หลังจากดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 จากนั้นได้แถลงวิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารของ ธปท. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ล่าสุดในงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชน ดร.วิรไท นำทีมผู้บริหารแถลงข่าว โดยมีนางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ร่วมกันแถลงถึงแผนงานบริหาร ธปท. ในปี 2559 โดยแบ่งแผนงานออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านการพัฒนาประเทศ 2) ด้านพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ และ 3) ด้านเสถียรภาพของประเทศ
ดร.วิรไท ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจของโลกและไทยว่าสำหรับสภาวะแวดล้อมภายนอกประเทศ ประเด็นแรกคือเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่ค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจประเทศหลักเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่เศรษฐกิจที่อยู่ใกล้บ้านเรา โดยเฉพาะจีน มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากช่วงที่ผ่านมา และมีการปรับโครงสร้างหลายอย่างเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจจีน ไม่ใช่แค่ว่าจีนชะลอลง แต่การปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในเอเชีย
ประเด็นที่สอง ความแตกต่างของนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆมีมากขึ้น กรณีข่าวธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ข่าวธนาคารกลางของญี่ปุ่นออกมาช่วงดียวกัน เพิ่มประเภทของการซื้อสินทรัพย์ เพื่อจะรักษาแนวโน้มการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ด้านธนาคารกลางของประเทศอังกฤษเองก็ออกมาบอกว่า ถึงแม้เศรษฐกิจของเขาจะยังดี แต่เขายังชะลอการปรับดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติ ด้านประเทศจีนก็ออกมาอัดฉีดสภาพคล่องมากขึ้น แม้กระทั่งเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่เราก็เห็น 2 ทิศทาง ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศของเขา ไต้หวันเพิ่งลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นว่ามันจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลหลักๆ
ประเด็นที่ 3 โอกาสในการดำเนินนโยบายการเงินหรือเกิดปัจจัยร่วมบางอย่าง เช่น ข่าวเรื่องสงครามอะไรก็แล้วแต่ มันจะทำให้เกิดความผันผวนได้แรงในตลาดเงินโลก โดยเฉพาะภาวะที่สภาพคล่องระบบการเงินโลกอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง แม้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ถ้าดูปริมาณสภาพคล่องที่ธนาคารกลางอื่นจะอัดฉีดเข้ามาในระบบการเงินโลก ปริมาณเงินโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง
ประเด็นที่ 4 เป็นประเด็นที่เรามีทั้งข้อดีข้อเสีย คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงเร็วมากและมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันไม่สูงมากนัก ขณะเดียวกัน ก็มีผลกระทบกับตลาดสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ราคายางพาราเห็นได้ชัดเจนที่สุด ราคาปาล์มน้ำมัน รวมถึงสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับพืชพลังงานทดแทนได้รับผลกระทบ
ประเด็นที่ 5 เริ่มมีความน่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ คือความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก สถานการณ์ในซีเรียได้กระจายออกไป วันนี้เราเห็นประเทศใหญ่ๆ ที่เข้ามาทำอาจจะเป็นคล้ายๆ สงครามกับด้านกลุ่มไอเอสมากขึ้น การต่อสู้ที่มีทั้งบนดินและใต้ดิน ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งนักท่องเที่ยวและการท่องเที่ยว ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้จะกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดร.วิรไท กล่าวต่อไปถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตว่า “เราเห็นแนวโน้มการฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ว่าก็เป็นการฟื้นตัวอย่างที่เราทราบกันว่าไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึงไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ เป็น Uneven Growth ขณะเดียวกัน เราเห็นปัจจัยบวก โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐและการท่องเที่ยว ในการลงทุนของภาครัฐเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ใครที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างจะเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การบริโภคก็เริ่มที่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
แต่ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังมากคือการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรม การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนส่งผลต่อโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานในโลก เช่นเดียวกับรายได้ของภาคเกษตรก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ ผนวกกับเรื่องของภัยแล้งที่อาจจะมีภาวะรุนแรงขึ้นในปีหน้า เพราะฉะนั้น ถึงแม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในภาพรวมก็มองว่าเศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีกว่าปีนี้ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ค่อนข้างมาก
ส่วนเรื่องเงินเฟ้อ ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบ แล้วถ้าราคาน้ำมันลดลงอีก ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับเป็นบวกก็จะทอดยาวขึ้น คาดว่าช่วงครึ่งแรกของปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่ก็ต้องดูผลของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปค่อนข้างมาก แต่ข้อดีคืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกและสอดคล้องกับด้านอุปสงค์ที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งวันที่ 25 ธันวาคม 2558นี้ ธปท. จะแถลงลงรายละเอียดให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น
พัฒนาระบบการเงินไทย – “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง ยั่งยืน”
สำหรับแผนงานด้านการพัฒนา นางทองอุไรกล่าวว่า “ความจริงทางด้านพัฒนา หัวใจที่เราดูกันข้างในเขาบอกว่ามันมีอยู่ 3-4 ตัว มีเรื่องการเสริมสร้างระบบการเงินไทย รองรับความท้าทายในการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ และจะทำอย่างไรให้ธนาคารพาณิชย์ให้บริการอย่างเป็นธรรมและตรงกับความต้องการ
ขณะที่เมื่อกลับมาดูการเสริมสร้างระบบการเงินไทย เพื่อรองรับความท้าทาย จาก Global Landscape เข้ามากระทบการทำงานของระบบสถาบันการเงินไทยชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลางปี 2558 มีหลายอย่างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้วมากระทบเรา เริ่มจากสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหา ญี่ปุ่นเกิดปัญหา สหภาพยุโรปเกิดปัญหา อังกฤษเกิดปัญหา การปรับกระบวนการเงื่อนไขกำกับดูแล (Regulatory Requirement) เปลี่ยนไปเยอะมาก มีการปฏิรูปการกำกับดูแลเยอะ แต่เป็นการเปลี่ยนจากฐานของเขาที่ไม่แข็งแรง เหมือนวัวหายล้อมคอก
ขณะที่สถาบันการเงินในไทยต้องรับผลกระทบตรงนี้มาเต็มๆ เพราะทุกครั้งที่ธปท.เพิ่มการกำกับดูแลอะไรเข้าไป ต้นทุนการกำกับดูแลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันนี้จึงต้องกลับมาถามตัวเองว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะสถาบันการเงินเราก็เข้มแข็งอยู่
