ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีชี้รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนกำลังกลับมา – จับตาเอลนีโญไตรมาส3 ปีนี้ คาดฝนตกน้อย 6-10 เดือน

วิจัยกรุงศรีชี้รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนกำลังกลับมา – จับตาเอลนีโญไตรมาส3 ปีนี้ คาดฝนตกน้อย 6-10 เดือน

9 พฤษภาคม 2017


วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยาประเมินแนวโน้มรายได้เกษตรและการบริโภคภาคเอกชนภายใต้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แม้มีโอกาสสูงกว่า 50% ที่จะเกิดเอลนีโญนับจากไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป แต่หน่วยงานด้านภูมิอากาศส่วนใหญ่ประเมินว่าเอลนีโญครั้งนี้จะมีความรุนแรงต่ำกว่าในช่วง 2 ปีก่อน ที่เคยส่งผลให้ไทยประสบวิกฤติภัยแล้ง ดังนั้น รายได้เกษตรกรในภูมิภาคส่วนใหญ่ของประเทศในปีนี้จึงยังสามารถเติบโตได้ สำหรับอานิสงส์ต่อการบริโภคภาคเอกชน กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นการบริโภคได้ดีกว่าในอดีต เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา

การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีความต่อเนื่องและกระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างทั่วถึงมากขึ้น ประชาชนเริ่มกลับมาซื้อสินค้าคงทน ดังสะท้อนจากตัวเลขยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ปรับสูงขึ้นในทุกภูมิภาค ปัจจัยสำคัญเบื้องหลังการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน คือ รายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นตามผลผลิตที่ทยอยกลับเข้าสู่ตลาดหลังจากภาวะภัยแล้งคลี่คลายไปเมื่อปลายปีก่อน ขณะที่ราคาของพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้มีผลผลิตออกมามากขึ้น (ภาพที่ 1)

แนวโน้มรายได้เกษตรกรจะเป็นอย่างไรในช่วงที่เหลือของปี 2560 หากประเมินจากสถานการณ์น้ำจะพบว่าการเพาะปลูกภายในเขตชลประทานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น วัดจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 2 ปีก่อน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี (ภาพที่ 2)

แต่ประเด็นที่ต้องจับตา คือ ภาวะแล้งที่อาจกระทบต่อการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งคิดเป็น 84% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เพราะล่าสุด National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ของสหรัฐฯ ประเมินว่ามีความเป็นไปได้เกินครึ่งที่ไทยจะเผชิญภาวะเอลนีโญตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป โดยภาวะเอลนีโญจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนน้อย ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกเท่าที่ควร (ภาพที่ 3)

อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านภูมิอากาศสำคัญของโลกประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า เอลนีโญในปีนี้จะไม่รุนแรงเท่าเมื่อ 2 ปีก่อนที่ไทยเผชิญวิกฤติภัยแล้ง ไม่ว่าจะพิจารณาจากอุณหภูมิผิวน้ำหรือระยะเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ โดย NOAA คาดว่าเอลนีโญปีนี้จะเกิดนานเพียง 6-10 เดือน เทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนที่กินเวลายาวนานกว่า 21 เดือน

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตภาคเกษตรของไทยอย่างจำกัด และกระทบเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักบางชนิด สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบคือข้าวและข้าวโพด เนื่องจาก (1) เป็นพืชไร่ซึ่งไม่ทนแล้ง และ (2) มีช่วงเวลาเพาะปลูกคาบเกี่ยวกับช่วงที่เกิดเอลนีโญพอดี สำหรับผลผลิตสำคัญตัวอื่นคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญอย่างจำกัด เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นไม้ยืนต้น สามารถทนภาวะแล้งได้นาน ขณะที่อ้อยน้ำตาล แม้ไม่ทนแล้งแต่ผลผลิตส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี จึงไม่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญมากนัก ผลการประเมินในรายละเอียดแสดงในภาพที่ 4(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

นอกจากนี้ประเมินว่ารายได้ของเกษตรกรในภูมิภาคส่วนใหญ่ของประเทศจะยังเติบโตได้จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเอลนีโญไม่รุนแรง และยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ สนับสนุนอยู่ รายได้เกษตรกรในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากพืชเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มเติบโตดี เช่น ปาล์มน้ำมันที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง หรือยางพาราในภาคใต้ที่กลับมากรีดได้หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงต้นปีสิ้นสุดลง เป็นต้น สำหรับเกษตรกรในภาคกลาง และพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะพึ่งพาผลผลิตข้าว แต่ยังมีสินค้าเกษตรอื่นที่มีแนวโน้มเติบโตดีมาชดเชย เช่น กุ้งขาว ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องหลังจากโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลาย เป็นต้น ภูมิภาคที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่น คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพึ่งพาข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน เพราะราคาไม่จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูก รายได้เกษตรกรในภูมิภาคนี้จึงอาจปรับลดลงไปบ้างจากปีก่อน (ภาพที่ 5 และ 6 คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นจะมีอานิสงส์ต่อการบริโภคมากเพียงใด วิจัยกรุงศรีพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าและเข้มแข็งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะการบริโภคโดยรวมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงรายได้มากขึ้น

ในการวัดการตอบสนองของการบริโภค วิจัยกรุงศรีวัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของความต้องการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแต่ละชนิดเมื่อรายได้ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากนั้นจึงจัดกลุ่มสินค้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

(1) สินค้าฟุ่มเฟือย หมายถึง สินค้าที่ความต้องการซื้อตอบสนองต่อรายได้มาก มูลค่าการบริโภคจึงมีความผันผวนสูง สินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ สินค้าที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% เช่น รถยนต์ กิจกรรมการท่องเที่ยว และบริการทางการเงิน

(2) สินค้าจำเป็น หมายถึง สินค้าที่ความต้องการซื้อไม่ค่อยตอบสนองต่อรายได้มากนัก นั่นคือ ผู้บริโภคจะซื้อเท่าเดิมไม่ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง สินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ สินค้าที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% เช่น อาหารสด ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

(3) สินค้าด้อย หมายถึง สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อมากขึ้นในช่วงที่มีรายได้ลดลง ตัวอย่างของสินค้าในกลุ่มนี้ คือ ผักสด

เมื่อคำนวณสัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อสินค้าแต่ละประเภทในตะกร้า พบว่าสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภทมีสัดส่วนในตะกร้าค่อนข้างสูง เช่น การใช้บริการภัตตาคารและโรงแรม (17.2% ของมูลค่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2558) และบริการทางการเงิน (5.8%) (ภาพที่ 7 คลิกที่ภาพเพื่อขยาย) นอกจากนี้ สัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 สินค้าฟุ่มเฟือยมีสัดส่วนกว่า 45% ของมูลค่าการบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากในปี 2543 ที่มีสัดส่วนเพียง 33% (ภาพที่ 8 คลิกที่ภาพเพื่อขยาย) เมื่อตะกร้าสินค้าของผู้บริโภคมีสัดส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือยสูงขึ้น การบริโภคโดยรวมน่าจะตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้มากขึ้นตามไปด้วย

การฟื้นตัวของรายได้เกษตรกรรอบนี้น่าจะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้เร็วและแข็งแรงกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นการฟื้นตัวที่ “มั่นคง” มากขึ้น เพราะมาจากพื้นฐานที่ดี แตกต่างจากการบริโภคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องพึ่งพานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเป็นหลัก