ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานวิจัยของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) เรื่อง การแข่งขันกันด้านวิสัยทัศน์ของเอเชีย

รายงานวิจัยของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) เรื่อง การแข่งขันกันด้านวิสัยทัศน์ของเอเชีย

20 สิงหาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในยุคปัจจุบัน ประเทศที่มีอำนาจและอิทธิพลในเศรษฐกิจการเมืองของโลก อาศัยเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น หรือใช้สิ่งที่เรียกว่า “ภูมิเศรษฐศาสตร์” (Geoeconomics) เป็นนโยบายหลักด้านต่างประเทศ จีนคือตัวอย่างของประเทศที่ใช้นโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะทำให้ดินแดนเอเชียกลางทั้งหมดมุ่งหน้ามาที่ปักกิ่ง

เมื่อจีนทำการค้าและธุรกิจกับเกาหลีใต้ มีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการแลกเปลี่ยนว่า เกาหลีใต้จะต้องไม่ให้สหรัฐฯ นำระบบการป้องกันขีปนาวุธแบบ THAAD มาติดตั้งในเกาหลีใต้ แต่เมื่อเกาหลีใต้ยอมตามสหรัฐฯ ห้างสรรพสินค้า Lotte ของเกาหลีใต้ในจีนก็ต้องปิดกิจการไป ส่วนรัสเซียจัดตั้งกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียเพื่อให้ประเทศในแถบเอเชียกลางเข้ามารวมตัวกับรัสเซีย ในอดีต ประเทศเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ทุกวันนี้ คำว่า “ภูมิเศรษฐศาสตร์” ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และในหลายความหมาย อย่างเช่นความคิดที่ว่า การค้าส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ แต่ในหนังสือ War by Other Means ผู้เขียนคือ Robert D. Blackwell และ Jennifer M. Harris อธิบายความหมายของ “ภูมิเศรษฐศาสตร์” ว่าคือ การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเชิงที่เป็นคุณประโยชน์ เช่น เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนให้จีนและรัสเซียเข้ามาเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมระหว่างประเทศ เป็นต้น

วิสัยทัศน์ที่ต่างกันของเอเชีย

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ หรือ Center for Strategic & International Studies (CSIS) ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง วิสัยทัศน์ที่แข่งขันกัน (Competing Visions) ของบรรดาประเทศสำคัญๆ ในเอเชีย โดยกล่าวว่า การแข่งขันด้านภูมิเศรษฐศาสตร์เพื่อที่จะกำหนดอนาคตของเอเชียได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียได้เสนอแผนการที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างถนน เส้นทางรถไฟ ท่อส่งเชื้อเพลิงพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานขนาดหนักอื่นๆ ทั่วภูมิภาค โดยผู้เชี่ยวชาญของ CSIS ได้พัฒนาแผนที่ขึ้นมาเพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์ที่แข่งขันกันในเอเชีย

วิสัยทัศน์ของอาเซียน

สมาคมอาเซียนมีวิสัยทัศน์เรื่องการเชื่อมโยงกันที่มากขึ้นในด้านกายภาพ องค์กร และประชาชนกับประชาชน ระหว่างประเทศสมาชิก 10 ชาติ แผนงานหลักเรื่องการเชื่อมโยงอาเซียน 2025 (ASEAN Connectivity 2015) เสนอให้มีการเชื่อมโยงประเทศสมาชิกด้วยโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ประเทศที่อยู่ติดทะเล เช่น บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เฉลียงเศรษฐกิจทางทะเลของอาเซียนด้วยการปรับปรุงท่าเรือต่างๆ

ส่วนบนแผ่นดินใหญ่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม จะทำการยกระดับเส้นทางหลวงตามแนวเฉลียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคแม่โขง และยกระดับเส้นทางรถไฟตามแนวเฉลียงเส้นทางรถไฟอาเซียน ที่รวมถึงการเชื่อมเส้นทางรถไฟ สิงคโปร์-คุนหมิง ข้อเสนอที่ให้มีการปรับปรุงระบบโลจิสติก กฎระเบียบ และนวัตกรรมดิจิทัล ก็เพื่อให้สินค้า การบริการ และประชาชน เคลื่อนย้ายรวดเร็วขึ้น เป้าหมายสูงสุดคือ อาเซียนที่เชื่อมต่อและรวมตัวกันแบบไม่มีรอยต่อและอย่างรอบด้าน

วิสัยทัศน์ของจีน

ในปี 2013 จีนประกาศการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”(One Belt One Road – OBOR) ที่จะตัดผ่านแผ่นดินใหญ่ของยูเรเซีย ด้วยโครงการใหญ่ 2 โครงการ คือ เส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษ 21 และแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก โครงการ OBOR ถือเป็นผลงานด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โครงการ OBOR น่าสนใจทั้งในแง่ความไม่ชัดเจน เพราะเป็นโครงการแบบปลายเปิด (open-end) และความใหญ่โตของโครงการ เป็นโครงการที่รวมทั้งโครงการเก่ากับโครงการใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอน รวมทั้งเป็นความพยายามที่จะดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานแบบต่างๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม

วิสัยทัศน์ของญี่ปุ่น

วิสัยทัศน์ของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงตะวันออก-ตะวันตก มาจากการลงทุนเป็นเวลาหลายทศวรรษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอยู่ในภูมิภาคนี้สะท้อนความจำเป็นของญี่ปุ่นในด้านห่วงโซ่อุปทานและการเข้าถึงทะเล ญี่ปุ่นดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องความได้เปรียบที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเพิ่มเงินทุนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและยั่งยืนในภูมิภาคนี้ โดยผ่านโครงการ “การเป็นหุ้นส่วนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ” เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานหลักในการเชื่อมโยงของอาเซียน ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนกับเฉลียงทางทะเลและทางบกใหม่ ที่เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างอ่าวเบงกอลกับทะเลจีนใต้

วิสัยทัศน์ของอินเดีย

วิสัยทัศน์ของอินเดียเน้นหนักเรื่องการเพิ่มความเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านกับพรมแดนอินเดีย อินเดียมองว่า สมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือภูมิภาค (South Asian Association for Regional Cooperation – SAARC) ที่ประกอบด้วย 8 ประเทศในชมพูทวีป ไม่สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ อินเดียในสมัยรัฐบาลนเรนทระ โมที จึงเน้นการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งเพื่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคของอินเดีย เช่น การพัฒนาท่าเรือชาบาฮาร์ (Chabahar) ในอิหร่าน เพื่อเข้าถึงเส้นทางบกสู่ยุโรปและเอเชียกลาง ส่วนโยบาย “ดำเนินการทางตะวันออก” หรือ Act East มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอาเซียน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่ไม่ติดทะเลสามารถเข้าถึงท่าเรือทางใต้ และการสร้างเฉลียงทางบกใหม่ ที่เชื่อมอินเดียกับไทยผ่านเมียนมาร์

วิสัยทัศน์ของรัสเซีย

วิสัยทัศน์ของรัสเซียประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานแบบต่างๆ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union – EAEU) ที่ประกอบด้วย 5 ประเทศในแถบยูเรเซียทางเหนือ เป็นเครื่องมือสำคัญของรัสเซียในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่รัสเซียบอกว่า โครงการของ EAEU สามารถเชื่อมต่อกับโครงการ OBOR ของจีน รัสเซียให้ความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการทูตต่อตะวันออก จะเห็นได้จากการที่รัสเซียกำลังหาประโยชน์จากตลาดพลังงานของจีนด้วยโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทางทิศใต้ รัสเซียมีเป้าหมายจะขยายความเชื่อมโยงกับอาเซอร์ไบจาน อิหร่าน และอินเดีย ผ่านเฉลียงคมนาคมเหนือ-ใต้

วิสัยทัศน์ของเกาหลีใต้

โครงการที่เรียกว่า “การริเริ่มยูเรเซีย” (Eurasian Initiative) ของอดีตประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-Hye) มีขอบเขตกว้างขวาง ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟจากกรุงโซลจนถึงใจกลางยุโรป เส้นทางเดินเรือผ่านทะเลอาร์กติก และเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก เช่น Trans-Eurasia Information Network (TEIN) และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟรัสเซียประกอบด้วยเส้นทางผ่านเขตปลอดทหาร และเส้นทางทะเล ที่ไม่ผ่านเกาหลีเหนือ

วิสัยทัศน์ของอิหร่าน

หลังจากโดดเดี่ยวเป็นเวลาหลายปี อิหร่านแสดงท่าทีต้องการเป็นสะพานเชื่อมตะวันออกกับตะวันตก เมื่อการคว่ำบาตรถูกยกเลิกไป อิหร่านมีแผนงานที่จะสร้างเส้นทางรถไฟปีหนึ่งเป็นระยะทาง 2,000 กิโลเมตร เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากตั้งอยู่ช่วงกลางของเฉลียงคมนาคมเหนือ-ใต้ จากมอสโคว์ถึงมุมไบ อิหร่านต้องการเป็นศูนย์กลางของเส้นทางนี้

วิสัยทัศน์ของตุรกี

ในอดีต ตุรกีเป็นเหมือนสะพานยุทธศาสตร์ทางบก ที่เชื่อมเอเชียกับยุโรป ทุกวันนี้ ตุรกีเสริมสร้างจุดเด่นดังกล่าวด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในประเทศ ภายในภูมิภาค และระหว่างประเทศ เช่น โครงการเส้นทางรถไฟ Baku-Tbilisi-Kars ตามแผนงาน Vision 2023 ตุรกีมีแผนที่จะขยายเครือข่ายคมนาคมโดยการสร้างถนนและเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเสริมจุดแข่งที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างเอเชียกับยุโรป

เอกสารประกอบ
Competing Visions: Reconnecting Asia, Center for Strategic & International Studies (CSIS).
Robert Blackwill & Jennifer Harris. War by Other Means, Harvard University Press, 2016.