สำหรับโครงสร้างสถาบันการเงิน จากนี้ไปสถาบันการเงินของไทยไม่ได้แคบแค่ธนาคารพาณิชย์อย่างเดียวแล้ว แต่สิ่งที่ ธปท. กำกับจะเป็นผู้ให้บริการทางด้านการชำระเงินทั้งหมด ก็ต้องมาขอความเห็นชอบจาก ธปท. แล้วต่อไป ประเด็น E-Services ระบบอินเทอร์เน็ต การให้บริการในพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงระบบการเงิน (Financial Inclusion) มันเป็นบริบทที่ควรจะต้องผลักดันให้เกิด
นางทองอุไรกล่าวว่าในส่วนของแผนงาน ธปท. มีแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 3 โดยต้องเริ่มจากการศึกษา Gap Analysis ย้อนหลังไปเมื่อ 2 ปีก่อน พอปี 2558 จึงออกมาเป็นร่างแผนฉบับสมบูรณ์ ขณะนี้ส่งไปที่กระทรวงการคลัง และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)
“จริงๆ แผนพัฒนาสถาบันการเงิน ฉบับที่ 3 จบอยู่ที่ 4 คำเท่านั้นเอง สถาบันการเงินรวมทั้งหมดเลยนะ คำแรก “แข่งขันกันได้” คำที่สอง “เข้าถึงได้” คนทั่วไป ชาวบ้านไกลๆ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องเข้าถึงบริการทางการเงินที่ต้องการได้ คำที่ 3 “ความเชื่อมโยง” เราจะเปิด AEC บริบทต่อไปที่จะกระทบมากที่สุด แล้วประเทศไทยอยู่ตรงที่เชื่อมต่อกับ CLMV ได้อย่างดี ดังนั้น เราต้องพัฒนาให้เอื้อต่อความเชื่อมโยงนี้ สุดท้ายที่หนีไม่พ้นคือ “ยั่งยืน” ระหว่างการไปข้างหน้าแบบพุ่งเป็นจรวดกับการทำให้สถาบันการเงินเข้มแข็งแข็งแรง ซึ่งเป็นบทบาทที่ยาก ถ้าเราเลือกเสถียรภาพอย่างเดียวโดยไม่พัฒนา เราก็จะไม่ทันใครเขา เราจะเข้มแข็งอยู่แต่ในบ้านเรา”
นางทองอุไรกล่าวต่อว่าจาก 4 คำข้างต้น สิ่งสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือตัวแรก Digitization และประสิทธิภาพ ตัวที่สองจะเป็นการเชื่อมโยงอย่างไรกับภูมิภาค Regionalization ตัวที่ 3 คือการเข้าถึงการบริการของประชาชน และสุดท้ายคือทำอย่างไรให้โครงสร้างพื้นฐานรองรับทุกอย่างได้ดี ยั่งยืน
เตรียมลุย Any ID
นางทองอุไรอธิบายว่า”Digitization นี้ ธปท. จะมีแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน หรือ Payment Systems Roadmap ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ด้านหนึ่งเลยของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 3 ถ้าถามว่าสุดท้ายแล้วเราอยากจะเห็นอะไร เราอยากเห็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ประชาชน ใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย แล้วที่เราทำ Gap Analysis มา เราเห็นตัวติดลบที่ตามไม่ทันเต็มเลย โครงสร้างพื้นฐานยังมีปัญหา บทบาทของภาครัฐตอนนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเร็วขนาดไหน ตอนวิเคราะห์ปี 2555-2556 ยังไม่ชัดเจน แต่ว่าตอนนี้รัฐบาลออกมาช่วยผลักดันเรื่อง Digitalization นั่นคือ End Game ของเรา อยากจะเห็นระบบธนาคารพาณิยช์มีรูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นตัวสนับสนุนให้ระบบมีต้นทุนที่ต่ำและรู้จักเอาอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้”
ทั้งนี้แผนพัฒนาสถาบันการเงิน ฉบับที่ 3 จะเหลื่อมกับ Payment Systems Roadmap เพราะว่า Payment Systems Roadmap มีมา 3 แผนแล้ว ตอนนี้อยู่ในแผนที่ 3 ส่วนแผนที่ 4 ที่จะออกมาในปี 2560-2565 จะเหลื่อมกัน แต่ตัวสุดท้ายที่ธปท.อยากจะเห็นคือ Banking Anywhere, Anytime, Any device, Any ID
“พอเราเสนอไปที่รัฐมนตรีคลัง คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ท่านบอกว่าตรงใจกับงานของรัฐมนตรีเหลือเกินที่อยากจะผลักดันเรื่อง Any ID กับประสิทธิภาพตรงนี้ จึงเป็นที่มาที่ไปของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล”(ดูมติ ครม.)
นางทองอุไรกล่าวต่อว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้เป้าหมายหรือประโยชน์ของโครงการด้านภาครัฐ มีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย จะได้ช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมาย ไม่รั่วไหล ด้านการรับจ่ายเงินของรัฐมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดการทุจริต และสุดท้ายจะขยายฐานภาษี เพราะทุกวันนี้มีผู้ที่เป็นฐานภาษีแค่ 2 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งควรจะมีมากกว่านี้ ดังนั้น ร้านค้าที่ใช้จ่ายเงินสด ยังไม่ได้มีการเก็บภาษีที่เหมาะที่ควร การเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา รัฐบาลจะสามารถขยายฐานเก็บได้มากขึ้น
“ขณะที่ภาคประชาชนจะได้อะไรจากระบบดังกล่าว ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับสวัสดิการและการช่วยเหลือที่รวดเร็ว ถูกต้อง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งการเข้าถึงบริการการเงินขั้นพื้นฐานได้อย่างสะดวก ค่าใช้จ่ายต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รัฐบาลอยากจะกระจายบัตรซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องพกเงินสด ปลอดภัย อันนี้ได้เรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าเหมือนไก่กับไข่ ถ้าเราผลักดันมือถือต่อไปอาจจะทดแทนบัตรได้ด้วย แต่ทุกวันนี้อาจจะต้องใช้คู่กันไปก่อน บางคนถามว่าไปผิดทางหรือไม่ เราบอกว่าไม่เราอยากทำอิเล็กทรอนิกส์ แต่ช่วงรอยต่อแบบนี้เราอยากให้การเปลี่ยนแปลงมีประสิทธิภาพที่สุด”
ด้านภาคธุรกิจ หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนเริ่มเอาระบบไอทีเข้ามาเป็นตัวช่วย ต่อไปมีตั้งแต่ e-Commerce e-Logistic หลายคนอาจจะเคยเห็นในยูทูบที่เขาลุกขึ้นมาทำมะพร้าวอ่อนเจาะสำเร็จรูป อันนี้เขาเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการผลิต ช่วยลดคนได้ ซึ่งต่อไปจะช่วยแก้ปัญหาไม่มีแรงงานได้ เป็นต้น
“ที่เราเข้าไปช่วยโครงการแรกที่เขาอยากทำคืออยากให้การโอนเงินทำธุรกรรมผ่าน Any ID ทุกวันนี้เริ่มทำไปแล้วแต่ยังไม่เห็นกัน การทำงานร่วมกัน (Interoperation) ตอนนี้มี Mobile-Banking ทุกธนาคารแล้ว คุณโอนกันได้ถ้ารู้เบอร์มือถือซึ่งไปสมัครไว้ แต่ต้องอยู่ในธนาคารเดียวกัน แต่ต่อไปพอเริ่มมาแบบนี้แล้วจะทำงานร่วมกันง่ายแล้ว แค่มีตัวลงทะเบียนตัวกลางเท่านั้นเอง เพื่อที่พอส่งเงินผ่านไปตัวกลางจะดูว่าเบอร์มือถือนี้ผูกกับบัญชีไหน”นางทองอุไรกล่าว
นางทองอุไรกล่าวต่อว่า “แต่ตรงนี้ก็มีความท้าทายมากมาย เล่าเป็นเบื้องหลังให้ฟัง เราจะทำ 1 บัญชี 1 มือถือ หรือ 1 มือถือหลายๆ บัญชีก็ได้ ซึ่งเทคโนโลยีทำได้ทั้งนั้น 1 เบอร์มือถือ 5 บัญชี ทำได้ไหม ทำไมจะไม่ได้ แต่ความยากอยู่ที่ความต้องการให้มันเร็วและปลอดภัย ตัวสลับบัญชี ตัวลงทะเบียน จะยุ่งมากเลย ดังนั้น อันแรกที่ขอไปเอาแค่ 1 เบอร์มือถือผูกกับบัญชีหลักบัญชีเดียว ตอนนี้เอาให้เกิดก่อน ให้เกิดความปลอดภัยก่อน ส่วนด้านผู้จ่าย พอผูกบัญชีแล้วจะส่งเงินไปหาใครก็ได้ทั้งนั้น ต่อไปไม่ได้ยากอะไร แล้วเราต้องมาดูว่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ใครจะทำ ธปท. จะต้องให้ใบอนุญาตหรือไม่ ต้องไปกำกับดูแลอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยให้คนใช้ ประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างดี”
“ทีนี้ ทางรัฐมนตรีต้องการมากกว่านั้น คือ ต้องการจะจ่ายเงินเบี้ยเกษตรกร เบี้ยคนชรา ผ่านตัวบัตรประชาชน 13 หลัก เมื่อใช้ผ่านบัตรประชาชนจะต้องมีเครื่องอ่านบัตร แต่ต่อไปจะมีวิวัฒนาการสุดท้ายจะให้เหลือแต่มือถืออย่างเดียวหรืออะไรอย่างเดียว ตอนนี้โลกหมุนเร็วขึ้นมาก เมื่อก่อนอาจจะ 5-10 ปี ตอนนี้ 3-5 ปีจะได้เห็นแล้วว่าอะไรได้รับความนิยมมากกว่ากัน”
เพราะฉะนั้นเดิมทีธปท.เน้นที่บัตร โดยมีความพยายามจะเปลี่ยนจากแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด ที่กำหนดออกในเดือนพฤษภาคม 2559 ต่อไปใครเดินเข้าไปขอเปลี่ยนบัตรจะกลายเป็นชิปการ์ดแล้ว ตู้เอทีเอ็ม 80-90% จะต้องอ่านบัตรพวกนี้ได้ ที่บอกว่าทำไม 80-90% เพราะว่ามีตู้เอทีเอ็มที่เก่ามากๆ มันเปลี่ยนไม่ได้ต้องทิ้งอย่างเดียว แต่ทิ้งไปเลยไม่ได้อีก เพราะเราจะออกบัตรทีเดียว 30-40 ล้านใบภายในปีเดียวอาจจะเหนื่อยไป ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป
“ในทางปฏิบัติ เราตั้งความหวังกันว่าน่าจะมีแรงจูงใจทางภาษีให้คนที่จะวางเครื่องได้อะไรบางอย่าง แต่ยังไม่ได้คุยในรายละเอียด หรืออาจจะให้เราที่ไปทำคล้ายๆ เกาหลีใต้ คือชิงโชคจากสลิปที่ออกมา ตามแผนพัฒนาระบบการชำระเงิน เราจะต่อขั้วออกไปให้เป็น e-Invoicing เป็น Payment ด้วยไปจนกระทั่งภาษี ใบเดียวที่กรอกข้อมูลเข้าไปจะไม่มีการโกง ไม่มีความผิดพลาดจากคนอีก แล้วมันจะตามไปถึงภาษีด้วย แต่เอกชนบางแห่งอาจไม่อยากวางเครื่องอ่านบัตรเหล่านี้ เพราะว่าจากเดิมที่เคยเหมาๆ จ่ายได้ ตอนนี้เหมาจ่ายไม่ได้แล้ว ทุกอย่างที่ออกมามันถูกต้องหมด อาจจะต้องช่วยจูงใจกันบ้าง”
สุดท้ายในแผนงานจะเป็นเรื่องผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของเงินทุนเคลื่อนย้าย สิ่งที่เราอยากทำคือส่งเสริมให้บุคลากรไทยกระจายการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และกระตุ้นการพัฒนาตลาดเงินของไทยให้เป็นตลาดที่อ้างอิงตัวแปรจากต่างประเทศได้มากขึ้น นี่คือหัวใจของแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย ระยะที่ 2 (ดูเอกสารเพิ่มเติม)
ธปท. องค์กรสู่ความเป็นเลิศ
ดร.วิรไท กล่าวต่อไปถึงแผนงานด้านพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศว่า “สำหรับแผนงานที่พูดไปทั้งหมดนี้ จะทำให้สำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มาดูว่า ธปท. มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ในฐานะที่เป็นธนาคารกลางมันมีความท้าทายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่างที่ต้องเผชิญ ดังนั้น การพัฒนาให้เป็นธนาคารกลางที่มีความเป็นเลิศ เป็นองค์กรสู่ความเป็นเลิศ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในแผนงานมีอยู่ 4-5 ด้านที่บรรจุเอาไว้ในปีหน้า
เรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นหัวใจที่สุดคือ “พนักงาน” เราจะทำอย่างไรที่ธนาคารของเราจะมีพนักงานที่รอบรู้ รู้เชิงลึก เข้าใจถึงความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะพนักงานในส่วนที่เราเรียกว่าเป็นกลุ่ม Critical Area ความท้าทายในด้านนโยบายการเงิน เสถียรภาพการเงิน การเชื่อมโยงต่างๆ การเข้าใจความรู้เชิงลึก การเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติ เข้าใจ Insight
ในทางด้านนโยบายสถาบันการเงิน เรื่องระบบการชำระเงิน เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากใน 3-5 ปีข้างหน้าแล้วจะเปลี่ยนภาพรวมของระบบการเงินไทย ผู้ที่เรากำกับดูแลเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น คนที่เรากำกับดูแลก็จะเป็นผู้เล่นระดับโลกมากขึ้นด้วย ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น หนีไม่พ้นเลยที่ธนาคารกลางต้องมีความสามารถในด้านนี้มาก ต้องพัฒนาบุคลากรที่จะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในกลุ่มแรกจึงเป็นเรื่องของการพัฒนาบุคลากรต่างๆในปีหน้า
เรื่องที่สอง ความผันผวนและความท้าทายในระบบการเงินโลกมีมากขึ้น อย่างเช่น ความแตกต่างของนโยบายการเงิน ปริมาณเงินที่ไหลเข้าออกจากประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ราคาสินค้าต่างๆ จึงต้องกลับมาที่พันธกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของธนาคารกลาง คือการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ เราก็ต้องมีกรอบการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างที่เท่าทันต่อความเสี่ยงใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ
“อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ ธปท. ได้คิดกันมาใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ว่าเราจะทำกรอบการกำกับดูแล กรอบบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อบริหารความเสี่ยงในการจัดการเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างไรให้สอดคล้องกับความผันผวนและสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ที่จะเป็นทางเลือกที่สำคัญของเรา”
ทั้งนี้ธปท.จะให้ความสำคัญมากในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยง ขณะนี้ได้เสนอแก้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถนำทุนสำรองส่วนที่อยู่ในบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยไปลงทุนในตราสารทุนได้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติเงินตรา ซึ่งคนมักจะเข้าใจผิด จึงขอย้ำว่าเรื่องนั้นไม่มีการเขียนแก้ให้เอาไปลงทุนในตราสารทุนได้ เพราะจะเป็นข่าวที่มีความเข้าใจผิดอยู่ ประเด็นที่ 1 เวลาที่พูดถึงทุนสำรองคนจะเหมารวมไปหมด ส่วนที่อยู่ในบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยและส่วนที่อยู่ในพระราชบัญญัติเงินตรา ส่วนหลังจะไม่มีเรื่องหุ้นเข้าไปเกี่ยวข้อง ประเด็นที่ 2 คือ เราจะไปตั้งกองทุนความมั่งคั่ง เป็น Sovereign Wealth Fund (SWF) เรื่องนี้ไม่อยู่ในแนวคิดของ ธปท. เราจะใช้การลงทุนในตราสารทุนเพื่อประสิทธิภาพในการกระจายและบริหารความเสี่ยง
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้เราลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอย่างเดียว กรณีของยุโรปจะเห็นว่าพันธบัตรรัฐบาลหลายประเภทให้ผลตอบแทนติดลบ แล้วพอทำการผ่อนปรนด้วยคิวอีมากขึ้นค่าเงินยูโรจะอ่อนลงอีก เป็นผลกระทบสองเด้ง เพราะเมื่อคิดผลตอบแทนเป็นเงินบาทจะได้น้อยลงอีก แล้วประเทศไหนที่ทำคิวอีเยอะๆ ราคาหุ้นราคาสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นมา อย่างญี่ปุ่นชัดเจนว่าให้แบงก์ชาติเขาพิมพ์เงินเพื่อไปตั้งกองทุนลงทุนในหุ้น หุ้นก็ขึ้น ดังนั้น ถ้าเรามีตราสารที่สามารถลงทุนได้มากขึ้น มันจะกระจายความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงได้ แต่ถ้าเราลงทุนได้เฉพาะพันธบัตรอย่างเดียว เวลาเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นจะทำให้เราไม่มีเครื่องมือดูแลเพียงพอ นอกจากนี้ ยังทำเรื่องกรอบกลยุทธ์การบริหารเงินสำรอง รวมทั้งระบบห้องค้าเงินใหม่”
ประเด็นที่ 3 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้ว่าธปท.ทำเรื่องเศรษฐกิจมหภาค แต่ต้องเข้าใจเรื่องจุลภาคมากขึ้น เรื่องจุลภาคจะมีความสำคัญมากขึ้น และต่อไปการดูแลระบบชำระเงิน จะมีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เป็นรายธุรกรรม ซึ่งทุกวันนี้ธปท.มีข้อมูลมากมาย ที่อาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ดร.วิรไทกล่าวว่าดังนั้น การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่และการเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถของเราที่จะเข้าไปใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อจะทำให้เราจับชีพจรเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละภาคเศรษฐกิจในระบบจุลภาค จะเป็นหัวใจสำคัญของการทำนโยบายในอนาคต นี่เป็นสิ่งใหม่ที่ธนาคารกลางหลายๆ แห่งไม่ได้ทำเรื่องเหล่านี้ แต่เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญและเรามีศักยภาพที่จะทำได้ การทำ Big Data Analysis การทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดความเชื่อมโยงกัน
