ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยการทำความเข้าใจสิทธิ์ 30 บาทฯ ของผมเอง

ว่าด้วยการทำความเข้าใจสิทธิ์ 30 บาทฯ ของผมเอง

14 มิถุนายน 2017


ชนาธิป ไชยเหล็ก
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลนครชัยศรี จ.นครปฐม

ที่มาภาพ : http://www.oag.go.th/sites/default/files/images/news-room/tnews_1429779300_4075.jpg

ผมยิ้มรับยิ้มแม่ของคนไข้เตียง 2 ซึ่งเป็นเตียงแรกของการราวน์ทุกเช้าด้วยความแบ่งรับแบ่งสู้ ใจหนึ่งผมให้การรักษาเต็มที่ด้วยยาฆ่าเชื้อไวรัส Ganciclovir ตามมาตรฐานการรักษา 6 สัปดาห์ แต่ใจหนึ่งก็กลัวว่าคุณแม่ของน้องจะคิดว่าแพทย์เลี้ยงไข้ให้นอนโรงพยาบาลฉีดยานานถึงเดือนครึ่ง และถอดใจเสียก่อนที่น้องจะได้รับยาครบ เพราะเขาต้องแบกรับค่ารักษาทั้งหมด ซึ่งเฉพาะค่ายาตัวดังกล่าวเพียงหลอดเดียวก็เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นเวลา 7 วันแล้ว โดยที่ยา 1 หลอดจะเก็บในตู้เย็นไว้ใช้ได้ 1 สัปดาห์พอดี เท่ากับว่าครอบครัวนี้ก็จะไม่มีเงินคงเหลือไว้ใช้จ่ายอย่างอื่นเลย เพราะมีพ่อของคนไข้ทำงานหารายได้เพียงคนเดียว ไหนจะค่านมผง เพราะถูกแพทย์สั่งงดให้นมแม่เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ไหนจะค่าอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ไหนจะค่านอนโรงพยาบาล ล้วนแล้วแต่เป็นรายจ่ายทั้งสิ้น

ทั้งชีวิตผมแทบไม่เคยสัมผัสโรงพยาบาลยุคก่อน “30 บาทรักษาทุกโรค” อย่างเต็มตัวเลย เพราะผมใช้สิทธิ์การรักษาข้าราชการของพ่อและแม่จนอายุเกิน 20 ปีก็ได้รับสิทธิ์ 30 บาทฯ โดยอัตโนมัติ พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็รักษากับโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ซึ่งรับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน อาจจะสงสัยว่าทำไมผมต้องย้อนกลับไปถึงยุคนั้นด้วย ก็เพราะเมื่อเรียนจบทำงานในโรงพยาบาลทุกวันๆ (ตอนนี้เข้าเดือนที่ 9 แล้ว) มีเพื่อนบางคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า “สิทธิ์ 30 บาทฯ เป็นสาเหตุทำให้แพทย์ทำงานหนักขึ้นหรือไม่” เพราะปัจจุบันสิทธิ์ 30 บาทฯ ได้กลายเป็นสิทธิ์ “บัตรทอง” ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว ทำให้คนไข้ตัดสินใจมาโรงพยาบาลง่ายขึ้น จำนวนคนไข้ที่แพทย์ต้องตรวจรักษาจึงมากขึ้นตามไปด้วย แม้ประชาชนเจ้าของภาษีจะแย้งว่า “เป็นหน้าที่ของแพทย์โรงพยาบาลรัฐที่จะต้องบริการประชาชน” แต่แพทย์หลายคนก็มีความเห็นแย้งว่าประชาชนควรรู้จักการป้องกันและการรักษาตัวเองเบื้องต้นก่อนจะมาพบแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของแพทย์ และความหนาแน่นของผู้ป่วยในโรงพยาบาลลงได้

