ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด เกษตรกรและชาวนาต่างได้รับการโอบอุ้มด้วยมาตรการต่างๆที่ใช้ชื่อเรียกไม่ซ้ำกันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นมาตรการทำซ้ำ และทำซ้ำทุกๆปี และมาตรการส่วนใหญ่เป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น ขณะที่ภาคเกษตร ชาวนามีปัญหาพื้นฐานที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง เมล็ดพันธ์ุ การใช้สารเคมี รวมทั้งคุณภาพของผลิตผล เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องทำอย่างบูรณาการจริงๆ
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต่างจากรัฐบาลอื่นๆที่ผ่านมาในการช่วยเหลือชาวนา เข้ามาบริหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งในช่วงปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2558 รายงานสภาวะเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า ภาคการเกษตรของไทยกำลังประสบปัญหา จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวตกต่ำ รายได้ของเกษตรกรหดตัวลงอย่างมากในรอบหลายปี ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งพืชเกษตรที่ประสบปัญหาหนักคือ ข้าวและยางพารา ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ถ่วงการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
จากสถานการณ์ดังกล่าวรัฐบาลจึงออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระดับฐานรากซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กว่า 35% อยู่ในภาคเกษตร หรือประมาณ 25 ล้านคน และเนื่องจากประชากรในภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นชาวนา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาต้องเผชิญปัญหาตั้งแต่ “วิกฤตจำนำข้าว” ในปี 2556-2557 ต่อเนื่องถึงช่วงปี 2558-2559 พบกับ “วิกฤติภัยแล้ง” ที่หนักที่สุดในรอบ 30 ปี ด้วยอิทธิพลของปรากฎการณ์เอลนินโญ่ ส่งผลให้น้ำในเขื่อนหลักเหลือน้ำสำหรับใช้ไม่ถึง 1,000 ลบ.ม. จนทำให้กรมชลประทานต้องประกาศให้เกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยางดทำนาปีไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 และต่อเนื่องด้วย “สถานการณ์น้ำท่วม” ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2559 ทำให้พื้นที่นาในหลายจังหวัดเสียหายนับพันไร่ อาทิ จ.พิษณุโลก ที่นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายถึง 60,000 ไร่ มีชาวนาได้รับผลกระทบกว่า 5,700 ราย เป็นวงเงินความเสียหายมากกว่า 70 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
2 ปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้วงเงินในการช่วยเหลือชาวนาผ่านการให้ความช่วยเหลือผ่านการให้เงินอุดหนุนโดยตรง และสินเชื่อ รวม 591,282 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่ให้การช่วยเหลือชาวนาโดยตรงจำนวน 162,321 ล้านบาท เป็นมาตรการด้านการเกษตรอื่นๆ ที่คาบเกี่ยว อีกจำนวน 219,231 ล้านบาท และมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเป็นวงเงิน 209,730 ล้านบาท โดยไทยพับลิก้ารวบรวมข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงพาณิชย์
รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทุกขั้นตอนการผลิต เริ่มตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูก เช่น โครงการการลดต้นทุนการผลิต โครงการการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ดี ขณะเพาะปลูก เช่น โครงการสินเชื่อให้ชาวนาผู้ผลิตข้าวแปลงใหญ่ (ปัจจุบันถูกควบโครงการรวมกับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 2,000 แปลง กรอบวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท) โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 (เฉพาะของกระทรวงเกษตรฯ 8 มาตรการ และและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 มาตรการ รวม 17 มาตรการ เป็นเงิน 204,985 ล้านบาท) หลังเพาะปลูก เช่น โครงการชะลอการขายข้าว หรือจำนำยุ้งฉาง โครงการการลดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการอย่างโรงสีเก็บข้าวไว้ในสต็อก ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือในช่วงว่างเว้นจากการเพาะปลูก เช่น โครงการปลูกพืชหมุนเวียน หรือการพยายามช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมให้ไปทำเกษตรอย่างอื่น
จากรายงานเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2559 ชี้ว่าภาคเกษตรเริ่มมีการฟื้นตัวอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่ง นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ได้เปิดเผยถึง 17 โครงการช่วยเหลือชาวนาในปีการผลิต 2559/2560 ว่า รัฐบาลได้ตั้งวงเงินไว้ประมาณ 102,784.95 ล้านบาท หลายโครงการเป็นโครงการเก่าของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเข้ามาพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำในช่วงผลผลิตกระจุกตัว ซึ่งจะมีมาตรการเพื่อดำเนินโครงการดูดซับผลผลิตในฤดูการเก็บเกี่ยว เบื้องต้นได้ตั้งวงเงินไว้ที่ 41,566.21 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ 36,241.74 ล้านบาท และงบประมาณในการอุดหนุนโครงการ 5,324.47 ล้านบาท
เหล่านี้คือมาตรการช่วยชาวนาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา