นายชวี หงปิน ผู้บริหารร่วม ส่วนวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Greater China ธนาคารเอชเอสบีซี ได้รายงานวิจัยเรื่อง “On the New Silk Road กิจการที่บริษัทจีนกำลังกว้านซื้อในต่างประเทศ”ว่า
- การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ เนื่องจากบริษัทจีนต้องการขยายธุรกิจไปสู่ระดับสากลอย่างต่อเนื่อง
- การลงทุนเหล่านี้กำลังแผ่ขยายจากธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐาน ไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีและแบรนด์สินค้าผู้บริโภค
- บริษัทเอกชนจีนแซงหน้ารัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นนักลงทุนหลักที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ
การซื้อกิจการในต่างประเทศของจีนเริ่มต้นจากธุรกิจวัตถุดิบ ขยายเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานและการผลิต และขณะนี้จีนกำลังเริ่มเปลี่ยนจุดสนใจไปที่แบรนด์สินค้าผู้บริโภครายใหญ่ ๆ และบริษัทไอที แนวทางการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังจากที่ธุรกิจด้านการบริโภคและบริการใน “เศรษฐกิจยุคใหม่” เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น การลงทุนในต่างประเทศของจีนแต่เดิมเคยถูกขับเคลื่อนโดยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจสำรวจแร่เหล็กและทองแดง แต่ขณะนี้กลายมาเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่แทนที่เข้าซื้อกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์จากสหรัฐและธุรกิจแฟชั่นจากยุโรป ควบคู่ไปกับการเข้าซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยบริษัทจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
บทวิจัยนี้ ศึกษารูปแบบที่เปลี่ยนไปของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนในหลายมิติ ได้แก่ ขนาด กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และภูมิศาสตร์ รวมถึงนัยที่มีต่อภาคการเงินของประเทศ นอกจากนี้ เราเพิ่มการรายงานข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับแนวคิด One Belt One Road ที่จะก่อให้เกิดเส้นทางสายไหมใหม่อีกด้วย โดยเราพบว่า
- การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (นอกภาคการเงิน) ของจีน เติบโตร้อยละ 53.7 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 1.34 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่ามูลค่าการลงทุนของปี 2558 ทั้งปี อยู่ที่ 1.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
- ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 การลงทุนของบริษัทเอกชน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศรวมของจีน
- ปัจจุบัน บริษัทจีนให้ความสนใจลงทุนในยุโรปและสหรัฐเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องการมองหาการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีและแบรนด์สินค้าผู้บริโภค
- ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นธีมการลงทุนที่สำคัญ โดย One Belt One Road เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในปี 2558 แต่การลงทุนในด้านการผลิตต่างหากที่เติบโตในลักษณะเร่งตัวขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
- สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Multilateral financial institutions) กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานตามแนวเส้นทางสายไหมใหม่ ในขณะที่ธนาคารรัฐของจีนมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนมาอย่างยาวนาน ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในประเทศจีนควรจะคว้าโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้นจากการที่วิสาหกิจของจีนขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ
เศรษฐกิจจีนระยะต่อไป
ก่อนจะย่างเข้าสู่ปี 2560 ภาพรวมในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังดูอึมครึมเล็กน้อย ถึงแม้ว่าการเติบโตของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง การลงทุนในกลุ่มประเทศแถบเส้นทางสายไหมใหม่ได้ชะลอลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนลดลงร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับการเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 66.2 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558
ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นย่อมจะเป็นสาเหตุหนึ่ง เช่น กรณี Brexit ดังนั้น การที่ภาวะการเลี่ยงความเสี่ยงมีมากขึ้นหมายถึงการลงทุนใหม่ ๆ มีแนวโน้มสูงที่จะไหลเข้าสู่ตลาดที่พัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ ปี 2558 ที่มีฐานการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งก็พอจะอธิบายได้ถึงการเติบโตในอัตราต่ำลงในปีนี้
อย่างไรก็ดี เรามองว่ายังมีการพัฒนาการที่จะสนับสนุนกระแสการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในภูมิภาคอีกหลายประการ เช่น มีโครงการใหม่ ๆ จำนวนมากที่อยู่ระหว่างการเจรจา หรือรอประกาศเพื่อดำเนินการ ซึ่งย่อมจะหมายถึงการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในอนาคตที่มีเสถียรภาพ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) มีโครงการอยู่ระหว่างพิจารณาถึงกว่า 900 โครงการที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหม คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนสะสมรวม 800 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟระหว่างจีน-ยุโรปหลายเส้นทาง เช่น กวางโจว-ยุโรป เซินเจิ้น-ฮัมบูร์ก เฉิงตู-มอสโคว์ ชิไห่-แอนท์เวิร์ป คาดว่าจะเปิด หรือ เปิดดำเนินการแล้วในปี 2559 โดยที่ผ่านมา รถไฟเส้นทางจีน-ยุโรปซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก 17 มณฑลในจีนมีทั้งหมด 29 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางรถไฟเหล่านี้จะช่วยเพิ่มกระแสการค้าและการลงทุนในอนาคตของภูมิภาคได้
ในท้ายที่สุด ความช่วยเหลือทางการเงินกำลังทยอยเข้ามามากขึ้น สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ 2 แห่ง คือ กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (The Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ในขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยที่ผ่านมา ธนาคาร AIIB ได้ให้การสนับสนุนเงินกู้ยืมแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 6 แห่งในเอเชีย รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 829 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ธนาคาร AIIB จะร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำแห่งอื่น ๆ ของโลกในการสนับสนุนเงินกู้ขณะเดียวกัน กองทุนเส้นทางสายไหมได้สนับสนุนโครงการลงทุน 3 โครงการในปี 2558 และ 2559 โดยมีแผนจะใช้การลงทุนแบบผสมผสานระหว่างตราสารทุนและตราสารหนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือใน4 ด้านหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน อุตสาหกรรม และความร่วมมือด้านการเงิน นอกจากนี้ ธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในประเทศจีนยังได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมในโครงการ Belt and Road อีกด้วย
โดยสรุป จากการที่เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น หลายโครงการกำลังเดินหน้าสู่ขั้นตอนการเริ่มมปฏิบัติ การเชื่อมโยงระหว่างพรมแดนกำลังมีความซับซ้อนมากขึ้น และการสนับสนุนทางการเงินก็ค่อย ๆ มีเพิ่มขึ้น เราคาดว่าการลงทุนของจีนในกลุ่มประเทศแถบเส้นทางสายไหมใหม่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพใน 2-3 ปีข้างหน้า