยายสนามบินหลายๆ แห่งในประเทศไทย ทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา ภูเก็ต เพื่อสร้างความเชื่อมโยง และจะเป็นกลยุทธที่สำคัญ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่ผ่านมามีเพียง 3 สายที่ก่อสร้างเสร็จ แต่รัฐบาลนี้มีเป้าหมายที่จะเปิดประมูลทุกสายภายในสิ้นปีนี้ และจะดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมๆกัน แทนที่จะสร้างทีละสายเหมือนเดิม เพราะต้องการที่จะเปลี่ยน รวมทั้งสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา

กรุงเทพจะเปลี่ยนโฉมอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า จากการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเมือง เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแหล่งการค้าสำคัญๆต่างๆ เช่น Icon Siam จะเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โครงการ One Bangkok ณ ใจกลางกรุงเทพ และ มักกะสันคอมเพล็กซ์ จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพ

ส่วนศูนย์กลางของการลงทุนนั้นโครงการ EEC จะเป็นเกตเวย์ให้กับบริษัทต่างๆ ตั้งสำนักงานใหญ่ โดยมีแหลมฉบังเป็นตัวเชื่อมโยงกับภูมิภาคอินโดจีน มีรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือไปสู่รถไฟ เหมือนกับท่าเรือร็อตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่มีความสำคัญมากในยุโรป เพราะเชื่อมต่อกับเครือข่ายของพื้นที่ด้านใน และหวังว่าท่าเรือแหลมฉบังก็จะยกระดับไปเป็นท่าเรือของอินจีนในระยะต่อไป

ใน 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศโครงการ Southern Economic Corridor ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะไทยต้องการเกตเวย์จากไทยด้านตะวันตกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ส่วนท่าเรือระนอง จะถูกยกระดับไปสู่การเป็นประตูเชื่อมจากภาคตะวันตกของประเทศไทยสู่ ศรีลังกาและอินเดียซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญ

“มีประเทศไหนบ้างที่สามารถออกทะเลได้สองด้านทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เหมือนไทย และมีประเทศไหนบ้างที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางบก ทางถนนจากเหนือลงใต้เหมือนไทย ทั้งหมดนี้เป็น เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางที่เชื่อมโยงประเทศเข้าเป็นภูมิภาคเดียวกัน”