ThaiPublica > เกาะกระแส > “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. แจงนโยบายเคลื่อนตลาดทุนยุคดิจิทัล ยกระดับคุ้มครองผู้ลงทุน หนุน SME เข้าถึงตลาดทุน

“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. แจงนโยบายเคลื่อนตลาดทุนยุคดิจิทัล ยกระดับคุ้มครองผู้ลงทุน หนุน SME เข้าถึงตลาดทุน

10 มิถุนายน 2019


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

วันนี้ (10 มิถุนายน 2562) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แถลงข่าวนโยบายในการขับเคลื่อนตลาดทุน โดยกล่าวว่า การทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต. มีวาระ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ไปจนหมดวาระวันที่ 30 เมษายน 2566

“การคัดเลือกบุคคลเข้าทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้มีการประกาศผลตั้งแต่ต้นปี ทำให้คิดแผนงานไว้ล่วงหน้า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จึงทำงานได้ทันที”

แจงหลักการทำงาน 6 ข้อ

นางสางรื่นวดีกล่าวว่า หลักการทำงานของตัวเอง ข้อแรกยึดตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การทำงานของ ก.ล.ต.ต้องยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งงานของ ก.ล.ต.โดยหลักอยู่ในด้านเศรษฐกิจก็จะเข้าข่ายยุทธศาสตร์ชาติข้อ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่ครอบคลุมการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน การสร้างโอกาสเข้าถึงตลาด

หลักการทำงานข้อสองแผนพัฒนาตลาดทุน เป็นทิศทางที่ ก.ล.ต.เดินมาแล้วครึ่งทาง ทั้งในด้านการเข้าถึง (acessibility) การเชื่อมโยง (connectivity) ความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) และความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งสิ่งที่จะทำคือ ขับเคลื่อนสิ่งที่อยู่ในบริบทของ ก.ล.ต. และที่ล่าช้าก็ต้องทำให้เกิดขึ้น แต่แผนนี้ครอบคลุมหน่วยงานทั้งหมดในตลาดทุน รวมไปถึงสมาคมองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย

หลักการทำงานข้อสาม ซึ่งเป็นหลักที่สำคัญมากเพราะอยู่ในช่วงการเชื่อมต่อ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯฉบับที่ 6 ซึ่งมีผลบังคับไปในวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก ที่จะต้องทำให้กรอบเวลาที่ระบุไว้ในกฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นรูปธรรม

“พ.ร.บ.หลักทรัพย์เปลี่ยนหลักการสำคัญ 6 เรื่อง สิ่งหนึ่งที่พูดถึงไว้คือ การกำกับตลาดในมุมมอง การสรรหากรรมการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการ ก.ล.ต. 6 ท่าน อีก 4 ท่านเป็นเรื่องที่สมาชิกตลาดเลือกกันเอง แต่เรื่องต่างๆ เหล่านี้มีวันเวลากำหนดไว้ หน้าที่ของเลขาธิการคนนี้คือทำให้สิ่งที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติได้อย่างจริงจัง” นางสาวรื่นวดีกล่าว

หลักการทำงานข้อที่สี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันอย่างกว้างขวาง คือระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ก.ล.ต.เป็นองค์กรที่มีต้นทุนสูง มองไปข้างหน้าหลายปี แต่ต้องทำให้ตัวเองพร้อมรองรับกับเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึง stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนต้องพร้อมด้วย ประชาชนต้องพร้อม เป็นหน้าที่สำคัญที่ ก.ล.ต.ต้องสร้างการตระหนักรู้ เสริมสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน

“วันนี้โจทย์ใหญ่ของ ก.ล.ต.คือ capital market for all ตลาดทุนของทุกคน ต้องมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ซึ่งได้รายงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.และชี้แจงต่อทีมงาน ก.ล.ต.ทุกคนว่าจะขอใช้ประสบการณ์ 15 ปีในวงราชการทำให้การทำงานมีประสิทธิมากขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น”

การทำงานภายใต้หลักการนี้เรื่องที่หนึ่ง คือ การคุ้นชินกับพื้นที่ของประเทศไทยทั้งหมด เพื่อมาเสริมการทำงาน โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินและการเข้าถึงตลาดไม่เพียง กทม. เราพูดถึงศักยภาพผู้ออมผู้ลงทุนทั่วประเทศในต่างจังหวัด สังคมสูงวัย ตลาดทุนต้องรองรับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป และให้ครบถ้วน”

“เรื่องที่สอง การบังคับใช้กฎหมายในบริบทกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทางแพ่ง ก็จะแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง ส่วนเรื่องที่สามซึ่งเป็นจุดแข็งของตัวเอง คือ บูรณาการ การทำงานแบบบูรณาการ เข็มทิศของ ก.ล.ต.ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมเป็นต้นไป ความสำเร็จต้องมาจากการทำงานร่วมกัน บูรณาการก็ต้องครอบคลุมส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นอิสระ stakeholder ทั้งหมดและสำคัญที่สุดพี่น้องประชาชน ดังนั้นจะขอใช้ประสบการณ์ตลอด 15 ปีในชีวิตราชการมาเสริมเพิ่มเติม การทำงานของผู้บริหารที่ ก.ล.ต.นี้และชวนคิดให้มองโจทย์ให้กว้างขึ้น และในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมภารกิจที่เป็นพื้นฐานของ ก.ล.ต.”นางสาวรื่นวดีกล่าว

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสทำงานกับ ก.ล.ต.เป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ปี 2535 จนถึง 2547 ได้รับการปลูกฝังแนวคิดที่สำคัญในการทำงาน คือ การทำงานที่โปร่งใสและการทำงานที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียว จึงสนับสนุนให้คน ก.ล.ต.ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และประสานงานกับต่างประเทศมากขึ้น

หลักการทำงานข้อที่ห้าพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งป็นโจทย์ใหญ่ที่องค์การสหประชาชาติริเริ่มผลักดัน มุ่งเน้นไปที่สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล จึงได้ได้เปลี่ยนชื่อฝ่ายงานจาก CG (Corporate Governance) เป็น ESG (Environment, Social, Governance) พร้อมเพิ่มการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย

หลักการทำงานข้อที่หก จะสานต่องานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง 2 เรื่อง คือ one stop กับ one report โดยจะกำหนดกรอบเวลาให้อย่างชัดเจน ซึ่ง one stop จะเริ่มในวันที่ 24 กันยายน 2562 การติดต่อจุดเดียวที่ให้คำตอบหมด และเป็นคำตอบที่รับผิดชอบ มี log book มีการบันทึกข้อมูล ความรวดเร็วต้องมาพร้อมกับคุณภาพ

“สำหรับ one report เป็นหน้าที่ ก.ล.ต.โดยตรง ปัจจุบันมีรายงานหลายฉบับจึงปรับปรุงให้เป็นรายงานฉบับเดียว ที่สามารถส่งผ่านช่องทางดิจิทัลได้ โดยเริ่มแรกให้เป็นระบบสมัครใจแต่หลังจากปี 2563 จะบังคับใช้ แต่จะลดภาระที่จะเกิดขึ้นเอกชนให้มากที่สุด แต่ขณะที่เดียวต้องให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครอง ยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนให้มาก” นางสาวรื่นวดีกล่าวและว่า เป้าหมายของหลักการทำงานข้อสุดท้ายคือสานงานต่อเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว

ยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า โดยส่วนตัวมีกรอบการทำงานที่ยึดมาตลอดเวลา แต่ปรับให้มีความสอดคล้องกับองค์กร ได้แก่ ข้อแรก 4 ร คือ รุก เร็ว รอบคอบ ร่วมมือ โดยรุก คือ การทำงานเชิงรุก เพราะระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หากไม่ทำงานเชิงรุก ก็จะตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ตลาดทุนมาพร้อมกับ speed

ส่วน ร ที่สอง เร็ว การทำงานรวดเร็ว รองรับการเปลี่ยนแปลง stakeholder ทุกกลุ่ม ส่วน ร ที่สาม คือ รอบคอบ เป็นการทำงานที่มีคุณภาพ และ ร สุดท้ายคือ ร่วมมือ การทำงานทำคนเดียวไม่ได้

ข้อสอง พัฒนาควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุน อำนวยความสะดวก ส่งเสริมการพัฒนาเพราะมีโจทย์ใหญ่การพัฒนาตลาดทุนให้แข่งกับตลาดทุนสากลได้ ซึ่งในด้านนี้ครอบคลุม 1) การเข้าถึงตลาดทุน ที่การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อให้ SME เข้าถึงตลาดทุน

จากการศึกษาหลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนพบว่าใช้เกณฑ์เดียวกับทุกบริษัท ขณะที่ SME ช่วงหลักได้มีการจัดทำบัญชีและเข้าสู่ระบบภาษีแล้ว ซึ่งจะมีโอกาสเข้าถึงตลาดทุน ดั้งนั้นจะปรับปรุงเกณฑ์การเสนอขายหุ้น IPO ให้สอดรับกับ SME เพราะหาก SME ไม่สามารถผ่านเกณฑ์ IPO ได้ การเข้าถึงตลาดรองก็ไม่ชัดเจนนัก ซึ่ง ก.ล.ต.ได้มีการพบปะกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นที่กำกับดูแล SME เพื่อร่วมหาแนวทาง โดยจะมีการลงนามในบันทึกการทำงานร่วมกันในเดือนหน้า

“การทำงานด้านการเข้าถึงตลาดทุนในปีนี้ คือการผ่อนเกณฑ์ ปรับปรุงเกณฑ์ IPO ให้รองกับ SME ให้ได้ แต่ทั้งหมดต้องลงพื้นที่พบผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบธุรกิจด้วย และมีตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาร่วม เพราะมีหลายแพลตฟอร์มที่รองรับการซื้อขายธุรกิจขนาดเล็กรวมทั้งมี crowd funding” นางสาวรื่นวดีกล่าว

2) การยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน การพัฒนาไปข้างหน้าก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง และมีการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย ดังนั้นจะยกระดับความคุ้มครองผู้ลงทุน จากประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายต้องการที่จะเห็นตัวแทนผู้ลงทุนดำเนินการด้านคดีที่เกี่ยวข้อง เพราะไทยมีกฎหมายเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ class action ที่เริ่มต้นจากการดำเนินคดีด้านตลาดทุน ดังนั้นจะประสานกับสมาคมดูแลผู้ลงทุน ในต่างประเทศมีตัวแทนผู้บริโภคเข้ามาทำหน้าที่ สมาคมผู้ลงทุนมีโครงสร้าง จะน่าจะทำหน้าที่ด้านนี้ได้

“จากความเคยชินกับการทำงานด้านกฎหมาย จึงได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงตลอด 24 ชั่วโมงตลอดสัปดาห์ ที่หมายเลข 1207 ในระยะต่อไปจะเชื่อมโยงกับการร้องเรียนที่ดำเนินการผ่านทำเนียบรัฐบาลด้วย เนื่องจากปัจจุบันสินทรัพย์การลงทุนในหลายรูปแบบ รวมไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัล และจากข้อมูลที่ได้รับจากการร้องเรียน พบว่ามีการร้องเรียนเรื่องการลงทุนในเหรียญต่างๆ จึงต้องการให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกัยบการลงทุน และยังได้เสนอแนวคิดการทำงานร่วมกันให้กับสภาทนายความ” นางสาวรื่นวดีกล่าว

นอกจากนี้ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน หรือ Investor Protection Fund เพราะต้องการเห็นมาตรการเยียวยาที่รองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ

สร้างเครือข่ายขยายภารกิจต่างจังหวัด

3) การขยายภารกิจให้ครอบคลุมในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้ให้ความเห็นชอบโครงการ คาราวาน ก.ล.ต.ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาดทุนของ SME ที่มีสัดส่วน 40% ของจีดีพี และรู้ว่ามีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการใช้สินเชื่อ และควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องการลงทุนแก่ประชาชน เพื่อให้มีการลงทุนที่เหมาะสมและไม่ถูกหลอก โดยจะขอความร่วมมือกันเครือข่ายพันธมิตรในต่างจังหวัดตั้งแต่ระดับจังหวัดไปถึงสมาคมต่างๆ

4) การพัฒนานวัตกรรม เป็นการลดขั้นตอนการทำงาน มีการปรับปรุงแบบฟอร์ม เพราะโจทย์ตรงนี้คือโจทย์ความสามารถแข่งขันในการทำธุรกิจ การลดแบบฟอร์มเป็นการอำนวยความสะดวก นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้ธุรกิจมีความสะดวก ลดภาระ ประชาชนมีความมั่นใจ ซึ่งจะทำต่อเนื่อง เพราะความสะดวก

5) การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ตั้งศูนย์ความสามารถในการแข่งขันตลาดทุน มีการวิเคราะห์ด้วย SWOT ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกรอบการประเมินทั้ง IMD และธนาคารโลก การเชื่อมโยง stakeholder ทั้งหมด มีผู้เชี่ยวชาญ มีผู้แทนจากสภาพัฒนา TDRI ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากต่างประเทศมาร่วมด้วย เพื่อการแข่งขันได้

6) การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ big data ต้องนำข้อมูลตลาดทุนไปเชื่อมโยงกับข้อมูลของประเทศ big data ช่วยได้หลายเรื่องทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นข้อมูลด้านการเงินส่วนหนึ่งของประเทศ

7) การเสริมสร้างการทำงานด้านต่างประเทศ ไทยได้รับการชื่นชมว่าเป็นผู้นำในตลาดทุนที่ผ่านมา ซึ่งการทำงานในข้อนี้คณะกรรมการได้อนุมัติให้ส่งใบขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IOSCO ในอีก 3 ปีข้างหน้าซึ่งตรงกับครบรอบ 30 ปี ก.ล.ต. เป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงถึงศักยภาพของตลาดทุนไทยอย่างแท้จริง

ในปีหน้าไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IOSCO ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับไทย มีประเด็นปัญหาที่ใกล้เคียงกันมาก เช่น มีการกระทำที่มีความเสี่ยงแต่ถูกหมาย นอกจากนี้จะมีการพบปะกับ ก.ล.ต.ในภูมิภาค โดยเริ่มที่กัมพูชา ลาว เมียนมา อีกทั้งปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน ก.ล.ต.จึงเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ASEAN Capital Market ไปแล้วหนึ่งครั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอีกในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทำให้ต่างประเทศยอมรับต่อเนื่อง

ก.ล.ต.ไทยยังได้รื้อฟื้นการเจรจาด้านการขายกองทุนข้ามประเทศ Mutual Recognition of Mutual Fund กับฮ่องกง ซึ่งได้มีการเจรจาในปี 2547 แต่หยุดไป (เพื่อไปดำเนินการในกรอบพหุภาคี เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้) ซึ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศมีระบบ fast track ระหว่างกัน กองทุนที่ผ่านการอนุมัติจาก ก.ล.ต.ไทยหากไปเสนอขายที่ฮ่องกง ก็จะผ่านการพิจารณาจากฮ่องกงอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน หากกองทุนฮ่องกงมาเสนอขายในไทยก็จะได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วจาก ก.ล.ต.ไทย ซึ่งจะทำให้นักกลงทุนมีทางเลือกหลากหลายขึ้น หากการเจรจานี้ได้ข้อสรุปก็จะนำโมเดลนี้ไปใช้กับประเทศอื่นต่อไป

8) ความยั่งยืนของกิจการ มีความสำคัญมากขึ้นเพราะปัจจจุบันนักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เน้นเรื่อง ESG มากขึ้น

9) การพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิมากขึ้น อยู่ในขั้นตอนการศึกษา เช่น การคุ้มครองพยาน รวมทั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน ว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ การดำเนินการต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ กฎหมายหลักทรัพย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องเอื้อ รวมทั้งกฎหมายบริษัทมหาชนที่ความรับผิดชอบเป็นของคณะกรรมการ โดยขณะนี้ได้มีการประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI แล้ว และเป็นหน้าที่สำคัญของ ก.ล.ต.ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ

10) การพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล digital transformation ซึ่งคณะกรรมการอนุมัติให้ตั้งส่วนงานใหม่ ปัจจุบันมีกฎหมายดิจิทัลบังคับใช้หลายฉบับ ที่มีผลต่อการทำงานของ ก.ล.ต. มีผลต่อ stakeholder อย่างไร เช่น ความปลอดภัยไซเบอร์ cyber security นอกจากนี้จะปรับระบบการทำงานเป็น paperless ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้