ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 16-22 ก.พ. 2562
ยื่นแล้ว เสรีพิศุทธ์ ฟ้อง กกต. ยุบ พปชร. กรณีส่งประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ
เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า วันที่ 18 ก.พ. 62 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นหนังสือคำร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญทำการไต่สวนยุบพรรคพลังประชารัฐ โดยอ้างอิงจากการเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง กกต. ได้ประกาศเป็นรายชื่อลำดับที่ 30 ของพรรคการเมือง เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีว่า เข้าข่ายกระทำผิด พรป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรสอง
เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปัจจุบัน และในสมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาล มีความผิดฐานเป็นกบฎตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 113 และได้ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ ก่อนแต่งตั้งคณะทำงานตนเองร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ได้ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ จึงทำให้ไม่ต้องติดคุก แต่ในข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดได้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อีกทั้ง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ระบุว่า ชื่อพรรคพลังประชารัฐที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐและนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ ใช้งบประมาณแผ่นดินในการหาเสียง ซึ่งดูได้จากการลงพื้นที่ตรวจราชการตามที่นายกฯ กล่าวอ้าง
และยังพบพฤติการณ์ครอบงำ ชี้นำ ควบคุมกิจกรรมของพรรคการเมือง ที่ทำให้พรรคการเมืองขาดความอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อันผิดเงื่อนไขมาตรา 28 พรป.พรรคการเมือง 2560
จึงขอให้ กกต. มีมติยุบพรรคพลังประชารัฐ โดยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 4-5 วัน ทั้งนี้เพื่อความเป็นกลาง ขอให้ กกต. ดำเนินการตามมาตรฐานพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งหากไม่เป็นดังนั้นแล้ว จะถือว่า กกต. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะขอดำเนินคดีต่อ กกต. ต่อไป
อัยการยื่นฟ้อง “สุริยะใส” ร่วมกบฏกรณีม็อบ กปปส.
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. 2562 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย คดีฟ้องนายสุริยะใส กตะศิลา ร่วมเป็นกบฏ คดีหมายเลขดำ อ.491/2562 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 43 ปี แนวร่วม กปปส. ซึ่งเป็นอดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นจำเลย ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ, ร่วมกันทำให้เกิดความปั่นป่วน เพื่อล่วงละเมิดกฎหมาย, ร่วมกันยุยงให้หยุดงาน, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก, ร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังฯ, เข้าไปซ่อนตัวในเคหสถานที่ในความครอบครองของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 กรณีเมื่อปี 2556-2557 จำเลยร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
โดยอัยการได้ยื่นฟ้อง นายสุริยะใส เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 – 1 พ.ค. 2557 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยกับพวกมีพฤติการณ์สมคบกันเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร มุ่งหมายสมคบร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฯ เพื่อล้มล้างอำนาจระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมูข หรือ กปปส. ที่มี นายสุเทพ ประกาศตัวเป็นเลขาธิการ ซึ่งนายสุเทพ และจำเลยกับพวกแบ่งหน้าที่กันทำ โดยปราศรัยชักชวน ให้มีการเข้าร่วมหรือออกมาขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามแนวทาง กปปส. ที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฯ และทั้งมี-ไม่มีอาวุธ ได้บุกรุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ และมีการใช้กำลังต่อสู้ขัดขวาง ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รัฐที่รักษาความสงบเรียบร้อยในสถานที่ราชการที่ถูกบุกรุก ระหว่างนั้นยังรวบรวมรับสมัครจัดหาชายฉกรรจ์ 500 คน เป็นกองกำลังชื่อนักรบศรีวิชัย, นักรบตะนาวศรี, กลุ่มกระเบนธง เพื่อทำการไล่ล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ และรัฐมนตรีอื่นเพื่อบีบบังคับให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการกระทำของนายสุเทพ และพวกจำเลย ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และไม่ใช่ติชมโดยสุจริต และระหว่างวันที่ 23 ธ.ค. 2556 – 2 ก.พ. 2557 นายสุเทพ, จำเลยกับพวก ยังร่วมกันขัดขวางไม่ให้ประชาชนเข้าไปในหน่วยเลือกตั้ง
ขณะที่วันนี้ ศาลได้เบิกตัว นายสุริยะใส ซึ่งถูกคุมขังตามคำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุด 8 เดือน คดีร่วมอดีตแกนนำ พธม. ยึดทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 ไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาสอบคำให้การ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2562 ศาลฎีกาได้ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้นายสุริยะใสและแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อีก 5 ราย ประกอบด้วย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการโดยทำให้เสียทรัพย์ จากกรณีการนำกลุ่มผู้ชุมนุม พธม. เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในช่วงวันที่ 26 ส.ค. – 3 ธ.ค. 2551 โดยให้จำคุก 8 เดือน ไม่มีการรอลงอาญา
ขาดทุนต่อนเนื่อง โพสต์ทูเดย์ยุติสื่อสิ่งพิมพ์ เลิกจ้างพนักงาน 200 คน มุ่งสู่ดิจิทัล
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 20 ก.พ. 2562 นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารและมีมติว่าจะปิดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ (ฟรีเปเปอร์) ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะปรับให้โพสต์ทูเดย์ไปทำสื่อดิจิทัลเต็มตัว และหลังจากมีมติดังกล่าวแล้ว ได้มีการแจ้งเวียนเพื่อทำความเข้าใจกับพนักงานทั้งหมด ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์เป็นหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจมานาน 17 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งมีประมาณ 200 กว่าคน บริษัทแจ้งว่าจะได้รับการจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังแจ้งต่อพนักงานแล้ว วันเดียวกัน ทางบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ยังได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า “ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจสื่อสารมวลชน กลุ่มบริษัทบางกอกโพสต์ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจและรูปแบบการนำเสนอสื่อเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้อ่านที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับการผลิตสื่อให้มีความกระชับและมุ่งเน้นสื่อดิจิทัลมากขึ้น ภายใต้การปรับเปลี่ยนดังกล่าว บริษัทจะหยุดการพิมพ์ หนังสือพิมพ์ M2F ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แจกฟรี และหยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจภาษาไทย ภายในเดือนมีนาคม โดยโพสต์ทูเดย์จะปรับเปลี่ยนเป็นสื่อดิจิทัลอย่างเต็มตัว
สำหรับ บางกอกโพสต์ ทั้งสื่อรูปแบบหนังสือพิมพ์และดิจิทัล จะยังคงเป็นสื่อหลักของบริษัท
ทั้งนี้ กลุ่มบางกอกโพสต์ ขอยืนยันในความเป็นสื่อมวลชนที่มีจริยธรรม มีความน่าเชื่อถือ และมุ่งมั่นที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ดีที่สุด ถูกต้องเที่ยงตรง ต่อผู้อ่านของเรา”
โปรดเกล้า “กัญชา-กระท่อม” ใช้ทางการแพทย์ได้
เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันที่ 18 ก.พ. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 34 มาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา พืชกระท่อม) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องตามหลักสากล ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
“ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการในคณะควบคุมนาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งเพิ่มขึ้นด้วย เฉพาะในวาระที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5”
สำหรับมาตรา 26/2 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ให้รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
(2) ในกรณีเป็นกัญชง ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดนความเห็นชอบของคณะกรรมการ
(3) ในกรณีเป็นการนำติดตัวเข้ามาในหรือนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จำเป็น สำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
การผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีปริมาณตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไปให้สันนิษฐานว่า เป็นการผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ปรากฏผลการวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก
หลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. 2522 กัญชาและพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเสพหรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และยังกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองด้วย
ดังนั้นเพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ ในการรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางด้านยา
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สิงคโปร์แอร์ไลน์รับมีกล้องจิ๋วหลังเบาะจริง แต่ปิดการทำงานถาวรแล้ว
เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ยืนยันว่าระบบความบันเทิงในเที่ยวบินติดตั้งกล้องไว้จริง แต่ได้ปิดการทำงานอย่างถาวรแล้ว และไม่มีแผนที่จะติดตั้งหรือพัฒนาฟีเจอร์ใดๆ ที่ใช้กล้องอีก
สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ประกาศเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2562 ว่า ได้ปิดการใช้งานกล้องขนาดเล็กที่ติดตั้งบริเวณใต้หน้าจอระบบความบันเทิงหลังเบาะโดยสารบนเครื่องบินรุ่นใหม่ของตนแล้ว หลังมีผู้โดยสารกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและโพสต์ลงทวิตเตอร์จนเกิดกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์
ผู้โดยสารบางส่วนเรียกร้องให้สายการบินแจ้งและขอความยินยอมผู้โดยสารทุกคนโดยเฉพาะพลเมืองสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้ทราบเหตุผลที่ใช้งานกล้องนี้ รวมถึงจะนำข้อมูลไปทำอะไร และจะเก็บข้อมูลนี้นานเพียงใด