อย่างไรก็ตาม ภาพเสมือนยุคก่อน 30 บาทฯ ก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ในฐานะผู้ป่วยต่างด้าว อย่างคนไข้เตียง 2 เป็นเด็กทารกอายุ 1 เดือน พ่อแม่เป็นชาวพม่า แต่ตั้งชื่อจริงให้ลูกเป็นคำสมาสในภาษาไทย “น้องพร” -ผมสมมติชื่อให้ใกล้เคียงกับชื่อจริง น้องพรคลอดก่อนกำหนดที่โรงพยาบาลนครปฐม ได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะพบว่ามีภาวะศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัส CMV ตั้งแต่กำเนิด จึงต้องได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัสทางหลอดเลือดดำ แต่ทว่าน้องพรไม่มีสิทธิ์การรักษาใดๆ เลย เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย และพ่อแม่ยังไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพสำหรับผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว ซึ่งเท่าที่ผมทราบ การซื้อประกันสุขภาพฯ จากกระทรวงสาธารณสุขต้องได้รับการแจ้งโควตาจากนายจ้างก่อน และเจ้าหน้าที่อาจใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่รับซื้อประกันจากพ่อแม่เด็กที่มีโรคประจำตัว เพราะไม่คุ้มกับเบี้ยประกัน 365 บาท/ปี หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 1 บาท ทำให้ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด

ไม่ต่างจากคนไข้ทารกแรกเกิดเชื้อชาติพม่าอีกคนหนึ่งเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบตั้งแต่กำเนิดตามมาตรฐานการรักษาครบ 21 วันแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถให้กลับบ้านได้ เพราะพ่อแม่ยังค้างจ่ายค่ารักษาอยู่ จนฝ่ายสังคมสงเคราะห์ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลเหมือนการดาวน์รถ คือให้พ่อแม่จ่ายเงินก้อนหนึ่งก่อน แล้วผ่อนจ่ายทีละเดือนจนครบ โดยถ่ายเอกสารบัตรประจำตัวหรือพาสปอร์ตไว้เป็นหลักฐาน

ลองนึกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับ คนไข้ 20% ของโรงพยาบาล (เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าทุกๆ 5 เตียงให้หอผู้ป่วย มีคนไข้ 1 เตียงที่ไม่สามารจ่ายค่ารักษาได้) สภาพยุคก่อน 30 บาทฯ จึงน่าจะเต็มไปด้วยครอบครัวที่พร้อมจะล้มละลายได้ทุกวันที่มีสมาชิกเข้ารักษาในโรงพยาบาล ตรงกันข้ามกับยุคหลัง 30 บาทฯ จากการประเมินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงทศวรรษแรก (2544-2553) ของ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) พบว่า อุบัติการณ์ของของความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในแต่ละจังหวัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีจำนวนครัวเรือนสะสมกว่า 2 แสนครัวเรือนที่รอดพ้นจากภาวะอาจจะล้มละลายในระหว่างปี 2547-2552 สิทธิ์ 30 บาทฯ จึงเป็นยาที่เป็นมากกว่ายาที่ใช้รักษาเฉพาะโรค หากแต่เป็นยาที่ใช้รักษาผลกระทบที่เกิดจากความเจ็บป่วยชนิดออกฤทธิ์กว้างอย่างที่ไม่เคยมียาใดในประเทศไทยเคยทำได้มาก่อน

ทว่ายาทุกชนิดมีผลข้างเคียง เพื่อนบางคนตั้งข้อสังเกตว่า “สิทธิ์ 30 บาทฯ เป็นสาเหตุทำให้แพทย์ทำงานหนักขึ้นหรือไม่” ก็ยืนยันด้วยรายงานฉบับเดียวกันว่าอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกในปี 2546 เพิ่มขึ้นจาก 2.45 เป็น 3.22 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2553 และอัตราการนอนโรงพยาบาลในปี 2546 เพิ่มขึ้นจาก 0.094 เป็น 0.116 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2554 ซึ่งหากมองในมุมของผู้ป่วยเท่ากับว่านโยบาย 30 บาทฯ ประสบผลสำเร็จทำให้ “การเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้น” เมื่อเจ็บป่วย คนก็จะไปโรงพยาบาลรัฐในทันทีโดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย หรือคำนึงว่ามีเงินพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือไม่

