ThaiPublica > คอลัมน์ > “อาณาจักรแห่งจักรยาน” แพร่ไปทั่วโลก

“อาณาจักรแห่งจักรยาน” แพร่ไปทั่วโลก

26 เมษายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

มนุษย์ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะมานานประมาณ 223 ปี รูปลักษณ์ของจักรยานพัฒนาขึ้นเป็นลำดับอย่างเป็นประโยชน์มหาศาลจนถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ อย่างไรก็ดีชะตาชีวิตของจักรยานขึ้นลงตามความต้องการใช้ของมนุษย์ ในเวลาประมาณ 100 ปีเศษที่ผ่านมา รถยนต์และมอเตอร์ไซค์เข้ามาแทนที่จนทำให้ผู้คนใช้จักรยานน้อยลง การฟื้นตัวของการใช้จักรยานเกิดขึ้นในหลายเมืองในรอบ 30 ปี แต่ก็ไม่ลุกลามเป็นไฟไหม้ป่า จนกระทั่งไม่นานมานี้จักรยานเริ่มมีสัญญาณกลับมาอีกครั้งในระดับโลกเมื่อแนวคิดของการเป็นเจ้าของจักรยานเปลี่ยนไปจากการเป็นเจ้าของส่วนตัวสู่การใช้ร่วมกันดังเกิดขึ้นในประเทศจีน

ทุกคนที่เคยเป็นเด็กมาก่อนคงจำความรู้สึกของการขี่จักรยานครั้งแรกได้ มันเป็นความรู้สึกตื่นเต้น เป็นเสรี สนุกสนาน เพลิดเพลินอย่างไม่อาจจะบรรยายได้ เมื่อโตขึ้นเราก็ขี่กันเป็นครั้งคราวโดยมิได้ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางอย่างจริงจังโดยลืมไปว่ามันเป็นสิ่งที่สร้างภาระให้แก่โลกน้อยมาก ทำให้เรามีร่างกายแข็งแรง ภาคภูมิใจในร่างกายของเรา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ รู้สึกเท่าเทียมกัน โยงใยทั้งกับความเป็นครอบครัว ความพอเพียง และความเป็นมนุษย์ สำคัญที่สุดก็คือมันนำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง

การใช้จักรยานในรูปแบบใหม่ที่กำลังกระจายคล้ายเป็นโรคติดต่อในเมืองต่างๆ ทั่วโลกในขณะนี้ เริ่มต้นมาจากจีนเพียงเมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ขอเท้าความถึงเรื่องจักรยานในจีนเพื่อให้เห็นความเกี่ยวโยงของอดีตกับปัจจุบัน

จักรยานเริ่มต้นในยุโรปแล้วแพร่กระจายไปอเมริกาเหนือและทั่วโลกโดยกลายเป็นพาหนะสำคัญของการเดินทางของประชาชนทั่วไป ควบคู่ไปกับรถม้าและรถยนต์ซึ่งมีการพัฒนาอย่างสำคัญขึ้นใน ค.ศ. 1913 เมื่อบริษัท Ford ผลิตรถรุ่น Model T ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก

ตลอดเวลาที่ผ่านมาจักรยานมิได้หายไปไหน ยังคงอยู่คู่ชาวโลกเพียงแต่ลืมเพื่อนคู่ยากคนนี้ไปบ้าง ในประวัติศาสตร์ของจักรยานมีรุ่นคลาสสิกหนึ่งในโลกซึ่งมีจำนวนการผลิตสะสมถึงปี 2007 จำนวน 500 ล้านคัน ในจำนวนการผลิตสะสมในโลกทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านคัน

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/41/Left_side_of_Flying_Pigeon.jpg/1024px-Left_side_of_Flying_Pigeon.jpg

จักรยานที่กล่าวถึงนี้เป็นของจีนยี่ห้อ “นกพิราบบิน” (Flying Pigeon) ประวัติของโรงงานผลิตก็คือในปี 1936 นักธุรกิจญี่ปุ่นในจีนสร้างโรงงานผลิตจักรยานขึ้นโดยใช้ยี่ห้อ “สมอ” ต่อมาเป็น “ชัยชนะ” และเปลี่ยนเป็น “Zhongzi”

ในปี 1949 หลังจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โรงงานนี้ก็กลายเป็นโรงงานผลิตจักรยานแห่งแรกของจีนยุคใหม่ โดยต้องการให้ผลิตจักรยานที่แข็งแรง มีน้ำหนักเบา และงดงามสำหรับคนจีนทั้งประเทศ คันแรกผลิตออกมาในปี 1950 โดยเลียนแบบจักรยานอังกฤษยี่ห้อ Raleigh ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลประกาศให้เป็นพาหนะเดินทางและขนส่งของชาติ จนในที่สุดจีนในยุคนี้ก็กลายเป็น “อาณาจักรแห่งจักรยาน” มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีหน้าตาของครอบครัว เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” ควบคู่ไปกับอีกสองสิ่ง คือ นาฬิกาข้อมือและจักรเย็บผ้า

ในเมืองใหญ่ของจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะปักกิ่ง เมื่อมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่จักรยานสีเหลืองอยู่ทุกหนแห่ง ส่วนใหญ่ไม่จอดตามแผงจอดจักรยาน หากจอดเรียงกันเต็มไปหมด ทุกคันไม่มีคนใดเป็นเจ้าของเป็นเพราะมันเป็นจักรยานของบริษัทธุรกิจที่นำมาให้ใช้ร่วมกันโดยเก็บค่าเช่าในอัตราที่ถูกมากประมาณ 4.50 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง ผ่านการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ของมือถือ กล่าวคือ จักรยานทุกคันจะมี QR Code ซึ่งผู้เช่าใช้มือถืออ่านและจ่ายเงิน ปั่นไปจากที่หนึ่งก็เอาไปทิ้งไว้อีกที่หนึ่งของจุดหมายปลายทาง เช่น สถานีรถขนส่งมวลชน ตอนขากลับก็ใช้คันใดก็ได้

แนวคิดนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า sharing economy ดังที่เราเห็นจากกรณีของแท็กซี่ UBER (UBER ไม่มีรถแม้แต่คันเดียว แต่ทำธุรกิจโดยเป็นตัวกลางผ่านเทคโนโลยีให้ผู้โดยสารแชร์การใช้รถส่วนตัวในการให้บริการแท็กซี่) Airbnb (Airbnb ไม่มีบ้านสักหนึ่งหลัง แต่ทำธุรกิจเป็นตัวกลางหาที่พักส่วนตัวที่ว่างให้นักท่องเที่ยว) และอีกมากมายในปัจจุบัน

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b0/Mobikes_and_ofos_near_bus_stops.jpg/1024px-Mobikes_and_ofos_near_bus_stops.jpg

จีนมี 2 บริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจให้เช่าจักรยาน คือ Ofo และ Mobike และอีกประมาณ 60 บริษัทที่เล็กลงมา ในช่วง 4 ปีของปรากฏการณ์นี้บริษัททั้งหมดนำจักรยานมาสู่การใช้ในถนนของจีนรวมทั้งสิ้น กว่า 18 ล้านคัน หากสงสัยว่ามากไหมก็ต้องเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก เฉพาะปักกิ่งเมืองเดียวมีผู้ลงทะเบียนใช้บริการนี้เป็นจำนวน 40 เท่าของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน

ปรากฏการณ์การใช้จักรยานร่วมกันนี้กระจายไปทั่วเมืองต่างๆ ของจีนอย่างรวดเร็วที่เมืองเฉิงตู (ประชากรในเมือง 18 ล้านคน เป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวน) มีจำนวนคนใช้จักรยานลักษณะนี้มากกว่าคนใช้รถไฟใต้ดินด้วยซ้ำ เฉพาะของ Ofo มีจำนวนการใช้ 320 ล้านเที่ยวต่อวันจากจักรยาน 10 ล้านคันทั่วโลก เกือบทั้งหมดใช้จักรยานเป็นพาหนะเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟกับที่พักหรือที่ทำงาน

Ofo มิได้อยู่แค่จีนเท่านั้น ความสำเร็จของเขาในเรื่องการจัดการ การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการจ่ายเงิน การติดตามจักรยาน การสร้างจักรยานที่มีประสิทธิภาพและคงทนต่อมือและเท้าของคนใช้ ฯลฯ ทำให้ Ofo กระจายไป 21 ประเทศ 250 เมือง มูลค่าธุรกิจ 2,000 ล้านเหรียญ

ลองดูตัวเลขการใช้จักรยานลักษณะนี้กันบ้าง ปักกิ่งมีจักรยาน 2.4 ล้านคัน มีผู้ลงทะเบียนใช้ 11 ล้านคน (เกือบเท่าครึ่งหนึ่งของประชากรปักกิ่ง) ในขณะที่นิวยอร์กมีจักรยาน 10,000 คัน มีคนใช้ 236,000 คน ปารีสมี 21,000 คัน ลอนดอนมี 16,500 คัน

อีกบริษัทหนึ่งคือ Mobike นั้นเน้นการออกแบบจักรยานแบบใหม่ แทนที่จะใช้โซ่แบบเดิมในการขับเคลื่อนก็ใช้เฟืองทด ติดตั้ง GPS พร้อมกุญแจที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ ยางไร้ลม ล้อลักษณะใหม่ที่สะดวกต่อการดูแล ฯลฯ Mobike มีจักรยาน 9 ล้านคัน ใน 120 เมือง โดยครอบคลุมเมืองต่างๆ ในจีน สิงคโปร์ อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และมากกว่า 12 เมืองในสหรัฐอเมริกา และคาดว่าจะถึง 100 เมือง ก่อนปลายปีนี้

ทั้ง Ofo และ Mobike มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของจีนสนับสนุน อีกทั้งผู้สนับสนุนที่ยิ่งใหญ่สุดคือรัฐบาลจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นนโยบาย sharing economy โดยต้องการให้นวัตกรรมในเรื่อง sharing ของจีนเป็นของขวัญแก่ชาวโลก

ผู้บริหารของ Ofo และ Mobike บอกว่าเขายังไม่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง เพราะเป้าหมายที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จก็คือการใช้จักรยานอย่างกว้างขวางในเมือง มีเงาต้นไม้และอากาศบริสุทธิ์สำหรับคนขี่ ตลอดจนมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการค้า มิได้มีแต่ shopping แต่เพียงอย่างเดียว และโลกต้องการจักรยานที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

มีสองข้อสังเกตจากปรากฏการณ์นี้ มนุษย์นั้นมีทั้งดีและไม่ดี มีกลุ่มอาสาสมัครออกไปซ่อมจักรยานที่เสียและทิ้งไว้ข้างถนนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้อย่างน่าชื่นใจ ในขณะเดียวกัน ในด้านไม่ดีมีจักรยานจำนวนไม่น้อยที่จอดอยู่หน้าที่พัก มีกุญแจล็อกอย่างดีเพราะได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นจักรยานส่วนตัวไปแล้ว

sharing economy มีพื้นฐานอยู่ที่การร่วมกันประหยัดทรัพยากรโดยใช้สิ่งที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรไปแล้วให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และมีจิตใจที่มีความพอเพียงเป็นฐาน ถ้ามนุษย์ขาดความตระหนักและขาดสภาพจิตใจที่เหมาะสมดังกล่าวแล้ว โลกจะประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงในระยะยาวอย่างมิต้องสงสัย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 24 เม.ย. 2561