ปพนธ์ มังคละธนะกุล
www.facebook.com/Lomyak
โลกทุกวันนี้เป็นโลกของทุนนิยม บริโภคนิยม หากเศรษฐกิจเติบโตมากเท่าไร มีแต่จะผลาญทรัพยากรมากขึ้นเป็นทวีคูณ สาเหตุหลักอย่างหนึ่งก็คือ แนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยมเน้นให้คนบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกินความพอดี ผู้บริโภคถูกกระตุ้นให้อยากมีอยากได้ ใช้ยุทธวิธีลด แลก แจก แถม ตามแต่ที่จะจินตนาการกันมาได้ จนผู้บริโภคอดใจกันไม่ไหว ต้องซื้อไว้ก่อน เดี๋ยวจะเสียโอกาส
อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ ความไม่มีประสิทธิภาพในระบบ Supply Chain ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ มากเกินความจำเป็น หากใครอยู่ใน Supply Chain ที่ยาว มีผู้เกี่ยวข้องมากหน้าหลายตา ความไม่มีประสิทธิภาพก็จะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากต่างคนต่างไม่คุยกัน ไม่สามารถร่วมมือกันเพื่อที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพทั้ง Supply Chain
อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสูญเสียสูงมากในระบบ ขณะที่ซีกโลกหนึ่งขาดแคลนอาหาร แต่ในบางส่วนของโลกกลับมีอาหารเหลือทิ้งมากมายก่ายกอง ปัญหา “Food Waste” เป็นปัญหาใหญ่ของโลกทุกวันนี้ แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา
จากข้อมูลของทางการสหราชอาณาจักร ทุกๆ ปีจะมีอาหารเหลือทิ้งประมาณ 15 ล้านตัน โดยที่ขนมปังเป็นอาหารที่เหลือทิ้งมากที่สุด โดยมีปริมาณเหลือทิ้งอย่างน้อย 24 ล้านแผ่นในแต่ละวัน
ด้วยความที่เป็นอาหารที่เน่าเสียเร็ว และมีปริมาณที่มากมายก่ายกองเหลือเกิน การนำไปบริจาคให้แก่คนยากจนนั้นจึงไม่สามารถกำจัดอาหารเหลือทิ้งได้หมด ทุกๆ ปีจึงมีขนมปังเหลือทิ้งที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่ต้องสิ้นเปลืองไปในการผลิตและขนส่งขนมปังไปตามร้านต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้
นาย Tristram Stuart ผู้ก่อตั้งองค์กร Feedback ซึ่งเป็นองค์กรที่ต่อสู้เรื่อง “Food Waste” จึงมีแนวคิดที่จะนำขนมปังเหลือทิ้งมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถเก็บได้นานกว่าขนมปังทั่วไป เขาไปค้นพบวิธีการหมักเบียร์โดยใช้ขนมปังเป็นวัตถุดิบจากกลุ่ม Brussels Beer Project จึงนำเทคโนโลยีนี้มาผลิตเบียร์ที่อังกฤษ
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “Toast Ale” ไมโครบริวสัญชาติอังกฤษ แต่อย่าเข้าใจว่าแบรนด์นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อไม่แสวงหากำไรเชียว แนวคิดจัดการทุกอย่างเป็นเชิงพาณิชย์ทั้งหมด นั่นคือ เบียร์ที่ผลิตได้ต้องมีรสชาติดี สามารถแข่งขันในตลาดได้ ราคาก็ตั้งตามตลาด โดยเบียร์หนึ่งขวดมีราคา 3 ปอนด์ คนซื้อต้องซื้อเพราะรสชาติของเบียร์ มิใช่เพียงเพราะต้องการจะอุดหนุนกิจการเพื่อสังคม ไม่เช่นนั้น คนก็จะซื้อเพียงครั้งเดียวเพราะถือเป็นการทำบุญ บริษัทไม่ต้องการเช่นนั้น บริษัทต้องการให้คนดื่มเบียร์ของตนอย่างสม่ำเสมอ และขยายตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีกำไร แต่บริษัทตั้งใจจะทำให้เกิดกำไร และให้องค์กรอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยกำไรบางส่วนจะนำไปจัดสรรให้กับองค์กร Feedback เพื่อใช้ในการต่อสู้กับปัญหา “Food Waste” ด้านอื่นต่อไป
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Toast Ale ขยายข้ามฟากมหาสมุทรแอตแลนติก เปิดตัวกับโรงกลั่นท้องถิ่นที่นิวยอร์ก ด้วยตั้งใจขยายแนวคิดนี้ให้กว้างขวางออกไป การขยายไปตลาดนิวยอร์กจะทำการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม Crowd Funding ที่มีชื่อต่างๆ
นาย Tristram Stuart เคยกล่าวติดตลกไว้ว่า หากเขาแก้ปัญหาขนมปังเหลือทิ้งได้สำเร็จ นั่นคือไม่มีขนมปังเหลือทิ้งอีกแล้ว ธุรกิจ Toast Ale จะต้องล้มละลายไป เพราะไม่สามารถมีวัตถุดิบใช้ในการผลิตอีกแล้ว เขากล่าวว่า หากวันนั้นมีจริง จะเป็นวันที่เขายินดีมากที่ทำให้กิจการที่ตนเองก่อตั้งขึ้นล้มละลาย เอากับเขาสิครับ ก่อตั้งธุรกิจโดยมีจุดมุ่งหมายให้ล้มละลายในอนาคต เพราะมีเป้าประสงค์ที่ใหญ่กว่า และการล้มละลายของธุรกิจเป็นตัวชี้วัดว่าได้บรรลุเป้าประสงค์แล้ว…
การก่อตั้ง Toast Ale ของนาย Tristram Stuart เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว
หนึ่ง…เป็นการแก้ปัญหาทางตรง เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางการตลาดจริงๆ มีตลาดที่ใหญ่รองรับ สามารถแก้ปัญหาขนมปังเหลือทิ้งได้อย่างจริงจัง เพราะทุกๆ ขวดที่ผลิตจะใช้ขนมปังเหลือทิ้ง 1 แผ่นเป็นวัตถุดิบ หากธุรกิจนี้เติบโตไปเรื่อยๆ ปัญหาขนมปังเหลือทิ้งก็จะลดน้อยเบาบางลงไปเรื่อยๆ ตามกัน
สอง…เป็นการแก้ปัญหาทางอ้อมเรื่องการหาทุน Toast Ale ใช้แพลตฟอร์มสมัยใหม่ในการระดมทุนเริ่มต้น เมื่อธุรกิจขยายต่อไป อาจมีสถาบันต่างๆ กระทั่งมหาเศรษฐี เข้ามาร่วมลงทุน ทำให้บริษัทสามารถต่อยอดไปได้ เพราะองค์กรจัดตั้งแบบธุรกิจแสวงหากำไร ทำให้ทางเลือกในการระดมทุนเปิดกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น มีการกำหนดว่ากำไรบางส่วนจะถูกจัดสรรไปที่องค์กร Feedback เพื่อที่จะใช้เป็นทุนในการต่อสู้กับปัญหา “Food Waste” เรื่องอื่นๆ เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้น กำไรที่จะนำส่งให้ Feedback จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้องค์กร Feedback มีเครื่องมือในการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องคอยขอบริจาคตลอด
โมเดลธุรกิจสมัยใหม่สำหรับ Social Business ต้องแยกแยะระหว่าง Social และ Business เป้าประสงค์ใหญ่เพื่อสังคมนั้นสำคัญ แต่อย่ามาปนกับ Business จนทำให้ตัวธุรกิจนั้นขาดความน่าสนใจในเชิงธุรกิจไป เพราะหากเป็นเช่นนั้น ความยั่งยืนก็จะไม่มี เป้าประสงค์ก็จะไม่บรรลุ
Business ต้องไปได้ดี Social Impact ถึงจะเกิด