ในขณะที่แพทย์กลับมองว่า การที่ผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นผลมาจากสิ่งที่นักประกันภัยเรียกว่า “ภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral hazard)” กล่าวคือเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งกระทำพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น เพราะมีอีกบุคคลหนึ่งรับผิดชอบความเสียหายจากความเสี่ยงนั้นแทน หรือเป็นการกระทำที่ไม่มีศีลธรรม เพื่อหวังผลประโยชน์จากการรับประกัน ในที่นี้คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรัฐเป็นผู้จ่ายค่ารักษาให้ฟรี ส่งผลให้ประชาชนไม่มีแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพของตัวเอง

ทั้งตอนก่อนที่จะเป็นโรค เช่น สูบบุหรี่จนเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทำให้ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม (โดยไม่คิดว่าการฝากครรภ์และการทำคลอดมีค่าใช้จ่าย) และทั้งตอนที่เกิดโรคแล้ว เช่น ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ไม่รับประทานยาต่อเนื่องทั้งที่เป็นโรคเบาหวาน ยังดื่มเหล้าอยู่ทั้งที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบจนต้องนอนโรงพยาบาลหลายครั้ง รวมถึงส่งผลให้ประชาชนรีบมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ทั้งที่บางอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถสังเกตอาการที่บ้านก่อนได้ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกเพียงวันเดียว หรือท้องเสียสองสามครั้งเมื่อตอนบ่าย ตอนเย็นก็มาพบแพทย์แล้ว โดยจากประสบการณ์พบว่ามีผู้ป่วยลักษณะนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ผมต้องคำนึงเสมอว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้คนไข้มาโรงพยาบาลบ่อยขึ้น (ไม่ได้เป็นผลโดยตรงของ 30 บาทฯ) เช่น ความเจ็บปวดที่แต่ละคนมีความอดทนต่างกัน บางคนทนได้น้อยจึงมาพบแพทย์กลางดึก ความกังวลต่ออาการที่เป็น บางคนอาจกลัวเป็นโรคร้ายแรง เช่น ผู้ปกครองกลัวลูกชักจากไข้สูงจึงรีบพามาโรงพยาบาล เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคเหมือนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกรณีนี้ผมมักสังเกตเห็นแพทย์หรือพยาบาลมองข้ามปัจจัยในข้อนี้ไปทำให้รู้สึกไม่พอใจคนไข้หรือผู้ปกครองที่มีความวิตกกังวล หรือแม้แต่การคมนาคมที่สะดวกขึ้น บางครั้งจะเจอคนไข้ออกจากบ้านมาซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า แล้วเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นทางผ่าน จึงแวะมาพบแพทย์ ทั้งที่มีอาการป่วยมา 2-3 วัน เป็นต้น

แพทย์บางคนจึงเสนอให้มี “การร่วมจ่าย” (copayment หรือ coinsurance) เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการรักษา ซึ่งน่าจะลดภาวะภัยทางศีลธรรมลง ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ภาระงานของแพทย์ก็จะลดลงด้วย แต่สาเหตุหลักๆ น่าจะเพื่อ “ความยั่งยืน” ของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ เพราะจะสามารถลดภาระของรัฐในการรับผิดชอบรายจ่ายสุขภาพซึ่งคิดเป็น 4.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะอายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้น

แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ประชาชนร่วมจ่ายด้วยวิธีและหลักเกณฑ์ใด เพราะย่อมเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพิจของแพทย์สูงขึ้น เหมือนการอนุมัติสิทธิ์ฉุกเฉิน ทั้งที่อาการของผู้ป่วยไม่อันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยไม่มีเงินจ่าย แพทย์จึงอนุมัติให้เพราะความสงสาร และการร่วมจ่ายจะทำให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำถูกยกขึ้นมาอ้างอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าระบบสวัสดิการของข้าราชการก็ประสบกับปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมไม่แตกต่างกัน เพราะรัฐรับผิดชอบความเสี่ยงของพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน การผลักภาระให้ประชาชนทั่วไปร่วมจ่ายเพียงกลุ่มเดียวจึงแสดงถึงความไม่จริงใจในการสร้างเสริมสุขภาพ และอาจส่งผลให้การเข้าถึงบริการสุขภาพช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ยกตัวอย่างกรณีของ “น้องฟ้า” (นามสมมติ) พื้นเพครอบครัวของน้องอยู่ที่จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคกลางตอนบน และน้องฟ้าก็เกิดที่นั่น จึงได้รับสิทธิ์ 30 บาทฯ ที่โรงพยาบาลในจังหวัดแห่งนั้น ต่อมาครอบครัวของน้องฟ้าได้ย้ายมาทำงานในเขตปริมณฑล กระทั่งเดือนธันวาคมปีที่แล้ว น้องฟ้ามีอาการป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ทว่าในเมื่อโรงพยาบาลจังหวัดในเขตปริมณฑลไม่ใช่โรงพยาบาลต้นสังกัดสิทธิ์ 30 บาทฯ ทำให้พ่อแม่ของน้องฟ้าต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดหากแพทย์ไม่อนุมัติสิทธิ์ฉุกเฉิน ไม่นานหลังจากน้องกลับจากโรงพยาบาลไป น้องฟ้าเริ่มมีอาการป่วยขึ้นอีกครั้ง ไม่ยอมกินข้าวเป็นสัปดาห์ แต่แม่กลับไม่ยอมพาน้องมาโรงพยาบาล กลัวจะเสียค่ารักษาเอง เพราะอยู่ระหว่างการดำเนินการย้ายสิทธิ์ 30 บาทฯ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน จนผ่านไป 3 สัปดาห์น้องเริ่มมีอาการอิดโรยมาก แม่จึงไม่อาจนิ่งดูดายต้องอุ้มน้องฟ้ามาพบแพทย์ในที่สุด พอแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายน้องฟ้าเสร็จ ก็ส่งตรวจสแกนคอมพิวเตอร์สมองในทันที และศัลยแพทย์ระบบประสาทก็ตัดสินใจทำผ่าตัดวางสายระบายน้ำไขสันหลังภายในวันเดียวกัน ราวกับเป็นเรื่องเล่าความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล หรือในเมืองเมื่อนานมาแล้ว แต่กรณีนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง แสดงว่าการร่วมจ่ายเงินไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็อาจทำให้เกิดผลกระทบในลักษณะเดียวกันนี้ได้เช่นกัน

สังเกตว่าผมยกตัวอย่างเป็นคนไข้เด็กทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจาก หนึ่ง เพราะผมกำลังหมุนเวียนมาเพิ่มพูนทักษะที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม สอง เพราะที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรมนี้เองที่ทำให้ทัศนคติต่อสิทธิ์ 30 บาทฯ ต่างออกไปจากคนไข้ในหอผู้ป่วยอายุรกรรมที่เป็นคนไข้ผู้ใหญ่ ค่อนไปทางสูงอายุ โรคที่คนไข้เป็นจึงเป็นโรคแพทย์พูดเป็นภาษาปากว่า “โรคทำตัวเอง” เสียส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือภาวะภัยทางศีลธรรมที่พูดถึง ทำให้เกิดความคิดเหมือนเดิมทุกครั้งที่เจอคนไข้ใช้เงินซื้อพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเป็นประจำจนเกิดโรค เช่น “มีเงินกินเหล้า แล้วจะไม่มีเงินรักษาได้อย่างไร” หรือ “ทำไมไม่เก็บเงินไว้รักษาตัวเองบ้าง”

ตรงกันข้ามกับคนไข้เด็กที่ป่วยเป็นโรคตั้งแต่กำเนิดหรือเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเห็นใจว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ได้เป็นความผิดของคนไข้เอง ซึ่งความจริงในทางการแพทย์ก็ยอมรับกันว่าโรคหนึ่งๆ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดเพียงปัจจัยเดียว เพราะมีทั้งตัวผู้ป่วย ตัวก่อโรค และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ซึ่งหมายรวมถึงสภาพสังคมที่ส่งผลให้คนไข้ต้องได้รับความเสี่ยง เช่น การกินเหล้าสังสรรค์ผ่อนคลายความเครียดหลังเลิกงาน การขาดอุปกรณ์ในการป้องกันตัวจากอุบัติเหตุในโรงงาน (ไม่ได้เกิดจากการขาดความระมัดระวังของคนไข้เอง) เป็นต้น จึงเป็นเรื่องยากหากต้องเรียกกับเงินค่ารักษาจากผู้ป่วย “โรค (ที่ดูเหมือนว่า) ทำตัวเอง”

สาม เพราะสังเกตเห็นว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งป่วยไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงญาติที่ต้องเป็นคนพามาโรงพยาบาล โดยพ่อแม่ในวัยทำงานอาจจะต้องลางาน ต้องเสียรายได้ หากทำงานรับจ้างรายวัน ยิ่งพอรับคนไข้ไว้รักษาในโรงพยาบาลแล้วก็ส่งผลเป็นลูกโซ่ เพราะจำเป็นต้องมีคนเฝ้าไข้ ต้องพาลูกคนอื่นมานอนโรงพยาบาลด้วย หรืออาจจะไม่มีคนดูแลคนสูงอายุหรือคนป่วยนอนติดเตียงที่บ้านจนต้องฝากเพื่อนบ้านไว้

การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากสิทธิ์ 30 บาทฯ เช่น โรงพยาบาลขาดทุน จึงต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรนอกเหนือจากปัจจัยผู้ป่วย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่เพียงพอ การบริหารงบของ สปสช. ที่ซ้ำซ้อน หรือ สปสช. กำหนดหลักเกณฑ์เบิกจ่ายเงินค่ารักษาโรคตามทฤษฎีอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติงานจริงของโรงพยาบาลซึ่งมีขีดความสามารถจำกัด และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการแก้ปัญหาหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งตามมาหรือไม่

กรณีคนไข้ของผมเป็นเพียงข้อมูลเชิงพรรณาที่สะเทือนอารมณ์ความรู้สึกเป็นรายกรณีๆ เท่านั้น จึงควรมีการวิจัยประเมินภาระของแต่ละปัญหา เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงวิเคราะห์ในระดับประเทศ เช่น พฤติกรรมของผู้ป่วยที่แพทย์มีอคติด้วยมีนัยสำคัญต่อระบบมากน้อยเพียงใด การแก้ไขปัญหาอยู่ที่การปรับปรุงเชิงระบบ หรือปรับเปลี่ยนเป็นรายบุคคล ที่สำคัญสิ่งที่ผมตระหนักจากการทำงานในโรงพยาบาลรัฐคือผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างสวมหมวกหลายใบ มีทั้งหมวกผู้ป่วย หมวกหัวหน้าหรือสมาชิกครอบครัว หมวกอาชีพการงาน ซึ่งเราต่างต้องพึ่งพากันทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยกันทั้งนั้น สมมติให้เห็นภาพว่า ในอำเภอห่างไกล ถึงแม้แพทย์จะมีเงิน แต่หากวันหนึ่งที่แม่ค้าขายผักเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ต้องขายรถที่ใช้ขนผักประจำเพื่อนำเงินไปจ่ายค่ารักษา แพทย์ก็ไม่สามารถซื้อผักกินได้ และไม่ใช่แค่แพทย์เพียงคนเดียวด้วย ดังนั้น “การมีหลักประกันทางสุขภาพ” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคน

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิทธิ์ 30 บาทฯ มีปัญหาที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียด