ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลรายสำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 21 เมษายน 2558 เป็นต้นมา ไทยต้องเผชิญปัญหาใหญ่จากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ “ใบเหลือง” ไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไทยขาดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) ที่สอดคล้องกับสากล โดยยังคงมีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายทำประมง การขาดการควบคุมจำนวนเรือประมง จนส่งผลต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิด Over Fishing (การทำประมงเกินขนาด) และปัญหาการใช้แรงงานทาส ที่เป็นผลพวงมาจากการที่ไทยถูกลดอันดับไปอยู่ใน Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (US’s Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2557(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยคาดการณ์ไว้ว่า ไทยอาจต้องสูญเสียรายได้สูงสุดถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หากถูกระงับการนำเข้าอาหารทะเลจาก EU อย่างไรก็ตาม ไทยได้ถูกต่ออายุใบเหลืองมาแล้ว 1 ครั้ง และจะมีการประเมินสถานะอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2560 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ความเห็นว่า ผลการประเมินจะเป็นไปในทิศทางที่ดี และด้าน พล.ร.ต. วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ระบุว่า EU รับทราบความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของไทยอย่างดี มั่นใจว่าจะไม่ถูกปรับใบแดงอย่างแน่นอน และมีโอกาสที่จะหลุดจากใบเหลือง
สัญญาณบวกจากการปรับขึ้น Tier 2
ปัจจัยบวกอีกประการที่หนุนความมั่นใจว่าไทยมีลุ้นหลุดใบเหลือง มาจากการปรับอันดับ TIP Report ของสหรัฐฯ มาอยู่ Tier 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา สำหรับการแก้ปัญหาด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องกับประมง IUU กระทรวงแรงงานตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัดชายฝั่งทะเล 22 แห่งในจังหวัดติดทะเล เพื่อจัดระเบียบแรงงานและเรือประมง การคุ้มครองแรงงาน การตรวจ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี รวมถึงการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล มีการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล
รวมทั้งการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของ EU ในการเปิดรับจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ทำงานบนเรือประมงหรือในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง โดยไม่มีการส่งกลับประเทศต้นทางและมีมาตรการคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ให้แรงงานภาคการประมงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ โดยไม่จำกัดจำนวนนายจ้างและจังหวัดที่ทำงานได้ ขยายเวลาการอยู่ในประเทศไทยให้กับเหยื่อและพยานค้ามนุษย์ จัดทำแผนและตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำอย่างน้อย 10% ของโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และโรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกอย่างน้อย 50 โรงงาน
กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดจนเรือล้นทะเล
แต่หากย้อนกลับไปดูการแก้ไขปัญหาประมง IUU ในระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมา เคยได้รับการท้วงติงว่าเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด และเมื่อตรวจดูข้อมูลการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมเจ้าท่าในการควบคุมจำนวนเรือประมง การแก้ไขปัญหาประมง IUU ของไทยก็ต้องปรับตัวอยู่หลายระลอก
โดยก่อนที่ไทยจะได้รับใบเหลืองนั้น ในปี 2552 EU ได้ส่งสัญญาณเตือนไทยรอบแรก และสิ่งที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองว่าเป็นปัญหาในขณะนั้นคือ ปัญหาเรือไม่มีใบอนุญาต ซึ่งทางกรมประมงได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลการขึ้นทะเบียนเรืออย่างกรมเจ้าท่าให้ช่วยเร่งจดทะเบียนเรือ ทำให้ภายในระยะเวลา 5 ปี มีเรือประมงจดทะเบียนเพิ่มกว่า 25,000 ลำ โดยในปี 2555 มียอดการออกใบอนุญาตเรือประมงสูงสุดกว่า 10,000 ลำ ขณะที่ขีดความสามารถที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่และอัตราการเพิ่มขึ้นของเรือประมงที่ควรจะเป็นอยู่ที่ประมาณ 2,500 ลำต่อปีเท่านั้น
แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่าเปิดเผยว่า การเร่งจดทะเบียนเรือนำไปสู่ปัญหาของการตรวจเรือบนโต๊ะ คือการให้เจ้าของทำการวัดขนาดเรือตนเอง แล้วเขียนรายละเอียดมายื่นแก่เจ้าหน้าที่ตรวจเรือ รวมไปถึงการรับสินบน
“เจ้าหน้าที่ตรวจเรือของกรมมีเพียง 30 คนทั่วประเทศ จากสาขาที่มีประมาณ 40 สาขา เป็นปัญหาเรื่องการขาดกำลังคนคล้ายกับกรณีของปัญหาการบินพลเรือน ซึ่งการขอเพิ่มอัตรากำลังคนนั้นเป็นไปได้ยาก หน่วยงานที่ตั้งมานานจะได้รับการจัดสรรเพิ่มจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ปีละไม่เกิน 1-2 คนเท่านั้น และข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ตรวจเรือเป็นวิชาชีพเฉพาะ รับสมัครจากผู้ที่จบเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรม เท่านั้น ทำให้มีผู้สมัครจำนวนน้อย เจ้าหน้าที่ตรวจเรือจึงมีไม่เพียงพอ ซึ่งในยามปกติจะมีการขอยืมกำลังคนจากประมงจังหวัดใกล้เคียง” แหล่งข่าวกล่าว
และเมื่อไทยได้รับใบเหลืองอย่างเป็นทางการ รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 (คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558) ในการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยในข้อที่ 7 ของคำสั่งดังกล่าวได้ระบุให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือไทยที่จดทะเบียนแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เรือ หรือใบอนุญาตสิ้นอายุไปกว่า 3 ปี
“ใบเหลือง” กับทางใหม่ “ลดจำนวนเรือประมง”
ในเดือนพฤษภาคม 2558 ผลการประชุมของ ศปมผ. ได้กำหนดให้กรมเจ้าท่าทำการตรวจสอบจำนวนเรือประมงในระบบทั้งหมด ซึ่งในการตรวจครั้งแรกพบว่ามีเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าอยู่กว่า 49,860 ลำ ปัญหาที่ทุกฝ่ายลงความเห็นในขณะนี้คือ Over Fishing ดังนั้น เพื่อลดจำนวนเรือประมง จำเป็นจะต้องเอาเรือที่ขาดการต่ออายุออกจากระบบเป็นอันดับแรก ซึ่งมีเรือที่ขาดการต่ออายุต้องถอนใบอนุญาตทั้งสิ้น 7,809 ลำ
จากกรณีดังกล่าวทำให้ภาครัฐขยายเวลาให้แก่เรือประมงที่ตกสำรวจมาทำการขึ้นทะเบียนภายในเดือนสิงหาคม 2558 พร้อมปรับการแก้ไขปัญหาอีกครั้งโดยใช้มาตรา 44 (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558) เพิ่มมาตรการงดจดทะเบียนเรือไทยสำหรับทำการประมง หรือเรืออื่นตามที่ ศปมผ. ประกาศกำหนด และห้ามเปลี่ยนประเภทเรือเข้ามาเป็นเรือประมง
“หักดิบ” การแก้ปัญหาที่สร้างปัญหา
อย่างไรก็ตามได้มีการสำรวจสำมะโนทะเบียนเรือใหม่อีกครั้งโดย ศปมผ. ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2558 พบเรือประมงตามที่ขึ้นทะเบียน 11,700 ลำ ส่วนอีก 8,024 ลำไม่พบ ซึ่งเรือจำนวนนี้กรมเจ้าท่าได้รับคำสั่งว่าต้องถอนใบอนุญาตทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยอาศัยมาตรา 44 (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 42/2558)
แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่าระบุว่า “ในเวลานั้นทหารเรือที่ทำหน้าที่สำรวจเรือประมงยังขาดความเข้าใจธรรมชาติของชาวประมงว่าเขามีระยะเวลาออกเรือ บ้าง 15 วัน บ้างออกเรือเช้าตกเย็นจึงกลับ ทำให้การเข้าไปตรวจภายในวันเดียวไม่พบเรือประมงของชาวบ้าน มีจำนวนมากที่ตกสำรวจ จนเกิดเรื่องร้องเรียนตามข่าว และต่อมาหลังการถอนใบอนุญาตรอบที่ 2 ชาวประมงได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”
มาตรการแก้ปัญหาแบบหักดิบของรัฐบาลมุ่งลดจำนวนเรือประมงในระบบ แต่กระทบกับชาวประมงจำนวนมาก เมื่อเรื่องร้องเรียนถูกส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี จึงออกมาตรการเยียวยาอีกครั้งด้วยการเปิดให้ชาวประมงที่ถูกถอนใบอนุญาตสามารถยื่นอุทธรณ์เพื่อทำการตรวจสอบใหม่ในระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2559
มีผู้มายื่นอุทธรณ์จำนวน 2,293 ราย ซึ่ง ศปมผ. เห็นว่า หากเป็นกรณีที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ให้คืนสิทธิ์ให้แก่เรือประมงจำนวนดังกล่าวทันที กรมประมง กรมเจ้าท่า ร่วมกับ ศปมผ. ตรวจสอบอีกครั้งพบว่า เรือประมงที่ถูกถอดใบอนุญาตจำนวน 157 ลำ เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ จึงคืนสิทธิ์ให้ทั้งหมด คงเหลือเรือประมงที่เข้าแจ้งอุทธรณ์แต่ยังไม่ได้รับการคืนสิทธื์ แบ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 1,622 ลำ เรือประมงพาณิชย์ 514 ลำ
“เป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรกับเรือจำนวนดังกล่าว จึงมีการนำเรื่องเข้าปรึกษากับผู้ตรวจจาก EU ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าเรือประมงพื้นบ้านสามารถคืนสิทธิ์ให้ได้ เพราะเห็นว่าเป็นการจับสัตว์น้ำเพื่อประทังชีวิต แต่สำหรับเรือประมงพาณิชย์จำนวน 514 ลำ ไม่สามารถคืนให้ได้เด็ดขาด เนื่องจากปัจจุบันตรวจสอบแล้ว การทำประมงในเมืองไทยมีเรือประมงที่เกินศักยภาพและต้องนำออกจากระบบอยู่อีกประมาณ 700 ลำ” แหล่งข่าวกล่าว
มาตรา 44 ครั้งที่ 4 กับมาตรการตรึงพังงา


ช่วงที่ผ่านมา จำนวนเรือประมงลดลงเรื่อยๆ จากยอดเรือประมงที่เคยแตะ 50,000 ลำ ปัจจุบันเหลือ 38,704 ลำ เป็นเรือประมงพาณิชย์ 12,092 ลำ (ขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป) นอกนั้นเป็นเรือประมงพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม การทำประมงนอกจากการจดทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าเรือดังกล่าวยังต้องมีอาชญาบัตรจากกรมประมงร่วมด้วย ซึ่งในจำนวนเรือประมงพาณิชย์ทั้งหมดพบว่ามี 10,991 ลำที่มีอาชญาบัตรและจดทะเบียนถูกต้องจากกรมเจ้าที่ อีก 1,101 ลำไม่มีอาชญาบัตรหรือใบอนุญาต (นับรวมเรือประมงพาณิชย์ 514 ลำที่เป็นปัญหาข้างต้นด้วย)
เรือจำนวนดังกล่าวกลายเป็นความกังวลของรัฐบาลไทยและ EU จึงเห็นพ้องกันว่าต้องควบคุมเรือจำนวนดังกล่าว โดยให้มาแจ้งจุดจอด และให้เจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่าทำการตรึงพังงาเรือพร้อมทำเครื่องหมายบนเรือประมง หากนำเรือออกทำการประมงเจ้าหน้าที่สามารถเข้าจับกุมได้ทันที เป็นการใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาอีกครั้ง (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2559)
รัฐบาลควัก 1,400 ล้านเยียวยาผู้รับผลกระทบ
สำหรับเรือประมงที่ต้องออกจากระบบจะได้รับการเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการให้แบงก์รัฐออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ที่มีเรือประมงผิดกฎหมาย วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 500 ล้านบาท และขยายวัตถุประสงค์ให้รวมไปถึงชาวประมงที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ รวมไปถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเครื่องมือประมงบางอย่าง เช่น อวนรุน และการซื้อเรือคืนจากชาวประมงที่สมัครใจเปลี่ยนอาชีพ โดยนำไปจมทำปะการังเทียมต่อไป ซึ่งใช้งบประมาณรวม 1,459.10 ล้านบาท
นอกจากนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาประมง IUU ในความรับผิดชอบของกรมประมง ในช่วงที่ผ่านมานอกจากการควบคุมจำนวนเรือประมงที่ต้องทำงานร่วมกับกรมเจ้าท่าแล้ว กรมประมงที่เป็นหน่วยงานหลักดูแลผู้ประกอบการเกี่ยวกับประมงทั้งประเทศต้องจัดทำแผนประมงแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสากล ควบคุมเครื่องมือประมง กำหนดช่วงเวลาทำประมง สำรวจจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อแก้ปัญหา Over Fishing ในระยะยาว ตามข้อเสนอแนะของ EU ไปจนถึงการทำ MOU ร่วมมือกับประเทศต่างๆ

ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบ ทั้งการการออกใบอนุญาตทำการประมงใหม่ การพัฒนา ระบบ VMS (Vessel Monitoring System) และเพิ่มตำแหน่งผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer Onboard) ออกทำหน้าที่สังเกตการณ์บนเรือประมงนอกน่านน้ำ จัดทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเล (FMP) โดยแบ่งเขตพื้นที่ทำการประมงให้ระหว่างเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบความถูกต้องของการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate: CC) และ ใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Processing Statement: PS) กับทุกโรงงานที่ยื่นขอทุกครั้งที่เรือบรรทุกสินค้าออกจากท่า โดยเรือดังกล่าวต้องได้รับการรับรองในบัญชีรายชื่อของ EU
มีการการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบการบริหารจัดการประมง เร่งรัดการออกกฎหมายฉบับรองภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง 2558 กฎหมาย ลำดับรองทั้งสิ้น 91 ฉบับ ออกกฎหมายแล้ว 87 ฉบับ ซึ่งกำหนดอัตราโทษเพิ่มขึ้นจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง 2558 ที่ถูกยกเลิกไป ด้วยเหตุผลที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวยังขาดมาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน
แม้จะต้องคลำทางและเผชิญปัญหามาพักใหญ่ การปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานาน การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การเร่งดำเนินการโดยไม่พิจารณาอัตรากำลังคน จนส่งผลกระทบในภายหลัง เป็นเรื่องที่อาจต้องค่อยๆ คลายปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหา Over Fishing อันเป็นเป้าหมายหลัก จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่านับจากนี้อีก 2 ปี กรมเจ้าท่าจะไม่เปิดขึ้นทะเบียนเรือประมงเพิ่ม และหากพ้นจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ศปมผ. ที่ถูกตั้งขึ้นอาจต้องถูกยุบลง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมประมง ยังคงต้องสะสางปัญหานี้ต่อไป