เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตระหนักถึงการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญกับการนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights-UNGPs) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกไปปรับใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละธุรกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า “การเคารพในคุณค่าความเป็นคนหรือเห็นคนเป็นคนที่เรียกกันว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการเคารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง หรือสถานะอื่นใด อันเป็นการเคารพ “สิทธิมนุษยชน” ย่อมก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง กสม. จึงมีเจตนารมณ์ที่จะผลักดัน สนับ สนุน และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการหารือและการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่าง กสม. หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะ”
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. มีบทบาทในการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนโดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวด ล้อม การลงนามใน MOU กับ กสม. ถือเป็นครั้งแรก เป็นสิ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ก.ล.ต. ที่จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนนำหลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายขององค์กร และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีการติดตามความคืบหน้า นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะส่งเสริมการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวในเวทีระหว่างประเทศ และเผยแพร่การดำเนินงานของประเทศไทยให้ต่างประเทศได้ทราบ รวมถึงการมีส่วนร่วมของ ก.ล.ต. ในเรื่องนี้ และความคืบหน้าต่าง ๆ ต่อไป”
นางสาวรื่นวดี กล่าวอีกว่า การเซ็น MOU ครั้งนี้จะมีระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต.และบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจเดียวกับบริษัทจดทะเบียนได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชน ส่วนการนำไปปฏิบัตินั้น ก.ล.ต.จะเปิดให้ปฏิบัติตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ
“ก.ล.ต.จะมีแบบประเมินวัดผลในลักษณะ check-list ให้กับผู้ประกอบการ และอาจจะมอบประกาศนียบัตร เพื่อยืนยันว่าบริษัทนั้นได้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในหลักการ และ ก.ล.ต.ยังได้ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนเพื่อเผยแพร่หลักการสิทธิมนุษยชนให้กับสมาชิกได้รับทราบ”นางสาวรื่นวดีกล่าว
นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้อง จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจไม่ถูกกีดกันทางการค้า ตอบโจทย์ความยั่งยืนในการทำธุรกิจ รวมทั้งทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมาก เพราะปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้น
นอกจากนี้ ก.ล.ต. กสม. และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน: ปัจจัยขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียนไทยสู่ความยั่งยืน” ตามหลักการชี้แนะ เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศร่วมถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับมาตรฐานตลาดทุนไทยเติบโตด้วยความยั่งยืน
นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ 1) เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและหลักการชี้แนะฯ แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุน และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถนาไปใช้ในการประกอบธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
2)เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้องทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ระบบ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ปรับใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละธุรกิจ 3)เพื่อพัฒนาเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานในทุกภาคส่วน 4) เพื่อร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการดาเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเคารพสิทธิมนุษยชน และสอดประสานในทิศทางเดียวกัน