ThaiPublica > เกาะกระแส > “วัฒนธรรมอยากเปลี่ยน” เซ็นทรัล รีเทล ปรับโครงสร้างรวมธุรกิจค้าปลีก ระบุ Customer Disruption กำหนดเกมยุคใหม่

“วัฒนธรรมอยากเปลี่ยน” เซ็นทรัล รีเทล ปรับโครงสร้างรวมธุรกิจค้าปลีก ระบุ Customer Disruption กำหนดเกมยุคใหม่

31 กรกฎาคม 2019


นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล

การทำธุรกิจในยุคโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความ ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือ technology disruption แต่สำหรับธุรกิจค้าปลีกแล้ว customer disruption หรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป คือปัจจัยสำคัญหลักที่กำหนดภูมิทัศน์ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าในปัจจุบัน และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก

วันนี้ (31 กรกฎาคม 2562) บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เซ็นทรัล รีเทล) ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการรวมธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล ในประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลี มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานและบริหารของเซ็นทรัล รีเทล เตรียมพร้อมเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในการแถลงข่าว นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล ได้ฉายภาพรวมธุรกิจค้าปลีกว่า “ภูมิทัศน์ธุรกิจค้าปลีกส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อธุรกิจค้าปลีกคือ customer disruption ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผนวกกับโครงสร้างประชากร ที่มีทั้งคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้สูงวัย ที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน”

พฤติกรรมในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคปัจจุบันมีหลากหลาย บางส่วนอาจจะซื้อสินค้าแบบออฟไลน์ บางส่วนซื้อสินค้าออนไลน์ ขณะที่บางส่วนสำรวจสินค้าบนระบบออนไลน์ แต่มาซื้อสินค้าในระบบออฟไลน์ก็มี ผู้บริโภคไม่ได้มองที่สินค้าอีกต่อไป แต่ส่วนหนึ่งตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์มากขึ้น การสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าผ่านช่องทางที่หลากหลาย (omnichannel) จึงมีความสำคัญ

“ปรากฏการณ์ customer disruption เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก แต่บางประเทศอาจจะข้ามผ่านรุ่นไปเลยก็ได้ เช่น เมียนมา ที่มีระบบ 4G หรือ 5G ดังนั้น รูปแบบการการทำธุรกิจในแต่ละประเทศก็จะไม่แตกต่างกัน เพียงแค่ดำเนินการให้สอดคล้องกับจังหวะที่เหมาะสม” นายญนน์กล่าว

นายญนน์กล่าวอีกว่า การทำธุรกิจปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเข้าไปมี physical presence หรือที่ตั้งถาวรในประเทศเป้าหมาย แต่สามารถทำธุรกิจในรูปแบบพันธมิตร ปัจจุบันระบบออนไลน์เชื่อมต่อกันทั่วโลก ดังนั้น physical presence ก็ไม่จำเป็นต้องมีในทุกประเทศที่ต้องการเข้าไป เพราะสามารถเชื่อมกับลูกค้าทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์ได้

นอกจากนี้ การทำธุรกิจค้าปลีกจะคำนึงถึงเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP growth ของประเทศใดประเทศหนึ่งประเทศเดียวไม่ได้อีกต่อไป เพราะโลกมีการเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่ไม่ได้ทำธุรกิจในประเทศไทยประเทศเดียวเนื่องจากลูกค้ามีอยู่ทั่วโลก อีกทั้งต้องมีความสามารถในระดับโลก

“ปัจจุบันนี้เราไม่สามารถมอง GDP ประเทศใดประเทศหนึ่งประเทศเดียวแล้ว ลูกค้ามีอยู่ทั่วโลก เป็น global scale ปีนี้ประเทศไทยอาจจะโต 3.5% เวียดนาม GDP โตมหาศาล ในจีนก็โตน้อยลง อเมริกาก็โต ผมว่าไม่ได้เชื่อมเฉพาะ GDP ของประเทศเดียวอีกต่อไปแล้ว เป็นเรื่องของ global scale เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจเฉพาะในประเทศไทย” นายญนน์กล่าว

