ThaiPublica > เกาะกระแส > มลภาวะโลก : นักวิจัยชี้สหประชาติ-องค์การระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินจริง

มลภาวะโลก : นักวิจัยชี้สหประชาติ-องค์การระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินจริง

16 พฤศจิกายน 2015


อิสรนันท์ รายงาน

อีกเพียงไม่กี่วัน ผู้แทนจาก 195 ประเทศ จะไปประชุมที่กรุงปารีสในปลายเดือน พ.ย.(30พ.ย.- 11 ธ.ค. 2558) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อร่วมกันสร้างกรอบการทำงานใหม่ในการประเมินความร้ายแรงของปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก รวมทั้งติดตามการกระทำของแต่ละประเทศเพื่อให้ได้ข้อมูลการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกริยาเรือนกระจกที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ก่อนจะมีการลงนามในข้อตกลงใหม่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือน ธ.ค. นิตยสารเนเจอร์ได้ตีพิมพ์ผลงานการวิจัยชิ้นใหม่ที่น่าสนใจยิ่งของศาสตราจารย์ Corinne Le Quere ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทินดอลล์แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียในอังกฤษ

Corinne Le Quere ที่มาภาพ : http://www.tyndall.ac.uk/sites/default/files/images/corinne_crop.jpg?1371567216
Corinne Le Quere ที่มาภาพ : http://www.tyndall.ac.uk/sites/default/files/images/corinne_crop.jpg?1371567216

ในงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อราวกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาตอกย้ำว่าปัญหาโลกร้อนนั้นคงยากแก้ไขให้ตรงจุดได้ตราบใดที่นานาประเทศใช้ข้อมูลและสถิติต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง โดยศาสตราจารย์ Corinne Le Quere ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าทั้งสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์การทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปต่างให้ข้อมูลการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกของจีนสูงกว่าความเป็นจริงมากตลอดช่วงกว่าหนึ่งทศวรรรษที่ผ่านมา ดังตัวอย่างเมื่อปี 2556 ที่พบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนน้อยกว่าตัวเลขที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ระหว่างการประชุมปัญหาโลกร้อนถึง 14 เปอร์เซ็นต์ และจากการรวบรวมตัวเลขจริงระหว่างปี 2543-2556 พบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนน้อยกว่าที่ประเมินไว้ถึง 3,000 ล้านตัน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกในแต่ละปี

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจีนจะปล่อยก๊าซที่ก่อปฏิกริยาเรือนกระจกน้อยกว่าที่ประเมินไว้มาก แต่จีนก็ยังเป็นประเทศที่ครองแชมป์ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ทิ้งห่างสหรัฐฯ ที่ตามมาเป็นอันดับสอง แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ทำให้ความแม่นยำในการคาดการณ์ภาพรวมของภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคย นั่นก็คือ โลกร้อนขึ้นเพราะปฏิกริยาเรือนกระจกจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศโลกหลายคนเสริมว่างานวิจัยชิ้นนี้เท่ากับกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการมีข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ ส่วนความผิดพลาดของข้อมูลที่ใช้อ้างอิงนั้น ต้าป๋อ กวน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิงหัวในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ให้ความเห็นว่ามาจากความยากลำบากในการประเมินปริมาณการบริโภคถ่านหินจำนวนมหาศาลในจีน เนื่องจากถ่านหินที่ใช้นั้นล้วนแต่เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมากกว่าถ่านหินที่ใช้ในสหรัฐฯ และยุโรป

ศาสตราจารย์ Corinne Le Quere ยังเสริมด้วยว่า ควรจะยกย่องชมเชยจีนที่เร่งปรับปรุงสถิติข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องมากขึ้นแม้จะมีปัญหาในการจัดเก็บข้อมูล เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่และมีอุตสาหกรรมมากมาย ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมล้วนแต่ปล่อยก๊าคาร์บอนในปริมาณไม่เท่ากัน แต่การใช้ถ่านหินเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวม

รายงานชิ้นนี้มีขึ้นขณะที่ธรรมชาติกำลังเอาคืนมนุษย์ ผู้เป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุดจนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนติดตามมาโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทั่วทุกภูมิภาคในทุกทวีปต่างเผชิญกับอากาศวิปริตทุกรูปแบบกันถ้วนหน้า จากคลื่นความร้อนในเอเชียใต้สู่ยุโรปแล้ววกกลับมาที่ตะวันออกกลางโดยเฉพาะอียิปต์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมพื้นที่ในวงกว้างโดยเฉพาะภาคใต้ของประเทศ ด้วยอุณหภูมิที่พุ่งสูงถึง 47 องศาเซลเซียสแล้วกว่า 60 ราย อีกกว่าครึ่งพันมีอาการอ่อนเพลียจากลมแดด ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ ผู้ป่วยโรคจิต และนักโทษในเรือนจำต่างๆ โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอียิปต์แถลงว่า อุณหภูมิในกรุงไคโรและหลายพื้นที่สูงกว่าปกติราว 4-5 องศา

