ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้ คะแนน PISA เด็กไทยถดถอย ย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ รัฐต้องเร่งแก้ด่วน

ธนาคารโลกชี้ คะแนน PISA เด็กไทยถดถอย ย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ รัฐต้องเร่งแก้ด่วน

11 ธันวาคม 2020


ที่มาภาพ:
https://www.facebook.com/WorldBankThailand/photos/a.511673038924069/3636751939749481/

รายงานธนาคารโลก ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาในประเทศไทย

รายงานธนาคารโลกฉบับล่าสุดแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะด้านการอ่านที่มีแนวโน้มถดถอยลงของนักเรียนไทย รวมถึงคะแนนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีแนวโน้มซบเซาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรทรัพยากรและการลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ของประเทศไทยที่ยังด้อยประสิทธิภาพ นอกจากนี้การปิดโรงเรียนเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) อาจเป็นปัจจัยเร่งให้แนวโน้มดังกล่าวถดถอยลงไปอีก

โครงการโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ปี พ.ศ. 2561 ได้ทำการประเมินทักษะของนักเรียนอายุ 15 ปี ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พร้อมจัดเก็บข้อมูลด้านทัศนคติ พื้นฐานทางครอบครัว ประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ และบริบทของโรงเรียน

ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมิน PISA มาตั้งแต่ปี 2543 จากทั้งหมด 79 ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในปี 2561 ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 68 ในด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ในด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ในด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประเทศไทยนำหน้าเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น ประมาณร้อยละ 60 ของนักเรียนได้คะแนนด้านการอ่านต่ำกว่าสมรรถนะขั้นต่ำ และร้อยละ 53 มีคะแนนไม่ถึงระดับสมรรถนะขั้นต่ำในด้านคณิตศาสตร์ ในขณะที่ร้อยละ 44 ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์สมรรถนะขั้นพื้นฐานในด้านวิทยาศาสตร์

รายงานผลการประเมินชี้ว่าเด็กนักเรียนไทยมีอัตราการขาดเรียนสูง และไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ผลการศึกษาของธนาคารโลกชื่อ “การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในโรงเรียนเพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศไทย” แสดงให้เห็นว่ามีการลงทุนในด้านการเงิน บุคลากร และการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำสำหรับโรงเรียนซึ่งอยู่ในกลุ่มร้อยละ 25 ล่างสุดในดัชนีด้านสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โรงเรียนเอกชนที่พึ่งพารัฐบาล (โรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดการศึกษา) และโรงเรียนในชนบท

มีปัจจัยหลายประการที่อยู่เบื้องหลังผลลัพธ์ที่ตกต่ำของไทยในการประเมิน PISA อันดับแรกคือค่าใช้จ่ายสะสมโดยเฉลี่ยต่อนักเรียนในประเทศไทยจากระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 27,271 ดอลลาร์สหรัฐ (ในภาวะความเสมอภาคของอำนาจซื้อ) ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายสะสมโดยเฉลี่ยต่อนักเรียนในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD อันดับที่สองคือ เมื่อพิจารณาผลลัพธ์ทางการศึกษาเปรียบเทียบกับการลงทุน ประเทศไทยถือว่ายังทำได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการลงทุนในระดับใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรครูและทรัพยากรทางการศึกษาอื่น ระหว่างโรงเรียนที่มีความได้เปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม กับโรงเรียนที่สถานะด้อยกว่าในประเทศไทยนั้นมีสูงกว่าในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และประเทศสมาชิก OECD ปัจจัยสำคัญด้านอื่นเบื้องหลังความเหลื่อมล้ำของผลการดำเนินงานของโรงเรียนประกอบไปด้วยคุณภาพการสอนของครู การขาดเรียนของนักเรียนที่มักพบบ่อยในกลุ่มเด็กผู้ชาย นักเรียนที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า และนักเรียนที่โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน

การเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลระหว่างโรงเรียนในเมืองกับในพื้นที่ชนบท และระหว่างโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนเป็นเวลานานเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แม้ว่ากว่าร้อยละ 90 ของนักเรียนที่ค่อนข้างมีฐานะจะมีคอมพิวเตอร์สำหรับใช้เพื่อการเรียน และเกือบจะทั้งหมดมีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน แต่รายงานระบุว่ามีเพียงร้อยละ 20 ของนักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำ ที่มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียน และพบว่าเพียงร้อยละ 61 ของนักเรียนกลุ่มนี้มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน

“วิกฤติโควิด-19 เผยให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษาทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย” นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา การศึกษาที่ต้องหยุดชะงักลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเนื่องจากการแพร่ระบาด และความเป็นไปได้ของการเกิดการระบาดรอบสอง ชี้ให้เห็นว่าการเสริมสร้างรากฐานเพื่อความสำเร็จด้านการศึกษาในประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเยาวชนที่ด้อยโอกาสจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นโรงเรียนทุกแห่งควรมีทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อเอื้ออำนวยให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสในการเรียนรู้และประสบความสำเร็จได้อย่างเท่าเทียมกัน”

ผลการประเมิน PISA ในปี พ.ศ. 2561 สะท้อนผลการจัดอันดับของประเทศไทยในดัชนีทุนมนุษย์ พ.ศ. 2562 (Human Capital Index 2019) ในมิติสำคัญ เช่น จำนวนปีที่เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในโรงเรียน ดัชนีทุนมนุษย์นี้เป็นการวัดผลระดับโลกเพื่อประเมินศักยภาพของแรงงานในอนาคตผ่านการพัฒนาด้านการศึกษาและสุขภาพของเด็กและเยาวชน

รายงานผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนไทยของธนาคารโลกฉบับนี้เน้นย้ำถึงสามประเด็นสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษาควรให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา

  • การส่งเสริมให้ทุกห้องเรียนมีบุคลากรทางการศึกษาในจำนวนที่เพียงพอ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ในการเรียนรู้ที่ครบครัน เพื่อให้ผลการเรียนรู้ของนักเรียนพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่มีความต้องการสูง
  • การพัฒนาวิธีการสอน และการจัดการในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา เพื่อลดอัตราการขาดเรียนของนักเรียน