ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้บทบาท ธปท. ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้บทบาท ธปท. ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ

1 มิถุนายน 2016


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จัดงาน “Krungsri Business Forum 2016” ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ”บทบาท ธปท. ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ” รายละเอียดดังนี้

“ผมยินดีเป็นอย่างที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจกับทุกท่านในวันนี้ ขอขอบคุณธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่จัดงานนี้ขึ้น เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไทยร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพื่อที่เราจะได้วางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

วันนี้เศรษฐกิจไทยเดินหน้ามาเกือบจะครึ่งทางของปี 2559 แล้ว ผมจึงขอถือโอกาสนี้เล่าถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยจากการประเมินล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมทั้งแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป ต่อจากนั้น ผมจะพูดถึงแนวนโยบายการพัฒนาระบบการเงินไทยของ ธปท. ซึ่งงานพัฒนาเป็นพันธกิจหนึ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการดำเนินนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจระบบการเงินและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผมขอเริ่มที่พัฒนาการในตลาดเงินตลาดทุนโลกในช่วงที่ผ่านมา ท่านผู้บริการคงทราบกันดีว่าเราเปิดศักราชปี 2559 ด้วยความผันผวนอย่างมากในตลาดเงินตลาดทุนโลก สาเหตุสำคัญมาจากความกังวลของนักลงทนุต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกเริ่มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐบาลจีนแสดงความตั้งใจย่างแน่วแน่ที่จะดูแลไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง ด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลัง ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ตลอดจนธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักต่างส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินจะอยู่ในทิศทางผ่อนปรนต่อเนื่องไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณต่อตลาดว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

แม้ว่าความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกจะลดลงจากช่วงต้นปี แต่ภาวะการเงินโลกในภาพรวมยังถือว่าเปราะบางอยู่มาก ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำมาซึ่งความผันผวนระลอกใหม่ ประกอบด้วย แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความเสี่ยงในระบบการเงิน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน และยังมีความไม่แน่นอนเรื่องสมาชิกภาพของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรปจากการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในปลายเดือนนี้ ตลอดจนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน นักลงทุนทั่วโลกจึงอ่อนไหวต่อข่าวสารหรือเหตุการณ์ที่ต่างไปจากความคาดหมาย ส่งผลให้ความผันผวนสูงขึ้นในบางช่วงเวลา

ในช่วงที่ผ่านมา ต้องถือว่าตลาดเงินตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพราะไทยมีฐานะการเงินระหว่างประเทศที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 9% ของจีดีพี และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับนี้ต่อเนื่องในปีนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง โดยมีมูลค่าประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และคิดเป็น 1.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร ธปท. ของนักลงทุนต่างชาติมีเพียงประมาณ 9% ของยอดคงค้างทั้งหมด เมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศในภูมิภาคที่อยู่สูงกว่า 30% ขณะเดียวกัน หนี้ต่างประเทศของภาคธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ และส่วนใหญ่เป็นของธุรกิจขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี

ฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็งของไทยจะเป็นกันชนรองรับแรงกระแทกจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนภายนอกประเทศได้ดีกว่าอีกหลายประเทศ แต่เราทุกคนก็ไม่ควรชะล่าใจและควรบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินอย่างรอบคอบ ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกสามารถทำให้ค่าเงินและราคาสินทรัพย์อื่นเปลี่ยนแปลงได้ทั้งขึ้นและลง การคาดเดาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเท่านั้น อาจะนำมาซึ่งความเสียหายได้

ท่ามกลางความผันผวนทางการเงินที่จะยังอยู่กับเราในปีนี้และปีหน้า ธปท. ใช้กรอบการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น โดยให้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศ ในกรณีที่ค่าเงินเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรง จนอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ธปท. จะเลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดความผันผวนในบางช่วงเวลา สำหรับระยะยาวแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตลาดการเงินไทยเป็นเรื่องสำคัญ ธปท. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาตลาดการเงินไทยทั้งในมิติของความลึกและความกว้าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถรองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ธปท. มีแผนที่จะผ่านคลายมาตรการเกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศขาเข้าและขาออกสมดุลกันมากขึ้น

นอกเหนือจากความเข้มแข็งด้านต่างประเทศแล้ว กันชนที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย คือ การรักษาปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินควร ภาคสถาบันการเงินมั่นคง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคน่าเชื่อถือ และการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ลดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและช่วยให้ภาวะการเงินมีเสถียรภาพ การรักษาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

มั่นใจ ศก. ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในส่วนถัดไปผมจะขอสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจากการประเมินล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ในช่วงที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดเล็กเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เราคาดว่าจะเริ่มเห็นผลบวกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อีกเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการท่องเที่ยว โดยเริ่มเห็นการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาจากหลากหลายภูมิภาคมากขึ้น จากเดิมที่การขยายตัวกระจุกตัวอยู่เฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ทั้งปี 2559 ประมาณการว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยมากกว่า 32 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคนในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนในบางภาคธุรกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมและพลังงานทางเลือก การส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกไปประเทศเหล่านี้จะลดลงจากปัจจัยชั่วคราว เพราะมีการปิดโรงกลั่นน้ำมัน

ในภาพรวม คณะกรรมการนโยบายการเงินคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3.1% ในปี 2559 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปี 2558 และ 0.9% ในปี 2557

แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว แต่คงต้องยอมรับว่าแรงส่งของเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็ง การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำยังหดตัวต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าที่ลดลงของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจากจีนและประเทศในเอเชีย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ตลอดจนบางภาคอุตสาหกรรมของไทยมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง การส่งออกสินค้าที่ซบเซาส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม การลงทุนภาคเอกชนจึงขยายตัวในระดับต่ำ

ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร มีปัจจัยถ่วงจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจากการเร่งก่อหนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งจากรายได้ที่ขยายตัวช้า เพราะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ และภาวะภัยแล้งรุนแรงมากในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์จ้างงานยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อนข้างช้าและไม่กระจายตัวไปทุกภาคส่วน ตลาดแรงงานไทยที่ยืดหยุ่นทำให้แรงงานจากภาคเกษตรสามารถโยกย้ายไปทำงานในภาคอื่นชั่วคราวได้ นอกจากนี้ ยังไม่เกิดปรากฏการณ์เลิกจ้างงานในวงกว้าง แม้จำนวนชั่วโมงทำงานของบางอุตสาหกรรมจะลดลง

ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพและแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% โดยประเมินว่าภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้นจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นควรรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินที่มีจำกัดไว้ใช้ในยามจำเป็น หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมายโดยเฉพาะจากเหตุการณ์ต่างประเทศ ท้ายที่สุด คณะกรรมการนโยบายการเงินมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินในระยะยาว ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนสูงโดยไม่คิดถึงความเสี่ยงอย่างรอบคอบจะเกิดขึ้น การเฝ้าระวังไม่ให้พฤติกรรมเหล่านี้สร้างความเปราะบางในระบบการเงินเป็นเรื่องสำคัญต่ำการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ต่อปีมาระยะหนึ่ง ทำให้เกิดคำถามว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินควรจะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อช่วยเร่งให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมาย เพื่อจะตอบคำถามนี้ คงต้องทำความเข้าว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับต่ำมากมีที่มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก กล่าวคือราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยด้านอุปทานดูจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อมากกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ แม้ว่ากำลังซื้อจะอ่อนแรงลงบ้าง เมื่อผลของฐานราคาน้ำมันที่เคยอยู่สูงต่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มหมดลง อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆปรับสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มกลับมาเป็นบวกและคาดว่าจะค่อยๆ ปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมาย ในระยะต่อไป คณะกรรมการนโยบายการเงินจะติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจต่อไป

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงินของไทยนั้น ผมขอเรียนว่า การตัดสินใจนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting Framework: FIT) พิจารณาจากหลายองค์ประกอบ ทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว ยกตัวอย่าง ในช่วงปี 2558 ที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและไม่มีแรงกดดันที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหลุดจากกรอบเป้าหมายด้านสูง นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2% เป็น 1.5% ในการประชุมสองครั้งติดต่อกัน

สำหรับในบริบทปัจจุบันที่ภาคการคลังมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับสูงขึ้น การดำเนินนโยบายการเงินจึงให้น้ำหนักกับการรักษาสภาพคล่องในระบบการเงินให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว ตลอดจนรักษาขีดความสามารถของเครื่องมือ (policy space) ที่เหลือจำกัดไว้ใช้รองรับเหตุการณ์ที่อาจอยู่เหนือการคาดหมาย

ข้อดีอีกประการของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นซึ่งไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงมากนัก คือ กระบวนการตัดสินนโยบายการเงินและการสื่อสารต่อสาธารณชนที่ช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงิน หลังการประชุมแต่ละครั้ง เลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการเงินจะแถลงผลการประชุมโดยทันที ซึ่งระบุมติการลงคะแนนตลอดจนเหตุผลของการตัดสินใจนโยบาย และในอีก 2 สัปดาห์ถัดมา จะเผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อ ซึ่งแสดงมุมมองทางเศรษฐกิจ ตลอดจนประเด็นภิปรายของกรรมการในการตัดสินใจนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ยังเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อช่วยให้สาธารณชนคาดการณ์ได้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจเงินเฟ้อในอีก 8 ไตรมาสข้างหน้า

ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นยังเป็นกรอบที่เหมาะสมต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารกลางอื่นๆ อีกหลายแห่งที่เลือกใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงิน

พันธกิจยกกระดับ-ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจระยะยาว

วิรไท2

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าและแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ นโยบายการเงินจะอยู่ในทิศทางผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ลืมว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โจทย์เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อให้สามารถเติบโตได้ย่างยั่งยืน แข่งขันได้ และมีรากฐานที่มั่นคง สำคัญกว่าตัวเลขเศรษฐกิจในระยะสั้นมาก พันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การพัฒนาระบบการเงินไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในอนาคต

ในวันนี้ ผมจะขอเล่าโดยสังเขปถึงหลักการและเป้าหมายของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-2563), แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (พ.ศ. 2560-2563) และแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะที่ 2 (พ.ศ. 2558-2560)

แผนแรก ได้แก่ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-2563) หรือ Financial Sector Master Plan: FSMP 3 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการแข่งขันในระบบการเงินไทย เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นของผู้ใช้บริการทางการเงินในราคาที่เป็นธรรม ตลอดจนสนับสนุนการค้าการลงทุนในภูมิภาคภายใต้การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพ กล่าวสั้นๆ แนวคิดของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คือ สนับสนุนให้ระบบการเงินไทย “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง และยั่งยืน”

ภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธปท.คาดหวังที่จะเห็นการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งจากผู้ให้บริการปัจจุบันและผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ให้บริการทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมทางการเงินจะช่วยเพิ่มช่องทางและขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจกลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ นวัตกรรมทางการเงินจะช่วยส่งเสริมการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพของตัวระบบสถาบันการเงินไทยเองด้วย

นอกจากนี้ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะสนับสนุนให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานทางการเงินได้โดยไม่มีอุปสรรคในราคาที่เป็นธรรมรวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงินของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือยไทยสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการกู้หนี้ยืมสินแบบเกินพอดีจนเป็นภาระในระยะยาว สำหรับสถาบันการเงิน ธปท. จะสนับสนุนให้พัฒนามาตรฐานด้าน Market Conduct หรือการคุ้มครองผู้บริโภค พัฒนาทักษะความรู้ของพนักงานสถาบันเงิน และนำหลักการของธนาคารเพื่อความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

การพัฒนาความเชื่อมโยงทางการเงินกับเศรษฐกิจภูมิภาคเป็นอีกมิติหนึ่งที่ ธปท. ให้ความสำคัญ เราสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ไทยขยายบทบาทการให้บริการทางการเงินไปยังประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) เพื่อสนับสนุนการค้าขายและการลงทุนที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ จะส่งเสริมให้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาค นอกจากนี้ ธปท. ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินสกุลหลัก การสร้างความเชื่อมโยงทางการเงินกับภูมิภาคทั้งในภาคสถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน ตลอดจนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจ จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแน่นแฟ้นมากขึ้น

แผนที่สอง ได้แก่ แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (Payment Systems Roadmap) พ.ศ. 2560-2563 ซึ่งจะพัฒนาให้ธุรกรรมการชำระเงินมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ลดการใช้เงินสด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ ยกมาตรฐานธรรมาภิบาลของประเทศ และสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ จุดมุ่งหมายหลัก คือ การสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงหลายช่องทาง ทั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเดบิต/เครดิต และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และมีอัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำ นอกจากนี้ ธปท. จะตกลงความร่วมมือกับธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ระบบการชำระเงินของภูมิภาคเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการค้าการลงทุน การเคลื่อนย้ายของแรงงาน และการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคในระยะยาว

ภายใต้โครงการ National e-Payment ธปท. ร่วมกับรัฐบาล ต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล เริ่มแรกผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานชำระเงินแบบ Any ID และส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตในการชำระเงิน โครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานถูกออกแบบให้เปิดกว้างรองรับผู้ให้บริการหลากหลายประเภทเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของธุรกรรมการชำระเงิน ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด ช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคธนาคาร ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาระบบการชำระเงินจะยึดถือมาตรฐานความปลอดภัยตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจที่จะใช้บริการ

นอกจากนี้ ธปท. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน ซึ่งรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน ปัจจุบันกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับให้เป็นเอกภาพ ตลอดจนกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการให้บริการการชำระเงินประเภทใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล โดย ธปท. จะมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการการชำระเงินทุกประเภท ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ในกระบวนการออกกฎหมาย

นโยบายการพัฒนาระบบการเงินไทยที่ผมจะขอเล่าเป็นเรื่องสุดท้ายในวันนี้ ได้แก่ แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะที่ 2 ซึ่ง ธปท. ได้ประกาศแนวทางไปเมื่อเดือนเมษายน 2558 และทยอยประกาศผ่อนคลายกฎเกณฑ์เป็นระยะๆ ในช่วงปี 2559-2560 นี้ แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความลึกและความกว้างให้กับตลาดการเงินไทย รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมและกระจายความเสี่ยงการลงทุนของบุคคลในประเทศและผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ความคืบหน้าในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ประกาศผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการโอนเงินออกนอกประเทศ การขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้มากขึ้น การขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศโนเงินออกเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการเพิ่มช่องทางให้บุคคลในประเทศสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ เป็นต้น

ในระยะต่อไป แนวทางการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่สำคัญ ประกอบด้วย การอนุญาตให้นักลงทุนที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์สามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศภายใต้วงเงินที่กำหนดโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ตลอดจนการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถซื้อขายเงินสกุลต่างประเทศกับลูกค้าได้ภายใต้ขอบเขตของธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจที่ต้องการระดมเงินทุนเพื่อนำไปลงทุนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS จะสามารถกู้ยืนเงินบาทได้โดยตรงจากสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนในภูมิภาค

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

นอกจากนี้ ธปท. ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจของศูนย์บริหารการเงิน (Corporate Treasury Center) เพื่อสนับสนุนให้บริษัทไทยและต่างชาติมาตั้งศูนย์บริหารเงินและ Regional International Headquarter ในประเทศไทย ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งศูนย์บริหารเงินทั้งสิ้น 13 ราย โดย 4 รายได้รับใบอนุญาตในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และอีก 1 รายกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ มีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่แสดงความสนใจสอบถามเกี่ยวกับการจัดจั้งศูนย์บริหารเงินในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

โลกผันผวนแต่ไทยมีกันชนที่ดี

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่าท่ามกลางภาวะการเงินโลกที่ผันผวน ฐานะด้านต่างประเทศของไทยจะเป็นกันชนที่รองรับความผันผวนจากภายนอกประเทศได้ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การบริหารความเสี่ยงและการบริหารการเงินอย่างรอบคอบของภาคธุรกิจและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่รอบคอบระมัดระวัง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับความผันผวนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

สำหรับภาคเศรษฐกิจจริง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าจะยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของธุรกิจไทย ด้านแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลก ภายใต้ภาวะเช่นนี้ นโยบายการเงินจะอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว

นอกจากนี้ ธปท. มีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและสภาพแวดล้อมทางการเงินที่จะสนับสนุนการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการชำระเงิน บริการทางการเงินใหม่ๆ หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

“ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ การปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญยิ่ง วันนี้ผมยินดีที่ได้มาอยู่ท่ามกลางนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้บริหารระดับสูง ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราทุกคนจะเดินไปข้างหน้า เพื่อร่วมกันช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ขอบคุณครับ”