พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
โครงการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือ โครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นมหันตภัย หรือภัยอันร้ายแรงจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนี้ ได้เกิดขึ้นแล้ว กำลังดำรงอยู่ และก็จะเป็นภัยต่อไปในอนาคต (เป็นภัยที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และยังไม่ดับไป) ถ้ายังไม่มีการแก้ไขในการบริหารจัดการให้สมดุล ระหว่างจำนวนเงินกองทุน ขอบเขตของการรักษาโรค จำนวนบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องรับภาระดูแลรักษาสุขภาพประชาชน งบประมาณของโรงพยาบาล หรือใน พ.ร.บ. นี้เรียกว่า “สถานบริการ” รวมทั้งการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของประชาชนในการมี “สิทธิและหน้าที่” ในการรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัว
โครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ได้ก่อให้เกิดมหันตภัยแก่ประชาชนมาแล้ว กำลังดำเนินอยู่ และกำลังจะเป็นภัยคุกคามมากยิ่งขึ้นในอนาคต กล่าวคือ
1. โรงพยาบาลไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานได้ ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จำกัดรายการยาที่แพทย์จะ “มีสิทธิ์” จ่ายให้แก่ผู้ป่วยของตน ถ้าแพทย์คนไหนสั่งจ่ายยานอกเหนือจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับยานั้นๆ แม้จะมีผู้ป่วยบางคนเต็มใจที่จะจ่ายเงินเอง เพื่อจะได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงกับอาการป่วยของตนที่สุด
แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพก็ไม่ยินยอมให้แพทย์สั่งยานั้นๆ มีคำสั่งให้โรงพยาบาลคืนเงินผู้ป่วย (ถ้าโรงพยาบาลยังอยากจะให้ยานั้น โรงพยาบาลก็ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเอง) ซึ่งโรงพยาบาลแทบทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องรับรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็ไม่มีงบประมาณพอที่จะ “จ่ายค่ายาแทนประชาชนได้”
ผู้อำนวยการก็ต้องเลิกสั่งยานั้นเข้ามาไว้ในรายการยาของโรงพยาบาล ทำให้แพทย์ไม่สามารถจัดยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยได้
2. ประชาชนอาจไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษา เนื่องจาก สปสช. จ่ายเงิน “ค่าบริการสาธารณสุข” ให้แก่โรงพยาบาลไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการรักษาผู้ป่วย และยังจ่ายเงินล่าช้าไม่ตรงเวลา ทำให้โรงพยาบาลเกือบทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข “ขาดสภาพคล่องทางการเงิน” ขาดเงินหมุนเวียนที่จะจ่ายค่ายาให้แก่บริษัทยา ทำให้บริษัทยาไม่ส่งยาให้โรงพยาบาลนั้นๆ จนกว่าจะหาเงินมาจ่ายค่ายางวดก่อน ทำให้โรงพยาบาลไม่มียาที่เหมาะสมจ่ายให้แก่ผู้ป่วย
3. ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากความผิดพลาดของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินในการรักษาโรคเลย ทั้งนี้เพราะในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 5 ได้กำหนดไว้ว่า
“ทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุข ต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลมีสิทธิจะได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
จากบทบัญญัตินี้ ตอนแรกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ประกาศกำหนดให้ประชาชนที่ไปรับบริการต้องจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท ซึ่งก็นับว่าเป็นการจ่ายเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับ “ราคาของอุปกรณ์ทางการแพทย์ การรักษา เช่น การผ่าตัด รวมทั้งค่ายา และค่าแรงของบุคลากร”
ทำให้ประชาชนมีความสามารถ “จ่ายค่าบริการ” ได้ ไม่ต้องกังวลว่าไปโรงพยาบาลแล้วจะไม่มีเงินจ่าย ซึ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยไปรับการรักษาเพิ่มขึ้นมาก
แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา ได้ประกาศยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท อ้างว่า “ได้เงินน้อย ไม่คุ้มกับการเสียเวลาลงบัญชี” ส่งผลให้ประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ จากประสบการณ์จริงของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนในชนบทห่างไกล พบว่าประชาชนจะมาโรงพยาบาลได้ยากเพราะไม่มีถนนหรือระบบขนส่งมวลชน (ไม่มีรถประจำทางวิ่งรับส่งผู้โดยสาร) ผู้ใดเจ็บป่วยก็พยายามดูแลรักษากันเอง แต่ถ้าป่วยหนักแล้วก็ต้องไปว่าจ้าง “เหมารถ”เพื่อมาส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ซึ่งมักเป็นรถปิ๊กอัพที่สามารถขนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาส่งผู้ป่วยได้อีกเป็นสิบๆ คน และไหนๆ ก็มาถึงโรงพยาบาลแล้ว ก็ขอให้หมอตรวจและขอยาไปด้วย จะได้เผื่อไว้สำหรับจะต้องรักษาเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาในอนาคต คือ “เผื่อจะป่วย เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง ท้องเสีย” ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนถึง 200 ล้านครั้งในแต่ละปี
แต่ในขณะที่ประชาชน (บางส่วน)“ใช้สิทธิในการไปรับบริการสาธารณสุข” โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และเรียกร้องให้แพทย์จ่ายยาตามที่ต้องการ (ถ้าไม่จ่ายตามใจก็อาจจะมีการโต้เถียงกัน เกิด “ข้อพิพาท” ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์)
หรือผู้ป่วยไม่พอใจผลการรักษา ที่ตัวเองตั้งความหวังไว้สูงเกินความร้ายแรงของโรค หรือความพร้อมของบุคลากร และเทคโนโลยีที่โรงพยาบาลมีอยู่ ว่าผู้ป่วยจะต้องหายจากอาการป่วยและเดินกลับบ้านได้ แต่เมื่อไม่เกิดผลดังที่คาดหวังไว้ ผู้ป่วยและญาติก็จะไปกล่าวหาและร้องเรียนว่า “แพทย์ชุ่ย” หรือ “แพทย์ไม่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” หรือรักษาผิดๆ หรือไม่มีจรรยาบรรณแพทย์ โดยการร้องเรียนของประชาชนนี้มีทุกระดับและหลายช่องทาง ได้แก่
1. ร้องเรียนผู้บังคับบัญชาโดยตรง ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องรายงานต่อไปตามลำดับขั้นจนถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ปลัดกระทรวง และรัฐมนตรี ประชาชนบางคนก็ข้ามขั้นไปร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีเลย (เป็นข่าวหน้าหนึ่งไปทั่วประเทศ)
2. ร้องเรียนกับนักข่าวหรือสื่อมวลชน ซึ่งส่วนมากก็มักจะฟังความข้างเดียว ยังไม่มีรายละเอียดจากโรงพยาบาลก็ผสมโรงใส่ความให้ดูรุนแรงมากขึ้น เพราะฟังแล้วน่าสงสาร แต่อาจจะเขียนด้วยอคติว่าผู้ป่วยน่าเห็นใจ และเชื่อไปก่อนแล้วว่า “หมอชุ่ย”
3. ร้องเรียนในสังคมข่าวออนไลน์ บนเว็บบอร์ด เฟซบุ๊ก หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ อีก
4. ร้องเรียนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
5. ร้องเรียนมูลนิธิปวีณา
6. ร้องเรียนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค
7. ร้องเรียนสภาวิชาชีพ
8. ร้องเรียนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อต้องการเงิน “ช่วยเหลือเบื้องต้น” ซึ่งหลังจากรับเงินนี้แล้ว ประชาชนก็ยังอาจไปฟ้องศาล “ร้องขอเงินค่าชดเชยความเสียหาย” อีกต่อไป
9. ฟ้องศาลแพ่ง เพื่อจะได้ “ค่าชดเชยความเสียหาย” ซึ่งส่วนมากก็จะร้องขอเป็นจำนวนหลายสิบหลายร้อยล้าน
10. ฟ้องศาลอาญา เพื่อให้หมอถูกลงโทษจำคุก หรือฟ้องศาลอาญาเพื่อยืดอายุความในคดีแพ่ง
ผู้ป่วยที่ไม่พอใจกับการรักษาของแพทย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย มีเรื่องการกล่าวหาและร้องเรียนแพทย์เป็นข่าวในสื่อมวลชนจน (เกือบ) จะเป็นข่าวประจำวันไปเลยทีเดียว
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็คือมหันตภัยที่เกิดขึ้น (ตั้งอยู่ และยังไม่ดับไป) ที่เกิดขึ้นกับประชาชน และยังเป็นมหันตภัยอันร้ายแรงแก่บุคลากรทางการแพทย์ (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นกับแพทย์ เพราะจะได้รับเกียรติให้เป็นจำเลยที่ 1 เสมอ) ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และยังไม่ดับไป เช่นกัน ได้แก่ การถูกร้องเรียนและฟ้องร้องกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
โดยสรุป มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์มีดังนี้ คือ
1. ภัยจากการถูกกล่าวหา/ร้องเรียน/ฟ้องร้อง ต่อทุกภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าว
2. ภัยจากการทำงานหนักเกินกำลังของมนุษย์ธรรมดา
3. ภัยจากการมีรายได้ไม่เหมาะสมกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ
ผู้เขียนขอขยายความของมหันตภัยต่างๆ ที่มีต่อบุลากรทางการแพทย์ดังนี้ คือ
1. ภัยจากการถูกกล่าวหา/ร้องเรียน/ฟ้องร้อง แพทย์ที่ถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง จะเกิดความทุกข์ รู้สึกเสียใจและผิดหวัง ที่ตั้งใจรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่จนสุดความสามารถแล้วยังถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง และถูกเอาชื่อไปประจานให้เสียๆ หายๆ อีก
แล้วยังต้องหาเวลาไปทบทวนเวชระเบียนที่บันทึกไว้ว่า ได้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยตามขั้นตอนตามมาตรฐานทางการแพทย์หรือยัง ทำแล้วได้เขียนบันทึกไว้เรียบร้อยหรือเปล่า
การตรวจรักษานั้นต้องรีบเร่งตรวจ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากรอรับการตรวจรักษาอยู่อีกหลายสิบหลายร้อยคน จนทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะได้อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติได้เข้าใจวิธีการรักษา เข้าใจกระบวนการดำเนินของโรคในร่างกายผู้ป่วย และได้บอกผู้ป่วยว่าแพทย์ได้รักษาอย่างไร แพทย์คาดหวังผลการรักษาว่าจะดีหรือไม่/อย่างไร
แพทย์ได้บอกรายละเอียดกับผู้ป่วยและญาติว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรตามมาตรฐานทางการแพทย์แล้วหรือยัง? เช่น กินยาตามสั่ง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ละเว้นการกินของหวานจัด มันจัด พยายามลดน้ำหนัก ไม่เข้าใกล้คนที่เป็นโรคติดต่อ ฯลฯ
และที่สำคัญคือ เมื่อแพทย์บอกผู้ป่วยและญาติแล้ว ผู้ป่วยและญาติเข้าใจหรือไม่? เข้าใจว่าอย่างไร? ผู้ป่วยจะปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำหรือไม่?และถ้าผู้ป่วยไม่ทำจะเกิดผลเสียหายอย่างไร ผู้ป่วยยอมรับดังที่แพทย์บอกหรือไม่?
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ที่ผู้ป่วยมีมาก แพทย์ต้องรีบเร่งตรวจผู้ป่วยในเวลาอันรวดเร็ว ตามสถิติ แพทย์มีเวลาแค่ 2-4 นาทีในการตรวจผู้ป่วยแต่ละคน ฉะนั้น เนื่องจากความจำกัดเรื่องเวลา ในเวลาแค่ 2-4 นาทีนี้ แพทย์คงไม่มีเวลาซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้ป่วยในรายละเอียดต่างๆ ดังกล่าวจนผู้ป่วยเข้าใจดี ซึ่งอาจเป็นผลทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าตนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะหายจากอาการเจ็บป่วย
และมีผู้ป่วยหลายคนชอบบ่นว่า “หมอไม่เคยบอกว่าเป็นโรคอะไร”
ฉะนั้น เมื่อผลของการรักษาไม่หายหรือไม่ทุเลา ผู้ป่วยก็จะเปลี่ยนหมอ/เปลี่ยนโรงพยาบาลไปตรวจอาการ (เดิม) กับหมอคนใหม่ (ปัจจุบันรัฐมนตรีก็ให้สิทธิเปลี่ยนโรงพยาบาลได้อย่างสะดวกปีละ 4 ครั้ง)
พอได้ยามาก็อาจจะกินแค่วันสองวัน อาการไม่ทุเลาดังใจคิดก็ไม่กินยาต่อ (ตอนนี้ยาที่เหลือมีโครงการเอาไปแลกไข่มากินเพิ่มได้อีก)
เปลี่ยนหมอใหม่อีก รักษาไม่หาย เกิดอาการแทรกซ้อน เพราะกินยาไม่ครบตามที่ควรจะต้องกิน อาการทรุดหนัก หรือแพ้ยา มีอาการอันไม่พึงประสงค์ ก็เลยไปฟ้องร้อง/ร้องเรียนได้ทุกขั้นตอน
แพทย์จึงต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการถูกกล่าวหาตามช่องทางสื่อสารมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์
แพทย์ต้องเป็นทุกข์กับการตกเป็นผู้ถูกไต่สวนจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ถูกไต่สวนจากตำรวจ จาก สภาวิชาชีพ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ฯลฯ ความทุกข์นี้ก็ยาวนาน กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการอาจกินเวลาเป็นสิบปีก็มี
และถ้าแพทย์ถูกตัดสินว่าผิด ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ก็อาจจะถูกไล่เบี้ยจากกระทรวงสาธารณสุขให้จ่ายเงินอีก หรือถ้าศาลตัดสินให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญาอีก ก็ต้องสูญสิ้นอิสรภาพ ต้องถูกจองจำ เนื่องจากไม่สามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ ทั้งๆ ที่มีความตั้งใจจะช่วยเหลือและช่วยชีวิตผู้ป่วย
มันน่าอนาถในการที่ตั้งใจจะช่วยชีวิตคน แต่เมื่อช่วยไม่ได้กลับถูกลงโทษถึงจำคุกโดยไม่มีการรอลงอาญา
เพราะฉะนั้น การถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้อง จึงเป็นมหันตภัยอันดับหนึ่งที่แพทย์กลัวมาก จนแพทย์บางคนเลิกตรวจรักษาผู้ป่วย ไปทำอาชีพอื่นแทน
แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการฟ้องร้องแพทย์มากที่สุดในโลก แพทย์ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทประกันเป็นจำนวนมาก เพื่อจะให้บริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ป่วยตามที่ศาลสั่ง แล้วแพทย์ก็มา “ขึ้นราคา” การรักษา เพื่อจะได้มีเงินไปจ่ายค่าประกันต่อไป
นอกจากนี้แล้ว แพทย์ยังต้องหันมาตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างละเอียด “เพื่อป้องกันตัวเอง” ไม่ให้ศาลตัดสินว่าทำการตรวจหาหลักฐานการเกิดโรคไม่ครบถ้วน เรียกว่าเป็น “เวชศาสตร์ป้องกันตัวเอง (ไม่ให้ถูกตัดสินลงโทษ)” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Defensive Medicine”
กล่าวคือ ในการตรวจหาสาเหตุโรค แพทย์ต้องส่งตรวจพิเศษให้ครบทุกชนิดทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น เช่น ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ เอ็มอาร์ไอ อัลตร้าซาวด์ ซีทีแสกน ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุอะไรที่หลุดรอดสายตาไปได้ เพื่อเอาไว้เป็นหลักฐานในการแก้คำฟ้อง (ถ้าจะเกิดขึ้น) เพื่อป้องกันไม่ให้แพทย์ถูกลงโทษ
การกระทำเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายกับระบบค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ที่จะสูงมากเกินความจำเป็นโดยไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ผู้ป่วยและผู้จ่ายเงิน และการตรวจพิเศษหลายๆ อย่างนี้ ก็อาจเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น เสี่ยงต่อการได้รับสารกัมมันตรังสีมากเกินไป
การฟ้องร้องและการลงโทษแพทย์ดังกล่าวนี้ ทำให้แพทย์หวาดกลัวที่สุดดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อผู้เขียนอ่านข่าวที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน มีผู้ป่วยไม่พอใจการรักษาของแพทย์ ได้ตรงเข้าทำร้ายแพทย์โดยแทงถึง 28 ครั้ง มีผลให้แพทย์หญิงผู้นั้นนอนจมกองเลือดตายในที่เกิดเหตุ แล้วผู้ร้ายก็หนีไป
รวมทั้งมีการทำร้ายแพทย์ถึง 17,000 ครั้งในปี ค.ศ. 2010 ทำให้ผู้เขียนอดขนพองสยองเกล้าไม่ได้ และคิดสงสารแพทย์ในประเทศจีน ที่ต้องเผชิญมหันตภัยอันร้ายแรง จากการประกอบวิชาชีพรักษาชีวิตคน คือการเสี่ยงต่อการถูก “ฆ่า”
ผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ขออย่าให้ประชาชนไทยมา “ฆ่าหมอ” เพราะรักษาไข้แล้วไม่พอใจเลย สาธุ เพราะผู้เขียนไม่กล้าหวัง (เกรงว่าจะผิดหวัง) ให้ “คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และ “ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข” มาช่วยแก้ไขและป้องกัน “มหันตภัยอันร้ายแรงแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์” ได้เลย
2. ภัยจากการทำงานหนักเกินกำลังของมนุษย์ธรรมดา อันจะส่งผลให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ย่ำแย่ลง
สำหรับภัยในข้อนี้ มักจะเกิดกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใน “สถานบริการ” ที่ต้อง (จำยอม) รับภาระตรวจรักษาผู้ป่วยในโครงการ 30 บาท เนื่องจากทำงานอยู่ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องรับผิดชอบ “การให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุข” แก่สาธารณชนทั่วไป ต้องทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง ทั้งกลางวัน กลางคืน วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดต่างๆ ก็ต้องผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่เวรตรวจผู้ป่วยทุกวัน
การทำงานแบบนี้อาจจะต้องเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากรัฐมนตรีบอกว่า ให้บุคลากรแพทย์ทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องพักเที่ยง ข้าวกลางวันก็ไม่ต้องกิน? (ปกติในเวลาพักจะตรวจเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินที่เร่งด่วนเท่านั้น) นี่รัฐมนตรีเขาคิดว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นหุ่นยนต์หรืออย่างไร?
จากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปีในอัตราก้าวกระโดด แต่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีตำแหน่งบรรจุ
คนที่ใกล้จะเกษียณก็ทนภาระงานไม่ไหว ต้องลาออกก่อนเกษียณ
คนที่ยังไม่ใกล้เกษียณก็ลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่มีรายได้ดีกว่า มีภาระงานน้อยกว่า หรือสามารถกำหนดเวลาการทำงานของตนเองได้ตามความพอใจ มีเวลาตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างละเอียดรอบคอบตามมาตรฐานทางการแพทย์ มีเวลาอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติฟังจนเข้าใจและสามารปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากความเสียหายและการฟ้องร้องของประชาชน ไม่ต้อง “เสี่ยงภัย” จากการถูกร้องเรียนใดๆ
ส่วนบุคลากรพยาบาลก็ต้องทำงานเดือนละ 30-35 วัน ในขณะที่ข้าราชการอื่นๆ เขาทำงานแค่เดือนละ 20-22 วัน ทั้งนี้เพราะจำนวนพยาบาลมีน้อย ต้องทำงานติดต่อกัน 8-16 ชั่วโมง ทั้งกลางวันกลางคืน และไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว
และการทำงานมากๆ ของแพทย์และพยาบาลนี้เอง ก็ทำให้ไม่ได้กินอาหารตามเวลา ไม่มีเวลาออกกำลังกาย วันไหนไม่ต้องอยู่เวรตรวจผู้ป่วยก็ต้องรีบนอนชดเชยวันที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง เรียกว่าไม่มีเวลากิน เวลานอน เวลาออกกำลังกาย และเวลาพักผ่อน ที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายเลย
แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จึงเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ที่รู้เรื่องวิธีการสร้างเสริมสุขภาพอย่างดี สอนประชาชนได้ แต่ตัวเองไม่เคยทำตามที่สอนชาวบ้านได้เลย เพราะมัวแต่ทำงาน “สร้างสุขภาพให้ประชาชน” ส่วนสุขภาพของตนเองก็ย่ำแย่ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม
3. ภัยจากการมีรายได้ไม่เหมาะสมกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ต้องไปหางานทำเป็นรายได้เสริม และทำให้ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น
นอกจากแพทย์พยาบาลจะต้องทำงานหนักเกินกำลัง ขาดเวลาพักผ่อน ขาดเวลาให้แก่ครอบครัว จนเกิดความเสียหายดังกล่าวแล้ว บุคลากรทางทางการแพทย์ยังได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากทางราชการต่ำกว่าไปทำงานในภาคเอกชนเยอะมาก แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ส่วนมากก็มีความเสียสละ อยากทำงานช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างแท้จริง โดยไม่คิดถึง “ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน” ก็ยังเลือกที่จะทำงานในภาคราชการต่อไป
หรือบางคนอาจจะถูก “บังคับ” ให้ทำงานชดใช้ทุน ก็ยังต้องทำงานบริการประชาชนต่อไป แต่ก็มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อย ที่ทนต่อภาระงานหนักและความเสี่ยงภัยต่อการร้องเรียนและฟ้องร้องไม่ไหว ก็พากันลาออกจากการทำงานในระบบราชการกระทรวงสาธารณสุข ไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ไปทำงานอื่นนอกเหนือจาการเป็นแพทย์
แพทย์บางคนก็ทำงานราชการไปพร้อมกับการไปแสวงหางานอื่นเพิ่ม เพื่อช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ให้พอใช้จ่ายเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว การทำงานที่มากอยู่แล้วก็ยิ่งจะมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของตนเองดังกล่าวแล้ว
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว จึงมีส่วนทำให้สุขภาพของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทรุดโทรม
อายุขัยเฉลี่ยของแพทย์จึงสั้นกว่าอายุขัยของประชาชนทั่วไป
ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ ไม่สนับสนุนให้ลูกหลานมาเรียนแพทย์ เนื่องจากตระหนักถึงมหันตภัยอันร้ายแรงที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวแล้ว
การจะป้องกันแก้ไข หรือยุติปัญหามหันตภัยที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์แต่ละคน ก็คงจะต้องแสวงหาช่องทางเอาตัวรอดให้พ้นภัยกันเอง
แต่ถ้าจะป้องกันแก้ไขและหยุดมหันตภัยที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระบบแล้ว ก็คงจะต้องหาทางทำให้ผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการด้านการบริการสาธารณสุข (ได้แก่ รัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) และผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ได้แก่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการ สปสช.) ได้หันมารับรู้และเข้าใจสภาพของปัญหา ต้นเหตุแห่งปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และได้ลงมือร่วมกันป้องกันแก้ไขปัญหาให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะช่วยตัดวงจรการเกิดมหันตภัยจากระบบ 30 บาท ให้หมดไป (ไม่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ตั้งอยู่ และดับไป) ไม่ว่าจะเป็นมหันตภัย 30 บาท ที่เกิดแก่ผู้ป่วยและแก่บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งสองฝ่าย