วัฒนธรรมอยากเปลี่ยนสร้างค้าปลีกยุคใหม่

นายญนน์กล่าวอีกว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องมีพันธมิตร และการหาพันธมิตรทางธุรกิจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคและทั่วโลก การหาพันธมิตรทั่วโลกก็จะมีเป้าหมายไปที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะทุกอย่างชัดเจน มีความโปร่งใส ซึ่งความโปร่งใสและยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจทุกอย่างในปัจจุบัน

นายญนน์กล่าวว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัลที่ต้องการเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัวเป็นบริษัทมหาชน เพราะมีผลบวกต่อการดึงดูดพันธมิตร เนื่องจากการทำธุรกิจปัจจุบันไม่สามารถทำคนเดียวได้ ที่สำคัญ ดึงดูดพันธมิตรต่างประเทศก็ต้องอยู่ในตลาด และการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีช่องทางในการระดมทุน

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลได้ดำเนินการใน 3 ด้าน คือ ปรับโครงสร้างธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ รวมทั้งการขยายธุรกิจรูปแบบใหม่จากการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเซ็นทรัล รีเทล ในการเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์

“หากโลกไม่เปลี่ยนเร็วขนาดนี้ และ customer disruption ไม่เกิด การปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลจะง่ายกว่านี้” นายญนน์กล่าว

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล ไม่ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้ถูกต้องตามกติกาที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่สิ่งที่ทำ คือ หนึ่ง ปรับโครงสร้างธุรกิจให้ถูกต้อง สอง หาจุดเสริมหรือแก้ไข สร้างธุรกิจให้แข็งแรงและขยายธุรกิจปัจจุบันให้แข็งแรงที่สุด สาม มองโอกาสทางธุรกิจสร้างธุรกิจใหม่เพื่อรับอนาคต เพราะผู้บริโภคเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน

“ผมมั่นใจว่าทั้ง physical platform และ digital platform ของเซ็นทรัล รีเทล ทำให้เกิด customer-centric omnichannel platform ที่สมบูรณ์แบบ และความสำเร็จของกลุ่มเซ็นทรัลในช่วง 72 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องเดียว คือ ความอยากจะเปลี่ยน เราเป็นผู้นำ trendsetter ทุกครั้ง เราไม่ได้ถูกให้เปลี่ยนหรือต้องเปลี่ยน แต่เราอยากเปลี่ยน เรามีวัฒนธรรมอยากเปลี่ยน ความอยากเปลี่ยนนี้ต่างจากถูกให้เปลี่ยน”

นอกจากนี้การที่มีโมเดลการดำเนินธุรกิจครอบคลุม 3 กลุ่มหลัก คือ แฟชั่น ฮาร์ดไลน์ ฟู้ด (multi-category) ในหลากหลายรูปแบบ (multi-format) ทั้งในและต่างประเทศ (multi-market) เป็น diversified portfolio ทำให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวเข้ากับทุกสภาวะได้ และธุรกิจไม่ซบเซา

รากฐานอันแข็งแกร่งของ เซ็นทรัล รีเทล นำไปสู่ความพร้อมในการต่อยอดและยกระดับศักยภาพการแข่งขันและเติบโตครั้งใหม่ ที่เรียกว่า Central Retail Economy อันประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) Business Highlights ความโดดเด่นในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีก 2) Thriving Ecosystem ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงแต่ละโมเดลทางธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันจนนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 3) Clear Positioning to Win กลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

“นี่คือจุดแข็งและกลยุทธ์การเติบโตของเซ็นทรัล รีเทล ที่เราจะมุ่งไปข้างหน้าสู่ New Central New Retail เพื่อการตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกระดับภูมิภาคและก้าวต่อไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกระดับโลก” นายญนน์กล่าว

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล

นำเสนอประสบการณ์ช้อปปิ้ง

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ตลอด 72 ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เริ่มต้นจากปี 1947 ที่ได้ขยายงานจากห้องแถวเดียวที่ถนนเจริญกรุง พัฒนาไปสู่ห้างสรรพสินค้าที่สมบูรณ์แบบที่สุดในภูมิภาค ด้วยการเปิดห้างเซ็นทรัลที่วังบูรพา และในปี 1982 ได้เปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว รวมทั้งได้ขยายสาขาไปทั่วประเทศจนปัจจุบันมีสาขาเกือบทุกจังหวัด

ใน 10 ปีที่ผ่านมาได้ก้าวสู่บริษัทระดับโลก โดยปี 2011 ได้ขยายห้างสรรพสินค้าที่อิตาลี ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง ในปี 2015 ได้เข้าไปในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูง มีประชากรจำนวนมาก ปัจจุบันเป็นธุรกิจค้าปลีกใหญ่อันดับสองของเวียดนามมีสาขาเกือบทั้งประเทศ

“เรามุ่งมั่นในการนำเสนอประสบการณ์ช้อปปิ้งใหม่ๆ ที่สามารถครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค ในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกและเทรนด์เซ็ตเตอร์ โดยเป็นผู้ริเริ่มการทำห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย ไปจนถึงการทำธุรกิจค้าปลีกแบบ multi-format ผ่านการเปิดร้านค้าเฉพาะทางและธุรกิจค้าปลีกหลายรูปแบบ และปัจจุบันได้ต่อยอดจากช่องทางออฟไลน์สู่ omnichannel เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม” นายทศกล่าว

เมืองขยายตัว-กำลังซื้อหนุน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ เซ็นทรัล รีเทล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้เซ็นทรัลรีเทลประสบความสำเร็จมีด้วยกัน 3 ด้าน คือ หนึ่ง เศรษฐกิจมหภาค โดยรวมเติบโตค่อนข้างดี ซึ่งบ่งชี้จากหลายตัวชี้วัด ได้แก่ 1) GDP per capita เพิ่มขึ้นสะท้อนกำลังซื้อขยายตัว และในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเติบโตค่อนข้างดี ขณะที่ความเจริญของเมืองมีอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย จากอัตราส่วน 46% ปีที่ผ่านมาเป็น 53% ในอีก 5 ปีข้างหน้า 2) โครงสร้างประชากร โดยรวมประชากรวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีลงมายังมีสัดส่วนเกือบ 40% ทำให้เศรษฐกิจเติบโต และการอุปโภคบริโภคของไทยก็มีสัดส่วนสูงใน GDP บางครั้งเกินครึ่ง และยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป และ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเข้ามาไทยทั้งหมดมากกว่า 37 ล้านคนแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 52 ล้านคนในปี 2023 อีกทั้งกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต ก็ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของเมืองที่นักท่องเที่ยวจัดไว้ในรายการเมืองที่ต้องการจะเยือน

สอง การบริหารงานจากธุรกิจครอบครัวสู่การขับเคลื่อนร่วมกับทีมผู้บริหารมืออาชีพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งมากด้วยความสามารถและประสบการณ์ในการทำธุรกิจค้าปลีก การมีผู้บริหารมืออาชีพ

สาม การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องของธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงยังห่วงใยและพร้อมเติบโตไปกับทุกสังคมที่เข้าไปดำเนินงาน ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชนพร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัล รีเทล ครอบคลุม 51 จังหวัดทั่วประเทศไทยด้วยเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ รวม 1,979 แห่ง มีห้างสรรพสินค้า 9 แห่งใน 8 เมืองยุทธศาสตร์ของอิตาลี รวมทั้งมีไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายสินค้าเฉพาะทางรวม 125 แห่ง ใน 37 เมืองในเวียดนาม (ข้อมูลจำนวนร้านค้า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) มีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 27 ล้านรายทั่วโลก ในปีที่ผ่านมารายได้รวม (total gross revenue) 240,297 ล้านบาท

ธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล