พิเศษ เสตเสถียร
ในปัจจุบันนี้มีการพูดถึง blockchain กันอย่างมากมาย มีการพูดถึง blockchain กันว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกเลยทีเดียว เพราะอะไร ๆ ก็จะใช้ blockchain กันแทบทั้งหมด รวมทั้งกฎหมาย
เหตุที่อะไรๆ จะมาใช้ blockchain นั้นก็เพราะ blockchain เป็นเทคโนโลยีใหม่ เป็นระบบที่เหมือนกับทุกคนมีบัญชีส่วนตัวแล้วใช้บัญชีนั้นติดต่อทำธุรกรรมกันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การโอนทรัพย์สิน การเก็บข้อมูลทางทะเบียน ฯลฯ ที่สำคัญ ไม่ต้องผ่านคนกลาง ไม่ว่าจะเป็นนายทะเบียน ธนาคาร โบรกเกอร์ ฯลฯ อีกต่อไป อีกหน่อยก็อาจจะไม่ต้องมีนักกฎหมายมาทำสัญญาให้วุ่นวาย เพราะการติดต่อทำธุรกรรมต่างๆ คู่กรณีสามารถทำได้โดยตรง
ในธุรกิจการเงินการธนาคาร มีการกล่าวถึง blockchain กันค่อนข้างมาก ด้วยเหตุเพราะเป็นธุรกิจประเภทแรกที่จะใช้ blockchain ไม่ว่าการโอนเงินหรือชำระเงินในระบบธนาคาร การซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ถ้า blockchain ทำได้จริง อาชีพคนกลางเกี่ยวกับธนาคาร สถาบันการเงิน หรือตลาดหลักทรัพย์ ก็คงจะลดน้อยลงเรื่อยๆ
สำนักกฎหมาย O’Melveny & Myers LLP ได้กล่าวในบทความชื่อ Blockchain and Financial Services: Hype or Herald? ว่า Overstock.com ซึ่งเป็นเว็บเกี่ยวกับการขายของ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า จะขายหุ้นออกใหม่และทำการซื้อขายกันโดย blockchain ผ่าน platform ชื่อ t0 (ทีศูนย์) ของตนในเดือนธันวาคม 2016 นี้ ซึ่งคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดย Overstock.com จะได้ขายหุ้นบุริมสิทธิที่เรียกว่า Blockchain Series A Preferred Stock และหุ้นดังกล่าวจะมีซื้อขายอยู่บน platform t0 เท่านั้น แต่ที่แตกต่างจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็คือ การใช้เทคโนโลยี blockchain ทำการซื้อขาย ซึ่งทำให้การซื้อขาย การส่งมอบ และการชำระราคา เกิดขึ้นได้โดยทันที ไม่มีระยะเวลาของการส่งมอบและชำระราคาหลักทรัพย์ (เช่น T+3) อีกต่อไป
และเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม บริษัทบัตรเครดิต Visa ก็ประกาศว่าจะทำการทดลองโอนเงินระหว่างประเทศตามเวลาจริง (real-time) ซึ่งจะเป็นการท้าทายต่อระบบการโอนเงินระหว่างประเทศที่เรียกว่าระบบ SWIFT ในปัจจุบัน โดยระบบที่ทดลองนี้จะทำให้ความซับซ้อนลดลง และที่สำคัญ จะลดค่าใช้จ่ายของการโอนเงินระหว่างประเทศลงได้อย่างมาก
หรือในเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ก็ได้ออกระบบ Nasdaq Linq ในการจัดสรรหลักทรัพย์แบบส่วนบุคคลเป็นครั้งแรกโดยใช้ blockchain
เป็นที่คาดการณ์กันว่า ในปีหน้าคือ 2017 นี้ สถาบันการเงินในสหรัฐฯ จะใช้เงินกว่า 1 พันล้านเหรียญเกี่ยวกับ blockchain ดังนั้น การใช้ blockchain ในทางธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจการเงินจึงเป็นเรื่องจริง มิใช่เป็นเพียงการคาดการณ์แต่อย่างใด
กฎหมายเกี่ยวกับ blockchain
คราวนี้ เมื่อมีการใช้กันแพร่หลายก็ต้องมีกฎหมายมาควบคุม ทุกคนคงสนใจว่า กฎหมายเกี่ยวกับ blockchain หน้าตาจะเป็นอย่างไร ก็ต้องตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายเรื่อง blockchain โดยตรงแต่อย่างใด มีความพยายามทำกฎหมายเรื่องนี้อยู่หลายแห่งหลายสถาบัน แต่ก็ยังไม่ลงตัว ตอนนี้มีเพียงกฎหมายเกี่ยวกับเงินตราเสมือน (virtual currency) เช่น bitcoin ที่เรามักได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ ซึ่งกฎหมายส่วนมากจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน และการรู้จักลูกค้าของสถาบันการเงินที่เรียกว่า KYC (Know Your Customer)
ในเดือนพฤษภาคม 2015 บริษัท Ripple ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนา blockchain ชั้นนำก็ถูก FinCEN (Financial Crimes Enforcement Network) ปรับเป็นเงิน 700,000 ดอลลาร์ ในฐานที่ไม่มีมาตรการป้องกันการฟอกเงินอย่างเพียงพอ ตัวอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของกฎหมายในเรื่องนี้ เช่น
<
-
li>SEC ได้ระบุในคำบังคับทางกฎหมาย (enforcement action) ว่า สัญญาการสร้าง bitcoin บางประเภทเป็น “หลักทรัพย์” (SEC v. Homero Joshua Garza, et al)