“ในเรื่องระบบงานสนับสนุน เราได้ลงไปดูระบบงานภายในของเรา เราบอกว่าอยากให้สถาบันการเงินเขามีประสิทธิภาพ แต่ว่าเราไม่ได้ปรับประสิทธิภาพภายในของเราก็ดูขัดๆ กันอยู่ เราคิดว่ามีหลายอย่างที่ทำได้เพื่อให้เรามีระบบงานภายในที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ประเด็นที่ 4 คือ การสื่อสาร ธปท.เริ่มทำการสื่อสารที่เป็นช่องทางดิจิทัลและ Social Media มากขึ้น แต่ยังเป็นระดับที่เริ่มต้น ในปีหน้ามีแผนที่จะทำการสื่อสารในลักษณะที่เป็น Digital Platform มากขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ผู้รับสารอยากได้อะไรที่มันกะทัดรัด สั้นๆ ฟันธง เป็นความท้าทายธนาคารกลางอย่างมากเลย เพราะเป็นเรื่องที่ทำนโยบาย แต่ก็หนีไม่พ้นว่าเราอยู่ในโลกที่เป็นโลกสมัยใหม่แล้ว เราต้องปรับตัวของเราเอง นอกจากนี้ เรากำลังสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่เรา การสร้างพิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้ใหม่จากอาคาร ก ที่เป็นโรงพิมพ์ธนบัตรเดิม
สุดท้าย เป็นเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการผลิตธนบัตรของประเทศ วันนี้ต้นทุนการจัดการธนบัตรของประเทศอยู่ในระดับที่สูง เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น แล้วก็จะต้องยกระดับความเป็นเลิศของโรงพิมพ์ธนบัตร และเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับต้นๆ แต่ยังมีช่องทำได้อีก โดยตั้งเป้าตามเกณฑ์ของ Thailand Quality Award ในปี 2561
“ดังนั้น ถ้าดูแบบนี้ นี่เป็นแผนงานทั้งหมด ธปท.มีความท้าทายใหม่อยู่มากทั้งในปี 2559 และในห้วง 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งจากสภาพแวดล้อมต่างประเทศและในประเทศ เรื่องของการรักษาเสถียรภาพ การที่แน่ใจว่าเรามีกรอบการทำนโยบาย มีฐานความรู้ที่เท่าทันต่อเหตุการณ์ สามารถที่จะทนทานต่อความผันผวนต่างๆ ได้ เป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังอยู่ในช่วงของการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ มีการปฏิรูปหลายๆ ด้านที่เกิดขึ้นหลายเรื่อง ระบบการเงิน ระบบการชำระเงิน เป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้น บทบาทการพัฒนาของเราจะไม่ด้อยไปกว่ากัน เราจะให้ความสำคัญกับงานด้านพัฒนามากขึ้นในช่วงข้างหน้า และจากความท้าทายต่างๆ สิ่งที่จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดว่าจะรองรับความท้าทายเหล่านั้นได้ก็คือว่า เราต้องเป็นธนาคารที่มีการพัฒนาศักยภาพของเรา ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศ”ดร.วิรไทกล่าว
รักษาเสถียรภาพ 3 ด้าน
ขณะที่งานด้านเสถียรภาพ นายเมธีกล่าวว่า จะมีแผนงาน 3 ด้าน 1) รักษาเสถียรภาพเชิงมหภาค โดย ธปท. จะต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงิน มีการพัฒนาเครื่องชี้ในการวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเอสเอ็มอี 2) รักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินและระบบชำระเงิน ธปท. จะออกหลักเกณฑ์และมีกระบวนการกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ครบถ้วนชัดเจน มีการประเมินความเสี่ยงด้าน IT ของระบบการให้บริการของ ธปท. สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับประเทศ 3) รักษาเสถียรภาพการเงิน ธปท. จะมีเครื่องมือดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Macro-Prudential) พร้อมใช้งาน มีการศึกษาและพัฒนาฐานข้อมูลบริษัทขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบ อาทิ การก่อหนี้ในต่างประเทศของบริษัทลูกในต่างประเทศ และจะมีการพิจารณากระบวนการทำงานและกรอบการดำเนินนโยบายร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง