ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ลุยแผนพัฒนา ศก. “ระเบียงตะวันออก” ลงทุน 3 แสนล้าน – ให้ราชการติดตั้งระบบพร้อมรับ “พร้อมเพย์-PromptPay” ก.ย. 2559

ครม. ลุยแผนพัฒนา ศก. “ระเบียงตะวันออก” ลงทุน 3 แสนล้าน – ให้ราชการติดตั้งระบบพร้อมรับ “พร้อมเพย์-PromptPay” ก.ย. 2559

28 มิถุนายน 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” ไม่ห่วงศาล รธน. ชี้ขาดปม กม.ประชามติ – ระบุคำสั่ง คสช. ก็ครอบคลุม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสอง จะขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือไม่ว่า ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ หากวินิจฉัยว่าใช้ไม่ได้ก็ใช้มาตราอื่นที่เหลืออยู่ใน พ.ร.บ.ประชามติไปแทนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ นอกจากนี้ คำสั่ง คสช. ที่ออกมาก่อนหน้าก็คลุมอยู่แล้ว วันนี้ก็ยังไม่ได้ใช้ทั้งหมดเลย ถ้าใช้ทั้งหมดก็มีคนผิดระนาว

เมื่อถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ไม่ผ่านการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ได้เตรียมร่างรัฐธรรมนูญฯ สำรองรอไว้แล้วหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องเตรียม จะเตรียมไว้ทำไม เพราะความแตกต่างในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก็มีไม่เท่าไร ฝ่ายกฎหมายก็คงดูอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญที่ออกมาในอดีตก็แตกต่างกันแค่ไม่กี่มาตราเท่านั้น

“โรดแมปของผมขึ้นอยู่กับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ถ้ายังไม่ผ่าน ก็ต้องร่างใหม่ แต่ที่พูดตรงนี้ไม่ได้แปลว่าผมจะบังคับทุกคนต้องโหวตให้ผ่านนะ ต้องเอาหลักการมาพูด ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญก็เลือกตั้งไม่ได้ นอกจากนี้ บ้านเมืองยังต้องสงบสุข ไม่มีความขัดแย้ง ทุกคนออกมาลงคะแนนเสียงด้วยความอิสระ ผมไม่ได้บังคับใคร รับหรือไม่รับ ผมจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวทั้งสิ้นในเรื่องกระบวนการ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่าในช่วงสุดท้ายก่อนไปทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ห่วงอะไรที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ห่วงเรื่องคนจะมาตีกัน เพราะยังมีคนฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ถูกกัน ซึ่งตนก็มีหน้าที่รักษาความสงบสุข ขออย่าให้มีการใช้อาวุธ

เมื่อถามถึงกรณีที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และแกนนำพรรคไทยรักไทย เตรียมประชุมเพื่อหาทางออกให้บ้านเมืองในสัปดาห์หน้า พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า นักการเมืองเขาก็หารือกันเองอยู่แล้ว ทั้งที่พรรคและที่บ้านพัก ตนเปิดให้หารือได้ทุกอย่างอยู่แล้ว เหลืออย่างเดียวคือยังไม่มาเข้าร่วมประชุม ครม. ส่วนถ้าจะมาหารือกับตน ตนมีเงื่อนไขเดียวคือต้องยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน เพราะตนไม่สามารถหารือกับคนที่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

แจงใช้ ม.44 เด้งอัยการ ตามข้อเสนอ ศอตช. ไม่เกี่ยวกับทหาร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาจากกรณีที่ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2559 ย้ายอัยการจังหวัดนาทวี รองอัยการจังหวัดนาทวี และรองอัยการจังหวัดสมุทรสาคร ให้มาปฏิบัติหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า เป็นการออกสั่งตามที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เสนอขึ้นมา เพื่อให้ตรวจสอบภายใน 30 วัน ว่าบุคคลที่ถูกย้ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่างๆ ในพื้นที่หรือไม่ เช่น การค้ามนุษย์ การพนัน การทำคดีที่ล่าช้า จึงจำเป็นต้องโยกย้ายคนที่อยู่ในระดับสูงและระดับกลางออกมาก่อน ทั้งนี้ ยืนยันว่าการโยกย้ายดังกล่าวไม่ได้เป็นเพราะทหารได้รับข้อมูลผิดจึงเสนอชื่อมาให้โยกย้าย เพราะรายชื่อทั้งหมดมาจากการเสนอโดย ศอตช. ที่มีตัวแทนจากองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ฯลฯ

เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเตรียมเปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons: TIP) ประจำปีนี้ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 หลังจากปีที่แล้วไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในโถสุดท้าย หรือ Tier 3 มีความมั่นใจแค่ไหน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนถือว่าทำดีที่สุดแล้ว ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ ถ้าไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน

ส่งตัวแทนแจงสถานการณ์ไทยต่อ “ยูเอ็น” แล้ว – รอผลชิงเก้าอี้มนตรีความมั่นคง

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ได้ส่งตัวแทนรัฐบาลไทยเดินทางไปพูดคุยกับทางองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยตัวแทนจาก คสช. กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากเลขาธิการยูเอ็นติดภารกิจ จึงจะเข้าชี้แจงต่อรองเลขาธิการยูเอ็นแทน หากมีข้อสงสัยอะไรก็เชื่อว่าตัวแทนรัฐบาลไทยพร้อมที่จะตอบทุกคำถาม

ส่วนกรณีที่ไทยเสนอตัวชิงเก้าอี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) แบบไม่ถาวร ซึ่งจะประกาศผลในวันเดียวกันนี้ว่าไทยหรือคาซักสถานจะได้รับเลือก พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องรอฟังดูว่าไทยจะได้รับเลือกหรือไม่ เพราะประเทศคู่แข่งอื่นๆ บางคนก็หาเสียงมาล่วงหน้าเป็นเวลานาน ทั้งนี้ หากไทยได้เก้าอี้ยูเอ็นเอสซีจะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นในเวทีโลกมากขึ้น และสามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นที่น่าสนใจ

ครม. เห็นชอบแผนพัฒนา “ระเบียงเศรษฐกิจ ตอ.” ปั้นไทยเป็นแหล่งลงทุนอาเซียน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนงานโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ทั้งนี้ คาดว่ารัฐจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท และคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนจากเอกชนได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยมุ่งหวังให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งลงทุนหลักของประเทศ เชื่อมการลงทุนสู่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกและทวาย ประกอบกับใช้การเชื่อมโยงทางน้ำไปถึงชายฝั่งทะเลกัมพูชาและจีน โดยจะดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง จากการลงทุนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)

“การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะอาศัยการเชื่อมโยงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดเอกชนและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ด้วยการการเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางถนน โดยการสร้างถนนให้ครอบคลุม รวมถึงการขยายมอเตอร์เวย์ในช่วงพัทยา-มาบตาพุด ทางราง โดยการสร้างรถไฟทางคู่ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาเตรียมการ ทางเรือ โดยการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบให้เป็นจุดจอดเรือยอร์ช ประกอบกับขยายท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และทางอากาศ โดยการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาภายใต้การใช้สนามบินร่วมระหว่างพลเรือนและทหาร (Joint Use Civil Military Airport) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกว่า 3 ล้านคนต่อปี และใช้ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ” นายปรเมธีกล่าว

นายปรเมธียังกล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่อู่ตะเภาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อดึงเม็ดเงินกว่า 60% ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่สูญเสียให้กับต่างประเทศกลับมา ซึ่งปัจจุบันไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงเครื่องบินพาณิชย์ประมาณ 771 ล้านเหรียญสหรัฐ และในพื้นที่ดังกล่าว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ใช้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอยู่แล้ว

ปักธง กันยา 60 พร้อมใช้ PromptPay

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่มีการรับเงินจากประชาชน เช่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ติดตั้งอุปกรณ์ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี (กันยายน 2559 – กันยายน 2560) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระเบียบและหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment กำหนด

“เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินโครงการ Any ID (หรือชื่อใหม่ พร้อมเพย์ : PromptPay)ในอนาคต ได้มีการมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกเลขประจำตัวนิติบุคคล 138 รายใหม่ เนื่องจากซ้ำกับเลขประจำตัวประชาชนที่ออกโดยกรมการปกครอง และเพื่อป้องกันปัญหาการออกเลขประจำตัวซ้ำระหว่างหน่วยงานในอนาคต ได้มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดสรรเลขประจำตัวนิติบุคคลจำนวน 2 ล้านเลขหมายให้แก่กรมการปกครองสำหรับตรวจสอบก่อนการออกเลขประจำตัวประชาชน” พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าว

จ่ายหนี้ FIDF1-FIDF3 เพิ่ม 5.8 พันล้าน

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการโอนเงินหรือสินทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อชำระเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 5,849 ล้านบาท ที่กองทุนฯ ได้รับปันผลจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีสะสม เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. จำนวน 14,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินชำระคืนต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 จำนวน 19,849 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหนี้คงเหลืออยู่ประมาณ 98,000 ล้านบาท

ขยายเวลาโครงการ policy loan ไปสิ้นปี 2559

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (โครงการ policy loan) ที่มีกรอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 30 มิถุนายน 2559 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งจะถึงก่อน

“โดยที่ผ่านมาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank ได้อนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 3,526 ราย ในกรอบวงเงิน 10,428 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินอีก 4,572 ล้านบาท ที่จะช่วยผู้ประกอบการได้อีกประมาณ 1,545 ราย” พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าว

อนุมัติ 3 หมื่นล้านบาท โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยขั้นต่ำดัน SMEs

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยขั้นต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วงเงินจำนวน 30,000 ล้านบาท และงบประมาณในการดำเนินการ 6,300 ล้านบาท

โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ คือ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศ มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน โดยให้ SMEs ขนาดกลาง มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน และ SMEs ขนาดย่อม มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 50 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน

วัตถุประสงค์เพื่อเป็นสินเชื่อระยะยาว หรือการต่อเติมเปลี่ยนแปลง ขยายออก แต่ไม่ใช่การซ่อมแซม และต้องเป็นทรัพย์สินต่อไปนี้ 1. เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ 2. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3. อาคารถาวร ที่ใช้เป็นที่ตั้งเครื่องจักร

โดยให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ SMEs อัตราดอกเบี้ย คือ สถาบันการเงิน อัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี และผู้ประกอบการ SMEs อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อไม่เกิน 7 ปี

“สำหรับระยะเวลายื่นขอสินเชื่อ คือ ภายใน 31 ธันวาคม 2559 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดจะหมด” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขบำบัดเด็กและเยาวชน

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พินิจ รวมทั้งสิทธิ ประโยชน์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก เตรียมความพร้อมก่อนปล่อย รวมทั้งการติดตามผลภายหลังการปล่อย

โดยกระทรวงยุติธรรมให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ยังมีข้อขัดข้องในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องการดูแลแก้ไข เช่น การจัดเก็บสิ่งของต้องห้ามในสถานที่ควบคุมเด็กและเยาวชน การติดตามตัวเด็กที่หลบหนี การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เป็นต้น

กำหนดลักษณะงานที่ “สตรีมีครรภ์-เด็กต่ำกว่า 15 ปี” ห้ามทำ

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้มีความปลอดภัยในการทำงาน

โดยงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อหญิงมีครรภ์ 4 ลักษณะงาน ได้แก่ 1. งานเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ อันก่อให้เกิดอันตรายต่อการสั่นสะเทือน 2. งานยก แบก หาบ หาม ทูน ลาก หรือเข็นของที่เกิน 15 กิโลกรัม 3. งานที่ต้องสัมผัสละออง ไอ ก๊าซ จากวัตถุดิบ 4. งานที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น ฟูม (ไอระเหยจากโลหะ) เส้นใย จากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิต

งานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้แก่ 1. งานเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย 2. งานยก แบก หาบ หาม ทูน ลาก หรือเข็นของเกิน 15 กิโลกรัม 3. งานเกี่ยวกับแสงจ้า เสียงดัง ความร้อนจัด ความเย็นจัด หรือสั่นสะเทือน 4. งานที่ต้องสัมผัสละออง ไอ ก๊าซ จากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิต 5. งานที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น ฟูม เส้นใย จากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิต 6. งานเกี่ยวกับจุลชีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นไวรัส แบคทีเรีย รา หรือเชื้ออื่น