ขณะที่เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะมังกรน้อยไต้หวันและแถบมณฑลชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของมังกรใหญ่จีน ต่างเผชิญกับมหาพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ตามติดด้วยน้ำท่วมและดินถล่ม ประชาชนนับล้านได้รับความเดือดร้อน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในแดนมังกรคิดเป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านหยวน (ราว 45,000 ล้านบาท)

เช่นเดียวกับที่เมียนมาและกัมพูชาซึ่งเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนกว่าล้านคนใน 2 ประเทศได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเมียนมาร์ ซึ่งรัฐบาลต้องประกาศให้ 4 พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกเป็นเขตภัยพิบัติแห่งชาติ หลังจากเกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มอย่างรุนแรง โดยพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงที่สุดคือรัฐฉิ่นและยะไข่ทางตะวันตก

นอกจากนี้ยังเกิดมหาอุทกภัยและดินถล่มขึ้นที่เวียดนามและในหลายรัฐในอินเดียและปากีสถาน มีผู้เสียชีวิตรวมกันราว 100 คน

ตรงข้ามกับแดนอาทิตย์อุทัยญี่ปุ่นที่เผชิญกับอากาศร้อนจัดที่สุดนับตั้งแต่ย่างเข้าฤดูร้อนเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ถึงวันที่ 2 ส.ค.2558 โดยอุณหภูมิพุ่งทะลุ 35 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่มีอุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียสในช่วงเวลากลางวันติดต่อกันเกือบ 1 สัปดาห์เต็ม ทุบสถิติอากาศร้อนต่อเนื่องยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 140 ปี นับตั้งแต่เริ่มบันทึกข้อมูลเมื่อปี 2418 เป็นต้นมา ทำให้มีผู้ล้มป่วยจนต้องหามส่งโรงพยาบาลกว่า 10,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วกว่า 30 คนภายในช่วงสัปดาห์เดียว ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ในกรุงโตเกียว รองลงมาก็คือโอซากา

คลื่นความร้อนยังแผ่คลุมไปจนถึงเกาะฮอกไกโดและโทโฮคุ ซึ่งปกติแล้วจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี แต่ปีนี้กลับมีอากาศร้อนกว่า 35 องศาเซลเซียส จนทางการต้องรีบแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันโรคลมร้อน โดยให้ดื่มน้ำบ่อยๆ และใช้เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งงดเว้นกิจกรรมกลางแจ้ง

ช่วงเดียวกันนั้น อุณหภูมิที่เซี่ยงไฮ้ก็ร้อนระอุแทบตับแตกพุ่งทะลุเกือบ 40 องศาเช่นกัน จนสามารถทอดไข่สุกกลางแดดได้ใน 15 นาที ขณะที่ประชาชนหลายคนเป็นลมแดดต้องหามส่งโรงพยาบาล บางส่วนต้องหนีร้อนไปหลบตามร้านค้าหรือสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ติดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ หรือดับร้อนโดยการลงเล่นน้ำในสระน้ำ ปล่อยให้สถานที่ท่องเที่ยวกลางแจ้งเงียบเหงา มีเพียงร้านค้าที่เปิดสู้แสงแดดเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 เซี่ยงไฮ้ได้ทำลายสถิติร้อนที่สุดในรอบ 140 ปี ด้วยอุณหภูมิ 40.6 องศาเซลเซียส ร้อนกว่าอุณหภูมิในปีนี้เพียงแค่ราวหนึ่งองศาเท่านั้น

ที่น่าประหลาดใจก็คือ อุณหภูมิที่พุ่งสูงในช่วงฤดูร้อนนานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ทำให้รถยนต์และรถบรรทุกหลายคันเกิดไฟลุกไหม้ขณะแล่นอยู่บนถนนหลวง อาทิ ที่มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกของประเทศ และที่มณฑลเจียงสู ได้เกิดไฟไหม้รถยนต์บนถนนทางหลวงหลายคันนับตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับอันตรายแต่อย่างใด ขณะที่ทางการต้องประกาศเตือนผู้ใช้รถยนต์ให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการขับรถในช่วงอากาศร้อนจัด เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากเครื่องยนต์ร้อนจัด

ส่วนภัยแล้งเกาหลีเหนือยังวิกฤติ แม้จะมีฝนตกในหลายพื้นที่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาติดต่อกว่า 2 สัปดาห์ แต่สำนักงานอุตุนิยมวิทยากลางของรัฐบาลเปียงยางประเมินว่ายังไม่มากพอที่จะช่วยเยียวยาวิกฤติภัยแล้งในประเทศที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีได้ สร้างความเสียหายในพื้นที่วงกว้างที่เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญ

ตรงข้ามกับประเทศไนเจอร์ในทวีปแอฟริกาที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานนับสัปดาห์ ประชาชนกว่า 20,000 คนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายทั้งๆ ที่ยังไม่ทันฟื้นตัวจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปีที่แล้ว

อุทกภัยร้ายแรงนี้ยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปอาละวาดฟาดหางในหลายพื้นที่ในอาร์เจนตินา รวมทั้งที่กรุงบัวโนส ไอเรส และบริเวณที่เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ หลังจากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน ประชาชนอีกกว่า 11,000 คน ต้องอพยพหนีน้ำ

ตรงข้ามกับเอลซัลวาดอร์ ซึ่งแม้จะอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาเช่นกัน แต่กลับเกิดภาวะแล้งจัดอันสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ภูมิอากาศรุนแรงผิดปรกติจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ได้แผ่คลุมพื้นที่ใน 104 เมืองจากทั้งหมด 262 เมือง ทำให้ชาวนากว่าแสนครัวเรือนได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดและถั่วได้ สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,500 ล้านบาท) ภายในช่วงเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น มากกว่าความเสียหายจากภาวะแห้งแล้งเมื่อปีที่แล้วที่มีมูลค่าราว 70 ล้านดอลลาร์

ปรากฏการณ์เอลนีโญยังได้แผ่ครอบคลุมพื้นที่แถบอเมริกากลาง แคริบเบียน และตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางเกษตรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการเดินเรือที่คลองปานามา อันเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญของโลกที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปีเมื่อปีที่แล้ว เมื่อระดับน้ำในทะเลสาบกาตุนและอัลอาคูลาที่หล่อเลี้ยงคลองปานามาลดต่ำลงมากจากผลของภัยแล้งหนักหน่วงที่สุดในรอบ 102 ปี จนทางการต้องงัดมาตรการจำกัดขนาดของเรือที่แล่นผ่านคลองขุดนี้มาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ส่วนที่สหรัฐฯ ก็เหมือนกับผีซ้ำด้ำพลอย เหมือนกับยังไม่สำนึกผิดที่เป็นตัวการทำให้เกิดภาวะแล้งจัดขึ้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) ยังทำการโดยประมาทระหว่างเข้าไปตรวจสอบเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาน้ำเสียรั่วซึมจากเหมืองทอง “โกลด์ คิง มายน์” ในเมืองซิลเวอร์ตัน รัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นเหมืองร้างหลังจากปิดตัวลงมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุเขื่อนกักเก็บสารพิษภายในเหมืองร้างแห่งนั้นแตกเมื่อต้นเดือน ส.ค. ทำให้น้ำปนเปื้อนขยะสารพิษสีส้มกว่า 3 ล้านแกลลอน หรือกว่า 11.3 ล้านลิตร มากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 3 เท่า ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำอานิมาส อันเป็นแหล่งน้ำสาธารณะสำคัญของรัฐ ทำให้แม่น้ำทั้งสายกลายเป็นสีส้มตลอดระยะทาง 90 กิโลเมตร แถมยังมีโลหะหนักหลายชนิดปนเปื้อน อาทิ แคดเมียม อลูมิเนียม ทองแดง แคลเซียม ตะกั่ว และอาร์เซนิก หรือสารหนู และยังไหลเข้าใกล้รัฐนิวเม็กซิโก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ห่างจากพรมแดนของรัฐเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น

ปัญหาน้ำเสียรั่วซึมจากเหมืองทอง “โกลด์ คิง มายน์” ในเมืองซิลเวอร์ตัน รัฐโคโลราโด ที่มาภาพ : http://www.theepochtimes.com/n3/eet-content/uploads/2015/08/20/AP_265262800662.jpg
ปัญหาน้ำเสียรั่วซึมจากเหมืองทอง “โกลด์ คิง มายน์” ในเมืองซิลเวอร์ตัน รัฐโคโลราโด ที่มาภาพ : http://www.theepochtimes.com/n3/eet-content/uploads/2015/08/20/AP_265262800662.jpg

อีพีเอได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นในรัฐโคโรลาโด รัฐนิวเม็กซิโก และพื้นที่แถบนาวาโฮ และยังได้ออกประกาศเตือนประชาชนในบริเวณนั้นห้ามเข้าใกล้ลำน้ำพิษนี้ รวมทั้งระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์มากินน้ำบริเวณนี้โดยเด็ดขาด ช่วงที่สำนักงานควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในรัฐยูทาห์ กำลังทดสอบหาระดับการปนเปื้อนของสารตะกั่วและสารหนูในแม่น้ำซานฮวน ในเมืองฟาร์มิงตัน รัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งไหลมาบรรจบกัน

พร้อมกันนี้ ทางการได้เร่งจัดหาน้ำสะอาดไปแจกจ่ายตามบ้านเรือนเพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนเฉพาะหน้า โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบให้เกิดมลภาวะทางน้ำครั้งร้ายแรงที่สุดนี้ แม้อีพีเอจะยืนยืนยันผลการตรวจคุณภาพน้ำว่ากลับสู่ระดับเดิม ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ตาม แต่นักพิษวิทยาชั้นนำหลายคนเตือนว่าอุบัติเหตุครั้งนี้อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาวหากสัมผัสกับสารพิษจำนวนมาก อาจเป็นโรคไตไปจนถึงโรคมะเร็งทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ขณะที่ประชาชนยังไม่หายตื่นตระหนกจากมลภาวะทางน้ำครั้งร้ายแรงที่สุด ก็เกิดเหตุร้ายซ้ำซ้อนขึ้นมาจากไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในรัฐวอชิงตัน ก่อนจะลามกินพื้นที่กว้างขวางถึง 1.3 ล้านเอเคอร์ (5,260 ตารางกิโลเมตร) ครอบคลุม 10 รัฐทางภาคตะวันตกของประเทศ โดยรัฐไอดาโฮเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าหนักที่สุด มีไฟป่าขนาดใหญ่ที่ยังควบคุมไม่ได้อีก 17 จุด ตามด้วยรัฐวอชิงตัน โอเรกอน และแคลิฟอร์เนีย

ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นในรัฐวอชิงตัน เพื่อไฟเขียวให้รัฐบาลกลางมอบความช่วยเหลือให้แก่รัฐนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมไฟป่าในพื้นที่หลายสิบจุดนับตั้งแต่เกิดไฟป่าเมื่อราวกลางเดือน ส.ค. เป็นต้นมา โดยเฉพาะจุดที่เรียกรวมกันว่า “โอคาโนแกน คอมเพล็กซ์” ทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของรัฐวอชิงตัน ทำให้มีนักดับเพลิงพลีชีพขณะปฎิบัติหน้าที่แล้วอย่างน้อย 3 รายจากนักดับเพลิงจากทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่สนับสนุนเกือบ 30,000 คนที่กระจายกำลังกันควบคุมสถานการณ์ ขณะที่บ้านเรือนกว่า 51,000 หลังเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย

แต่ภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากความประมาทของมนุษย์ใดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็คงไม่สร้างความเสียหายครั้งร้ายแรงที่สุดต่อมนุษย์และต่อมลภาวะในอากาศและในน้ำมากเท่ากับเหตุระเบิดเมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค. ที่โกดังเก็บสารเคมีพิษของบริษัท รุ่ยไห่ อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ในเขตอุตสาหกรรมใหม่ปินไห่ บริเวณท่าเรือนครเทียนจินหรือเทียนสิน ครอบคลุมพื้นที่ 2,270 ตารางกิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งเป็นระยะทาง 153 กิโลเมตร หรือมีขนาดใหญ่กว่าเกาะฮ่องกงถึง 2 เท่าตัว จนถึงขณะนี้ไฟยังคุระอุไม่สามารถดับให้หายสนิท เป็นเหตุให้เกิดปะทุลามเป็นไฟไหม้รอบใหม่ในพื้นที่หลายจุด รวมไปถึงจุดที่เรียกว่า “สุสานรถยนต์” หรือลานจอดรถยนต์รอการส่งออกอย่างน้อย 3,000 คัน ที่ถูกแรงระเบิดระลอกแรกทำลายแทบสิ้นซาก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตขยับพุ่งเป็นอย่างน้อย 116 ราย สูญหาย 60 คน บาดเจ็บจนต้องพักรักษาตัวอยู่ในพยาบาลอีกราว 700 คน

เหตุระเบิดที่โกดังเก็บสารพิษอันตรายได้สร้างความกังวลใหญ่หลวงถึงการแพร่กระจายของสารอันตรายในสิ่งแวดล้อม หลังจากผู้บริหารนครเทียนจินแถลงว่าโกดังนี้ได้เก็บสารอันตราย 40 ประเภท รวมทั้งหมด 2,500 ตัน แบ่งออกเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ สารออกซิไดซ์ที่เป็นต้นเหตุของการระเบิด รวมถึงแอมโมเนียมไนเตรตและโปแตสเซียมไนเตรตจำนวน 1,300 ตัน สารไวไฟ รวมถึงโซเดียมและแมกนีเซียมจำนวน 500 ตัน และสารพิษส่วนใหญ่เป็นโซเดียมไซยาไนด์ที่เก็บไว้ถึง 700 ตัน

โดยสารพิษโซเดียมไซยาไนด์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากชนิด อาทิ การทำเหมืองทอง หรือใช้ในห้องประหารนักโทษในสหรัฐฯ สามารถแตกตัวจากลักษณะเป็นผลึกหรือผงฝุ่นออกมาเป็นก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หากทำปฏิกิริยากับน้ำและแอลกอฮอล์แล้วแพร่กระจายสู่อากาศ เมื่อแห้งจะไม่มีกลิ่น ถ้าหากสูดดมเข้าไปในระดับความเข้มข้นต่ำจะทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ระคายเคืองที่ดวงตาและผิวหนัง หากสัมผัสติดต่อกันเป็นเวลานานอาจจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางและระบบเส้นเลือดหัวใจล้มเหลวได้ สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ชี้ว่า “มีความสามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว” ขณะที่สัตว์ทุกชนิดรวมถึงสัตว์น้ำอาจจะตายทันที ซ้ำร้าย หากสารพิษนี้ตกค้างหรือดูดซับในตะกอนดินจะไม่ถูกทำลายด้วยแสงแดด

“ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” ข่าวร้ายซ้ำซ้อนที่ประดังประเดเข้ามาก็คือถ้อยแถลงของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเทียนจินที่ยอมรับว่าจากผลการตรวจสอบแหล่งน้ำใกล้จุดระเบิด 25 แห่ง ปรากฏว่า 8 แห่งพบสารไซยาไนด์สูงกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยถึง 356 เท่า ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคอาจปนเปื้อนไซยาไนด์จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หลังจากมีข่าวว่าได้เกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติขึ้น เมื่อพบซากปลาเล็กปลาน้อยจำนวนมากลอยติดชายฝั่งแม่น้ำทางตอนเหนือของเมืองเทียนจิน ห่างจากจุดเกิดเหตุระเบิดราว 6 ก.ม.

อย่างไรก็ดี สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครเทียนจินแถลงว่า ผลการตรวจสอบสภาพน้ำในแม่น้ำแล้ว 3 ครั้ง ปรากฏว่าไม่พบสารไซยาไนด์ในตัวอย่างน้ำที่เก็บมาแต่อย่างใด พร้อมกับเท้าความหลังว่าในอดีตก็เคยเกิดเหตุปลาตายหมู่เป็นจำนวนมากที่นครแห่งนี้เพราะขาดออกซิเจน

หลังเกิดโศกนาฎกรรมจากน้ำมือมนุษย์ คณะกรรมการตรวจสอบวินัยประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือผู้คุมกฎของพรรค ประกาศจะกวาดล้างทุกคนที่พบหลักฐานว่าทุจริตคอร์รัปชันกรณีอนุญาตให้ตั้งโกดังเก็บสารเคมีพิษกลางชุมชนใหญ่ทั้งๆ ที่ขัดต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดให้โกดังสินค้าอันตรายต้องอยู่ห่างจากอาคารในชุมชนอย่างน้อย 1 กิโลเมตร แต่โกดังรุ่ยไห่กลับอยู่ห่างแค่ 600 เมตร แถมยังรายรอบด้วยอาคารบ้านเรือน โรงพยาบาล ถนนสายหลักหลายสาย ทางรถไฟ

และแม้จะถูกครหาว่า “วัวหายล้อมคอก” แต่ทางการก็เดินหน้าสั่งตรวจโกดังวัตถุไวไฟทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย นอกเหนือจากขู่จะเงื้อดาบฟันผู้ประกอบการสถานหนัก หากพบว่าทำผิดกฎหมายความปลอดภัยในโรงงาน

ด้านสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งรับประกันความโปร่งใสในการสอบสวนโศกนาฏกรรมนี้ รวมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล อาทิ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างฉับไวทันทีและมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยบรรเทาหรือป้องกันหายนะภัยได้