ThaiPublica > คอลัมน์ > Panama Papers: ความเหลื่อมล้ำของความสามารถในการเก็บภาษี

Panama Papers: ความเหลื่อมล้ำของความสามารถในการเก็บภาษี

3 พฤษภาคม 2016


พิเศษ เสตเสถียร

ข่าวที่สั่นสะเทือนไปครึ่งโลก (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) คือ ข่าวที่เกี่ยวกับเอกสารรั่วจากสำนักกฎหมายชื่อ Mossack Fonseca ในปานามา เอกสารเหล่านี้จึงมีชื่อเรียกว่า Panama Papers มีรายชื่อของนักการเมือง นักธุรกิจ นักกีฬา และอื่นๆ จากประเทศต่างๆ ได้ไปใช้บริการวางแผนทางภาษีและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตามเกาะต่างๆ ที่เป็นเกาะที่ไม่ต้องเสียภาษี ก็เลยทำให้บุคคลต่างๆ ดังกล่าวมาถูกสงสัยว่า ที่ไปตั้งบริษัทตามเกาะเหล่านี้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงภาษี

อันที่จริง การตั้งบริษัทตามเกาะต่างๆ เหล่านี้มีมานับสิบปีแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ เมื่อก่อนก็ชอบไปเกาะเคย์แมน (Cayman Island) ใครจำภาพยนต์เรื่อง The Firm ได้ ในภาพยนต์เรื่องดังกล่าวก็มีการกล่าวถึงพวกมาเฟียที่นำเงินไปฝากธนาคารในเกาะเคย์แมน ก็เลยทำให้บริษัทเกาะเคย์แมนฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นบริษัทของพวกมิจฉาชีพโดยเฉพาะไป มาในระยะหลังก็เลยเปลี่ยนเกาะมานิยมกันเป็นเกาะบริติช เวอร์จิน (British Virgin Island) มากขึ้น

ในโลกนี้ยังมีประเทศอีกมากมายหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะ จะมีกฎหมายอนุญาตให้มีการจัดตั้งบริษัทนอกดินแดนหรือ Offshore Company ได้อีกมากมายหลายแห่ง เช่น เกาะมาร์แชล (Marshall Island) เกาะเบอร์มิวดา (Bermuda Island) หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียก็มีเกาะลาบวน (La Buan Island) เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษให้นักลงทุนไปจัดตั้งบริษัท Offshore ได้เช่นกัน แต่รู้สึกว่าจะไม่ได้รับความนิยม ในระยะหลังไม่ค่อยได้ยินชื่อเสียงเท่าไหร่

อันบรรดาประเทศที่เป็นเกาะเหล่านี้เขาหารายได้เข้าประเทศด้วยการรับจดทะเบียนบริษัทเกาะ และก็ตัดปัญหาเรื่องยุ่งยากที่เกิดแก่ประเทศเขาด้วยการกำหนดห้ามว่า บริษัทเกาะที่ไปจดทะเบียนที่เขาห้ามมาประกอบกิจการในประเทศของเขา แต่จะไปทำอะไรที่ไหนในโลกนี้ก็เชิญเลย แล้วก็ยังยกเว้นให้ว่าบริษัทเกาะเหล่านี้ไม่ต้องมาส่งงบหรือยื่นบัญชีแต่อย่างใดทั้งสิ้น ที่สำคัญก็คือไม่ต้องมาเสียภาษีด้วย แบบนี้คนก็ชอบแน่นอน เพราะได้บริษัทที่ไม่ต้องมีภาระใดๆ (ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่ออายุบริษัทรายปีนิดหน่อย) ไม่ต้องเสียภาษี ไม่มีคนมาตรวจสอบ

ที่มาภาพ : http://www.aljazeera.com/mritems/Images/2016/4/7/374d5b7756ae49feb81e2f6f36743a4b_18.jpg
ที่มาภาพ : http://www.aljazeera.com/mritems/Images/2016/4/7/374d5b7756ae49feb81e2f6f36743a4b_18.jpg

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ไร้พรมแดนอย่างทุกวันนี้ การจัดตั้งบริษัทเพื่อทำกิจการอย่างใดนั้นไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในประเทศที่ประกอบการอยู่แต่อย่างใด ภายใต้ระบบกฎหมายการควบคุมและภาษีอากรที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะเลือกสถานที่จัดตั้งบริษัทในดินแดนที่ให้ประโยชน์สูงสุดเรื่องต่างๆ ดังกล่าวมาได้ ไม่จำกัดว่าต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพียงแห่งเดียวอีกต่อไป เช่น บริษัท Apple ที่เรารู้จักกันดี ก็ย้ายสำนักงานใหญ่จากสหรัฐอเมริกาไปอยู่ไอร์แลนด์เพราะที่นั่นมีอัตราภาษีที่ถูกกว่า

บริษัทไทยไปจดทะเบียนบริษัทย่อยที่เกาะเหล่านี้ก็มี ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) มีบริษัทย่อยอยู่เกาะเคย์แมนหลายบริษัท ไปดูในเว็บไซต์บริษัทได้ การที่ ปตท.สผ. มีบริษัทย่อยอยู่เกาะเคย์แมนไม่ได้แปลว่า ปตท.สผ. กำลังทำผิดกฎหมายหรืองุบงิบอะไรอยู่ บริษัทเหล่านี้ใช้ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับต่างประเทศ เช่น ไปลงทุน ไปถือหุ้น หรือไปออกหุ้นกู้ที่กำหนดมูลค่าที่ตราไว้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯลฯ เพราะการใช้บริษ้ทเกาะเหล่านี้มีความคล่องตัวกว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ไปจดทะเบียนบริษัทเกาะไว้เพื่อทำธุรกิจก็มีอีกหลายบริษัท

แต่ที่ใช้หลบเลี่ยงภาษีก็มี อย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2555 โจทก์ขายหุ้นบริษัท อ. ให้แก่บริษัทในเครือ หุ้นของบริษัท อ. ที่โจทก์ขายยังอยู่ในกลุ่มบริษัทของโจทก์ตามเดิม มิใช่เป็นการขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อข้อมูลและวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นไม่น่าเชื่อถือ การขายหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นที่ดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จินให้แก่บริษัทในเครือในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชีประเมินภาษีแก่โจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควร

ส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดาแต่ก็ไปจดทะเบียนบริษัทเกาะไว้ บางคนเอาไว้ทำธุรกิจ บางคนเอาไว้ถือทรัพย์สิน แต่ที่มีมากหน่อยก็เพื่อลดภาระภาษี เพราะนักกฎหมายภาษีแนะนำตามที่กฎหมายเอื้อ เช่น รายได้ที่อยู่นอกประเทศ ถ้าไม่เอาเข้ามาก็ไม่เสียภาษี อย่างนี้ก็ให้บริษัทเกาะถือรายได้ไว้นอกประเทศ เป็นต้น อาจจะซับซ้อนกว่านี้ก็ได้ ตามแต่ที่นักกฎหมายจะแนะนำ

คนรวยเขามีรายได้มากก็เลยมีความทุกข์มาก ต้องไปเสียเงินจ้างนักกฎหมายภาษีมาแนะนำว่า ทำยังไงดีที่จะเสียภาษีให้น้อยหน่อย นักกฎหมายก็เลยนั่งคิดหาทางออกให้ มีการวางแผนภาษีเป็นขั้นเป็นตอน ยิ่งเดี๋ยวนี้โลกยุคโลกาภิวัตน์ การทำอะไรข้ามแดนเป็นของธรรมดา การไปจดทะเบียนบริษัทเกาะก็ทำกันแพร่หลาย ตัวอย่างก็มีให้เห็น อย่างเช่น ในคดีหุ้นชินคอร์ป ก็มีการโอนหุ้นไปมาระหว่างพ่อ-ลูกที่เป็นคนไทยโดยมีบริษัทแอมเพิลริชซึ่งเป็นบริษัทเกาะจดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จินเป็นตัวกลาง หรือสำนักกฎหมาย Mossack Fonseca ที่ว่ามาข้างต้นก็มีสำนักงานสาขาในเมืองไทยรับไปจดทะเบียนให้ได้

การเก็บภาษีเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย นักกฎหมายภาครัฐจึงต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ปัญหาใหญ่ก็ดูเหมือนนักกฎหมายของฝ่ายรัฐจะไม่ค่อยทันนักกฎหมายของฝ่ายเอกชน ศาสตราจารย์ David Schizer ที่เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเขียนบทความเรื่อง A Few Good Lawyers ลงหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อเดือนเมษายน 2550 แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของการเก็บภาษีจากคนรวยว่า

“…ความจริงก็คือว่า ฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่เคยเก่งเทียบได้กับที่ปรึกษาด้านภาษีของพวกคนมีสตางค์เลย เพราะฉะนั้น ภาษีเป็นจำนวนมากจึงเรียกเก็บไม่ได้จากพวกที่มีรายได้สูงๆ ที่ปรึกษากฎหมายของคนที่ต้องเสียภาษีสูงๆ มีรายได้มากกว่านิติกรอาวุโสของทางราชการกว่า 10 เท่า…”

ในบทความเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ Schizer ได้เสนอแนวทางในการสร้างนักกฎหมายของกรมสรรพากรให้ได้นักกฎหมายที่มีความสามารถและประสบการณ์เพื่อให้ทัดเทียมกับที่ปรึกษากฎหมายภาษีของฝ่ายเอกชน อย่างเช่น การให้ค่าตอบแทนแก่นักกฎหมายของรัฐบาลให้เป็นจำนวนที่สูงๆ เพื่อจะได้นักกฎหมายที่มีความสามารถทัดเทียมกับนักกฎหมายฝ่ายเอกชน แล้วก็มีข้อเสนอแนะอย่างอื่นอีกหลายประการ ใครสนใจให้ไปดูได้

หลักการของกฎหมายภาษีเองก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act หรือ FATCA ที่ทำให้เกิดปัญหาปวดหัวไปทั้งโลกก็เพราะสหรัฐอเมริกามุ่งจัดเก็บภาษีจากคนของตนที่หนีออกไปนอกประเทศ ก็เลยออกกฎหมายที่มีอำนาจประหนึ่งมีสิทธิภาพนอกอาณาเขตสมัยยังมีอาณานิคมให้สถาบันการเงินของประเทศทั้งหลายรายงานสถานะการเงินของคนอเมริกันที่เอาเงินไปฝากในประเทศนั้นๆ ไม่เว้นแม้แต่เกาะเคย์แมน ให้รัฐบาลอเมริกันได้ทราบ เป็นการแก้ปัญหาของคนอเมริกันที่พยายามหลบเลี่ยงภาษีออกไปนอกประเทศ อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักกฎหมายภาครัฐจะต้องปรับตัวและคิดอ่านเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของคนรวย

พอมีเรื่อง Panama Papers มาแล้วก็เลยมีคนทำเสื้อ T-shirt เป็นรูปตราของสำนักกฎหมาย Mossack Fonseca แล้วมีคำขวัญให้เจ็บกระดองใจบนเสื้อว่า “Because Taxes Are For Poor People” เข้าทำนองที่ว่ารัฐบาลดีแต่เก็บภาษีจากคนจน

Panama Papers จีงไม่ใช่แค่เรื่องเปิดโปงคนที่หลบเลี่ยงภาษีเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของความสามารถในการเก็บภาษีของภาครัฐอีกด้วย

อ้างอิง:
พิเศษ เสตเสถียร, บริษัทเกาะเคย์แมน, วารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 16 ฉบับที่ 3 (2539)
David Schizer, A Few Good Lawyers, The New York Times, April 16, 2007