ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีชี้ผลกระทบจากวิกฤติทางการทูตของกาตาร์

วิจัยกรุงศรีชี้ผลกระทบจากวิกฤติทางการทูตของกาตาร์

23 มิถุนายน 2017


ประเทศการ์ตา ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/e0/Doha_banner.jpg/798px-Doha_banner.jpg

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติทางการทูตของกาตาร์ โดยมองว่ากลุ่มประเทศอาหรับ 4 ชาติ คือ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและปิดเส้นทางคมนาคมกับกาตาร์ ทำให้ระดับราคาสินค้าโดยรวมภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินของกาตาร์ได้รับผลกระทบ โดยผลดังกล่าวจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของกาตาร์เพียงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจกาตาร์พึ่งพิงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย วิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะไม่มากนัก จากต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยและต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมีทิศทางสูงขึ้น เนื่องจากกาตาร์เป็นแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย โดยคาดการณ์ว่าต้นทุนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.6-1.7% อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้กาตาร์ไม่สามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดไว้

ผลกระทบจากการตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อเศรษฐกิจของกาตาร์

ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตรวมทั้งปิดเส้นทางคมนาคมกับกาตาร์ จากประเด็นที่เชื่อว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางและอิหร่าน ทำให้ราคาสินค้านำเข้าของกาตาร์ที่ขนส่งผ่านประเทศอาหรับ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม ปรับเพิ่มขึ้น และยังเกิดการหยุดชะงักของภาคท่องเที่ยวและสายการบินกาตาร์ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของกาตาร์จะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งมีสัดส่วนใน GDP ราว 50% ได้รับผลกระทบน้อย และกาตาร์เองก็พึ่งพิงตลาดชาติอาหรับไม่มากนัก

รูปที่ 1: การเปลี่ยนแปลงเส้นทางคมนาคมจากการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 4 ชาติอาหรับกับกาตาร์
ที่มา: วิจัยกรุงศรี

การฟื้นฟูความสัมพันธ์อาจล่าช้า แต่คาดว่าจะไม่บานปลาย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคและมหาอำนาจของโลกที่ค่อนข้างซับซ้อนจะช่วยให้เกิดการคานอำนาจและป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกาตาร์มีความซับซ้อนกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรีย อย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์แต่ยังจำเป็นต้องพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์ในสัดส่วนสูงคิดเป็น 30-40% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับซาอุดิอาระเบียกลับมีฐานทัพในกาตาร์ ซึ่งเป็นฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ขณะที่รัสเซียให้การสนับสนุนอิหร่าน เป็นต้น

รูปที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกาตาร์กับประเทศอื่นๆ
หมายเหตุ: สีเขียวแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดี สีแดงแสดงถึงความสัมพันธ์ที่เปราะบาง และสีเทาคือความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน
ที่มา: วิจัยกรุงศรี

อย่างไรก็ตาม หากความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์และสหรัฐฯ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์และรัสเซียเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาครุนแรงขึ้นจนกลายเป็นชนวนสู่สงครามตัวแทนระหว่างสองขั้วอำนาจได้ แม้โอกาสเกิดจะไม่มากนัก

อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของโลกขยับตัวเพียงเล็กน้อย

วิจัยกรุงศรีมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลต่อการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในกาตาร์ แต่อาจส่งผลต่อการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยกาตาร์มีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับสามของโลกและเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG (Liquefied Natural Gas) อันดับหนึ่งของโลก ทำให้กาตาร์สามารถขนส่ง LNG ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องขนส่งร่วมกับประเทศอื่น นอกจากนี้ กาตาร์ยังสามารถเดินเรือผ่านคลองสุเอซได้ โดยอียิปต์ไม่สามารถกีดกันได้ เนื่องจากมีข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้การขนส่ง LNG ไปยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี ต้นทุนค่าขนส่งอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการที่เรือของกาตาร์อาจไม่สามารถเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และต้องเปลี่ยนไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอื่นแทน เช่น ในอินเดียหรือสิงคโปร์สำหรับเส้นทางขนส่งไปยังเอเชีย หรือในยิบรอลตาร์สำหรับเส้นทางไปยุโรป

ต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันจากกาตาร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จากความจำเป็นต้องขนส่งน้ำมันดิบเอง หรือต้องทำการ co-loading กับประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ตาม กาตาร์มีสัดส่วนในการผลิตน้ำมันเพียงเล็กน้อยแค่ 0.7% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลก ทำให้มีผลกระทบต่อราคาและตลาดน้ำมันโลกค่อนข้างจำกัด

ผลกระทบต่อไทยค่อนข้างจำกัด

กาตาร์เป็นแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย คิดเป็นเกือบ 40% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ขณะที่การค้าสินค้าหมวดอื่นๆ มีไม่มากนัก ต้นทุนค่าขนส่งก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากกาตาร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า ต้นทุนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.6-1.7% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยและต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมีทิศทางสูงขึ้น ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าค่า Ft มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 0.9-2.3 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้กาตาร์ไม่สามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาด

รูปที่: 3 สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากกาตาร์ของประเทศไทย
ที่มา: MOC

อย่างไรก็ตาม ขนาดเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมน้ำมันในกาตาร์มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดโลก จึงประเมินว่าไทยจะได้รับผลกระทบเพียงต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีจำกัด