ปพนธ์ มังคละธนะกุล www.facebook.com/Lomyak
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่เริ่มได้รับกันบ้างแล้ว และจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับนั้น เป็นสิ่งหลีกหนีไม่ได้ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละธุรกิจ แต่ละอุตสาหกรรมที่เราอยู่
แต่ที่แน่ๆ เราต้องเอาตัวรอด ต่อลมหายใจในระยะสั้นนี้ไปให้ได้ก่อน อย่างน้อยก็ 6 เดือนข้างหน้านี้ที่สถานการณ์จะมีแต่แย่ลง โดยหวังว่าใน 6 เดือนนี้มาตรการต่างๆ จะเอาอยู่ และเริ่มทำให้วงจรเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวเข้าสู่โหมดฟื้นฟู
จากการอ่านข้อมูลจากหลายสำนัก ส่วนใหญ่บอกตรงกันว่าเร็วสุด 6 เดือนจากนี้ (เน้นว่าเร็วสุด) และตอกย้ำด้วยมาตรการช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ที่ให้หยุดพักชำระเงินต้นที่ 6 เดือน
ดังนั้น ธุรกิจจะต่อลมหายใจตัวเองให้ผ่าน 6 เดือนนี้ได้อย่างไร ขณะที่รายได้หดตัวอย่างรุนแรง
สิ่งแรกๆ ที่ต้องทำเลยคือ การลดภาระเงินไหลออกให้กับบุคคลภายนอก เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้เขาจะตกลงยินยอมกับเราขนาดไหน จึงต้องคุยก่อนเป็นกลุ่มแรกๆ
1. หากใครมีสินเชื่ออยู่กับธนาคาร เดินหน้าคุยกับแบงก์เลยครับ ตอนนี้ทุกแบงก์มีมาตรการช่วยลูกค้ากันหมดแล้ว แต่ต้องรีบเดินเข้าหา อย่ารอ!!!
ตอนนี้เจ้าหน้าที่ของแบงก์งานชุกทุกคน ไหนจะต้องดูแลลูกค้า ไหนจะวุ่นเรื่อง BCP ขององค์กรตัวเอง หากตามตัวยาก ใจเย็นนิดนึงครับ
ทุกแบงก์ตอนนี้ให้พักชำระเงินต้นหมดแล้ว เหลือแต่จ่ายดอกเบี้ย หากใครมีสินเชื่อระยะยาว น่าจะช่วยลดภาระไปได้พอควร แต่หากใครมีวงเงินประเภท OD คงเป็นการซื้อเวลาซะมากกว่า
2. คุยกับคู่ค้า (โดยเฉพาะคนขายของให้เรา) หันหน้าเข้าหากัน สอบถามดูว่าเขามีกำลังขนาดไหน สามารถช่วยเราผ่อนลดภาระช่วงนี้ได้แค่ไหน คุยกันตรงๆ เลยว่าเราเจอหนักขนาดไหน
การคุยกับคู่ค้านี้ คนส่วนใหญ่มักจะกลัว เพราะว่าต้องค้าขายกันอีกนาน
ยิ่งอย่างนี้ ยิ่งต้องคุยกัน เพราะหากเศรษฐกิจฟื้น เรายังอยากจะทำการค้าด้วยกันต่อไป ดังนั้น ช่วงนี้จึงต้องช่วยๆ กันเท่าที่ทำได้
หากคู่ค้าเป็นบริษัทใหญ่ ก็เหนื่อยหน่อย และเขาอาจไม่ขยับเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ ว่าแนบแน่นกันขนาดไหน คบหากันมานานมั้ย
แต่ ยังไงก็ต้องคุย คุยให้หมด จะได้รู้ว่า เราจะสามารถลดภาระได้แค่ไหนช่วงนี้ และเขายังจะส่งของให้เราต่อไป บนเงื่อนไขอะไร
พูดถึงเรื่องการคุยกับคู่ค้า ผมเคยประสบมากับตัวช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง
ตอนนั้น ผมเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของเครือโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่ง ผู้บริหารแผนก็คือ ผู้บริหารกิจการของโรงพยาบาลแห่งนั้น แทนเจ้าหนี้ทุกคน
ความยากลำบากในช่วงแรก ก็เหมือนที่เราๆ กำลังเผชิญตอนนี้ นั่นคือ เราต้องรู้ให้ได้ว่าโรงพยาบาลมีกระแสเงินสดให้เราจัดการแค่ไหน
สิ่งหนักใจที่สุดตอนนั้น ก็คือการคุยกับ supplier ทั้งหลายของโรงพยาบาล และที่ยากที่สุด ก็พวก supplier ยาและอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทั้งหลาย
ผมกับนายต้องเดินสายเจรจากับทุกเจ้าใหญ่ เราวางแผนไว้แล้วว่า หากเจ้าใหญ่ยอม รายเล็กลงมาก็จะยอมด้วย
มันยาก มันทรมาน แสนเข็ญจริงๆ
หูชา โดนขู่ สารพัด
บอกว่า ยาของเขา เครื่องมือของเขา เป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตคนไข้ หากไม่จ่ายตามเทอมเดิม จะไม่ส่งยาให้แล้ว จะมายึดเอาเครื่องคืนบ้าง
คิดดูเอาละกันครับว่า ผมจะเครียดแค่ไหน หากต้องมีคนไข้ตายช่วงนี้ เพราะผมไม่จ่ายเงินให้แก่คู่ค้าเหล่านี้
แต่… ผมก็ผ่านมาได้
ไม่มี supplier รายใดหยุดส่งยาให้เรา ไม่มีเครื่องมือแพทย์ถูกยึด
เราใช้หลักคุยกันด้วยเหตุผล เมื่อปล่อยให้ช่วงอารมณ์โกรธ พลุ่งพล่าน ผ่านไป เขาจึงเข้าใจสถานการณ์ และหาทางออกร่วมกันได้
ช่วงนี้ เป็นช่วงที่ลำบากใจที่สุด ทุกคนเดือดร้อนถ้วนหน้า ประเด็นอยู่ที่ว่าเราเข้าใจสถานการณ์กันแค่ไหน แล้วจะช่วยกันผ่อนปรนได้แค่ไหน เพื่อที่จะคบกันยาวๆ
เพราะวิกฤติ มาแล้วผ่านไป
แต่หากผ่านด้วยกันไปได้ มันคือความสัมพันธ์ระยะยาว ที่มีแต่จะแนบแน่นขึ้น และช่วยกันเติบโตกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบใหม่ต่อไป
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กล้อมยักษ์/Lom Yak วันที่ 21 มีนาคม 2563