ThaiPublica > เกาะกระแส > คนคลังข้องใจคำวินิจฉัยเลขาฯกฤษฎีกา “กู้เงินจำนำข้าว 1.3 แสนล้าน” เชื่อว่าผิดรธน. แต่ผอ.สบน.พร้อมกู้รอแค่คำสั่งรมต.คลัง

คนคลังข้องใจคำวินิจฉัยเลขาฯกฤษฎีกา “กู้เงินจำนำข้าว 1.3 แสนล้าน” เชื่อว่าผิดรธน. แต่ผอ.สบน.พร้อมกู้รอแค่คำสั่งรมต.คลัง

28 มกราคม 2014


ม็อบชาวนา รวมตัวกันปิดถนนประท้วง ทวงเงินจำนำข้าว พร้อมที่จะยกระดับขึ้น ขณะที่รัฐบาลรักษาการโดยเฉพาะอาการของขุนคลัง”กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ตอนนี้ จึงต้องวิ่งหาเงินอย่างหน้าดำคร่ำเครียด

กระบวนการจัดหาแหล่งเงินกู้มาสนับสนุนโครงการจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 เริ่มต้นวันที่ 6 มกราคม 2557 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เรียกประชุมคณะกรรมการฯ อาศัย “เทคนิคของกฎหมายหนี้สาธารณะ”ปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจบางรายลง เพื่อเปิดวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.3 แสนล้านบาท

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ระบุว่า “รัฐบาลรักษาการไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือ โครงการ หรือ มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป” ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท ที่ประชุม ครม. จึงมอบหมายให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำเรื่องสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มา : http://www.mcot.net
นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ที่มา: http://www.mcot.net

หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้ว นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือตอบข้อหารือกลับมาว่า “การดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนงาน (การปรับลดวงเงินกู้และวงเงินค้ำประกันบางโครงการลง และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงกรณีรักษาการ ครม. มีมติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้ กำหนดเงื่อนไขของการจัดหาเงินกู้) ไม่เข้าข่ายมาตรา 181 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ 2550

ทั้งนี้เนื่องจากการปรับเปลี่ยนแผนงานดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 3.32 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมติจาก ครม. ก่อนยุบสภา ไม่ถือว่าเป็นการอนุมัติงาน หรือ โครงการใหม่ หรือ มีผลผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ตามที่ ครม. รักษาการมีมติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเลขาธิการกฤษฎีกา สรุปวินิจฉัยออกมาว่า “การดำเนินการกู้เงินและค้ำประกันวงเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ตามมติ ครม.”

แหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับเพื่อนข้าราชการใน สบน. หลายคนรู้สึกวิตกกังวล และเป็นห่วงเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. เนื่องจากคำวินิจฉัยของเลขาธิการกฤษฎีกาไม่ใช่คำพิพากษาของศาล ในทางปฏิบัติไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ส่วนราชการจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ก็เป็นการใช้ดุลยพินิจ

แหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกล่าวต่อว่า กรณี ครม. รักษาการมีมติให้ สบน. จัดหาเงินกู้ และค้ำประกันให้ ธ.ก.ส. ในความเห็นของตนน่าเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) โดยเฉพาะท่อนที่ระบุว่า “หรือ มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป” อ่านกี่ครั้งก็คิดว่าคำวินิจฉัยของเลขาธิการกฤษฎีกาน่าจะขัดแย้งกับมาตรา 181 (3) ถ้าหากมีผู้ไปร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในอนาคต และผลการพิจารณาสรุปว่ารัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินการได้ การกู้เงินอาจจะถือเป็นโมฆะ ข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดหาวงเงินกู้ลอตนี้ อาจจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ด้านน.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สบน. เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือตอบข้อหารือจากเลขาธิการกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้น ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า สบน. สามารถจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ได้ การดำเนินการดังกล่าวนี้ไม่เข้าข่ายกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) เพราะไม่ได้มีการอนุมัติงาน หรือโครงการใหม่ที่มีผลผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป ผลการวินิจฉัยของเลขาธิการการกฤษฎีกาครั้งนี้ครอบคลุมหลายประเด็น อาทิ การจัดหาเงินกู้, การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกู้เงิน และการค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลเป็นผู้กู้เงินมาปล่อยกู้ต่อให้กับรัฐวิสาหกิจด้วย การดำเนินการทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินตามที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ครม. ก่อนยุบสภา