- ในเดือนสิงหาคม 2015 รัฐ New York เริ่มควบคุมบริษัทที่เกี่ยวกับเงินตราเสมือนโดยการให้บริษัทเหล่านั้นมาจดทะเบียน BitLicense
- คณะกรรมการ Commodities Futures Trading Commission ได้ยืนยันว่า bitcoin เป็นสินค้าล่วงหน้า (commodity) เมื่อเดือนกันยายน 2015
กฎหมายเกี่ยวกับ Smart Contract
เมื่อพูดถึงเรื่อง blockchain ก็ต้องพูดถึง smart contract ซึ่งเป็นสัญญาแบบอัตโนมัติที่ใช้ในการทำสัญญาด้วยblockchain
smart contract คือสัญญาที่ระบบจะเข้าทำให้เองเมื่อคู่กรณีตกลงกัน ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ง่ายที่สุดก็เช่น สัญญาซื้อน้ำอัดลมจากตู้ขายอัตโนมัติ เมื่อผู้ซื้อหยอดเหรียญเข้าไป เครื่องก็จะส่งน้ำอัดลมตามเงื่อนไขที่เลือกไว้ออกมาให้ เป็นสัญญาซื้อขาย มีการชำระราคาและส่งมอบทันที ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องเจรจาต่อรองข้อกำหนดต่างๆ ในสัญญาอีก
ในทำนองเดียวกัน คู่สัญญาที่อยู่ใน blockchain เมื่อตกลงกันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ smart contract ก็จะทำให้สัญญามีผลบังคับทันที และบางทีก็ไม่รู้ว่าคู่สัญญาคือใครด้วย
ในทางการเงิน สัญญาที่มีลักษณะแบบนี้ก็จะใช้ประโยชน์ได้ในการโอนเงินทุนต่างๆ ระหว่างคู่สัญญาเมื่อได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน สัญญาแบบนี้ก็ใช้ได้กับสัญญาอื่นๆ เช่น การขายที่ดินหรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
ดังนั้น การใช้ blockchain จึงต้องเกี่ยวข้องกับการทำ smart contract ด้วยเสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันต่อไปว่า การทำสัญญาด้วย blockchain โดยใช้ smart contract นั้น ควรจะมีข้อกำหนดอย่างไร จะต้องแตกต่างจากการทำสัญญาธรรมดาตรงไหนบ้าง
Blockchain กับตราสารอนุพันธ์
เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา International Swaps and Derivatives Association, Inc. หรือที่ผู้ซึ่งอยู่ในวงการอนุพันธ์รู้จักกันดีในชื่อย่อของ ISDA ก็ได้ออกเอกสารชื่อ The Future of Derivatives Processing and Market Infrastructure กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้ระบบ automation และปรับปรุงระบบการซื้อขาย การส่งมอบและการชำระราคา การให้หลักประกัน และการรายงาน
ในรายงานนี้ได้พูดถึง blockchain ด้วยว่ากำลังเป็นที่สนใจศึกษาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอนุพันธ์ทุกฝ่าย และถ้า blockchain เข้ามาเป็นระบบสำคัญของการค้าอนุพันธ์และตลาดทุนแล้วจริง ก็จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายมากำกับดูแลต่อไป
Blockchain กับภาษีอากร
เรื่องภาษีอากรดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนที่สุดของกฎหมายเกี่ยวกับ blockchain เช่น เรื่องภาษีเงินได้ ตามธรรมดาในการทำสัญญาก็ต้องระบุคู่สัญญาว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน แล้วจึงจะไปเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้ตามสัญญา แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การทำสัญญาโดยใช้ blockchain (ผ่าน smart contact) ทำโดยไม่ระบุชื่อคู่สัญญาว่าเป็นใคร ดังนี้ ก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับภาษีตามมา หรือสัญญาระหว่างประเทศ เช่น การทำสัญญาเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อ hedge ค่าของทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ แบบนี้จะถือว่ามีกำไรหรือขาดทุนจากการ hedge เกิดขึ้น มีภาระภาษีโดยใช้หลักดินแดนใด เพราะสัญญาทำในประเทศหนึ่ง แต่ตัวทรัพย์สินอยู่อีกประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ ในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มหรืออากรแสตมป์ก็ยังไม่มีความชัดเจนอยู่อีกหลายประการเช่นเดียวกัน
ถึงแม้จะยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายและสัญญาที่เกี่ยวกับ blockchain แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่า blockchain คงจะมีบทบาทในเรื่องต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาการทางกฎหมายก็คงจะตามมา บรรดานักกฎหมายก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง blockchain