ThaiPublica > คอลัมน์ > One Belt One Road: “Marshall Plan” ของจีน?

One Belt One Road: “Marshall Plan” ของจีน?

31 กรกฎาคม 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

One Belt One Road ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/04/One_Belt_One_Road.png/640px-One_Belt_One_Road.png

ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือแนวคิดการสร้างเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 นับเป็นยุทธศาสตร์การต่างประเทศที่สำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งได้เดินสายประกาศความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียและยุโรปตามแนวเส้นทางสายไหมในอดีต

แต่สำหรับนักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ แล้ว มักเปรียบเทียบ One Belt One Road ของจีน กับโครงการ Marshall Plan ในอดีตของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงการที่สหรัฐฯ เคยให้การสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อฟื้นฟูภูมิภาคยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การเปรียบเทียบความคล้าย-ความต่าง ระหว่าง One Belt One Road ในปัจจุบันของจีน และ Marshall Plan ในอดีตของสหรัฐฯ จะช่วยทำให้เราเข้าใจความมุ่งหมายและความสำคัญของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนต่อการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้งขึ้น

ย้อนดู Marshall Plan ของสหรัฐฯ

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจใหม่อย่างสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) ซึ่งมาจากความคิดริเริ่มของ รมว.ต่างประเทศ จอร์จ มาร์แชล ที่เสนอให้เงินช่วยเหลือประเทศในยุโรปในการฟื้นฟูบ้านเมืองจากความเสียหายภายหลังสงคราม โดยสหรัฐฯ ได้จัดเงินทุนสำหรับช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นวงเงินรวมสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเป็นเงินปัจจุบันราว 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเริ่มต้นโครงการในปี ค.ศ. 1948 กินระยะเวลา 4 ปี

ในเวลานั้น มีประเทศในยุโรปรวมถึง 18 ประเทศ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ เช่น อังกฤษ (รับเงิน 26% จากจำนวนเงินทั้งหมด) ฝรั่งเศส (18%) เยอรมันตะวันตก (11%) นอกจากนั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน สหรัฐฯ ยังได้ให้เงินสนับสนุนแก่หลายประเทศในเอเชีย เพียงแต่ไม่ได้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Marshall Plan

Marshall Plan นับเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของยุคครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ซึ่งสหรัฐฯ ได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก พร้อมกับได้สร้างระเบียบโลกทุนนิยมเสรี (โดยมีดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลก) สหรัฐฯ ยังเป็นหัวหอกจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญขึ้น เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)

เมื่อมองดูยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนในวันนี้ เราจะเห็นว่า จีนไม่เพียงศึกษาและดัดแปลงแนวคิดเส้นทางสายไหมในอดีตของตนเท่านั้น แต่จีนยังศึกษาและดัดแปลงแนวคิด Marshall Plan ของสหรัฐฯ เพื่อขยายอิทธิพลของตน ดังเช่นที่สหรัฐฯ เคยทำมาในอดีต

พินิจความคล้าย

Marshall Plan ของสหรัฐฯ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับ One Belt One Road ของจีนในปัจจุบัน มีความคล้ายกัน ดังนี้

1. เป็นยุทธศาสตร์ต่างประเทศที่มีความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศด้วย

Marshall Plan ของสหรัฐฯ มีความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาการผลิตเกินตัวในสหรัฐฯ เพราะในยุคสมัยนั้น สหรัฐฯ พัฒนาและขยายอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว จนเกิดปัญหาการผลิตเกินตัวภายในประเทศ มีสินค้าคงเหลือมาก สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศในยุโรปผ่าน Marshall Plan โดยมักมีเงื่อนไขว่า ประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ จะต้องปฏิรูปเพื่อเปิดรับการลงทุนจากสหรัฐฯ และต้องนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากสหรัฐฯ

One Belt One Road ของจีน ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจและความมั่นคงภายในของจีนเช่นเดียวกัน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการผลิตเกินตัวของจีนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และเหล็กกล้า โดยทำให้จีนสามารถส่งออกวัตถุดิบเหล่านี้เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ ได้ นอกจากนั้น การที่จีนหันมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา ยังจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเอาทุนสำรองมหาศาลของจีนไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เช่นในอดีต

นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ยังจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนของจีน โดยเชื่อมมณฑลซินเจียงเข้ากับเอเชียกลางและยุโรป และเชื่อมมณฑลตอนใต้ของจีนเข้ากับอาเซียน ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เน้นเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ ก็จะเป็นข้ออ้างให้จีนเข้ามาเดินเกมรักษาผลประโยชน์ของตนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งผลักดันข้อเรียกร้องของจีนเกี่ยวกับทรัพยากรในทะเลจีนใต้อีกด้วย

2. ส่งเสริมการใช้สกุลเงินของตน

Marshall Plan มีส่วนช่วยให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐค่อยๆ ผงาดจนเป็นที่ยอมรับในฐานะสกุลเงินหลักของโลกปัจจุบัน ขณะที่จีนเองก็ได้วางยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อยกระดับสกุลเงินหยวนของตน แม้ว่าในปัจจุบันหลายโครงการภายใต้ความร่วมมือ One Belt One Road จะยังคงใช้สกุลเงินดอลลาร์เพราะเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากกว่า แต่ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ในระยะยาวน่าจะช่วยส่งเสริมอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน จนนำไปสู่การเลือกใช้สกุลเงินหยวนในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น

3. ต่อสู้กับคู่แข่ง และแบ่งแยกเชิงยุทธศาสตร์

Marshall Plan ของสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต Marshall Plan ช่วยสนับสนุนประเทศทุนนิยมเสรีในยุโรปให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศเหล่านั้น เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว อาจเกิดการประท้วงของชนชั้นกรรมาชีพ จนนำไปสู่ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ได้ นอกจากนั้น Marshall Plan ยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือภายในกลุ่มประเทศทุนนิยมเสรีด้วยกัน การให้เงินช่วยเหลือของสหรัฐฯ เองก็มาพร้อมเงื่อนไขว่าประเทศที่รับเงินช่วยเหลือจะต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีตามแนวทางสหรัฐฯ

One Belt One Road ของจีน ก็มีเป้าหมายเพื่อทัดทานการขยายอิทธิพลของคู่แข่งเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีนี้ คู่แข่งของจีนคือ สหรัฐฯ (ในเวทีโลกและในยุโรป) และญี่ปุ่น (ในเอเชีย) ทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือและสร้างความสนิทชิดเชื้อภายในกลุ่มประเทศที่เป็นมิตรกับจีน ค่อยๆ แบ่งแยกจากกลุ่มประเทศที่ใกล้ชิดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/fd/Bundesarchiv_Bild_183-B0527-0001-753%2C_Krefeld%2C_Hungerwinter%2C_Demonstration.jpg

พินิจความต่าง

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ทั้งสองก็มีความแตกต่างกันในหลายจุด ดังนี้

1. ขอบเขตและความชัดเจนของโครงการ

Marshall Plan ออกมาในรูปกฎหมายโดยผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีการกำหนดเงินทุนและระยะเวลาการดำเนินโครงการชัดเจน ขอบเขตของประเทศที่ให้ความช่วยเหลือก็มีเพียงประเทศในยุโรปเท่านั้น

ส่วน One Belt One Road ของจีน เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่ไม่มีความชัดเจน ไม่มีจำนวนเงินแน่ชัด ไม่มีรายชื่อโครงการตายตัว แต่เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะต้องเจรจาความร่วมมือกับจีนเป็นโครงการๆ ไป

แหล่งเงินทุนสำหรับโครงการต่างๆ ในยุทธศาสตร์ One Belt One Road ก็อาจมีที่มาได้หลากหลาย โดยอาจใช้เงินทุนจากกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ของรัฐบาลจีน ซึ่งมีอยู่ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินจากธนาคารนโยบายสองแห่งของจีน ได้แก่ China Development Bank และ EXIM Bank of China นอกจากนั้นยังมีองค์กรระหว่างประเทศที่จีนจัดตั้งขึ้น ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ในปักกิ่ง ซึ่งมีทุน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีทุน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกเหนือจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ของจีนเองก็อาจเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อในโครงการลงทุนที่มีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทนที่สูง

ส่วนขอบเขตของประเทศที่อยู่ใน “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” ก็มีมากถึง 65 ประเทศ ครอบคลุมประเทศเกือบทั้งหมดในยุโรปและเอเชีย

2. เป้าหมายของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

เป้าหมายของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ Marshall Plan คือการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศในยุโรป เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ ส่วนเป้าหมายของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ One Belt One Road เน้นที่โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมโยง เช่น รถไฟ ท่าเรือ ท่อก๊าซ และน้ำมัน ฯลฯ ดังนั้น One Belt One Road จึงมีมิติของการขนส่งสินค้า ขนถ่ายคน และพลังงาน รวมทั้งมีภาพของจีนเป็นจุดกลาง หรือเชื่อมโยงกลับเข้าหาจีน

3. มาพร้อมเงื่อนไขทางการเมือง หรือการแผ่ขยายลัทธินิยมหรือไม่

Marshall Plan ของสหรัฐฯ ในอดีต มาพร้อมเงื่อนไขทางการเมือง นั่นคือ ประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองตามแนวทางของสหรัฐฯ ต้องหันมาใช้ระบบทุนนิยมเสรีและเสรีนิยมประชาธิปไตย นอกจากนั้น การต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตเองก็เป็นการต่อสู้ระหว่างลัทธินิยมที่แตกต่างกัน นั่นคือ ระหว่างลัทธิทุนนิยมเสรี นำโดยสหรัฐฯ กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน นำโดยสหภาพโซเวียต

ส่วน One Belt One Road ของจีนนั้น จีนยืนยันหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ และจีนพร้อมเจรจาและร่วมมือกับรัฐบาลทุกรูปแบบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลเผด็จการ (ซึ่งถ้าเป็นสหรัฐฯ และยุโรป อาจลดระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลเผด็จการลง)

ที่สำคัญ แม้ในทางการเมือง จีนในปัจจุบันจะปกครองโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในทางเศรษฐกิจ จีนได้ดำเนินการปฏิรูปหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เปิดรับและเข้าร่วมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศตามแนวเสรีนิยม จีนยุคใหม่จึงมาในสไตล์ชาติพ่อค้า ที่หวังกอบโกยประโยชน์และกำไรตามเกมการค้าและการลงทุน มากกว่าที่จะเป็นชาติลัทธินิยมแบบสหรัฐฯ หรือสหภาพโซเวียตในอดีต

สรุป: ระเบียบโลกทุนนิยมเสรีที่มีจีนเป็นหนึ่งในมหาอำนาจ

เมื่อพินิจความคล้ายและความต่างระหว่าง One Belt One Road ของจีน กับ Marshall Plan ในอดีตของสหรัฐฯ เราจะพบว่า ในขณะที่ Marshall Plan นำไปสู่การสร้างระเบียบโลกทุนนิยมเสรีที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ตัว One Belt One Road ของจีนไม่ได้มีความมุ่งหมายในการทำลายระเบียบโลกเดิม แต่มีเป้าหมายเพื่อให้จีนมีอิทธิพลมากขึ้นภายใต้ระเบียบโลกปัจจุบัน สามารถก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจร่วมกับสหรัฐฯ ได้
จีนในปัจจุบันไม่ได้มีลักษณะลัทธินิยม แต่จีนหันมาสวมบทชาติพ่อค้า มุ่งกอบโกยและตักตวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายใต้เกมทุนนิยมเสรีที่สหรัฐฯ ได้เคยกำหนดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องการมีส่วนร่วมปรับปรุงและแต่งเติมกฎกติกาของเกมด้วย

ตัวอย่างเช่น ในมิติกฎหมายการเงินระหว่างประเทศ จากเดิมที่องค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญคือ ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ปัจจุบันจีนก็ริเริ่มจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) ในเซี่ยงไฮ้
หรืออย่างในด้านการค้าระหว่างประเทศ จีนก็ผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ระหว่างจีนกับประเทศอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี TPP ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ เพื่อทัดทานการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน แต่สุดท้ายสหรัฐฯ ได้ถอนตัวจาก TPP ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากกระแสต่อต้านการค้าเสรีภายในประเทศตนเองในช่วงที่ผ่านมา

ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุนจีนที่มีบทบาทนำในยุทธศาสตร์ One Belt One Road มักมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน เช่น เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ หรือเป็นภาคเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มักขับเคลื่อนด้วยทุนเอกชน ดังนั้น การขยายอิทธิพลของทุนจีน จึงมาพร้อมกับการเดินสายส่งเสริมยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของผู้นำจีน ขณะเดียวกัน ทุนจีนก็เป็นตัวสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในประเทศต่างๆ โดยตรงด้วย

สิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ ในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศภายใต้ One Belt One Road จีนจะเดินตามหรือเดินแหวกแนวตะวันตกอย่างไร? (เช่น เงื่อนไขการปล่อยกู้ กลไกการระงับข้อพิพาทในการลงทุน ฯลฯ) นอกจากนั้น สำหรับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมและสิทธิมนุษยชน เช่น มาตรฐานด้านการคุ้มครองแรงงาน มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จีนจะมีมาตรฐานทัดเทียมกับตะวันตกหรือไม่?

และตัวประเทศที่รับการลงทุนจากจีนเอง จะเรียกร้องให้จีนมีมาตรฐานอย่างไร และเพียงใด?

ป้ายคำ :