ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกหั่นจีดีพีไทยจาก 4.1% เหลือ 3.5% กังวลรัฐบาล 19 พรรคส่งผลต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นนักลงทุน

ธนาคารโลกหั่นจีดีพีไทยจาก 4.1% เหลือ 3.5% กังวลรัฐบาล 19 พรรคส่งผลต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นนักลงทุน

8 กรกฎาคม 2019


ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ธนาคารโลกเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ระบุว่า จากช่วงต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอการเติบโตลงจากร้อยละ 4.1 เมื่อปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 3.6 และ 3.7 ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะยังคงต่อเนื่องไปด้วยดีและการลงทุนภาครัฐจะมีการเร่งดำเนินการขึ้น

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกหดตัวเหลือร้อยละ 4 ในไตรมาสแรกของปี 2562 นับเป็นการหดตัวไตรมาสแรกในรอบสามปี ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของครัวเรือนยังคงเติบโตใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยมีมาในรอบสามปีที่ผ่านมาได้รับปัจจัยด้านบวกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ การเพิ่มการจ้างงาน และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อมาใช้ดำเนินการ โดยภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกขนาดใหญ่มีการใช้กำลังการผลิตมากกว่า 80% แม้ว่าการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดยังอยู่ที่ระดับ 71% ขณะที่การบริโภคของเอกชนยังเห็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ เนื่องจากผลของมาตรการรถคันแรกที่หมดไป

ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาครัฐลดลงเนื่องจากการดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ชะลอตัวเล็กน้อยในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งที่ล่าช้า มีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงที่ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าร้อยละ 3 เป็นครั้งแรกนับจากกลางปี 2558

“ความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินการโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐตามที่ได้วางแผนไว้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน การเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และการใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้าและการบริการ” ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (แฟ้มภาพ)

ด้าน ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความกังวลที่มีต่อความมั่นคงของรัฐบาลผสมที่เกิดจาก 19 พรรคการเมืองมีผลด้านลบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อความล่าช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ทันกำหนดการที่วางไว้ 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างต่อเนื่องอาจมีผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลง และไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก

“การขยายบริการดิจิทัลไปยังประชากรกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงบริการนั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามที่ได้ยุทธศาสตร์ชาติได้วางแผนไว้ ในส่วนของธุรกิจฟินเทคที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยนั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนระบบนิเวศของฟินเทคเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดนี้มีหัวข้อพิเศษเรื่องการให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยภาพรวมประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างก้าวกระโดด ผู้ใหญ่ไทยร้อยละ 82 มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง และช่องว่างระหว่างเพศในการเข้าถึงบริการก็ต่ำมาก

ในมุมมองที่กว้างออกไป ประมาณ 2,000 ล้านคนในประเทศตลาดเกิดใหม่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินหรือธนาคาร ฟินเทคจึงกลายเป็นสิ่งที่มีศักยภาพอย่างมีนัยสำคัญที่จะให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงได้ในวงกว้าง ด้วยราคาที่เหมาะสม สะดวก และปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น ตามข้อมูลของการประชุมร่วมระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกเรื่องฟินเทคที่อินโดนีเซีย ได้ระบุกรอบนโยบาย 12 ประการที่เล็งไปยังการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์และมีโอกาสจะก้าวหน้าทางฟินเทคอย่างรวดเร็ว ขณะที่บริหารความเสี่ยงที่ตามมาอย่างเหมาะสม

“การปฏิวัติฟินเทคควรจะส่งมอบคำตอบที่ช่วยยกระดับการบริการทางการเงิน ลดความเสี่ยง และนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและทั่วถึง จริงๆ แล้วฟินเทคได้กำหนดนิยามใหม่ของแนวคิดเก่าที่บอกว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างถึงจะถูกเรียกว่าคือธนาคาร และผลักดันให้ธนาคารต้องพัฒนาประสิทธิภาพที่จะให้บริการทางดิจิทัล ซึ่งส่งมอบและเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมธนาคารไปสู่บริษัทฟินเทคที่ไม่ใช่ธนาคาร”

ในหลายประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงเคนยา จีน และอินเดีย ฟินเทคได้ทำให้คนจนและกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงธนาคารสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ อีกมุมหนึ่ง รัฐบาลยังต้องบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะมาพร้อมกับฟินเทค ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยไซเบอร์ การผูกขาดตลาด ความแข็งแรงและความมีเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม

กลับมาที่ประเทศไทย ถือว่าเป็น 1 ในประเทศอาเซียนที่เห็นการพัฒนาอย่างรวดเร็วของฟินเทค ทั้งประเทศมีฟินเทค 140 บริษัทและมากกว่าครึ่งเป็นสตาร์ทอัป และ 43% ของกิจกรรมฟินเทคในไทยจะเน้นไปที่การชำระเงินทางดิจิทัล อย่างไรก็ตาม บางส่วนยังถูกครอบงำจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ทั้งพัฒนาศักยภาพการบริการทางการเงินของตัวเองหรือเข้าซื้อจากบริษัทอื่นๆ และมีโอกาสที่จะไปเบียดบังโอกาสของบริษัทสตาร์ทอัปเล็กๆ นอกจากนี้ หลายธนาคารของไทยยังสร้างกองทุนร่วมทุนที่เน้นไปที่ฟินเทค ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมฟินเทคของไทยในอนาคต

ในด้านภาครัฐบาลและผู้กำกับดูแลของไทยได้ยกระดับกรอบกฎหมายและสถาบันที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสนับสนุนการขยายตัวและการกระจายตัวของการบริการทางการเงินทางดิจิทัล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ออกนโยบาย และตั้งส่วนงานบริหารที่ดูแลและสนับสนุนการเติบโตของฟินเทคโดยตรง โดยในปี 2560 ได้ออกระบบชำระเงินระดับประเทศใหม่ หรือพร้อมเพย์ ที่ช่วยลดค่าธรรมเนียมการโอนท้ังระบบการเงินได้ ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินของรัฐบาลได้ใช้เครื่องมือดิจิทัลในการให้ความรู้ทางการเงิน ในภาพรวมผู้กำกับดูแลและภาครัฐได้แสดงตัวอย่างของความมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับฟินเทค และให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนในระดับปฏิบัติลงไป

การสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่าอุตสาหกรรมการเงินของไทยรับรู้ถึงความสนใจที่จะเข้าใจและสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็น ธปท., สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่สร้างกระบะทดลองเทคโนโลยีขึ้นมา สะท้อนให้เห็นความสำคัญเป็นอับดับต้นๆ ของฟินเทค นอกจากนี้ ในหลายกระทรวงก็ยังสนับสนุนนวัตกรรมในมุมต่างๆ กัน ซึ่งอาจจะสร้างความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนหากขาดความร่วมมือที่เพียงพอ

อีกประเด็นหนึ่งคือช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่แตกต่างกันในกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในลักษณะของอินเทอร์เน็ตบ้าน แม้ว่าการใช้งานหรือเข้าถึงของบริการทางการเงินของไทยจะสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานในหลายประเทศ แต่การเข้าถึงยังมีความแตกต่างในระดับพื้นที่และระดับรายได้ที่แตกต่างกัน และจากประสบการณ์ของหลายประเทศพบว่าการบริการทางการเงินแบบดิจิทัลสามารถขยายตัวได้ไกลและเร็วกว่าโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารแบบเดิมๆ และฟินเทคจะช่วยเร่งการเข้าถึงบริการทางการเงินเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ได้ อีกด้านหนึ่งยังสามารถช่วยลดความไม่เท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย

มองไปข้างหน้า รัฐบาลยังสามารถสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งในภาคฟินเทคได้ด้วยการสร้างพื้นที่แข่งขันที่เท่าเทียมกันของฟินเทค การสนับสนุนการร่วมกันระหว่างธนาคารและฟินเทค การเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล รวมไปถึงการร่วมมือของรัฐและเอกชน และสุดท้ายสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการระดมทุนของฟินเทคใหม่ๆ

รายงานฉบับเต็ม