ThaiPublica > เกาะกระแส > ลุ้นปลด “ใบเหลือง” IUU เมษายนนี้ – ชาวประมงยอม “คุมเครื่องมือประมง-ปิดอ่าวฯ” เพิ่ม หวังพบปลาทูมากขึ้น

ลุ้นปลด “ใบเหลือง” IUU เมษายนนี้ – ชาวประมงยอม “คุมเครื่องมือประมง-ปิดอ่าวฯ” เพิ่ม หวังพบปลาทูมากขึ้น

22 มกราคม 2018


มาตรการของสหภาพยุโรปในการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมง IUU

จากปัญหาที่ประเทศไทยต้องถูกลดอันดับจากสากลในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ปี 2558 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้านการบิน การค้ามนุษย์ รวมไปถึงปัญหาการทำประมง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปีที่ไทยประสบภาวะวิกฤติด้านความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไทยต้องแก้ไข และการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลตลอด 4 ปีก็ปลดล็อกปัญหาทั้งเรื่องการบินและทุเลาปัญหาการค้ามนุษย์ไปได้บ้างแล้ว เหลือเพียงปัญหาการทำประมง ที่ไทยถูก “ใบเหลือง” จากทางสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยเหตุที่ประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมืออย่างเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU)

จากการแก้ปัญหาประมงไอยูยูที่ผ่านมาจนวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ต่างยืนยันว่าการแก้ปัญหาประมงไทยคืบหน้าไปมาก ทั้งในด้านการกำหนดกรอบกฎหมาย การสร้างระบบการบริหารจัดการประมงใหม่ ก็เพื่อการรักษาทรัพยากรทางทะเล และการทำประมงอย่างยั่งยืน และในปัจจุบัน เรือประมงนอกน่านน้ำสัญชาติจำนวน 50 ลำสามารถออกทำการประมงในเขตมหาสมุทรอินเดียได้แล้ว หลังจากไทยได้เข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่ตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement: SIOFA)

นายอดิศรเปิดเผยว่า ในการเดินทางเพื่อหารือเรื่องประมงไอยูยู ระหว่างคณะเจ้าหน้าที่ไทยกับทางอียู เมื่อวันที่ 9-12 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายมีการได้พิจารณาข้อมูลด้านเทคนิค โดยเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับทางจากการที่เจ้าหน้าที่อียูเดินทางมาตรวจสอบครั้งที่ผ่านมายังมีจุดบอดที่ไทยต้องแก้ไข แต่การดำเนินงานที่ผ่านมานั้นมีความคืบหน้า ซึ่งในการเดินทางมาของทางอียูในเดือนเมษายน 2561 หากทางอียูเห็นว่าไทยมีความพร้อมก็อาจมีการตรวจประเมินไทยเพื่อปลดใบเหลืองได้

“จุดบอดของเรายังมีในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเอกสาร ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน 1) คือปลาที่นำเข้ามา หรือปลาที่จับได้จากต่างประเทศ เวลาตรวจจะยืนยันได้อย่างไรว่าปลาเหล่านี้ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย เพราะข้อมูลที่มาจากแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน หากมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ Catch Certificate ของเขาก็จะเชื่อถือได้มากหน่อย หากมีข้อมูลอื่นเราก็ต้องมีกระบวนการที่จะพิจารณา อีกส่วนหนึ่งคือปลาที่จับภายในประเทศ ตอนนี้เพิ่งเริ่มเดินระบบ เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวประมง ยังต้องให้ระยะเวลาเรียนรู้และแก้จุดอ่อนไป แต่ตอนนี้คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 60 แล้ว ซึ่งทั้งสองกรณีรวมๆ แล้วก็เป็นเรื่องของเอกสารที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน” นายอดิศรกล่าว

ประมง-เจ้าท่า ปรับรอบออกใบอนุญาตฯ พร้อมกัน-บูรณาการตรวจเรือร่วม ศปมผ.

(ซ้าย-ขวา) นายสุรินทร์ นิธิวัฒนาประสิทธิ์ ประธานสหกรณ์การประมง พญาปัตตานี จ.ปัตตานี, นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า, นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ร่วมกับ และ พล.ร.ท. วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ร่วมกับ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า และ พล.ร.ท. วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการออกใบอนุญาตการทำประมงพาณิชย์และการต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือ รอบปีการประมง 2561-2562 ณ กรมประมง

ครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายและออกระเบียบเพิ่มเติมใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การแก้กฎระเบียบให้อายุใบอนุญาตทำการประมงและใบอนุญาตใช้เรือมีอายุสิ้นสุดพร้อมกัน 2) ให้ชาวประมงสามารถยืนคำขอทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกันได้ที่สำนักงานประมงอำเภอพื้นที่ติดทะเล สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสถานที่อื่นที่กรมประมงประกาศกำหนด และ 3) การขอใบอนุญาตการทำประมงพาณิชย์ในครั้งนี้จะต้องมีการตรวจเรือประมงที่จะขอรับใบอุญาตก่อนการพิจารณาออกใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์

นายอดิศรกล่าวว่า ใบอนุญาตการทำประมงของเรือประมงพาณิชย์รอบปีการประมง 2559-2560 (1 เมษายน 2559 – 31 มีนาคม 2560) ใกล้จะสิ้นสุด เพื่อความต่อเนื่องของการทำประมง กรมประมงได้เปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ ในระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ หากขึ้นรอบปีการประมงใหม่ คือ 1 เมษายน 2561 เรือประมงลำใดออกทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษรุนแรงทั้งทางอาญาและมาตรการทางปกครอง ตามพระราชกำหนดการประมง 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลังจากผู้ประกอบการได้ยื่นเอกสารคำขอใบอนุญาตทำการประมงและอนุญาตใช้เรือรอบปีการประมงใหม่เรียบร้อยแล้ว ทางภาครัฐจะเริ่มบูรณาการการดำเนินการตรวจยืนยันเรือประมง ระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอตรวจเรือประมงได้ที่สำนักงานประมงอำเภอที่มีอาณาเขตติดทะเลทุกแห่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ PIPO หรือคณะทำงานตรวจเรือ 3 ฝ่าย เข้าตรวจเรือในพื้นที่จังหวัดที่เรือทำการประมงอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้ประกอบการแจ้งขึ้นคำขอไว้ในตอนแรก โดยแบ่งเรือเป็น 2 กลุ่มดังนี้

เรือประมง จ.สมุทรสาคร

  • กลุ่มที่ 1 เรือที่ได้รับใบอนุญาทำการประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเกิน 30 ตันกรอส ทุกเครื่องมือ เรือประมงต่ำกว่า 30 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องมืออวนลากทุกชนิด อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง (เรือขาว-ส้ม) แจ้งขอรับการตรวจได้ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO)
  • กลุ่มที่ 2 เรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่มีขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ที่ไม่ต้องแจ้งการเข้า-ออก หรือเรือประมงที่มีขนาดแรงม้า 280 แรงม้าขึ้นไป รวมถึงเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่เครื่องมือการทำประมงมีศักยภาพสูง 7 ชนิด ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกล หรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) จะต้องทำอัตลักษณ์เรือและวัดขนาดเรือใหม่ จะถูกตรวจโดยคณะทำงานตรวจเรือของ ศปมผ. หรือการตรวจเรือ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า และ ศปมผ.

หลังจากที่กรมประมงและกรมเจ้าท่าได้พิจารณาออกใบอนุญาตทำการประมงและต่อใบอนุญาตใช้เรือเรียบร้อยแล้ว ทางกรมฯ จะแจ้งให้ผู้ประกอบการมาชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากรได้ที่สำนักงานประมงอำเภอที่ยื่นเรื่อง ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

“เพื่อลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการเรือประมง กรมประมงดำเนินการจัดเก็บเงินค่าอากรประมงแต่เฉพาะเครื่องมือที่มีการใช้ทำการประมงจริงเท่านั้น ในส่วนของเครื่องมือประมงสำรองที่ผู้ประกอบการนำไปตรวจพร้อมเรือประมงจะไม่มีการจัดเก็บเงินค่าอากร ซึ่งทั้ง 2 วิธีการจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้ประกอบการได้ หากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เล็ก ก็มีการประสานกับทางสมาคมประมงในท้องที่ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” นายอดิศรกล่าว

ด้าน พล.ร.ท. วรรณพล กล่าวว่า เรือที่ต้องผ่านศูนย์ PIPO สามารถรับตรวจได้เลย ณ ศูนย์ PIPO ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมเป็นต้นไป สำหรับเรือที่ไม่ได้ผ่านศูนย์ PIPO คณะตรวจเรือจะเริ่มทำการตรวจเรือตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งชาวประมงสามารถแจ้งขอรับบัตรคิวไว้ได้ก่อนตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมเป็นต้นไป โดยได้มีการจัดตั้งทีมบูรณาการ 3 ฝ่ายไว้ทั้งหมด 40 ทีม โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 25 ลำต่อวันต่อทีม และยืนยันว่าเป้าหมายจำนวนเรือและทีมตรวจมีจำนวนเพียงพอ เนื่องจากในส่วนของเรือขาว-ส้มนั้น คาดว่าจะไม่เข้ามาขอใบอนุญาตเพิ่มมากเพราะเป็นเรือใหญ่ที่ใช้เครื่องมือศักยภาพสูง การจะลดมาเป็นเครื่องมือศักยภาพต่ำอาจไม่คุ้ม และทางภาครัฐได้มีนโยบายการรับซื้อเรือเหล่านี้คืนอยู่แล้ว

อนึ่ง ในปัจจุบันมีเรือประมงที่มีใบอนุญาตประมาณ 10,000 ลำ เรือขาวส้มมีประมาณ 600-700 ลำ เรือที่มีขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ซึ่งเป็นเรือที่ไม่ได้แจ้งเข้าออกผ่านศูนย์ PIPO และไม่ได้ใช้เครื่องมือประมง 7 ประเภท มีไม่เกิน 5000 ลำ เรือประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือ 7 ประเภทมีอยู่ 798 ลำ

นายจิรุตม์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ยากในการตรวจเรือครั้งนี้คือ เรือเล็กขนาดเล็กตามแม่น้ำลำคลอง รวมถึงเรือประมงเล็กที่ยังไม่มีการเปลี่ยนเครื่องมือ กรณีดังกล่าวต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์จากทางสมาคมประมง และจากหลายฝ่ายให้ชาวประมงนำเรือมาตรวจสอบยังที่หมายและปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้ถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับการตรวจเร็วขึ้นและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะพยายามเข้าไปให้ใกล้ชาวประมงที่สุด สำหรับการตรวจอัตลักษณ์เรือในครั้งนี้จะเป็นการเข้าไปทำอัตลักษณ์ของเรือประมงพื้นบ้าน ควบคู่ไปกับการตรวจสอบอัตลักษณ์เรือที่เคยทำไว้แล้วว่ามีการปลอมเข้ามาหรือไม่ การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้ต่อไปเรือที่เกี่ยวข้องกับกรมประมงทั้งหมดก็จะมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ถูกต้อง ตรวจสอบได้

ชาวประมงยอม “คุมเครื่องมือประมง-ปิดอ่าวฯ” เพิ่ม – มีหวังพบปลาทูมากขึ้น

จากการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตการทำประมงพาณิชย์และการต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือ รอบปีการประมง 2561-2562 ในครั้งนี้จะมีเรือประมงส่วนหนึ่งเข้ามาในระบบเพิ่ม ส่งผลถึงข้อกังวลเรื่องการกำหนดวันทำประมงว่าจะมีการลดจำนวนวันลงหรือไม่ ซึ่งนายอดิศรยืนยันว่า สำหรับเรือประมงที่ถูกกำหนดโควตาจำนวนวันการทำประมงไว้จะคงจำนวนวันให้เท่าเดิมไปก่อน ซึ่งเรือที่เข้ามาใหม่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรือที่มีศักยภาพสูง เป็นเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก จึงคาดว่าจะมีจำนวนวันเหลือเพียงพอที่จะจัดสรรให้กับเรือที่มีการควบคุมวันทำประมงไว้ และจากการควบคุมที่ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะมีปลาพอที่จะกำหนดจำนวนวันเพิ่มให้กับชาวประมงได้บ้าง แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้มากหรือน้อยเพียงใด

“ช่วงที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนการควบคุมวัน มีเรือบางลำถูกลดวัน บางลำเท่าเดิม และในภายหลังได้ทำการควบรวมทำให้หลายลำได้วันเพิ่ม เนื่องจากมีการลดเรือออก และควบรวมใบอนุญาต วันนี้จำนวนวันของเรือที่ถูกควบคุมแต่ละลำไม่เหมือนกันแล้ว การพิจารณาโควตาวันจึงต้องพิจารณาเป็นลำๆ นอกจากการควบคุมวันกรมประมงยังมีมาตรการการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูทรัพยากร ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมามีการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก. ไป 2 ครั้ง แต่ยังคงมีช่องว่าด้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี ในครั้งนี้จึงจะทำการปิดในส่วนนี้เพิ่ม รวมเป็น 3 พื้นที่ ไล่เรียงไปตามการอพยพของปลาทูเป็นหลัก ได้แก่ 1) อ่าวไทยตอนกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี) 2) อ่าวไทยรูปตัว ก. ด้านตะวันตก (ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี) และ 3) อ่าวไทยรูปตัว ก. ตอนบน (สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี)” นายอดิศรกล่าว

นอกจากนี้ นายมงคลเปิดผยว่า จากปัญหาการทำประมงที่ผ่านมา ปัจจุบันชาวประมงตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืนในการดูแลทรัพยากร และจากการพูดคุยกับกรมประมงหลายครั้งได้ข้อสรุปว่า ชาวประมงยอมให้กรมประมงทำการกำหนดเครื่องมือประมงควบคุมเพิ่มเติม ซึ่งแม้มาตรการเข้มงวดของรัฐที่ผ่านมาจะทำให้ชาวประมงประสบปัญหา แต่ก็มีเรื่องที่น่ายินดีคือ ชาวประมงสามารถจับปลาทูโตเต็มวัยได้หลายตัน หลังจากที่ไม่พบปลาทูจำนวนมากเช่นนี้มาหลายสิบปี