ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 มี.ค. 2560: “ออกหมายจับ ‘วีระ สมความคิด’ แพร่โพลวิจารณ์รัฐบาล” และ “ฝรั่งเศสโดนอีก บึ้มไอเอ็มเอฟ-ยิงในโรงเรียน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 มี.ค. 2560: “ออกหมายจับ ‘วีระ สมความคิด’ แพร่โพลวิจารณ์รัฐบาล” และ “ฝรั่งเศสโดนอีก บึ้มไอเอ็มเอฟ-ยิงในโรงเรียน”

18 มีนาคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 มี.ค. 2560

  • ออกหมายจับ “วีระ สมความคิด” แพร่โพลวิจารณ์รัฐบาล
  • “ปิดสนามบิน” มีลุ้น สปท. ชงส่ง ป.ย.ป. ลดโทษ
  • หลักฐานไม่ชัด ยุติสอบ “ศานิตย์” ปมรับเงินไทยเบฟ
  • สรรพากรย้ำ “หมดช่องเอาผิด” หุ้นชินฯ
  • ฝรั่งเศสโดนอีก “บึ้มไอเอ็มเอฟ-ยิงในโรงเรียน”
  • ออกหมายจับ “วีระ สมความคิด” แพร่โพลวิจารณ์รัฐบาล

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซีไทย (http://bbc.in/2nugS6i)

    วันที่ 12 มี.ค. 2560 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ศาลอนุมัติออกหมายจับนายวีระ สืบเนื่องจากที่เฟซบุ๊กชื่อ “วีระ สมความคิด” ได้เผยแพร่โพลล์สอบถามความคิดเห็น 8 ข้อ ซึ่งอ้างว่าเป็นการวัดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะสรุปผลจากจำนวนผู้เข้ามาตอบโพสต์ในเฟซบุ๊กดังกล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทั้งยังนำผลโพลล์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อที่เฟซบุ๊กชื่อ “Veera Somkwamkid” อีกต่อหนึ่ง

    ขณะเดียวกัน เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เวลา 20.30 น.วันที่ 12 มี.ค. นายวีระได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก “Veera Somkwamkid” ระบุว่า “ประกาศผ่านสาธารณะ ตำรวจไม่ต้องมาตามจับผมให้เสียเวลา ผมจะไปพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ในวันพุธที่ 15 มีนาคม 2560 เวลา 13.00 น. คดีนี้แปลกนะ ตำรวจ ปอท.ควรมีหมายเรียกมายังผมก่อนนะ ถ้ามีหมายเรียกมา ผมพร้อมเข้ามอบตัวสู้คดี บอกตรงๆ อยากสู้คดีนี้มาก แต่ที่กลัวคือ กลัวจะยังไม่ทันได้สู้คดี ถ้ามีการมาควบคุมตัวในวันนี้ กลัวมีการใช้อำนาจพิเศษเอาไปขังไว้ก่อน 7 วัน ชัดเจนนะ คนอย่างวีระ สมความคิด ไม่เคยหนีคดี พร้อมสู้คดีเต็มที่ แต่ไม่พร้อมให้ใครมาจับเอาไปฆ่า พนักงานสอบสวนก็เตรียมตอบคำถามผมไว้ให้ดีด้วยนะ ทำไมคดีนี้ไม่มีการออกหมายเรียกตามกฎหมายเสียก่อน มีทหารชื่ออะไรมาบังคับให้พนักงานสอบสวนรีบออกหมายจับ โดยอ้างว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง”

    “ปิดสนามบิน” มีลุ้น สปท. ชงส่ง ป.ย.ป. ลดโทษ

    เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอรายงานแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองว่า ขณะนี้คณะอนุ กมธ. พิจารณารวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ได้ข้อสรุปรายงานดังกล่าวเกือบสมบูรณ์แล้ว คาดว่า อีก 2 สัปดาห์จะเสนอรายงานต่อที่ประชุม สปท. ด้านการเมือง เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อที่ประชุม สปท. ชุดใหญ่ และส่งต่อให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รับไปดำเนินการต่อไป ในส่วนการแก้ปัญหาคดีความทางการเมืองนั้น ยืนยันว่า สปท. ด้านการเมืองจะไม่เสนอให้ใช้การนิรโทษกรรมในการแก้ปัญหา แต่เสนอให้ใช้เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และกระบวนการให้โอกาสทางคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด อาทิ การรอลงอาญา การถอนฟ้อง การจำหน่ายคดีชั่วคราวแลกกับการไม่ไปปลุกม็อบสร้างความวุ่นวาย นำมาใช้ในคดีความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท เช่น กรณีการปิดสนามบิน การยึดทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ครอบคลุมถึงความผิดทุจริต มาตรา 112 และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

    นายเสรีกล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่จะอยู่ในข่ายได้รับการให้โอกาสทางคดีอาญาจะเป็นเฉพาะประชาชนที่มาร่วมชุมนุม หรือรวมถึงแกนนำการชุมนุมด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับ ป.ย.ป. เป็นผู้พิจารณารายละเอียด เพราะ สปท. ด้านการเมืองจะเสนอเพียงหลักการกว้างๆ เท่านั้น ส่วนมาตรการป้องกันความขัดแย้งในอนาคตนั้น สปท. ด้านการเมืองเสนอมาตรการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตั้งม็อบมาสนับสนุนรัฐบาลหรือสนับสนุนฝ่ายของตัวเอง หากใครฝ่าฝืนจะถูกส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป

    หลักฐานไม่ชัด ยุติสอบ “ศานิตย์” ปมรับเงินไทยเบฟ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี (https://goo.gl/DijduV)

    วันที่ 14 มี.ค. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยุติเรื่องกรณีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอให้ตรวจสอบ พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ารับเงินจากการเป็นที่ปรึกษา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เดือนละ 50,000 บาท เข้าข่ายผิดจริยธรรมหรือไม่นั้น เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า พล.ต.ท. ศานิตย์ รับเงินดังกล่าวจริง

    เพราะแม้ พล.ต.ท. ศานิตย์ จะแจ้งต่อ ป.ป.ช. ก็เป็นเพียงเอกสารประกอบการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ให้ข้อมูลต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การตรวจสอบของ ป.ป.ช.ในชั้นการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจะดูว่ายื่นเอกสารหลักฐานครบตามที่กำหนดหรือไม่ ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สินนั้น ป.ป.ช.จะตรวจสอบก็ต่อเมื่อพ้นจากตำแหน่ง จึงจะนำทรัพย์สินมาเปรียบเทียบว่ามีหนี้สินและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงจริงตามที่ได้มีการแจ้งหรือไม่ ประกอบกับ พล.ต.ท. ศานิตย์ ได้ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาบริษัทไทยเบฟฯ ส่วนที่มีหนังสือแจ้งต่อ ป.ป.ช. นั้นเป็นการผิดหลงในข้อมูล เพราะให้คนอื่นเป็นผู้ทำเอกสารให้ ขณะที่บริษัทไทยเบฟฯ ก็มีหนังสือแจ้งว่าไม่ได้จ้าง พล.ต.ท. ศานิตย์ เป็นที่ปรึกษา

    อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีข้อสังเกตตักเตือนไปยัง พล.ต.ท. ศานิตย์ ว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต้องมีความรอบคอบ แม้ให้เจ้าหน้าที่ทำเอกสารให้ แต่ตัวเองต้องเป็นผู้เซ็นรับรองเพื่อยืนเอกสารนั้นให้กับหน่วยงานสำคัญ การจะมาอ้างเรื่องผิดหลงจึงไม่สมควร เพราะการเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อีกทั้งโดยตำแหน่งแล้วมีหน้าที่กำกับดูแลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแจ้งข้อมูลที่ผิดหลงดังกล่าวจึงเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี หมิ่นเหม่ ล่อแหลม อาจทำให้ถูกกล่าวหาได้ว่ามีผลประโยชน์กับบริษัทเครื่องดื่มดังกล่าว หรือถูกมองว่าผิดวินัย ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์

    ทั้งนี้ ทางผู้ตรวจฯ จะทำการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการแจ้งไปยังผู้ร้อง รวมทั้งผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.ท. ศานิตย์ ทั้งในฐานะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

    นายรักษเกชา กล่าวด้วยว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าผิดหรือไม่ผิด เพราะผู้จะชี้ว่า พล.ต.ท. ศานิตย์ เป็นที่ปรึกษาจริงหรือไม่ เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ส่วนทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาในเรื่องของจริยธรรมเท่านั้น ดังนั้น เมื่อยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนจึงไม่สามารถบอกได้ แต่ถ้าในอนาคตปรากฏว่า พล.ต.ท. ศานิตย์ เป็นที่ปรึกษาจริง จะต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง

    สรรพากรย้ำ “หมดช่องเอาผิด” หุ้นชินฯ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/riajpi)

    วันที่ 13 มี.ค. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรคงไม่ดำเนินการใดๆ อีกเกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นใน บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพราะเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้ดำเนินการมาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งอายุความของคดีได้สิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555

    ส่วนกรณีที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เสนอให้ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีอายุความ 10 ปีนั้น ในกรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการกำหนดอายุความ จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น จะใช้กฎหมายทั่วไป หรือ จะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้

    ตามประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ระบุไว้ว่า อายุความในกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง มีอายุความ 5 ปี แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบนั้น มีอายุความ 10 ปี แต่สำหรับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ได้ทำการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2550 แล้ว ดังนั้น อายุความในกรณีนี้จึงอยู่ที่ 5 ปี และหมดอายุความไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555

    ทั้งนี้ ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีในคดีหุ้นชินคอร์ปต่อนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซึ่งหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแล้ว กรมสรรพากรในขณะนั้น ที่มีอดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเสนอให้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ในสมัยนั้น และอัยการสูงสุด ลงนามในการไม่อุทธรณ์ในครั้งนั้น

    แหล่งข่าวกล่าวว่า การเสนอให้ขยายอายุการประเมินภาษี ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาการยื่นภาษี การอุทธรณ์ การเสียภาษีนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ในมาตรานี้ การขยายระยะเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษผู้เสียภาษี เช่น กรณี ภาษี มินิแบร์ ที่กรมสรรพากร ได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่ทางบริษัท เนื่องจาก เป็นปัญหาการตีความที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทเอกชน กรมฯจึงได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่บริษัท เพราะหากไม่ขยายระยะเวลาการยื่นแบบ ทางบริษัทจะต้องถูกค่าปรับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท ขณะที่ เนื้อภาษีที่ต้องจ่ายจริงเพียงไม่กี่พันล้านบาท

    ส่วนการที่จะขอใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น คงไม่สามารถใช้มาตรานี้มาดำเนินคดีนี้ได้อีก เนื่องจาก ในช่วงที่คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลภาษีนั้น กรมสรรพากร ได้ใช้มาตรานี้ เพื่อระบุว่า นายพานทองแท้ และพิณทองทา เป็นผู้ที่ลงนามในเอกสารสำคัญ ที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินคือหุ้นชินนั้นแล้ว แต่ศาลภาษี ยกประเด็นเรื่องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่า หุ้นทั้งหมด รวมหุ้นที่เป็นกรณีพิพาททางภาษีนี้ด้วย เป็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงไม่สามารถยื่นฟ้องซ้ำในคดีเดียวกันนี้ได้อีก

    ฝรั่งเศสโดนอีก “บึ้มไอเอ็มเอฟ-ยิงในโรงเรียน”

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/btCzo0)

    วันที่ 16 มี.ค. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า เกิดเหตุยิงในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของเมืองกราส ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยรัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันว่า เกิดเหตุจริง และมีผู้บาดเจ็บ 2 คน แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนนักเรียนทั้งหมดปลอดภัยดี ด้านสื่อท้องถิ่นรายงานว่าชายผู้ก่อเหตุพกพาอาวุธหลายชนิดบุกเข้าไปในโรงเรียนในช่วงเช้า ก่อนจะเปิดฉากยิงใส่อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน และทำให้คนอีก 1 คนได้รับบาดเจ็บ

    ทั้งนี้ ตำรวจสามารถจับคนร้ายได้ในที่เกิดเหตุ 1 คน เป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ วัย 17 ปี ในตัวพบปืนไรเฟิล 1 กระบอก ปืนพก 2 กระบอก และระเบิดมือ 2 ลูก และกำลังตามจับผู้ต้องสงสัยอีกคนที่คาดว่าหลบหนีไป ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมืองกราสให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่าการยิงอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนเกิดจากการทะเลาะกันของนักเรียน ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

    ขณะเดียวกัน สำนักข่าว CNN รายงานว่า มีการส่งระเบิดใส่พัสดุไปยังสำนักงาน IMF ในกรุงปารีส ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน เป็นผู้ช่วยของผู้อำนวยการ IMF ประจำยุโรป มีแผลไหม้ที่มือและหน้า และยังไม่ทราบว่าเชื่อมโยงกับเหตุกราดยิงในโรงเรียนหรือไม่ ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF ประณามว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการก่อความรุนแรงที่ขี้ขลาดมาก และ IMF จะร่วมกับตำรวจฝรั่งเศสสืบสวนคดีนี้อย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานของ IMF จะปลอดภัย