ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 17-23 ก.ย. 2559
ป้าย “ฝายแม่งผ่องพรรณฯ” ทำวุ่น
หลังจากเว็บไซต์สมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเผยแพร่ข่าวนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา นายกสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ภรรยาของ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม) เป็นประธานมอบฝายชะลอน้ำ ณ อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา (ปางปอย) ต.แม่คะ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยในภาพนั้นมีป้ายระบุชื่อฝายว่า “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต
วันที่ 16 ก.ย. 2559 เว็บไซต์คมชัดลึกได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเป็นคนใกล้ชิดของนางผ่องพรรณว่า ป้ายดังกล่าวเขียนขึ้นมาเพื่อต้อนรับนายกสมาคมแม่บ้านเท่านั้น ไม่ใช่ชื่อฝาย และก็ได้ถอดป้ายออกแล้ว พร้อมทั้งบอกว่าการที่ต้องมีทหารชั้นนายพลไปต้อนรับก็เพราะเป็นพื้นที่ทุรกันดาร เนินเขาหักศอก และฝนตกตลอดทาง จึงเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ และก็มีทหารดูแลกันทุกคน ไม่ใช่แค่นางผ่องพรรณ ส่วนงบประมาณในการสร้างฝายเป็นของกรมกิจการพลเรือนศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ สังกัดศูนย์การปฏิบัติการป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ที่มี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ดูแล
ต่อมา วันที่ 21 ก.ย. 2559 เว็บไซต์เนชั่นรายงาน ว่า พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า การตั้งฝายแม่ผ่องพรรณได้ใช้งบประมาณจากกระทรวงกลาโหมจริง ซึ่งใช้ทั้งสิ้น 7,800 บาท โดยมีชาวบ้านและทหารร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึง พร้อมยืนยันว่า การตั้งฝายแม่ผ่องพรรณดำเนินการตามระเบียบราชการ และสามาถชี้แจงได้ทุกข้อสงสัย
โลกผนึกกำลัง ต้าน “ซูเปอร์บัก”
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า 21 ก.ย. สมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ เตรียมลงนามปฏิญญาว่าด้วยการกำจัดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะที่เป็นภัยคุกคามน่าวิตกที่สุดต่อวงการแพทย์สมัยใหม่ โดยมุ่งหวังให้การรับมือของโลกเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
นับเป็นครั้งที่ 4 เท่านั้น ที่สหประชาชาติรับรองปฏิญญาประเด็นสาธารณสุข หลังจากรับปฏิญญาการขจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีเมื่อปี 2544 โรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็งและเบาหวาน ในปี 2554 และไวรัสอีโบลาในปี 2556
ตามปฏิญญาฉบับนี้ ประเทศภาคีให้คำมั่นว่า จะพัฒนาระบบกำกับดูแลและติดตามการใช้และจำหน่ายยาปฏิชีวนะทั้งสำหรับคนและสัตว์ กระตุ้นส่งเสริมการคิดค้นพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ ยกระดับการวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว ให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลาการแพทย์และสาธารณชนถึงการป้องกันการติดเชื้อดื้อยา โดยประเทศสมาชิกมีเวลา 2 ปี ในการนำเสนอแผนปฏิบัติการ
นักวิทยาศาสตร์เตือนอันตรายของซูเปอร์บักมาตั้งแต่บริษัทยาเริ่มผลิตยาปฏิชีวนะระดับอุตสาหกรรมหลายสิบปีก่อน แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจอย่างจริงจัง เพิ่งช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีผลศึกษาหลายชิ้นกระตุ้นเตือนปัญหาดื้อยาว่าเป็นวิกฤติของโลก โดยมีการประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะติดเชื้อดื้อยาไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะพุ่งทะยานเป็น 10 ล้านคน ภายในปี ค.ศ.2050
สาเหตุเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในคน สัตว์และเกษตรกรรม มากเกินไป การได้รับยานี้ซ้ำๆ เปิดช่องให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้ออื่นรวมถึงเอชไอวี และมาลาเรีย ปรับตัวกลายพันธุ์จนป้องกันตัวเองจากยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งหากยังไร้หนทางรักษาใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการรับมือในระดับโลก อีกไม่นานโรคที่เคยรักษาได้ง่ายๆ อาจกลายเป็นความเจ็บป่วยที่ไม่อาจเยียวยาได้ด้วยยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือกระบวนการรักษาอย่างการผ่าตัดสะโพก และผ่าคลอด อาจกลายเป็นการเสี่ยงอันตรายเกินไป
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การค้นคว้าหายาปฏิชีวนะชนิดใหม่เป็นเรื่องสำคัญ แต่สำคัญไม่แพ้กันคือ จำเป็นต้องลดการใช้ลงให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ และหาทางเลือกใหม่ในการรักษาควบคู่กันไป เช่น เมื่อไม่นานมานี้ เริ่มมีความสนใจในการใช้ไวรัสบางชนิดฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
