ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เบื้องหลังอันดับ Doing Business พุ่ง “กรมบังคับคดี” ชูเกมรุกพบเวิลด์แบงก์ – “รู้เขารู้เรา แก้ปมจุดอ่อน” ดัน “แก้ปัญหาล้มละลายประเทศ”สู่อันดับ 4 เอเชีย

เบื้องหลังอันดับ Doing Business พุ่ง “กรมบังคับคดี” ชูเกมรุกพบเวิลด์แบงก์ – “รู้เขารู้เรา แก้ปมจุดอ่อน” ดัน “แก้ปัญหาล้มละลายประเทศ”สู่อันดับ 4 เอเชีย

1 ธันวาคม 2016


การประกาศอันดับ “ความยากง่ายในการทำธุรกิจ” ของประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก รายงานว่าคะแนนของประเทศไทยที่เริ่มลดลง 2 ปีติดต่อกันจาก 75.99 คะแนนในปี 2556 เป็น 72.2 และ 71.65 คะแนนในปี 2557 และปี 2558 ก่อนจะพลิกฟื้นเป็น 72.53 คะแนนในปี 2559

ดัชนีชี้วัดเหล่านี้สะท้อนการบริหารจัดการประเทศว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน และ”อันดับ” เป็นตัวชี้ว่าจะจูงใจผู้ลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด

ในแต่ละปีการแข่งขันในเรื่อง “อันดับ” จะดีขึ้นหรือลดลง ไม่ใช่แค่เพียงว่าเราทำได้ดีที่สุดแล้ว แต่หากประเทศอื่นทำได้ดีที่สุดกว่า อันดับของเราก็ตกได้เช่นกัน ดังนั้นอันดับจะดีขึ้นหรือถอยลงก็เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละตัวชี้วัด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2559 “การแก้ไขปัญหาล้มละลาย” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่ช่วยผลักดันทั้งคะแนนและอันดับของประเทศไทยขึ้นมาในรอบ 2 ปี โดยตัวชี้วัดดังกล่าวมีอันดับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 26 อันดับ จากอันดับ 49 เป็นอันดับ 23 ของโลก และขึ้นสู่อันดับ 4 ของเอเชีย เป็นรองเพียงญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยมีคะแนนจาก 58.84 เป็น 77.08 คะแนน เพิ่มขึ้น 18.24 คะแนน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

เบื้องหลังอันดับที่ดีขึ้นมาจากการแก้ไขปัญหาล้มละลาย ที่รับผิดชอบโดยกรมบังคับคดี หน่วยงานต้นสังกัด ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่าเป้าหมายหลักนอกจากจะช่วยให้ประเทศมีอันดับตัวชี้วัดที่ดีเพื่อดึงดูดนักลงทุนของโลกแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

นางสาวรื่นวดีเล่าว่าโรดแมปของการจัดทำรายงาน Doing Business ของทุกปีจะเริ่มประกาศรายงานของปีที่ผ่านมาในเดือนตุลาคมของทุกปี หลังจากนั้นจะเริ่มส่งแบบสอบถามของปีถัดไปให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี และปิดรับข้อมูลทั้งหมด ณ วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี ก่อนจะจัดทำรายงานของปีถัดไป ดังนั้น ถ้าต้องการได้คะแนนที่ดีขึ้น ข้อมูลต่างๆที่เป็นตัวชี้วัดต้องแล้วเสร็จใน 1 มิถุนายนของทุกปี โดยต้องมีผลบังคับเรียบร้อยในทางปฏิบัติด้วย

เริ่มงานเชิงรุก “ตั้งคณะทำงาน-เยือนธนาคารโลก-คุยเอกชน”

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่าหลังมารับตำแหน่งในปี 2557 ได้ผ่านช่วงปิดรับข้อมูลธนาคารโลกแล้ว ตนจึงเริ่มต้นทำงานสำหรับรายงานของปี 2558 โดยเริ่มจัดระบบใหม่ว่าต้องทำอย่างไรให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น

สิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างแรกคือ ตั้งคณะทำงานขึ้นดูแลมา 2 คณะ เนื่องจากกรมฯ รับผิดชอบอยู่ 2 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดที่ 9 เรื่องการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งทำงานร่วมกับศาลยุติธรรม เนื่องจากถูกวัดผลตั้งแต่ประชาชนฟ้องร้องทางแพ่งกับศาลจนถึงการบังคับคดีและได้เงินกลับคืนไป และตัวชี้วัดที่ 10 เรื่องการแก้ไขปัญหาล้มละลาย กรมบังคับคดีรับผิดชอบโดยตรง

สิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ 2 คือ ความเข้าใจคำถามและการประเมินผลของธนาคารโลก ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า เราเคยพูดคุยกับธนาคารโลกหรือไม่ เพราะในการออกแบบสอบถาม คนคิดแบบสอบถามอาจจะเข้าใจว่าผู้ตอบ อ่านแล้วเข้าใจหรือไม่ แต่ผู้ตอบอ่านแล้วอาจจะเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง จึงควรพูดคุยทำความเข้าใจกับธนาคารโลกให้ตรงกันก่อน

“เรื่องนี้ได้แนวคิดจากการไปร่วมประชุมในส่วนการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง เป็นกรอบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ธนาคารโลกตั้งให้เกาหลีใต้เป็นแชมป์เปี้ยน ติวเข้มประเทศอื่นๆ กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ เราก็ถามเขาตรงๆ ว่านอกเหนือจากต้องทำกฎหมาย ทำกระบวนการของประเทศให้ดีแล้ว อะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ เขาตั้งตำถามเลยว่าคุณเคยไปเดินสายโรดโชว์พูดคุยกับธนาคารโลกหรือไม่ แต่เกาหลีใต้บอกว่ามันไม่ใช่ไปประชาสัมพันธ์ประเทศนะ แต่ไปชี้แจงธนาคารโลก เขาบอกว่าคุณจะปล่อยให้คนที่อยู่ ดี.ซี. ห่างกันเป็น 10,000 ไมล์ มาอ่านกฎหมายของคุณโดยไม่ต้องมีคนอธิบายหรืออย่างไร เขาตั้งคำถามมา เราก็ได้แนวคิดนี้มาเรียนท่านรัฐมนตรีฯ ต้องเรียนว่างานนี้ท่านรัฐมนตรีเป็นหลักสำคัญมากที่ผลักดัน”

จากนั้นทางกรมบังคับคดีได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และธนาคารโลก ซึ่งให้คำตอบว่าสามารถพูดคุยได้ แต่ในปีนั้นไม่ได้จัดสรรงบประมาณไว้ กรมบังคับคดีขอประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ โดยธนาคารโลกให้ใช้สำนักงานประจำประเทศไทยติดต่อไปยังสำนักงานที่ ดี.ซี.

“พอเราติดต่อไป ธนาคารโลกก็ตกใจว่ามาแบบเชิงรุกมาก ไม่เห็นมีใครมาตั้งคำถามแบบนี้ จำได้เลยว่าตอนต้นปี 2558 มีพายุหิมะเข้าที่วอชิงตัน ดี.ซี. ประชุมไม่ได้ เลื่อนไปเลื่อนมาจนสุดท้ายก็ได้คุยได้ตั้งคำถามกัน เพราะบางคำถามเราอาจจะไม่เข้าใจว่าคืออะไร ต้องคุยกับผู้ออกแบบสอบถาม ตอนคุยแรกๆ ถามเขาว่ามันผิดมารยาทหรือไม่ที่จะถาม เขาบอกว่าโอเคเลย แล้วเขาก็ชื่นชมและยินดีที่ถูกถามแบบนี้ เพราะเขามีหน้าที่ให้ความเข้าใจในส่วนนี้ เราตั้งคำถามก่อน แล้วเราดูว่าปีที่ผ่านมาเราตอบไปอย่างไร ซึ่งตัวคำถามเราแก้ไขอะไรไม่ได้ ที่ทำได้อย่างเดียวคือเข้าใจคำถามให้ถ่องแท้และมีหลักฐานชี้ให้เห็น

ขณะที่รัฐบาลโดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ขึ้นมาและนั่งเป็นประธานคณะฯ ให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นคนดูภาพรวม ด้านกฎหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูแล และมอบหมายให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามงานรายวัน ประเด็นเรื่องนี้เลยมีน้ำหนักขึ้นในปี 2558

สิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ 3 คือ การพูดคุยกับเอกชน เนื่องจากรายงานของธนาคารโลกให้น้ำหนักการประเมินจากผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนทั่วไปหรือภาคเอกชน ว่าในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปอย่างที่ออกแบบกฎหมายหรือไม่ หรือทำได้จริงหรือไม่ ผ่านการตอบแบบสอบถามของเอกชน ซึ่งธนาคารโลกเป็นผู้เลือกคนตอบคำถามเอง โดยจะให้ความสำคัญ 4 เรื่อง สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และมีกติกาเป็นสากล

โดยในส่วนของการประเมินปี 2558 หลังจากพูดคุยและวิเคราะห์แล้วพบว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กฎหมายล้มละลายของไทยต้องแก้ไขหลายเรื่อง กรมบังคับคดีจึงทำเรื่องแก้ไขกฎหมายฉบับที่ 8 แต่ไม่ทันการประเมินของธนาคารโลกในปี 2558 เนื่องจากมีผลบังคับใช้เดือนสิงหาคม 2558 หลังจากธนาคารโลกปิดรับข้อมูลไปแล้ว ในปี 2558 กรมบังคับคดีปรับการทำงานในลักษณะที่เรียกว่าเป็นเชิงรุกแบบใหม่ เข้าใจคำถามมากขึ้น และเสนอกฎหมายแก้ไขปรับปรุงกระบวนการต่างๆ

“ในส่วนนี้โชคดีที่ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นั่งเป็นประธานประชุมกับเอกชนด้วยตนเอง มาพูดคุยเพื่อให้เอกชนที่ตอบแบบสอบถามรู้ความสำคัญของการตอบคำถามว่าเป็นผลกระทบของประเทศอย่างไร ชี้ให้เห็นว่าการตอบของเอกชนมีผลกับประเทศเพียงใด ท่านก็เรียนว่าผมจะพูดให้เอกชนทราบความเชื่อมโยงเหล่านี้เอง”

แจงหลายเรื่องธนาคารโลกยังเข้าใจผิด

thaipublica-รื่นวดี1

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่าการเตรียมตัวในปี 2559 กรมฯ ได้งบประมาณ 1.2 ล้านบาท เพื่อนำคนไป 4 คน เพื่อไปประชุมทางเทคนิคทั้ง 2 ตัวชี้วัดกับธนาคารโลกและประเทศที่ได้คะแนนสูงๆ ได้แก่ สิงคโปร์และญี่ปุ่น

“ได้เรียนรัฐมนตรีฯ ตามแนวคิดของเกาหลีใต้ที่ต้องโรดโชว์กับธนาคารโลก ถือว่าเป็นจุด breakthrough ของเรื่อง ธนาคารโลกถึงแปลกใจมาก สิ่งที่ได้คือเขามั่นใจมากขึ้นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย จากการเป็นผู้ทำงานเชิงรับเป็นเชิงรุกแบบนี้ เราไปถึง ดี.ซี. เพราะ 8-9 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครไปหาเขาเลย กรมบังคับคดีเป็นกรมแรกที่ไป เราเชิญ ก.พ.ร. ไปด้วยในฐานะเลขาธิการที่ดูภาพรวมของเรื่องนี้ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือเอาจริงแน่ ส่งคนมาขนาดนี้ ก่อนไป เตรียมคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เอกชน ศาล ซึ่งทางศาลไม่ได้เดินทางไปด้วย ก็ฝากคำอธิบายไปยื่นแทน เราเตรียมหลักฐานไปเป็นเล่มเป็นชิ้นเลย”

นางสาวรื่นวดีกล่าวต่อว่า การประชุมเชิงเทคนิคครั้งนี้มิใช่ให้ธนาคารโลกอธิบายอีกแล้ว แต่เป็นฝ่ายไทยที่ไปชี้แจงประเด็นที่ธนาคารโลกยังเข้าใจไทยผิดในหลายประเด็น ตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาล้มละลาย ธนาคารโลกใช้กรณีศึกษาเป็นธุรกิจโรงแรมที่มีมูลหนี้ 16 ล้านบาทถูกฟ้องล้มละลาย และตั้งคำถามว่าจะมีกระบวนการต่างๆ อย่างไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามพบว่าธนาคารโลกได้ให้บริษัทกฎหมายขนาดใหญ่เป็นคนตอบ และได้ชี้แจงว่าตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายฟื้นฟูกิจการมา การฟื้นฟูกิจการมีมูลหนี้ตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาทขึ้นไปเกือบทั้งหมด และทนายความที่ธนาคารโลกไปถามทั้งหมดต่างรับผิดชอบคดีระดับนี้ ดังนั้น เมื่อถามว่าค่าธรรมเนียมของคดีคือเท่าไหร่ ทนายความเหล่านี้จะตอบขั้นต่ำของบริษัทตนเอง ซึ่งอาจจะแพงกว่าความเป็นจริงของมูลหนี้ในกรณีศึกษา คำถามคือ หากคำตอบไม่ตรงกับกรณีศึกษาแล้วนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายของประเทศ มันยุติธรรมถูกต้องหรือไม่

“กลายเป็นว่าช่องคำถามของธนาคารโลกไม่มีความยืดหยุ่น ไม่มีคำถามว่าเคยรับงาน 16 ล้านบาทหรือไม่ พูดง่ายๆ คือถามผิดคน เหมือนทำแบบสำรวจ ต้องมีว่ากลุ่มเป้าหมายกับคำถามสอดคล้องกันหรือไม่ด้วย แต่ธนาคารโลกก็อาจจะไม่ทราบอีกว่ามีประเด็นแบบนี้ แล้วจะให้ตอบกันแบบนี้ต่อไปหรือไม่ ทำให้ค่าใช้จ่ายของประเทศสูงขึ้นโดยไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย”นางสาวรื่นวดีกล่าว

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายคดีล้มละลายของกรมบังคดี กฎหมายระบุว่าไม่ต้องจ่าย ทำงานให้ฟรี แล้วทำไมมีเขียนว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับเงิน เราถามธนาคารโลกกลับไปเลยว่าใครเป็นคนตอบคำถามนี้ จะได้ไปดูว่ามีการให้ซองหรือไม่ แบบนี้มันคอร์รัปชันแล้ว เมื่อกฎหมายไม่ให้เก็บ ทำไมปีที่ผ่านมาช่องค่าใช้จ่ายถึงมีค่าใช้จ่ายด้วย ใครมาตอบแบบนี้ ขอชื่อได้หรือไม่จะได้ไปหาว่ามาให้กับลูกน้องคนไหน เขาก็รับเรื่องนี้ไป หลังชี้แจงไป ปีนี้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ลดลงไปแล้ว

ส่วนในเรื่องของการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง แบบสอบถามของธนาคารโลกเป็นลักษณะกรณีศึกษาว่าถ้ามีกรณีฟ้องร้องกันแล้วมีการขายสังหาริมทรัพย์ มีทุนทรัพย์ฟ้องร้อง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350,000 บาท เปลี่ยนไปตามอัตราแลกเปลี่ยน ต้องฟ้องศาลประเภทไหน กฎหมายไทยบอกว่าศาลแขวงมีฐานทุนทรัพย์ที่ระดับ 300,000 บาท ถ้ามากกว่านี้ต้องฟ้องที่ศาลจังหวัด ธนาคารโลกกลับมองว่าศาลจังหวัดกลไกยากกว่า แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลจากศาลชี้แจงมาว่าในศาลจังหวัดของไทยยังมีหน่วยงานของคดีเล็กๆ อยู่ ตรงนี้ธนาคารโลกบอกว่าอยากเห็นคำว่าศาลแขวงมากกว่า

หรือถ้ามีข้อพิพาทประมาณ 350,000 บาท เป็นสังหาริมทรัพย์ จะต้องใช้ระยะเวลาบังคับคดีเท่าไหร่ กรมบังคับคดีชี้แจงว่า ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันมีน้อยมากในระบบ ปัจจุบันแทบไม่มีการขายสังหาริมทรัพย์แล้ว และใช้เวลาเพียง 85 วัน มีเอกสารยืนยัน แต่ปี 2559 รายงานยังระบุว่า 120 วัน

“หรือเรื่องค่าใช้จ่ายของการบังคับคดีระบุว่าคิดเป็น 3% ของทรัพย์ แต่ในกฎหมายไทยระบุว่าเวลาขายทรัพย์แล้ว โจทย์หรือเจ้าหนี้จะไปหักเอาจากลูกหนี้ได้ ดังนั้น ตรงนี้ต้องเป็น 0% แต่ปี 2559 ธนาคารโลกก็ยังให้เป็น 3% อยู่ แสดงว่ายังมีเอกชนตอบแบบนี้อยู่และธนาคารโลกรับฟังเอกชนมากกว่า กรมฯคงต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น”

เสนอเพิ่มคนตอบคำถาม-ชี้แจงสูตร-เชิญมาไทย

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

นางสาวนรื่นวดีกล่าวต่อว่าทางกรมบังคับคดีเสนอไปที่ธนาคารโลกหลายประเด็น เช่น ขอเสนอกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมให้พิจารณาได้หรือไม่ แต่ธนาคารโลกยังเลือกเอง แต่ธนาคารโลกตกลงให้เสนอไปอย่างละ 5 ชื่อ เป็นทนายความบริษัทเล็กๆ ที่สอดคล้อง, เสนอให้ถามผู้แทนธนาคารพาณิชย์ด้วย และสำคัญที่สุดคือหลักฐานข้อมูลที่ต้องเปิดเผยให้ค้นหาเจออย่างสะดวก ในบางเรื่องแค่หาเจอก็ได้คะแนนแล้ว กรมบังคับคดีจึงทำไอคอนในเว็บไซต์ใหม่ที่มีข้อมูลตามที่เราชี้แจง เพื่อให้ง่ายในการค้นหา

“เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกเดินทางมาไทย เดือนเมษายน ปี 2559 ซึ่งโชคดีที่มาหลังจากตอบคำถามไปแล้ว พอกลับไปจึงสามารถไปดูได้ว่าที่ตอบไปถูกต้องแค่ไหน ดังนั้นคะแนนการแก้ไขล้มละลายดีขึ้น คิดว่าธนาคารโลกน่าจะยอมรับข้อเสนอไป”

อีกเรื่อง คือ ความชัดเจนของการวัดผลที่ต้องรู้ลึกถึงสูตรการคำนวณที่กรมบังคับคดีได้สอบถามไปทั้งหมด ตัวอย่างเช่น อัตราชำระหนี้คืนเจ้าหนี้หรือ recovery rate ที่เพิ่มขึ้นจาก 42.5% คือทุก 100 บาท เก็บรวบรวมได้ 42.5 บาทมาคืนเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นมา 8-9 ปี ไม่เคยปรับดีขึ้นเลย มาปีนี้ 67.7% เพราะเราไปถามมาว่าสูตรที่ใช้คิดมีอะไรบ้าง ก่อนหน้านี้รู้หรือไม่ ไม่รู้ตอนไปก็ถามเข้าไป อะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง เราถึงได้รู้ว่าคำนวณมาจากปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายของการบังคับคดี เรื่องระยะเวลา เรื่องอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม (Lending Rate) แบบนี้เราถึงจะจัดการได้ ถ้าไม่รู้แล้วจะไปเริ่มที่ไหน”

ต้องทำงานเชิงรุก วิ่งให้เร็วกว่าคนอื่น

นางสาวรื่นวดีกล่าวสรุปว่า “ถามว่าก่อนหน้านี้เรามองเห็นได้แบบนี้หรือไม่ ไม่กล้าตอบ แต่ตอนนี้เรามองได้ทะลุแบบนี้แล้ว แล้วในข้อ 9-10 เราทราบแล้วว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าทั้งปีที่ผ่านมา น้องๆ ที่นี่อาจจะไม่ได้คาดหวังว่าจะถูกเราถามอะไรแบบนี้ เราก็ใช้เวลาเตรียมตัวของเรา ซึ่งเป็นธรรมชาติที่จะต้องลงทุนกับเวลากับคน จะมา quick win กดปุ่ม 3 เดือนได้อย่างไร เราต้องลงทุนทั้งคนทั้งเวลาและความเข้าใจของสาธารณชน

“คำหนึ่งที่ชอบมากจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดไว้ คือ แค่วิ่งให้อยู่กับที่ก็ยากแล้ว ดังนั้น ทั้งหมดไม่ใช่แข่งกัน ตัวเราเองด้วย บางเรื่องที่เราลดลงไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไร แต่ประเทศอื่นเขาทำเขาวิ่งไปข้างหน้า คนที่ทำได้ดีขึ้นคือวิ่งได้เร็วกว่าคนอื่นที่วิ่งมาเหมือนกัน ปีที่แล้ว 189 ประเทศ ปีนี้ 190 ประเทศ ทุกคนอยากมาร่วมกับธนาคารโลก เพราะว่าสิ่งนี้คือตัวชี้วัดเรียกความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนระหว่างประเทศ เวลาเขาจะไปลงทุนที่ไหนก็มาดูที่นี่ แล้วรายงานนี้ยังเป็นวัตถุดิบไปวัดความสามารถการแข่งขันของที่อื่น เช่น IMD ด้วย ดังนั้น ปีนี้ธนาคารโลกจัดอันดับไทยดีขึ้น การประกาศรอบต่อไปของ IMD ก็จะดีขึ้นด้วย”