ThaiPublica > เกาะกระแส > “บางจาก” จัด “Thailand Go Green รณรงค์เมืองไทยไร้ขยะ” – ชี้ไทยกำจัดขยะอันตรายถูกวิธีเพียง 1%

“บางจาก” จัด “Thailand Go Green รณรงค์เมืองไทยไร้ขยะ” – ชี้ไทยกำจัดขยะอันตรายถูกวิธีเพียง 1%

17 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประกวดโครงการ Thailand Go Green ปี 2559 ในหัวข้อ “เมืองไทยไร้ขยะ” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ ร่วมคิดค้นนวัตกรรมสีเขียว และปรับพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การลดการสร้างขยะใหม่ ซึ่งจะช่วยการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 ᵒC

dsc_0961-640x427

โดยมี พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบรางวัลแก่โรงเรียนที่ชนะเลิศการประกวดโครงการ Thailand Go Green ปี 2558 ในงานดังกล่าวมีวิทยากรร่วมบรรยายในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หัวข้อ “ลดขยะ ลดมลพิษ ลดโลกร้อน” ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หัวข้อ “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกร้อนเกิน 2 ᵒC” นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมระดมสมองในหัวข้อ “ก้าวข้ามกำแพงความคิด ปฏิวัติพฤติกรรม … สู่เป้าหมาย เมืองไทยไร้ขยะ”

ปี 59 คนไทยผลิตขยะรวมระยะทางกว่าค่อนโลก

พล.อ. ดาว์พงษ์ กล่าวว่า เรื่องของขยะนั้นถือเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งขยะมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเดิมในปี 2551 มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 24 ล้านตัน ขยับมาเป็น 27 ล้านตันในปี 2558 และปัจจุบันปี 2559 มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 30 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าการผลิตขยะต่อคนนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกคนล้วนเป็นผู้ผลิตขยะ ในแต่ละปีมีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี คนไทยสร้างขยะ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ผนวกรวมกับขยะจากนักท่องเที่ยว คิดเป็น 73,560 ตันต่อวัน

“ในปี 2559 มีปริมาณขยะ 28 ล้านตันที่ยังตกค้างอยู่ ซึ่งหากนำมาเกลี่ยบนถนน 1 เลน จะได้ระยะทางประมาณ 3 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งเส้นรอบโลกมีระยะอยู่ที่ 4 หมื่นกิโลเมตร รัฐบาลเองก็มีความพยายามที่จะนำขยะมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น โครงการที่ดำเนินงานอยู่นั้นถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว” พล.อ. ดาว์พงษ์ กล่าว

ในส่วนของโรงเรียน ปัจจุบันได้มีการบูรณาการงบประมาณเพื่อทำโครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School เป็นการบริหารขยะจากโรงเรียนสู่ชุมชน ซึ่งการปรับพฤติกรรมของเด็ก เช่น การไม่ซื้อของเกินจำเป็น ลดหรือเลิกใช้พลาสติกหรือโฟม จัดการขยะที่เกิดจากอาหารหรือของกินของใช้ จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะใหม่ให้น้อยลงได้

ไทยกำจัดขยะอันตรายถูกวิธีเพียง 1% – เร่งลดปริมาณขยะ

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ด้าน ดร.วิจารย์กล่าวว่า เรื่องขยะไม่ใช่เรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือกรมควบคุมมลพิษเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน เนื่องจากทุกคนล้วนเป็นผู้ผลิตขยะ ซึ่งตามที่ พล.อ. ดาว์พงษ์ กล่าวไปนั้น วันหนึ่งๆ ประเทศไทยสร้างขยะคิดเป็น 73,560 ตันต่อวัน คิดเป็นปริมาณ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการนำขยะไปใช้ประโยชน์ (Recycle) ของไทยมีปริมาณค่อนข้างต่ำ

ประเทศไทยมีการจัดการขยะอย่างถูกต้องเพียง 9% ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนการนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดถึง 40-50% เช่นกันกับจัดการกับขยะอันตรายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 500,000 ตันต่อปี แต่สามารถจัดการได้อย่างถูกหลักไม่ถึง 1% ซึ่งน่าเป็นห่วงในเรื่องการปนเปื้อนสารพิษในประเทศไทย นี่คือปัญหาที่เห็น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องมาขับเคลื่อนกันต่อไป

เมืองไทยไร้ขยะ

เมืองไทยไร้ขยะ

“ปัญหาน้ำท่วมที่ประเทศไทยเผชิญ สิ่งนี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่าคนไทยยังไม่มีจิตสำนึกที่ดี เนื่องจากเมื่อฝนตกขยะก็ไหลไปตามกระแสน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา เป็นเพราะเราไม่มีถังขยะ ถังขยะไม่เพียงพอ หรือทิ้งขยะไม่ถูกถัง แล้วขยะจากน้ำก็ไปสู่ทะเล โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะทางทะเลมากที่สุด เป็นรองประเทศจีน เวียดนาม และปากีสถาน ทั้งนี้ ขยะบางประเภท เช่น ขยะพลาสติกมีปัญหาต่อระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลให้เต่าทะเลลดจำนวนลง และอาจกระทบไปถึงการกลายพันธุ์ของปลา” ดร.วิจารย์กล่าว

ดร.วิจารย์กล่าวอีกว่า การที่ต้องแยกขยะ หรือต้องลดการใช้พลาสติกหรือโฟมบางชนิด ก็เนื่องมาจากขยะบางประเภทย่อยสลายค่อนข้างยาก โฟมใช้เวลาถึง 500 ปีในการย่อยสลาย ด้านพลาสติกใช้เวลาประมาณ 100 ปี ซึ่งขยะกับโลกร้อนเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน และเนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับในฐานะสมาชิกของโลกประเทศไทยได้แสดงเจตจำนง INDC (Intended Nationally Determined Contribution) ต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ศักยภาพร้อยละ 20-25 ในปี 2573

ดร.วิจารย์กล่าวต่อไปถึงปัญหาความเชื่อมโยงของขยะกับก๊าซเรือนกระจกว่า เรื่องขยะหากจัดการไม่ถูกต้อง สภาพที่จะเกิดขึ้นคือการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ สร้างก๊าซมีเทนออกมา ซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ดังนั้นจึงต้องจัดการขยะให้ถูกต้อง ในส่วนของเสียที่ประเทศไทยต้องลดตัวเลขอาจไม่มาก แต่สิ่งที่ต้องทำมีเรื่องน้ำเสียจากโรงงานต่างๆ ที่มีสารอินทรีย์สูง ซึ่งหากจัดการไม่ถูกจะเกิดการหมักเป็นก๊าซมีเทนได้เช่นกัน

เมืองไทยไร้ขยะเมืองไทยไร้ขยะ

“ขยะนั้นจริงๆ มีทางไป หากคนไทยสามารถแยกขยะให้ได้มากที่สุด เช่น กรณีที่เด็กๆ ทำโครงการแยกขยะในโรงเรียน เหล่านี้ทำให้ขยะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกัน ขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นก็สามารถหมักทำปุ๋ยได้ ขยะทั่วไปหากมีปริมาณมากพอสามารถนำไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีก แต่อย่างไรก็ตามไทยก็ยังคงมีปัญหา ขยะที่เกิดขึ้นในที่หนึ่งเมื่อจะนำไปจัดการอีกที่หนึ่งก็มักเกิดการต่อต้าน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือการลดขยะที่ต้นทาง”

โครงการ “เมืองไทยไร้ขยะ” ถือว่าสอดคล้องกับการดำเนินงานที่กรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำลังขับเคลื่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีว่าในปี 2560 มีเป้าหมายในการลดขยะที่ต้นทางให้ได้ 5% ใน 3 ขั้นตอน คือ Reduce ใช้น้อยหรือลดการใช้ โดยใช้เท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้อย่างฟุ่มเฟือย Reuse การใช้ซ้ำผลิตภัณฑ์ สิ่งของต่างๆ และ Recycle การคัดแยกและรวบรวมวัสดุเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ และแม้จะยังไม่สามารถดำเนินการได้ 100% แต่การลดปริมาณขยะและจัดการขยะอย่างถูกต้องจะต้องทำต่อไป ทุกหน่วยงานต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกับโรงเรียน ให้เป็นต้นแบบและขยายผลต่อไป

สำหรับ ดร. นำชัย ที่กล่าวบรรยายในหัวข้อ “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียส” ได้กล่าวถึงความสำคัญในการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมินั้น เนื่องจากปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากขั้วโลกใต้ กรณีหมีขาวที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเพราะน้ำแข็งละลาย สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ในประเทศไทย หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาฯ จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงอีก 6 เมตร สิ่งที่ตามมาคือ “กรุงเทพฯ จมน้ำ” รวมถึงผลกระทบในระดับโลกอีกหลายอย่าง แล้วเราจะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ติดตามอ่านรายละเอียดต่อได้ในตอนต่อไป