ThaiPublica > เกาะกระแส > สปสช.ไฟเขียว ผู้ป่วย “บัตรทอง” เข้าร.พ.เอกชนได้

สปสช.ไฟเขียว ผู้ป่วย “บัตรทอง” เข้าร.พ.เอกชนได้

30 ตุลาคม 2011


จากปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลส่งผลทำให้โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันสังคม และระบบประกันสุบภาพ(บัตรทอง)ได้ และเพื่อเป็นการแก้ไขดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จึงได้ไปเจรจากับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อขอให้โรงพยาบาลเอกชนให้บริการผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันสังคม และบัตรทอง

wittaya

น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีโรงพยาบาลของรัฐประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ ขณะที่คนไข้ไม่ได้ลดดลง ทางสปสช.จึงจำเป็นที่จะต้องไปอาศัยเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ถือบัตรทองหรือ 30 บาท สามารถไปขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน 57 แห่งได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งในกรณีของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้บริการได้ที่นี่

ด้านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่ น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและ น.พ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช เลขาธิการ ตัวแทนคณะกรรมการ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงกับสปสช.ไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางสปสช.จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการผู้ป่วยที่ประสบปัญหาอุทกภัย ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าไปขอรับการรักษาพยาบาลเอง และโรงพยาบาลส่งตัวไปขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน

ทั้งนี้ สปสช.จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการดังนี้ คือ กรณีที่เป็นผู้ป่วยนอกจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามจริง หรือ 700 บาทต่อครั้ง และกรณีที่เป็นผู้ป่วยในสปสช.จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามระบบ (DIAGNOSIS RELATED GROUP:DRG) ในอัตรา 9,000 บาทต่อ 1 หน่วยสัมพัทธ์ หรือ adjusted RW

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ทางสปสช.ขอให้โรงพยาบาลจ่ายยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ และให้นำค่าใช้จ่ายมาเบิกเงินจากสปสช.ได้ภายใน 1 เดือน ได้ ส่วนผู้ป่วยในที่เป็นโรคที่มีความสลับซับซ้อน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบปกติ ทางสปสช.จะมีการจ่ายเพิ่มเติมให้ตามเหตุตามผล

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เดิมทีผู้ป่วยที่ถือบัตรทองทั้ง 48 ล้านคน สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้อยู่แล้ว แต่ไปใช้บริการได้เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ามาเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้บริการเป็นการทั่วไป ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มีโรงพยาบาลของรัฐถูกน้ำท่วมไปหลายแห่ง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องดึงโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาให้บริการประชาชนร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐ

แต่ระบบนี้อาจจะมีข้อเสียที่จะตามมาหลายประการ กล่าวคือ เมื่อมีการเปิดให้ผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างเสรีและฟรี ก็อาจจะมีผู้ป่วยแห่กันเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนชอบ แต่ไม่แน่ใจว่าความสามารถในการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนจะรองรับไหวหรือไม่ ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลนวมินทร์มีความสามารถในการับผู้ป่วยเข้ามารักษาได้ไม่เกิน 30,000 คน หากมีผู้ป่วยเข้ามาขอรับการรักษาเพิ่มเป็น 100,000 คนจะทำอย่างไร

ปัญหาที่ตามมา ปกติโรงพยาบาลของรัฐจะคิดค่าบริการถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน เช่น ค่าห้องพัก โรงพยาบาลรัฐคิด 600 บาทต่อคืน โรงพยาบาลเอกชนคิด 1,200 บาทต่อคืน ส่วนต่างที่เกิดขึ้น 600 บาท สปสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือจะให้ผู้ป่วยกับโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้รับภาระ รวมทั้งค่าบริการเหมาจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) โรงพยาบาลรัฐก็คิดค่าบริการถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ถึงแม้จะกำหนดค่าบริการไว้ที่ 9,000 บาทต่อ 1 หน่วยสัมพัทธ์ไว้เท่ากัน แต่ค่าความสัมพัทธ์ของแต่ละโรงพยาบาลจะไม่เท่ากัน เช่น กรณีคลอดลูก โรงพยาบาลรัฐคิดค่าหน่วยสัมพัทธ์ที่ 0.5-1 ส่วนโรงพยาบาลเอกชนคิดค่าหน่วยสัมพัทธ์ที่ 2.1-2.8 เมื่อนำไปคูณกับอัตราค่าเฉลี่ยเหมาจ่ายตามระบบ DRG ที่ 9,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลจึงมีราคาค่าบริการไม่เท่ากัน และถ้าเป็นโรงพยาบาลระดับสูง หรือระดับสูงสุด เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ก็จะคิดค่าบริการแพงขึ้นไปอีก เพราะมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยกว่าโรงพยาบาลทั่วไป

ตามหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนจะมีข้อตกลงกันว่า กรณีผู้ป่วยนอก หากโรงพยาบาลรัฐส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หริอเอกชน โรงพยาบาลที่ส่งตัวไปจะต้องนำเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากสปสช. ตามไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัว ส่วนกรณีผู้ป่วยใน หากมีการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น สปสช.ก็จะเอาเงินงบประมาณที่กองอยู่ที่สปสช.เป็นจำนวนมากตามไปจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้าไปใช้บริการ

health-moh

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ทางสปสช.ไปกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนจ่ายยาได้เฉพาะยาที่อยู่ในบัญชียาหลักเท่านั้น ก็จะทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรับประทานยาในบัญชียาหลักฯ เช่น ผู้ป่วยไตวาย ตับวาย ไขข้อเสื่อม ต้องจ่ายเงินซื้อยานอกบัญชียาหลักฯ เอง แต่ถ้าเป็นระบบเดิม โรงพยาบาลของรัฐยังพออนุโลมให้จ่ายยานอกบัญชียาหลักได้ อย่างเช่น ยากลูโคซามีน ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลถูกกรมบัญชีกลางระงับไม่ให้จ่ายยาประเภทนี้ ทำให้คนไข้ต้องจ่ายเงินซื้อยาเองไปช่วงหนึ่ง แต่ล่าสุดกรมบัญชีกลางอนุญาตให้จ่ายยาประเภทนี้ได้แล้ว แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการส่งแพทย์เคลื่อนที่ลงไปให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วม 27 จังหวัดวันละกว่า 300 ทีม พบว่าในขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมกว่า 900,000 ราย เพิ่มขึ้นวันละ 50,000 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี มีอัตราการเพิ่มวันละ 37,801 ราย คิดเป็นสัดส่วน 75.6%ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะออกปฏิบัติการจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ มียารักษาโรคเพียงพอ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ และหากผู้ประสบภัยเจ็บป่วย สามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย