ThaiPublica > คนในข่าว > “รื่นวดี สุวรรณมงคล” ยุคใหม่กรมบังคับคดี ใช้ Big Data เพิ่มช่องทางขายทรัพย์สิน – ไกล่เกลี่ยหนี้กลุ่มเปราะบาง พร้อมสร้างหลักสูตร “อาชีพนักบังคับคดี”

“รื่นวดี สุวรรณมงคล” ยุคใหม่กรมบังคับคดี ใช้ Big Data เพิ่มช่องทางขายทรัพย์สิน – ไกล่เกลี่ยหนี้กลุ่มเปราะบาง พร้อมสร้างหลักสูตร “อาชีพนักบังคับคดี”

17 เมษายน 2018


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินว่าคนเก่งไม่เข้ารับราชการ หรือไปทำงานที่อื่นก่อนแล้วค่อยกลับมารับราชการ จากข้อมูลของสำนักงานข้าราชการพลเรือน(กพ.)ที่เคยรวบรวมระบุว่าอายุคนเข้ารับราชการครั้งแรกสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 27 ปี

บ่อยครั้งที่เราได้ยินเสียงบ่นจากหลายๆคนว่าเบื่อข้าราชการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ทำงานไปวันๆ ไม่เคยคิดนอกกรอบ ไม่ทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

แต่ท่ามกลางเสียงบ่น ก็ยังมีข้าราชการดีๆเก่งๆในสังคมให้เราได้ชื่นชมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

“ไทยพับลิก้า” ได้ติดตามงานของ “กรมบังคับคดี” ที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกภาพว่ามีหน้าที่ยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด ซึ่ง 43 ปีของกรมบังคับคดีมีทรัพย์สินรอการขาย ที่เคยสูงสุดถึง 100,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2559 นับเป็นกองทรัพย์สินที่ใหญ่กองหนึ่งของประเทศ

สังคมมักจะลืมไปว่า ทรัพย์สินเหล่านี้ หากไม่รีบสะสางฟื้นฟูให้กลับมาใช้ได้โดยเร็ว ก็ยิ่งเป็นภาระของประเทศ แต่หากนำกลับมาใช้หรือทำประโยชน์ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีกับระบบเศรษฐกิจ นั่นหมายถึงกระบวนการทำงานต้องโปร่งใส รวดเร็ว ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ทรัพย์สินถึงจะขายออกได้เยอะๆ

ด้วยภารกิจดังกล่าว นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ได้ให้สัมภาษณ์ “ไทยพับลิก้า” ถึงแนวทางการงานในเชิงรุกมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในค่ำวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดีในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557

“ต้องการทำให้คนที่อยู่กับเราเห็นในเป้าหมายเดียวกัน ให้เห็นถึงภาพรวมว่ามีองคาพยพอย่างไร เพื่อให้บริการประชาชน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วชี้แจงกฎหมายให้ชัดเจน ไม่ใช่เอามาเพิ่มอำนาจคน แต่ต้องเพิ่มหน้าที่ โดยไม่ได้สร้างภาระแก่ใครด้วย กฎหมายต้องลดโอกาสของการสร้างภาระแก่ประชาชน ดังนั้นตลอดกว่า 3 ปี ไม่ใช่นักทฤษฎีแต่ปฏิบัติ ทำให้เห็น”

มองโจทย์ใหญ่ประเทศ “ขีดความสามารถในการแข่งขัน”

“รื่นวดี” เล่าว่าเมื่อเข้ามาทำงานได้เปิดรับความเห็นทั้งจากบุคลากรภายในและบุคคลภายนอก ได้ข้อมูลว่าองค์กรที่ทำงานด้านบริหารจัดการคดี (Case Management) ทำงานช้า เห็นได้จากคำถามมากมาย เช่น ทำไมคดีนั้นติดขัด ติดขัดอะไร ระบบการขายรวดเร็วจริงหรือไม่ รวมไปถึงการจ่ายเงินคืน ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องประสิทธิภาพ อีกทั้งปัจจัยความสำเร็จของการจัดการคดียังมาจากคู่ความเป็นหลัก คือโจทก์กับจำเลย แม้กรมบังคับคดีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลไกเกิดขึ้นตามกฎหมายได้ แต่ความสำเร็จอยู่ที่สองฝ่ายในการให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลครบถ้วน

นอกจากนี้ได้สำรวจและทบทวนกระบวนการทำงานภายในว่าตอบรับกับความคาดหวังการบริหารจัดการคดีที่มีประสิทธิภาพ มีกฎหมายที่ทันสมัยและกระชับสะดวกหรือไม่ ก็พบความจริงว่า ทั้งวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายล้มละลาย ไม่ได้มีการแก้ไขมากว่า 10 ปี จึงเห็นว่าคงไม่สามารถตอบโจทย์ด้วยกฎหมายชุดเดิมได้อีกแล้ว ภายใต้กลไกและสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

“งานของกรมบังคับคดีเป็นตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจโดยตรงและสำคัญสุด หลายคนคิดว่าเราเป็นกระบวนการปลายเหตุ เมื่อพบความจริงว่า ทั้งวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายล้มละลาย ไม่ได้มีการแก้ไข เราเชื่อว่าถ้ามีกฎหมายที่ปรับปรุงสอดคล้องกับระบบสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป น่าจะเรียกความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนได้ เพราะจุดเริ่มของผู้ลงทุน หากมีประเด็นข้อพิพาทเกิดขึ้นและศาลพิพากษาแล้วจะได้รับเงินชดใช้เร็วช้าอย่างไร เป็นการตัดสินใจบริหารความเสี่ยงในการลงทุน การทำสัญญาอะไรก็ตามต้องมีการบริหารความเสี่ยง ถ้ามีข้อติดขัดมีข้อพิพาทกันแล้วขึ้นสู่ศาลแล้ว กระบวนการบังคับคดีเร็ว/ช้าอย่างไร รวมทั้งหากฟ้องล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย จะได้เงินคืนมาอย่างไรและจะได้เท่าเดิมหรือมากน้อยแค่ไหน”

ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่ว่างานของกรมบังคับคดีจะตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศได้อย่างไร โดยเฉพาะนโยบายการแก้ไขกฎหมายและการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กรมบังคับคดีต้องมองเห็นภาพใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เพียงมองกระบวนการทางแพ่ง ยึดอายัด หรือบังคับทรัพย์สิน ซึ่งนั่นคือหน้าที่

“รื่นวดี” เล่าวว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสามารถเดินหน้าได้เร็ว เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างบางส่วนให้อยู่แล้ว กรมบังคับคดีได้นำร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกามาดูและปรับให้เข้ากันมีความทันสมัย เป็นการปฏิรูปทั้งระบบใช้เวลาประมาณ 3 ปีเศษ กฎหมายจึงผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560

“สิ่งที่สำคัญสุดแม้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลดขั้นตอนและทันสมัยแล้ว คือ การให้ความรู้ทุกภาคส่วนคู่ขนานกันไป โดยได้จัดโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี รวมไปถึงดำเนินการให้การทำงานสอดคล้องกันกับกฎหมายใหม่แบบไร้รอยต่อ เป็นโจทย์ที่มีความท้าทาย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะไม่ได้ยินเสียงกลับมาว่า ไม่รู้ ไม่ทราบกฎหมาย ไม่มี”

ต่อจากนี้คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหรือ 1 ปี ประเมินผลการตอบรับ ซึ่งเป็นไปตามหลักของการจัดการ การคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การเสนอกฎหมายออกมาแก้ไขใหม่ต้องให้คนรับรู้และประเมินผล เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ใช่โครงการที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ ต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ

สำหรับกฎหมายล้มละลาย “รื่นวดี”กล่าวว่า เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างเป็นปัจจุบันมาก คือ มาจากธนาคารโลกที่วัดกรอบความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ซึ่งกรมบังคับคดีได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เมื่อเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดีในปี 2557 ได้รับนโยบายที่ชัดเจนจาก พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น ให้ดำเนินการเรื่องนี้

เมื่อมาศึกษาก็พบว่ามีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในตัวกฎหมายเองและกระบวนการตอบคำถามธนาคารโลกมีปัญหา จึงได้แก้ไขซึ่งใช้เวลาพอสมควร ผลปรากฏว่าคะแนนดีขึ้นในปลายปีที่แล้ว และเป็นที่ 1 อาเซียน

กรมบังคับคดีได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาคำถามและตอบแบบสอบถามและพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ และขั้นตอนการทำงานเพื่อให้การบังคับคดีเกิดความสะดวก รวดเร็ว เป็นมาตรฐานสากล ตามกรอบความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกในตัวชี้วัดที่ 9 การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และตัวชี้วัดที่10 ด้านการแก้ปัญหาล้มละลาย

กรมบังคับคดีจัดการบรรยายเพื่อสร้างความรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 สำหรับประชาชน รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2561 ที่มาภาพ: http://www.led.go.th/Actnews/allnews2.asp?pages=1[/caption

การบริการต้องโปร่งใส อย่าให้ประชาชนตั้งคำถาม

สำหรับการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จุดนี้เป็นกระบวนการภายในของกรม โดยวางกรอบเดียวกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่รัฐบาลประกาศไว้ พร้อมกับถามตัวเองว่าเป็นอย่างนั้นอยู่หรือไม่อย่างไร กรมได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้การรับส่งหมายทำได้กับคดีแพ่งอย่างเดียว ฉะนั้นต้องทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชนในทุกเรื่อง

“เราเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เคยประสานงานหรือส่งข้อความให้กับประชาชนบ้างหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ ไม่มี เมื่อไม่มีก็ตั้งคำถามต่ออีกว่า ควรเริ่มต้นจากของง่ายๆ ก่อนหรือไม่ เช่น ประกาศทรัพย์รอการขาย ให้อยู่ใกล้ชิดกับคนมากขึ้น ที่ผ่านมาได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้หมด และยังทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมประชาชนไม่รู้ว่ามีทรัพย์บางอย่างขาย”

“การทำงานของกรมอย่าให้ประชาชนตั้งคำถาม ถ้าประชาชนตั้งคำถามเมื่อไหร่แล้ว ความน่าเชื่อถือจะหายไปทันที เราเป็นเจ้าพนักงานศาลต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเชื่อมั่น เราอย่าให้ประชาชนมาตั้งคำถามว่าทำไมไม่เห็นรู้เลยว่าทรัพย์มีการขาย คำถามความโปร่งใสจะมาคู่กันทันที”

การประกาศข้อมูลทรัพย์ที่รอการขายซึ่งเป็นข้อมูลเดียวกับที่พิมพ์แจกและเผยแพร่บนเว็บไซต์ ขณะนี้มีแอปพลิเคชัน เช่น LED Debt Info Mobile Application ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีสามารถตรวจสอบข้อมูลการอายัดเงินในคดีของตนเองได้อย่างง่ายดาย โดยเปิดใช้บริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560

การพัฒนาแอปพลิเคชันนี้เริ่มจากแนวคิดง่ายๆ คือ งานทุกอย่างคือชีวิตประจำวันของคน วัดจากตัวเราที่ไปเป็นผู้ใช้บริการก็ต้องการข้อมูลก่อน เช่น การผ่อนรถยนต์ยังสามารถเข้าระบบตรวจได้ว่าค่างวดเหลือเท่าไหร่ ก็นำแนวทางเดียวกันมาใช้กับการอายัด ให้ประชาชนทำด้วยตัวเองได้ในเรื่องพื้นฐานก่อน ให้สามารถตรวจสอบการอายัดเงินเบื้องต้นก่อน ให้สามารถค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ดีกว่าเดินไปหาราชการ เพราะบางครั้งเจอปัญหาพนักงานเจ้าของสำนวนไม่อยู่บ้าง หรือตอบไม่ได้บ้าง

“โชคดีว่าสภาพแวดล้อมสนับสนุน รัฐบาลประกาศแล้วต้องสร้างทักษะข้าราชการดิจิทัล ก็เอื้อขึ้นมา แต่เราก็ต้องออกตัวไปก่อน ล่าสุดนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนให้ประชาชนไม่รับเงินสด ไม่ใช้เงินสดกับหน่วยงานราชการ แต่กรมบังคับคดีได้ติดตั้งระบบเครื่องรูดบัตรรับจ่ายเงินหรือ EDC Payment การวางเงินประกันด้วยบัตรเดบิต/เครดิต เป็นชุดแรกของราชการไทยตั้งแต่ปี 2559 และเป็นกรมเดียวที่มีเครื่อง EDC ทุกสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศครบแล้ว”

การทำงานของกรมบังคับคดีเป็นการมองไปข้างหน้า จากที่กระทรวงการคลังประกาศยกระดับประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสดหรือ Cashless Society ตั้งแต่ต้นปี 2559 กรมบังคับคดีอาสาสมัครเริ่มต้น และพร้อมยกมือเป็นกรมนำร่องทุกเรื่องที่ราชการต้องมีกระบวนการให้เข้าไปเติมเสริมไม่ว่าจุดไหน

“การที่เราเข้าไปเป็นโครงการนำร่องด้วยจุดประสงค์เดียวคือ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ตรงนี้เป็นงานให้บริการด้วยการใช้กฎหมาย ดังนั้น ระบบการทำงานในกรมต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โดยมีประชาชนเป็นตัวตั้ง ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก แม้อาจจะไม่เต็ม 100% แต่กรมบังคับคดีพัฒนามาถึงจุดที่เรียกว่าการอำนวยความสะดวกเมืองไทยมีระดับสูงขึ้น ปีที่แล้วผลการประเมินการทำงานก็ชี้ว่ายุคก่อนต่างจากยุคนี้พอสมควร ในทางที่ดีขึ้น เชื่อถือมากขึ้น”

สิ่งนี้เกิดจากการที่ร่วมคิดร่วมพัฒนาร่วมแก้ไข คนภายในมีส่วนร่วม คนภายนอกมีส่วนร่วม โดยส่วนตัวก็พยายามฟังให้มากขึ้น โดยเฉพาะระบบข้อร้องเรียน จึงกำหนดเป็นนโยบายให้ผู้บริหารทุกคนต่อสัญญาณตรงจากเว็บไซต์ที่ประชาชนเขียนถึงผู้บริหารมายังโทรศัพท์ลงมือถือ เพื่อรับข้อมูลจริงได้ทันทีเพราะการที่ได้เขียนเองอ่านเองกับประชาชนจะสัมผัสได้ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานตั้งแต่อยู่กับหน่วยงานเดิม อีกทั้งมองว่าผู้บริหารเบอร์ 1 ไม่ได้รับรู้รับเห็นรับฟัง จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ชัดเจน ทุกอย่างคือการมีส่วนร่วม อย่าถือว่าเป็นการลดกำลังใจ การที่ประชาชนมาบอก ก็เป็นประโยชน์กับการที่จะพัฒนาแก้ไข วันนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดี

กลยุทธ์เชิงรุก-สมัครเข้ารับประเมินองค์กรโปร่งใส

“รื่นวดี”กล่าวว่า การทำงานที่กรมบังคับคดีมีทั้งยากทั้งง่าย ง่ายเพราะมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน โดยเฉพาะฝ่ายโจทก์ เพราะ 90% โจทก์เป็นสถาบันการเงิน ส่วนที่เหลือราว 5-8% เป็นโจทก์บุคคลธรรมดา แต่ในส่วน 90-95% หากทำให้เข้าใจแล้ว การทำงานก็ชัดเจน

ประสบการณ์จากการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ทำให้ได้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจ จึงทำงานเชิงรุกด้วยการติดต่อประสานหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอรับทราบข้อมูลด้านความช้าของการจัดการคดีในส่วนของการทำงานของกรม จึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม กรมต้องรักษาความเป็นกลางมากที่สุด เพราะงานที่กรมก็เป็นคนกลางของ 2 ฝ่ายที่พิพาทกัน

แนวทางการทำงานแบบนี้นำมาสู่การวัดผลการทำงานหรือ KPI เป็นครั้งแรกของกรมบังคับคดี โดยใช้เวลาดำเนินการกับคดีเป็นตัวตั้ง กำหนดว่าคดีที่ค้าง 10 ปีควรจะพิจารณาและดำเนินการให้ลดลง และในยุทธศาสตร์ชาติ กรมตั้งเป้าหมายว่าจะให้เป็นศูนย์ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือมีการตั้งเป้าหมาย

นอกจากนี้ ต้องมีการรักษามาตรฐานในกระบวนการด้วย โดยมีแนวคำสั่งชัดเจน พยายามให้ดุลยพินิจมีน้อยสุด เพราะว่าการมีดุลยพินิจทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ แต่ไม่ใช่บอกว่าไม่ให้คิดอะไรเลย และควรบอกได้ว่าการที่ผลออกมาแบบนี้เพราะเงื่อนไขอะไร เนื่องจากช่วงที่มารับตำแหน่งมีหลักสำคัญของการทำงานอยู่ 4 คำ คือ ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม

เมื่อปรับแนวทางกระบวนการทำงานได้ดีขึ้นจึงมั่นใจที่จะให้มีการประเมิน กรมบังคับคดีได้สมัครโครงการองค์กรโปร่งใสของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เปิดแข่งขันทั่วประเทศ ปีแรกไม่ผ่านการประเมิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ต่อมาปีที่ 2 มีการปรับเปลี่ยนวิธีประเมิน มีการสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากข้อมูลที่ส่งไปให้พิจารณา กรมบังคับคดีได้รับรางวัลชมเชย และเป็น 1 ใน 10 หน่วยงานที่ได้รับรางวัล ซึ่งปีนั้นไม่มีหน่วยงานได้รับรางวัลความโปร่งใสเลย ปีนี้กรมบังคับคดีก็ได้รับรางวัลชมเชยอีก และไม่มีหน่วยงานใดได้รางวัลโปร่งใสอีกเหมือนเดิม ดังนั้นก็จะทำอย่างต่อเนื่อง ทำเพื่อลดการตั้งคำถามกับการทำงาน

เปิดประมูลทรัพย์วันเสาร์-ขยายฐานผู้ซื้อ

“รื่นวดี” เล่าวว่าเมื่อมาทำงานกรมบังคับคดีช่วงแรกได้ยินคำพูดที่ว่า การซื้อทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมีแต่ขาประจำ ซึ่งในทางปฏิบัติหากเป็นขาประจำแต่ทำถูกต้องตามกติกา ก็มีสิทธิที่จะประมูลซื้อ แต่โดยหน้าที่ของกรมบังคับคดีคือการขายทอดตลาด จึงตั้งคำถามกับบุคลากรภายในให้คิดอีกมุมว่าจะขยายฐานผู้สนใจมาซื้อทรัพย์ให้มากขึ้นได้อย่างไร ก็พบว่าการเปิดขายทอดตลาดวันจันทร์ถึงศุกร์ ซึ่งเป็นวันทำงานของคนส่วนใหญ่ บางคนลางานมาก็ไม่สามารถซื้อทรัพย์ขายทอดตลาดบางอย่างได้

ทั้งหมดนี้นำมาสู่การขายทรัพย์วันเสาร์ ในช่วงแรกเปิดรับอาสาสมัครมาทำงาน เพราะการทำงานวันเสาร์ไม่มีเงินตอบแทนเพิ่มขึ้น เริ่มจากการขายทรัพย์ชิ้นเล็กมูลค่าไม่มาก ในช่วงแรกมี 10 สำนักงาน ปัจจุบันมี 109 สำนักงานแล้ว กลายเป็นกิจกรรมปกติไปแล้ว

“การทำงานของตัวเองมักจะตั้งคำถามเสมอ เมื่อเปิดขายวันเสาร์ได้แล้ว ก็ถามตัวเองอีกว่า การเข้าถึงการประมูลซื้อทรัพย์ของกรมบังคับดีง่ายจริงหรือไม่ ต้องทำให้การเข้าถึงเป็นเหมือนสาธารณูปโภคทั่วไปที่คนเข้าถึงได้ จึงให้โจทย์กับส่วนงานที่รับผิดชอบหาแนวทางการสื่อสาร การเข้าถึงและมีกติกาการซื้อขายที่เข้าใจง่าย เป็นที่มาของการปรับปรุงวงเงินที่ใช้เป็นหลักประกันก่อนประมูลทรัพย์”

การกำหนดวงเงินประกันเพื่อเป็นการกรองให้คนที่ตั้งใจจริงเข้ามาไม่ใช่ประมูลแล้วทิ้งไป ขณะเดียวกัน การตั้งเงินประกันสูงเกินไปคนทั่วไปก็จะไม่มา จึงได้แก้ไขวงเงินประกันให้เป็นช่วงๆให้สอดคล้องกับราคาประเมินของทรัพย์จากเดิมที่เป็นอัตราคงที่ โดยการวางหลักประกันเริ่มต้นที่ไม่น้อยกว่า 5% ของราคาประเมิน สำหรับทรัพย์ที่มีราคาประเมินไม่เกิน 500,000 บาท และเพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆ ไป เพื่อให้มีความเหมาะสมกับทรัพย์แต่ละชิ้นที่มีราคาประเมินแตกต่างกันมากขึ้น และดึงความสนใจได้มากขึ้น เช่น การประมูลบ้าน ราคา 1.5 ล้านบาท หากต้องวางประกัน 5 ล้านบาท คนก็จะไม่มาร่วมประมูล

“จริงอยู่ไม่อยากให้คนข้างนอกมีคำถามกับเรา เมื่อมาทำงานที่นี่มีคำถามเราตั้งคำถาม ถามคนในกรมว่าทำไมเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ เป็นการตั้งคำถามให้ช่วยกันคิด เพราะกระบวนการเรียนรู้จะต้องเกิดได้อย่างชัดเจน เรื่องหลักคิดไม่ใช่ท่องจำ คำถามของเราอาจจะผิดก็ได้เพราะไม่รู้จริงๆ แต่ว่าต้องตั้งคำถาม ประชาชนมีคำถามในข้อสงสัย ถามเราได้ แต่ห้ามเคลือบแคลงใจในการทำงาน”

ใช้ Big Data ดันงานขาย-เชื่อมหน่วยรัฐอื่นๆ

“รื่นวดี” เล่าต่อว่ากรมบังคับคดีได้พัฒนาการประมูลขายทอดตลาดทรัพย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Offering Auction Pilot Project System) ในวันอาทิตย์ เริ่มนำร่องใน 4 จังหวัดผ่านสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา และสงขลา เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ต้องนำ Big Data เข้ามาใช้ เพราะจะเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น โดยจะต้องสำรวจ Profile และพฤติกรรมผู้ซื้อทรัพย์ เพื่อให้รู้ว่าลูกค้าเป็นอย่างไร ชอบแบบไหน

ในส่วนของทรัพย์ได้จัดทำข้อมูลใหม่ พร้อมภาพประกอบที่ชัดเจน และมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เช่น ภาพถ่ายที่ดิน แผนที่ต้องมีความชัดเจน ข้อมูลหรือภาพถ่ายต้องมีการปรับปรุงเป็นระยะๆ เพื่อให้เห็นสภาพทรัพย์ที่ชัดเจนและตรงกับความเป็นจริง

กรมบังคับคดีได้ทำบันทึกข้อตกลงเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์กับกรมที่ดิน ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบแผนที่ ตรวจสอบข้อมูลได้อย่างสะดวก ซึ่งการร่วมกับกรมที่ดินนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานของภาครัฐตามแนวคิดของรัฐบาล และการลงทุนของหน่วยงานรัฐไม่ซ้ำซ้อน กรมที่ดินได้ลงทุนไว้แล้วกรมบังคับคดีก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอีก

“แบบนี้จะช่วยการตัดสินใจของผู้สนใจซื้อมากขึ้น เพราะมีข้อมูลชัดเจนก็ทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น ซึ่งการปรับปรุงก็เอามาจากพื้นฐานที่เรียนมา ประสบการณ์ที่ทำงานมา จริงๆ งานที่นี่คือประสบการณ์ชีวิตหมด แค่ต้องประยุกต์ให้ถูก”

“รื่นวดี”กล่าวย้ำว่า การมีข้อมูลจะช่วยให้ดำเนินการได้ทุกด้าน อยู่ที่ความพร้อมของข้อมูลและต้องมาพร้อมกับความถูกต้องของข้อมูล ดังนั้น ในปีนี้ได้ขยายหน้าที่ของผู้บริหารในระดับผู้อำนวยการเป็นครั้งแรก โดยให้ตรวจสอบรับรองความถูกต้องของข้อมูล เพราะความถูกต้องข้อมูลต้องมาก่อน

โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 กรมบังคับคดีได้มาถึงจุดหักเหสำคัญ เพราะสามารถนำคดีในอดีตลงระบบได้หมดแล้ว เป็น 100,000 คดี โดยก่อนหน้านี้มีการทำคดีแพ่งใหม่ตั้งแต่ปี 2556 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลคดีที่ลงระบบต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง และคาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าระบบข้อมูลคดีทั้งหมดจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ไม่ต้องใช้ระบบ Manual อีก

กรมบังคับคดีมีข้อมูลมหาศาล แต่ต้องนำมาใช้ให้ถูกให้สอดรับกับยุค Big Data ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ซึ่งการจะใช้ถูกหรือไม่อยู่ที่การวิเคราะห์ ขณะนี้กรมมีการจัดเก็บข้อมูลมีวิเคราะห์ได้แล้ว เพียงแต่ขาดนักสถิตินักสถิติเชิงประยุกต์ที่จะช่วยวางแนวคิดให้ชัดเจน ก็จะสามารถใช้ข้อมูลให้มีประโยชน์สูงสุด

“มาถึงจุดนี้มีฐานข้อมูลแล้วจะนำมาใช้อย่างไรก็ได้ ข้อมูลของทรัพย์รอการขาย สิ่งต่อไปจะทำคือข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของผู้ซื้อ ยังไม่ได้สำรวจ ยิ่งรู้ว่าโจทก์คือใคร เราไปติดต่อตกลงกับเขาได้ ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานไว้แล้ว”

กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานเดียวที่มีข้อมูลลูกหนี้ซึ่งต้องเก็บความลับ แต่ก็สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนงานของรัฐบาลได้ โดยที่ผ่านมาได้นำฐานข้อมูลลูกหนี้บังคับคดีไปเทียบกับบุคคลที่มีรายได้น้อยตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล ช่วยให้แยกกลุ่มได้ชัดเจนทั้งประเภทและจำนวน แม้ยังตรวจสอบได้ไม่ครบถ้วน เพราะระบบเดิมไม่ได้รองรับหมายเลข 13 หลัก แต่สามารถขอศาลให้หมายเลขใหม่ได้

นอกจากนี้ กรมบังคับคดีได้มีส่วนร่วมในโมเดลแก้จน คือ กาฬสินธุ์โมเดล (Kalasin Happiness 2019) ที่รองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประจิน จั่นตอง ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยกรมบังคับคดีรับผิดชอบด้านหนี้สินเป็นหลัก ซึ่ง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2560 มีลูกหนี้บังคับคดี 4,200 คน จึงนำข้อมูลนี้ไปเทียบกับฐานข้อมูลโครงการสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง ไปจับคู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็พบว่า 101 คนเป็นเกษตรกรและเป็นคนมีรายได้น้อย แต่กรมบังคับคดีไม่สามารถลงไปพบ 101 คนโดยตรงได้ ก็มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีการไกล่เกลี่ย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตขึ้นมา

“รื่นวดี”กล่าวว่า ทุกวันนี้การเดินเรื่องของกรมบังคับคดีอยู่ที่ระบบและข้อมูล ส่วนความสามารถของคนเป็นปัจจัยพื้นฐานอยู่แล้ว และยังสามารถทำงานได้อีกมาก เพราะสัมผัสกับชีวิตของประชาชน แต่สำคัญคือต้องรักษาตัวเองให้เป็นกลางให้ได้

กรมบังคับคดีร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับเรื่องราวร้องทุกข์และให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชน ณ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 ที่มาภาพ: http://www.led.go.th/Actnews/view.asp?runno=2679

สร้างการรับรู้กฎหมาย-ลงพื้นที่หาประชาชนแก้หนี้กลุ่มเปราะบาง

อธิบดีกรมบังคับคดีเล่าต่อว่าที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเองสร้างความรับรู้กฎหมายแก่ประชาชนและดูแลการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศมาต่อเนื่อง พบว่าโจทย์หนึ่งที่ท้าทายอย่างมากและพบในเชิงพื้นที่ คือ ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจกับกฎหมายเกี่ยวข้องกับกรมบังคับคดี ทำให้เกิดช่องว่างได้ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ โดยที่กรมบังคับคดีมีสำนักงานทั่วประเทศซึ่งแต่ละสำนักงานก็มีนักกฎหมายอยู่แล้ว มีโครงการให้ผู้บริหารออกนอกสำนักงานไปให้ความรู้แก่ประชาชน ในเชิงเฉพาะกฎหมายกู้ยืม จำนอง จำนำ ขายฝาก วางทรัพย์ รวมทั้งร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความรู้แก่ธุรกิจนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ในพื้นที่ด้วย

ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา กรมบังคับคดีทำงานฝั่งลูกหนี้ด้วย โดยดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง คือ เกษตรกรรายย่อย หนี้ครัวเรือน หนี้กองทุนการศึกษา (ก.ย.ศ.) หนี้ปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งการดูแลไม่ได้ผิดความเป็นกลาง โดยนำกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้เข้ามาใช้สำหรับข้อพิพาทชั้นบังคับคดีและยังคงให้รักษาวินัยทางการเงินต้องชำระหนี้ เพียงแต่อยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างหนี้

โครงการไกล่เกลี่ยหนี้ได้เริ่มต้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2557 ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมหรือ SME Bank ต่อมาเป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ. หลังจากนั้นมีเจ้าหนี้จำนวนมากเข้าร่วม

งานโครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2561 ที่จังหวัดปัตตานี ที่มาภาพ: http://www.led.go.th/Actnews/2561/02/T14-2018.02.23-01.jpg

“จุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่คิดว่าทำให้คุณภาพชีวิตของลูกหนี้ เจ้าหนี้ ดีขึ้นภายใต้หลักของการมีวินัยการเงินและการออม นอกจากได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันการเงินแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนด้วยการสอนวิชาว่าด้วยวินัยการเงิน ซึ่งกรมบังคับคดีตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากลดโอกาสของการเป็นลูกหนี้เสียซ้ำ คนที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้วโดยหลักเหมือนได้รับโอกาส ไม่ควรหวนกลับมาในวงจรนี้อีก ก็แก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ทำข้อต่อให้สนิทให้ได้”

กรมบังคับคดียังได้รับโอกาสให้เข้ามาร่วมทำงานแก้ไขหนี้นอกระบบอีกด้วย เพราะมีเครื่องมือไกล่เกลี่ย ประกอบกับการที่มีฐานข้อมูลลูกหนี้ ทำให้สามารถกำหนดลักษณะของเจ้าหนี้นอกระบบและมีกลุ่มเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน โดยที่ส่วนใหญ่เจ้าหนี้นอกระบบคือบุคคลธรรมดา จึงตั้งต้นด้วยเจ้าหนี้บุคคลธรรมดาที่มีลูกหนี้บังคับคดีมากกว่า 20 ราย จากการลงพื้นที่ส่งหนังสือเชิญเจ้าหนี้เหล่านี้มาทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยที่ภูเขียว ชัยภูมิ ก็ประสบความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยหนี้ได้หลายคน

ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมในการอำนวยการยุติธรรม

“รื่นวดี”กล่าวต่อว่า งาน 3 ส่วนที่ประกอบด้วยกฎหมาย กระบวนการทำงาน และทัศนคติของคน ทัศนคติเป็นโจทย์ที่จัดการยาก แต่บุคลากรกรมบังคับคดีให้ความร่วมมือร่วมทำงานด้วยกัน เพราะทุกคนเห็นจุดมุ่งหมายเดียวกันแล้วว่าเมื่อประชาชนสะดวก ความกดดันในการทำงานก็น้อยลง คุณภาพชีวิตทั้งสองฝ่ายดีขึ้น

พร้อมยกตัวอย่างว่า ล่าสุดได้มีการย้ายสำนักงานบังคับคดี กทม. 1 จากอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งที่พื้นที่คับแคบและประชาชนเดินทางไม่สะดวก ไปยังที่ใหม่ที่มีพื้นที่กว้างขวางขึ้น บรรยากาศการทำงานดีขึ้น ประชาชนเดินทางสะดวก เจ้าหน้าที่พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ประชาชนที่มาใช้บริการไม่แออัด มีความพึงพอใจมากขึ้น

“ต้องขอบคุณคนกรมบังคับคดีด้วยที่เขาเชื่อและร่วมมือ ไม่เช่นนั้นงานคงไม่ก้าวหน้ามาแบบนี้ แต่ทั้งหมดต้องอาศัยการสื่อสารให้เข้าใจ ก็มีการพูดบ้างเหมือนกันว่าไม่มียุคไหนอีกแล้วที่ทำงานหนักเท่าวันนี้ แต่เพื่อประโยชน์ประชาชนทั้งนั้น ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ให้เขาได้รับความเป็นธรรมในการอำนวยการยุติธรรม บุคคลากรหลายคนก็ภูมิใจ ภาพของกรมบังคับคดีต่อสังคมชัดเจนขึ้น ไปที่ไหนมีคนรู้จัก”

นอกจากนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการสื่อสารทั่วประเทศ แทนแบบเดิมที่สั่งการผ่านการบันทึกแล้ว ยังกระตุ้นบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาด้วยการใช้ระบบวัดผล KPI รวมทั้งได้เน้นการเสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการให้กับผู้บริหารระดับต้นถึงกลางมากขึ้น เพราะนอกจากทักษะเฉพาะทางเชิงเทคนิคจากกติกาแล้ว การทำงานในปัจจุบันต้องมีความสามารถในการมองในมุมที่กว้างขึ้น ต้องรู้หลายทักษะมาประกอบกัน

“นักบังคับคดี” เป็นวิชาชีพเฉพาะที่เป็นมากกว่านักกฎหมาย

“รื่นวดี”กล่าวย้ำว่า งานของกรมบังคับคดีเป็นวิชาชีพเฉพาะ เป็นมากกว่านักกฎหมาย ในต่างประเทศจัดเป็นวิชาชีพบังคับคดีชัดเจน ไม่แค่เพียงนักกฎหมาย แต่เป็นผู้บังคับคดี หรือ Legal Enforcement Officer คือเจ้าพนักงานบังคับคดี ในหลักระดับสากล ที่ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพและมีค่าตอบแทนวิชาชีพ ดังนั้นได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานบังคับคดีให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณา เพื่อยกระดับให้เป็นวิชาชีพเจ้าพนักงานบังคับคดี มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม พิจารณาดำเนินการต่อไป

“ร่างกฎหมายนี้มาพร้อมหลักคิดจรรยาบรรณวิชาชีพที่มีความเข้มข้น เพราะงานของกรมบังคับคดีไม่ใช่งานราชการเหมือนหน่วยงานอื่นๆ แต่ดูแลผลประโยชน์ของคู่ความ โดยเฉพาะผลประโยชน์ทับซ้อนที่สำคัญมาก ต้องโปร่งใส ชัดเจน ลดโอกาสที่จะทับซ้อนกัน”

ทั้งนี้ได้วางรากฐานรองรับการทำงานในระยะต่อไปอีกด้วย เพราะมองว่าปัจจัยแวดล้อมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงได้เสนอให้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนปฏิบัติงานแทน เนื่องจากปัจจุบันกรมบังคับคดีทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับดูแลและผู้ดำเนินการ ซึ่งโดยหลักแล้วไม่สามารถทำได้ ประกอบกับนโยบายรัฐบาลทำให้ไม่สามารถขอกำลังคนเพิ่มขึ้น จึงต้องให้เอกชนเข้ามาทำ ซึ่งในต่างประเทศก็มีการใช้รูปแบบนี้แล้ว

“โจทย์นี้คิดจากมุมมอง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วันนี้คดีล้มละลายเราแก้ได้อย่างดีมาก คะแนนดีมาจากด้านกฎหมายที่เป็นสากล แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้ไม่ดีนัก คือ การรวบรวมทรัพย์สินคืนให้กับเจ้าหนี้ แม้จะอัตราการคืนทรัพย์จะเพิ่มจาก 49% ในช่วงที่มารับตำแหน่งเป็น 67% ขณะนี้ แต่ได้ตั้งเป้าหมาย ไว้ที่ 75% ซึ่งหากยังมีวิธีคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม คงจะยาก จึงมีแนวคิดตั้งเจ้าพนักงานทรัพย์เอกชน ในต่างประเทศเจ้าพนักงาน 1 คนอาจจะทำแค่ 3 คดี เพราะมองเชิงลึก”

กรมบังคับคดีได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอเลขารัฐมนตรี

“รื่นวดี”กล่าวต่อว่า การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศต้องเน้นกระบวนการใช้กฎหมายล้มละลายแบบเข้มงวด ข้อแรกต้องมีฐานข้อมูลที่ดี ที่ผ่านมาไม่มีการฐานข้อมูลวิเคราะห์ลูกหนี้เลย ข้อสอง ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูล โดยกรมบังคับคดีได้เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานทางทะเบียนภาครัฐ 17 แห่งเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิบัติราชการ 4 ปีของกรมบังคับคดี ที่มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการบังคับคดี ด้วยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเป็นฐานข้อมูลกลางในคดีเพื่อการสืบค้นข้อมูลและติดตามทรัพย์สินเพื่อให้การบังคับคดีแพ่งและการบังคับคดีล้มละลายเป็นไปอย่างรวดเร็ว และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รองรับระบบศูนย์ข้อมูลทรัพย์ของลูกหนี้

ข้อสาม ต้องมีเครื่องมือ ขณะนี้ในกฎหมายล้มละลายที่แก้ไขได้ให้อำนาจเจ้าหน้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหนังสือแจ้งบุคคลที่เชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ในความครอบครองมีหน้าที่ต้องแจ้งมายังเจ้าพนักงาน และข้อสี่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องมีทักษะด้านการสอบสวน กรมบังคับคดีจึงได้ตั้งโครงการเสริมทักษะด้วยความร่วมมือจากอัยการให้มาสอนวิธีการสอบสวน ใช้เวลาอบรม 5 วัน ควบคู่ไปกับโครงการการฝึกตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์กับสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ ที่ฝึกตรวจลายมือ ตรวจอายุของเอกสาร ต้องมีทักษะในการมองเชิงลึก ตลอดจนต้องฝึกเป็น Forensic Accounting นิติบัญชี ต้องพิสูจน์หาความผิดปกติในบัญชี

“รื่นวดี”กล่าวว่า กรมบังคับคดีก็เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นที่เจอปัญหา Generation Gap เพราะมีบุคลากรทั้งรุ่นเก่าและรุนใหม่ ต้องหาวิธีที่จะทำให้การทำงานหรือส่งต่องานราบรื่น ขณะเดียวกันก็ต้องการให้คนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้ ดังนั้นจึงริเริ่มตั้งสถาบันวิชาชีพบังคับคดีและล้มละลายขึ้น เพื่อรองรับการฝึกอบรมวิชาชีพให้ผู้บังคับคดี โดยมีคณะกรรมการบริหารแยกออกจากกรม เพื่อให้สามารถบริหารงานเชิงธุรกิจมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ เปิดรับทั้งบุคลากรของกรมและจากภายนอก

ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างคำขอจัดทำตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ Service Delivery Unit (SDU) เพื่อเสนอไปที่คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างของราชการกระทรวง

นอกจากนี้ กรมบังคับคดียังเสนอร่างขอแก้ไขกฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการกรมบังคับคดีเพื่อรองรับการเข้าสู่ระบบ Digital Economy Thailand 4.0 ไปยังกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาเพื่อนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี

สำหรับการเสนอขอแบ่งส่วนราชการเพื่อจัดตั้งกองสืบสวนสอบสวนเชิงลึก เพื่อให้การดำเนินการด้านคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะคดีหนัก เพราะขณะนี้ไม่มีเจ้าพนักงานเพียงพอที่จะทำคดีเชิงลึก เจ้าพนักงาน 1 คนดูแล 90 สำนวน การตั้งหน่วยงานใหม่น่าจะมีผลให้คะแนนความยากง่ายในการประกอบธุรกิจที่ประเมินโดยธนาคารโลกดีขึ้นในด้านการติดตามทรัพย์สิน และบรรลุเป้าหมาย 75% ตามที่วางไว้ เพราะคะแนนด้านอื่นจัดอยู่ในระดับดี เช่น กรอบกฎหมายประเทศที่อันดับที่ดีที่สุดในโลกได้ 14.5 คะแนน ประเทศไทยได้ 12.5 คะแนน

“งานของกรมบังคับคดีสำเร็จได้มาจากทั้งส่วนงานหลักและส่วนงานสนับสนุน ต้องดูแลเท่าเทียมกัน เพราะองค์กรต้องไปพร้อมกัน ต้องทำให้มีโอกาสได้เท่าเทียม ต้องทำให้ฝ่ายสนับสนุนดึงศักยภาพมาใช้ให้เต็มที่ และได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้ทำงานได้หลายด้าน เช่น จากจัดเก็บข้อมูลก็แปลงไปสู่นักวิเคราะห์ข้อมูล หรือเปิดให้ฝ่ายธุรการทั่วไปปรับเป็นธุรการคดี ทำคดีอายัดได้ โดยเฉพาะคดีที่ไม่ซับซ้อนที่ไม่จำเป็นต้องใช้นิติกร ซึ่งจะช่วยลดงานนิติกรลงได้มาก รวมทั้งยังเป็นโอกาสได้ค่าตอบแทนจากความสามารถเพิ่มขึ้นด้วย”

วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกรับบริบทเศรษฐกิจใหม่

“รื่นวดี”กล่าวว่า กรอบการเดินหน้าของกรมบังคับคดี เหมือนกับกรอบที่รัฐบาลวางไว้ว่าต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามวาระปฏิรูปประเทศ ต้องเดินไปตามกรอบนโยบายรัฐบาล ซึ่งในยุทธศาสตร์ชาติกรมบังคับคดีมีส่วนเกี่ยวข้อง 2 เรื่อง เรื่องแรก ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องที่สอง เชื่อมโยงของภาครัฐ ซึ่งก็พยายามทำ ส่วนด้านปฏิรูปประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด 11 วาระกรมบังคับคดีได้เสริมความเห็นไป 5 ด้านคือบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกัน พื้นฐานคือกลไกต้องเดินไปตามระบบดิจิทัลให้ได้

“งานด้านกฎหมายถือว่าได้ทำไปค่อนข้างมากแล้ว สิ่งที่อยากเห็นที่สุดคืออยากเห็นการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนงานจัดการ เพราะอาจจะมีโจทย์ข้างหน้าในบริบทเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องคำนึงถึง อีกด้านหนึ่งที่ต้องทำต่อเนื่องคือการสร้างการรับรู้ด้านกฎหมายกับประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องทำต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกพื้นที่”

ไทยพับลิก้าปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยคำถามว่า จากที่เข้ามาในช่วงแรกแล้วมีแนวทางทำงานแบบตั้งคำถาม ขณะนี้คนในกรมเกิดการตั้งคำถามตามบ้างหรือไม่ รื่นวดีตอบว่า “ไม่สามารถตอบแทนคนในกรมได้ว่าตั้งคำถามหรือไม่ แต่คนในกรมได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำมาตอบโจทย์อะไรได้บ้าง การทำงานสะดวกขึ้น ประชาชนก็มีคำถามน้อยลง การทำงานก็มีความสุขขึ้น ไปที่ไหนก็มีแต่คนให้กำลังใจ มีคำถามก็พร้อมจะตอบ รวมทั้งเห็นแล้วว่าโจทย์ที่ทำทั้งหมดคือการตอบโจทย์ของประเทศที่รัฐบาลเน้นเรื่องยุทธศาสตร์ รู้แล้วว่างานของเขาส่งผลผลิตไปถึงระบบเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ”

“เป็นการเปิดแนวคิดใหม่ให้กรมบังคับคดี เปิดโลกทัศน์ให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตอบโจทย์ความเชื่อมั่นของประเทศ ซึ่งปีนี้ดีขึ้นถึง 20 อันดับ ส่วนหนึ่งเป็นชาวบังคับคดีที่ทำให้ดีขึ้น เป็นชาวพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ทำให้คะแนนขึ้น รวมทั้งเปิดมุมมองใหม่ถึงการทำงานเชิงบวกที่ช่วยให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น”

“รื่นวดี”กล่าวย้ำอีกว่า การทำงานยึดประชาชนเป็นหลัก ทำให้การติดต่อของประชาชนมีความสะดวก รวดเร็วและโปร่งใส เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งระยะเวลากว่า 3 ปี ก็ถือว่าได้ปรับเปลี่ยนได้พอสมควร สร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงให้คนบังคับคดีแล้ว จากนี้ไปก็ทำต่อและทำหนักด้วยเพราะเป็นปีแห่งการปฏิรูปตามที่รัฐบาลประกาศ