“ทันทีที่ได้รับหนังสือตอบข้อหารือจากคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการ สบน. จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนการจัดหาแหล่งเงินกู้เสนอปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติอย่างเร่งด่วน” น.ส.จุฬารัตน์กล่าว

ต่อกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าความเห็นกฤษฎีกาไม่ใช่คำพิพากษา ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย หากอนาคตมีองค์กรอิสระตัดสินว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) เป็นโมฆะจะทำอย่างไร น.ส.จุฬารัตน์ตอบว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแก่รัฐบาล เมื่อรัฐบาลทำหนังสือหารือไปแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยออกมาว่าทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วจะให้รัฐบาลทำอย่างไร ถ้าไม่ทำถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือเปล่า ในฐานะที่เป็นข้าราชการ ก็ระวังประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน ตอนนี้ สบน. ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น คงต้องรอจนกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหนังสือแจ้งมาที่ สบน. อย่างเป็นทางการ ถึงจะดำเนินการต่อไป”

แหล่งข่าวจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะเปิดเผยว่า รูปแบบในการจัดหาแหล่งเงินกู้หลักๆ มี 2 วิธี คือ 1) กระทรวงการคลังออกพันธบัตรรัฐบาลกู้เงินไปปล่อยกู้ต่อให้ ธ.ก.ส. 2) ธ.ก.ส. เป็นผู้กู้ โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับรูปแบบแรก คงต้องใช้เวลานานหลายเดือน เนื่องจาก สบน. ไม่ได้เตรียมแผนการจัดจำหน่ายพันธบัตร ยังไม่ได้เปิดคัดเลือกผู้รับประกันการจัดจำหน่าย และต้องรอดูจังหวะขายด้วย หากนำพันธบัตรออกขายช่วงนี้ เกรงว่าจะไม่มีนักลงทุนที่ไหนกล้าซื้อ ส่วนวิธีที่ 2 กระทรวงการคลังออกหนังสือเชิญชวนสถาบันการเงินร่วมปล่อยกู้ ธ.ก.ส. โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้รูปแบบนี้ มีธนาคารพาณิชย์เอกชนร่วมปล่อยเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. นำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว แต่ในระยะหลังๆ เหลือเพียงธนาคารออมสินแห่งเดียวที่ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ส่วนธนาคารกรุงไทยไม่ได้ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. แล้ว เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

หลังจากมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังจะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับ ธ.ก.ส. โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน หรือเชิญชวนให้ธนาคารออมสินมาลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล วันที่ 27 มกราคม 2557 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสินออกมาเคลื่อนใหวคัดค้านไม่ให้ผู้บริหารของธนาคารนำเงินฝากของประชาชนไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลทุกช่องทาง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทางสหภาพแรงงานธนาคารออมสินจึงขอเชิญชวนสมาชิกทุกคนแต่งชุดดำเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญ ในวันพุธที่ 29 มกราคม 2557 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมเพชรรัตน์ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เพื่อแสดงพลัง คัดค้านโดยพร้อมเพรียงกัน

ในวันเดียวกันนั้น นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการและโฆษก ธ.ก.ส. ออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทั่วประเทศ ว่าธนาคารขอยืนยันจะไม่นำเงินฝากของประชาชนไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เงินที่จะนำมาจ่ายให้เกษตรกรต้องเป็นเงินที่มาจากการระบายข้าวและเงินที่รัฐบาลเป็นผู้จัดหาให้เท่านั้น ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่ากระทรวงการคลังสามารถดำเนินการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทได้ โดยจะกู้เงินลอตแรก 20,000 ล้านบาท และจะทยอยกู้ไปจนครบวงเงิน หลังจากที่ ธ.ก.ส. ได้รับเงินกู้จากกระทรวงการคลังรวมกับเงินที่ได้จากการระบายข้าว ธนาคารจะเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรทันที คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือนมีนาคม 2557 ขอให้ผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการสาขา ทำความเข้าใจกับพนักงานให้ทราบโดยทั่วกัน และขอให้ช่วยกันชี้แจงต่อเกษตรกรและลูกค้าเงินฝาก