สั่งฟ้องก่อนให้การเพิ่มเติม “นริศราวัลถ์” หลาน “พลทหารวิเชียร”
วันที่ 22 ก.ย. 2559 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเสียชีวิตระหว่างฝึกซ้อมทหารใหม่ในค่ายทหาร ที่ จ.นราธิวาส และได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ทำให้ถูกร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ ผู้บังคับหน่วยที่พลทหารวิเชียรร่วมฝึกซ้อมทหารใหม่และถูกทหารที่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมลงโทษสองครั้งอย่างหนักจนต่อมาเสียชีวิตลงในสภาพมีบาดแผลทั่วตัว ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทจนนำไปสู่การเข้าควบคุมตัวก่อนหน้านี้ ได้แจ้งกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า จากการติดตามความคืบหน้าคดีของตนนั้น พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน นายรติ ช่อลำไย ได้แจ้งด้วยวาจาว่าได้สรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาล โดยระบุว่าความเห็นพนักงานสอบสวนที่สรุปมาในสองข้อหา คือ 1. ข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร 2. ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ขณะนี้สำนวนอยู่ที่อัยการจังหวัดนราธิวาส พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป โดยขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันสั่งฟ้อง
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 17 ส.ค. 2559 น.ส.นริศราวัลถ์ เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุดในเรื่องการสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากไม่เคยได้รับหมายเรียกจนถูกออกหมายจับ และขอให้อัยการส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติม เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนไปโดยที่ยังไม่ได้รับข้อมูลจากฝ่ายตน เป็นการสรุปสำนวนไปโดยที่ยังไม่ได้ฟังความทุกฝ่ายและไม่เป็นธรรม จึงขอให้พนักงานอัยการขอให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติมก่อนมีความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ ทั้งนี้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนยังได้แจ้งด้วยว่าหากทำประวัติอาชญากรรมเรียบร้อยแล้ว ก่อนสรุปผลการจับกุมตัวส่งให้พนักงานอัยการ จะแจ้งให้นางสาวนริศราวัลถ์เข้าให้การเพิ่มเติมได้ด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นว่า การที่พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้สรุปความเห็นไปก่อนที่จะได้รับข้อมูลต่างๆ จากฝ่าย น.ส.นริศราวัลถ์นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้ฟังความทุกฝ่าย โดยเฉพาะพยานหลักฐานที่จะแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นผู้บริสุทธิ ไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกแจ้งข้อหาแต่อย่างใด
“ปู” ค้านตั้ง “สุภา ปิยะจิตติ” เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ
วันที่ 22 ก.ย. 2559 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ายื่นหนังสือเป็นครั้งที่ 8 ถึง พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านนายพูลศักดิ์ คูณสมบัติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เพื่อยืนยันการคัดค้าน การแต่งตั้ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ในคดีที่กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งหมด 15 คดี โดยใน 6 คดี มี น.ส.สุภา เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เช่น กรณีถูกกล่าวหาแทรกแซงหรือเอื้อบุคคลในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ กรณีกล่าวหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ กรณีถูกกล่าวหาเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง และมี 1 คดี ที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่กลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย
นายนรวิชญ์กล่าวว่า ในสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้น น.ส.สุภาเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและเป็นประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ก็มีเหตุให้ข้อมูลการปิดบัญชี หลุดออกไปถึงมือนักการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้น นอกจากนี้ น.ส.สุภาและนายวิชายังเคยไปเป็นพยานเบิกความในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งอย่างชัดเจน น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงเห็นว่าจากข้อเท็จจริงดังกล่าว หากปล่อยให้ น.ส.สุภา เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และนายวิชาที่พ้นตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้ว กลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงอีก จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไต่ส่วนข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งหมดถึง 9 ท่าน แต่เหตุใด ถึงให้นางสาวสุภา เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ถึง 6 คดี
นายนรวิชญ์กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยยื่นร้องคัดค้านมาแล้วถึง 7 ครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา ตามคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพื่อให้คดีของอดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม จึงขอคัดค้านความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0012/1216 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2559 และเพื่อยืนยันหลักฐานทางเอกสาร และพฤติกรรมแห่งการปฏิบัติตนของน.ส.สุภา และนายวิชา ในฐานะเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และอนุกรรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ว่าไม่เหมาะสมอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นใหม่ที่มีการยื่นเพื่อขอคัดค้านเพิ่มเติมครั้งนี้ คือรายละเอียดการให้การในชั้นศาลในคดีจำนำข้าวของ น.ส.สุภา
นายนรวิชญ์กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้ส่งหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อแจ้งให้ทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีมีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการเก็บกัก ควบคุม ระบาย หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุถกภัยในปี 2554 ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งในน.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงนามรับทราบในคำสั่งดังกล่าว และแจ้งกลับมายัง ป.ป.ช. ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวก็มี น.ส.สุภาเป็นประธานประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ด้วยเช่นกัน
คุก 3 ปีไม่รอลงอาญา “แทน เทือกสุบรรณ” อุทธรณ์สู้ คดีรุกเขาแพง
วันที่ 21 ก.ย. 2559 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีกรุกที่เขาแพง เกาะสมุย หมายเลขคดีดำ อ.3534/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพงษ์ชัย ฟ้าทวีพร อายุ 51 ปี ผจก.ห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, นายสามารถ หรือ โกเข็ก เรืองศรี อายุ 59 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน, นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 35 ปี บุตรชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 61 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดร่วม ฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครอง หรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2518 มาตรา 22
ศาลพิพากษาให้นายพงษ์ชัย และนายสามารถ หรือโกเข็ก จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 5 ปี ส่วนนายแทน และนายบรรเจิด จำเลยที่ 3-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรค 1 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง โดยการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกคนละ 3 ปี และให้จำเลยทั้งสี่ คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ ออกจากที่ดินและป่าไม้บริเวณที่เกิดเหตุ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์เห็นว่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติ ควรที่ประชาชนจะต้องร่วมกันหวงแหน บำรุงรักษาให้อุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ไม่ให้เป็นของส่วนตัวแก่ผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ ทั้งโดยตรงและทางอ้อม อันเป็นต้นเหตุของความแห้งแล้ง และภัยพิบัติจากน้ำป่าไหลหลาก สภาพความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
ภายหลัง ทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ อาทิ สมุดเงินฝากธนาคาร หนังสือ น.ส.3 ก. เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ต่อสู้คดี ซึ่งศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ โดยตีราคาประกัน นายพงษ์ชัย และนายสามารถ หรือโกเข็ก จำเลยที่ 1-2 คนละ 800,000 บาท และนายแทน และนายบรรเจิด จำเลยที่ 3-4 คนละ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสี่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล