ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สปท. ชง “บิ๊กตู่” ปลด CEO-บอร์ด ทอท. ข้อกล่าวหาไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่ “จุดส่งมอบสินค้า” รายได้หาย 2 หมื่นล. – “แพรววลัย” ปธ.สหภาพลาออกระบุถูกกดดัน

สปท. ชง “บิ๊กตู่” ปลด CEO-บอร์ด ทอท. ข้อกล่าวหาไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่ “จุดส่งมอบสินค้า” รายได้หาย 2 หมื่นล. – “แพรววลัย” ปธ.สหภาพลาออกระบุถูกกดดัน

4 กรกฎาคม 2016


ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว หลังจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 มีมติให้ส่งสรุปผลศึกษาสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างบริษัท ทอท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (เชิงพาณิชย์) เสนอแนะต่อรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น

คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา
คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา

แหล่งข่าวจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ ได้ส่งรายงานกรณีศึกษาโครงการของรัฐที่เสียเปรียบภาคเอกชน เรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรให้แพร่หลายมากขึ้น” มาถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป โดยบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ ทำถึงนายกรัฐมนตรีมี 3 ประเด็นหลักดังนี้

ประเด็นที่ 1 หลีกเลี่ยง หรือ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 กล่าวคือ หลังจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ได้ลงนามในสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ กับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ไปแล้ว ทอท. ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ทอท. ชุดเดิม พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พบว่าโครงการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท การดำเนินการอนุมัติและทำสัญญาดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ จึงถือเป็นโมฆะ (ดูข้อมูลวิเคราะห์สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ ทอท. ปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ลงนามกันไว้ก่อนหน้านี้ และหลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญนำคำฟ้องของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด มาพิจารณา ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า มูลค่าเงินลงทุนของทั้ง 2 โครงการ มีจำนวนวงเงินและทรัพย์สินที่ลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

1.รวมวงเงินลงทุนที่ใช้ในโครงการร้านค้าปลอดอากร 4,466.13 ล้านบาท

2.รวมวงเงินลงทุนที่ใช้ในโครงการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ 2,580.23 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเงินลงทุนในส่วนของ ทอท. ที่ตีมูลค่าจากอาคารสิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ตามกฎหมาย

TOR POS

ประเด็นที่ 2 ทอท. ไม่ติดตั้งระบบ Point Of Saleหรือ POS เข้าไปเชื่อมต่อข้อมูลการซื้อ-ขาย กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งในสัญญากำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ สาเหตุที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญา เนื่องจาก POS จะเป็นเครื่องมือในการตรวจวัดยอดขายของบริษัท เพื่อนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ที่ ทอท. จะได้รับตามสัญญา

ปรากฏว่า ในช่วง 9 ปี นับตั้งแต่เริ่มสัญญา ทอท. ยังไม่ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบ POS กับบริษัท คิงเพาเวอร์ โดย ทอท. คิดส่วนแบ่งรายได้จากข้อมูลของบริษัทฯ เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจจะทำให้ ทอท. ได้รับส่วนแบ่งไม่ครบถ้วนตามสัญญา และอาจจะได้รับเพียงขั้นต่ำหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับข้อมูลของบริษัทฯ และจากการนำตัวเลขประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว และข้อมูลค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าปลอดอากรมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับงบการเงินของบริษัทฯ คาดว่าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ทอท. น่าจะขาดรายได้จากส่วนแบ่ง เฉพาะร้านค้าปลอดอากรในสนามบินกว่า 20,000 ล้านบาท

ประเด็นที่ 3 ไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทน (ส่วนแบ่งรายได้) ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์จากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ต้องชำระค่าเช่าหรือผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทอท. ในอัตรา 15% ของยอดรายได้ หรือตามจำนวนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้รับอนุญาตตกลงชำระให้ตามที่ระบุในสัญญา แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

จุดส่งมอบสินค้าในพื้นที่เชิงพาณิชย์

ปรากฏว่า ตั้งแต่บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้ามาเช่าพื้นที่ของ ทอท. เพื่อทำเป็นจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) กลับไม่มีการบังคับเรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทน (ส่วนแบ่งรายได้) ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างถูกต้องครบถ้วน ภายหลังต่อมาได้มีการทำสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ โดยจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน (ส่วนแบ่งรายได้) ในอัตรา 3% เท่านั้น รวมแล้วทำให้ ทอท. ขาดรายได้เป็นเงินไม่น้อยกว่า 21,000 ล้านบาท

หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ (สปท.) พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรให้ส่งรายงานฉบับนี้ไปให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

1.ควรปลดผู้อำนวยการ ทอท. คนปัจจุบัน(ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ)ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย และควรปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ทอท. โดยให้ผู้บริหารชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาบริหารงาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกปกปิดมานาน

2.ควรทำการยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เพราะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

3.ควรบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งของบริษัทฯ ทอท. ศุลกากร และสรรพากร เพื่อ ทอท. จะได้รับส่วนแบ่งอย่างครบถ้วน รัฐโดยกรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลที่เรียกเก็บภาษีอากรอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรจะได้ใช้ข้อมูลเพื่อควบคุมและป้องกันการลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษี

4.ควรพิจารณาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เช่น พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ป้องกันการทุจริต และเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชน และการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ราชการและรายได้ของรัฐ

5.ควรกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดเก็บรายได้ ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ

หลังจาก สปท. ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี นางแพรววลัย ตามประทีป ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (สร.ทอท.) ซึ่งเป็นบุตรสาวของ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสหภาพฯ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป การลาออกครั้งนี้ นางแพรววลัยให้เหตุผลว่า “ขาดความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของคณะกรรมการ สร.ทอท.”

จากนั้น นางแพรววลัยจัดทำสาส์นจากประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงสมาชิก สร.ทอท. และพนักงานทุกท่าน ดังนี้

เป็นเวลาปีกว่าแล้ว ที่ตนเข้ามารับตำแหน่งประธาน สร.ทอท. ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก ให้เป็นตัวแทนทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ขององค์กรและสวัสดิการของพนักงาน ซึ่งตนได้ดำเนินงานตามนโยบายที่ได้กล่าวไว้ทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกรอบการดำเนินงานของสหภาพแรงงานฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อสมาชิก และผลประโยชน์ของ ทอท. เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่สหภาพแรงงานฯ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยถ่วงดุลอำนาจการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปอย่างชอบธรรม

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ตนได้รับการทาบทามจากกรรมการ สร.ทอท. ท่านหนึ่ง ซึ่งอ้างว่า เป็นตัวแทนของกรรมการ สร.ทอท. อีกหลายท่านที่ไม่พอใจการทำงานของตน ในฐานะประธาน สร.ทอท. โดยให้เหตุผลว่า ตนมีบุคลิกและการดำเนินงานแบบตรงไปตรงมามากเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องบางเรื่องนั้น ได้สร้างความอึดอัดใจแก่ผู้บริหารเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้บริหารต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่สมควรจะได้รับ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ตนเห็นสมควรยุติบทบาทหน้าที่การเป็นประธาน สร.ทอท. เนื่องจาก การดำเนินงานตามเป้าหมายที่ตนได้วางไว้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคณะกรรมการทุกท่าน ถ้าไม่มีความสามัคคีเกิดขึ้นในคณะกรรมการ ก็รั้งแต่จะสร้างความอ่อนแอให้แก่สหภาพฯ และอาจทำให้เกิดปัญหาภายในอีกมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินงานของ สร.ทอท. ในอนาคต และหลังจากนั้น ตนจะขอลาออกจากการเป็นสมาชิก สร.ทอท. ในลำดับถัดไป

ทั้งนี้ การลาออกของตน เป็นไปเพื่อความสมานฉันท์ของคณะกรรมการและสมาชิก สร.ทอท. รวมทั้ง เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนในตัวตน ที่ขอทำประโยชน์สูงสุดเพื่อองค์กรเท่านั้น ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป

แพรวาลัยลาออก