ThaiPublica > คอลัมน์ > กระทะนี่ลดราคาเยอะจัง น่าซื้ออะ

กระทะนี่ลดราคาเยอะจัง น่าซื้ออะ

14 มีนาคม 2017


ทพพล น้อยปัญญา

เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นโฆษณากระทะเกาหลียี่ห้อหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการส่งอาหารได้โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน และที่สำคัญ กระทะนี้มีราคา 18,000 บาท แต่ลดราคามาเหลือ 3,900 บาท แถมตะหลิวมูลค่า 900 บาท และถ้าคุณโทรไปซื้อกระทะนี้ภายใน 10 นาทีก็จะแถมให้อีก 1 ใบ

บนเว็บไซต์หนึ่งก็ขายที่ราคานี้เหมือนกัน โดยปิดโฆษณาไว้ว่าลดราคา 78%

ลดราคากันขนาดนี้ หากใครไปซื้อก็เป็นการซื้อที่คุ้มค่าจริงๆ เพราะเมื่อคิดราคารวมของแถมและส่วนลดแล้วก็ตกใบละประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น จากราคาขายเดิมตั้ง 18,000 บาท

ล่าสุดเห็นมีโฆษณาที่นอนอีกอันหนึ่ง เขาบอกว่าราคาปกติ 99,000 บาท แต่เขาขายที่ราคาเหลือเพียง 29,900 บาท คิดแบบคนสอบตกคณิตศาสตร์ เขาลดราคาให้ตั้ง 69,100 บาท น่าซื้อมาเป็นเจ้าของจริงๆ

โฆษณาแบบนี้ดูเหมือนกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะของที่เสนอขายผ่านระบบขายตรงหรือ Direct Selling ลดราคากันทีละมากมาย จูงใจให้ผู้บริโภคอยากซื้อยิ่งนัก

เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2559) ได้เกิดคดีทำนองนี้ขึ้นในสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน เมื่อนาง Ann Cavlovic แห่งรัฐ Kansas ได้ไปเจอเทคนิคการขายแบบนี้ในห้างสรรพสินค้า JCPenney เมื่อเดือนกันยายน 2014 โดยนาง Cavlovic ได้ไปเห็นตุ้มหูทองคู่หนึ่งซึ่งมีป้ายราคาเขียนไว้ว่า ราคาจริง (original price) 524.98 เหรียญ แต่เธอได้จ่ายไป 171.66 เหรียญ เพราะมีการลดราคา 60% จากราคาจริงและยังมีลดพิเศษให้เธออีก 25%

แต่เมื่อเธอกลับบ้านและแกะห่อของออกพบป้ายราคาที่สอดอยู่ในกล่อง (สันนิษฐานว่าพนักงานของห้างคงลืมเอาออก) ว่าตุ้มหูนั้นมีราคาแค่ 225 เหรียญ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เธอควรจะจ่ายแค่ 73.58 เหรียญหลังจากคิดส่วนลดแบบเดียวกัน แต่นี่เธอจ่ายไปเกือบ 2 เท่าของราคาที่ JCPenney อัดฉีดเข้าไปจากราคาขายที่แท้จริง

เธอกล่าวหาว่า JCPenney ใช้แผนการนี้ในปี 2011 โดยการตั้งราคาสินค้าโดยมีส่วนต่างสูงและก็ลดราคาลงมาอย่างมาก แผนการนี้ได้หยุดใช้ไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 เมื่อห้างเปลี่ยนไปใช้ยุทธศาสตร์ราคาใหม่ที่เรียกกันว่า “ยุติธรรม” (“fair and square”) โดย JCPenney เสนอขายสินค้าที่ “ราคาถูกทุกวัน” (“everyday low price”) แต่เมื่อยุทธศาสตร์นี้ใช้ไม่ได้ผล JCPenney ก็กลับมาใช้การโฆษณาราคาแบบลวงอีกในปี 2013

นาง Cavlovic กล่าวว่า “โดยสรุปแล้ว JCPenney ตั้งราคาสินค้าให้สูงเพื่อว่าการลดราคาลงจะได้ดูว่าเป็นราคาที่ดีและจูงใจให้ผู้บริโภคชาว Kansas ซื้อสินค้าที่ตนขายอยู่นั้น”

นาง Cavlovic กล่าวหาว่า นอกจากจะเป็นการกระทำที่ต้องห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมายรัฐ Kansas แล้ว ยังผิดข้อบังคับเรื่องราคาของ Federal Trade Commission ด้วย ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวระบุว่า ถ้า “ราคาแรกที่โฆษณาไม่เป็นราคาจริงแต่เป็นราคาที่กำหนดขึ้นมา-ยกตัวอย่างเช่น ราคาที่ไม่จริงนั้นถูกอัดฉีดเข้าไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเสนอราคาครั้งหลังเป็นการลดลงอย่างมากมาย-ราคาที่ลดลงนั้นที่เอามาโฆษณาถือเป็นราคาที่ผิด ผู้ซื้อไม่ได้รับราคาลดตามอย่างที่คาดหวังไว้”

ดูรายละเอียดของคดีนี้ได้ที่คดี Cavlovic v. J.C. Penney Corp.

คดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ขายในฐานะที่ตั้งราคาหลอกแล้วลดลงมาอย่างมากมาย อย่างเช่น ในคดี Steven Russell v. Kohl’s Department Stores, Incก็เป็นเรื่องทำนองนี้เหมือนกันคือนาย Steven Russell และนาง Donna Caffey ได้ยื่นฟ้องร้องห้างสรรพสินค้า Kohl’s โดยกล่าวหาว่า เขาทั้งสองเป็นผู้ซื้อสินค้าจาก Kohl’s กว่า 10 ครั้งโดยสินค้าแสดงราคา 2 ราคา คือ ราคาที่ขายกับราคาที่สูงกว่าอย่างมากโดยอันหลังแสดงเป็นราคาปกติหรือราคาที่แท้จริง ในคำฟ้องกล่าวหาว่า Kohl’s ทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าตนได้รับส่วนลดอย่างมากมายโดยการแสดงราคา 2 ราคา

ฝ่ายโจทก์ได้กล่าวหาว่า ราคาที่สูงนั้นเป็นราคาปลอม ไม่ใช่ราคาปกติของสินค้าของ Kohl’s และไม่ใช่ราคาที่เป็นอยู่ภายในระยะเวลา 3 เดือนก่อนที่จะมีการโฆษณาอย่างที่กฎหมายรัฐ California กำหนด

คดีนี้ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์และจำเลยสามารถตกลงกันได้เสียก่อนที่ศาลจะตัดสิน โดยจำเลยคือ ห้างสรรพสินค้าตกลงที่จะจ่ายเงิน 6.15 ล้านเหรียญ โดยจ่ายเป็นค่าทนายความ 1 ล้านเหรียญ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอีกไม่เกิน 1.53 ล้านเหรียญ โจทก์ 2 คนได้ 7,500 เหรียญ และอีก 3,597,500 เหรียญจะเอาไปแบ่งจ่ายแก่สมาชิกของกลุ่ม (เพราะคดีนี้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือ Class Action เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็มีกฎหมายแบบนี้) ซึ่งก็คือบุคคลที่เคยซื้อสินค้าจาก Kohl’s ที่ติดราคาไว้ว่าลด 30% จากราคาปกติ โดยสมาชิกของกลุ่มจะได้รับบัตรของขวัญมูลค่า 20 เหรียญ และบัตรของขวัญนี้สามารถโอนไปให้บุคคลอื่นได้และไม่มีวันหมดอายุ

ในปี 2015 ห้าง Michael Kors ก็ยอมจ่ายเงิน 4.9 ล้านเหรียญเป็นการยุติคดีความ เนื่องจากถูกนาง Tressa Gattinella ฟ้อง (เป็นคดีแบบกลุ่มเหมือนกัน) จากการที่เธอไปซื้อกางเกงยีนส์ที่ร้าน Outlet ของ Kors ใน California ในราคา 79.99 เหรียญที่ลดลงมาจากราคาจริงที่ 120 เหรียญ

อย่างไรก็ตาม แม้เธอซื้อสินค้าในราคาลด 33% แต่ในคำฟ้องกล่าวหาว่า Michael Kors ไม่เคยมีเจตนาจะขายกางเกงยีนส์ที่ 120 เหรียญเลย ดังนั้น การให้ราคาสำหรับเปรียบเทียบผิด Michael Kors จึงหลอกลวงให้โจทก์ทำการซื้อสินค้าที่เท่ากับไม่มีการลดราคา [คดี Gattinella v. Michael Kors (USA) Inc. et al.]

ที่เมืองนอก การตั้งราคาไว้สูงแล้วลดราคาลงมามีเป็นคดีความหลายคดี เขาถือว่าการตั้งราคาสูงๆ แล้วลดราคาลงมานั้นเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค พอถูกฟ้อง ห้างก็เลยต้องเสียเงินเป็นล้านเหรียญเพื่อยอมความ

แต่ในเมืองไทย ผู้ขายสินค้าทำกันสนุกสนาน คงไม่เป็นความผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคกระมัง เพราะไม่เห็นมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคออกมาว่าอะไร หรือผู้บริโภคของไทยอาจจะฉลาดกว่าฝรั่ง เลยไม่มีเรื่องเป็นคดีความกัน