ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 เม.ย. 2559: “หลุดสะเทือนโลก ‘Panama Papers'” และ “ย้ายด่วน ‘พ.ท.-ร.อ.’ รับผิดชอบพลทหารตาย”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 เม.ย. 2559: “หลุดสะเทือนโลก ‘Panama Papers'” และ “ย้ายด่วน ‘พ.ท.-ร.อ.’ รับผิดชอบพลทหารตาย”

9 เมษายน 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 เม.ย. 2559

  • หลุดสะเทือนโลก “Panama Papers”
  • ฟิลิปปินส์ประเดิมวัคซีนไข้เลือดออกล้านโดส
  • 6 องค์กรสิทธิฯ กังวลคำสั่ง คสช. 13/2559 แถลงการณ์ร่วมค้าน
  • อัดฉีดเอกชนเร่งนวัตกรรม ยกเว้นภาษี R&D 300%
  • ย้ายด่วน “พ.ท.-ร.อ.” รับผิดชอบพลทหารตาย
  • หลุดสะเทือนโลก “Panama Papers”

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ ICIJ (https://panamapapers.icij.org/)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ ICIJ (https://panamapapers.icij.org/)

    วันที่ 4 เม.ย. 2559 หน้าเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ตรายงาน ว่า The International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) ปล่อยเอกสารชุดใหญ่ “Panama Papers” ขนาด 2.6 เทระไบต์ (2,600 กิกะไบต์) ที่เผยให้เห็นเครือข่ายทุจริตคอร์รัปชัน ฟอกเงิน หนีภาษี และค้ายาเสพติดระดับโลก

    ข้อมูลที่พบ เช่น เจ้าหน้าที่ FIFA 4 จาก 16 คนที่ถูกจับในสหรัฐอเมริกามีบริษัทอำพรางทรัพย์สินที่จัดตั้งโดยบริษัทในปานามา, การโอนเงินอย่างลับๆ จำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐระหว่างธนาคารและบริษัทเงาที่เชื่อมโยงกับคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน, เหยื่อเหมืองทองในแอฟริกาใต้ถูกยกเลิกเงินช่วยเหลือเนื่องจากกองทุนถูกดูดเงินไปโดยบริษัทอำพราง

    เอกสารดังกล่าวมาจากสำนักงานกฎหมาย Mossack Fonseca ในปานามา ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำที่รับจัดตั้ง “บริษัทเปลือกหอย” (shell company) ในต่างแดน เพื่ออำพรางว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง

    ข้อมูลที่พบกินช่วงเวลาทั้งหมดเกือบ 40 ปี มีข้อมูลบริษัท 210,000 แห่งใน 21 เขตอำนาจศาล โดยฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เป็นดินแดน 3 อันดับแรกที่ลูกค้าของ Mossack Fonseca เลือกไปตั้งบริษัทเงา

    นักข่าวมากกว่า 370 คนจากหนังสือพิมพ์เยอรมนี Suddeutsche Zeitung และพันธมิตรสื่ออีกมากกว่าร้อยแห่งทั่วโลก อ่านข้อมูลทั้งหมด 11.5 ล้านไฟล์เป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อค้นหาบริษัทตัวแทนของผู้นำประเทศต่างๆ ความเชื่อมโยงกับกรณีอื้อฉาวระดับโลก และรายละเอียดทางการเงินที่ถูกซ่อนไว้ของนักต้มตุ๋น นักค้ายา บรรดาเศรษฐี เซเล็บ นักกีฬา และอีกมาก

    ทั้งนี้ ในการรายงานของเครือข่ายพลเมืองเน็ตนั้น มีการให้หมายเหตุไว้ว่า

    1. ICIJ เตือนว่า มีเหตุผลที่ชอบธรรมในการตั้ง “บริษัทการค้านอกประเทศ” (offshore company) อยู่ (เช่น สำหรับการค้าระหว่างประเทศ) และไม่ใช่ว่าทุกบริษัทที่ตั้งในต่างแดนจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรืออาชญากรรม ดังนั้นเพียงการพบชื่อว่าใครเกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านี้ จึงยังด่วนสรุปไม่ได้ จนกว่าจะได้มีการตรวจสอบหรือหาข้อมูลเชื่อมโยงเพิ่มเติม (ซึ่งก็เป็นงานที่นักข่าวกว่า 370 คนในโครงการนี้ร่วมกันทำอยู่หนึ่งปี)

    2. ข้อมูลความเชื่อมโยงของบุคคลและองค์กรต่างๆ นี้ มาจากเพียงสำนักงานกฎหมายในปานามาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ยังมีสำนักงานรับจัดตั้งบริษัทอำพรางเช่นนี้อีกหลายแห่งในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นข้อมูลชุดนี้จึงไม่สามารถนำไปสรุปได้ว่าประเทศไหนมีการคอร์รัปชันมากน้อยกว่ากัน

    อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ลาออกแล้ว เนื่องจากมีชื่ออยู่ในเอกสารดังกล่าว ว่าแอบซุกทรัพย์สินไว้ต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ทางด้านไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอข้อมูล Panama Papers พร้อมตรวจสอบรายชื่อ-หน่วยงาน ก่อนเสนอนายกฯ ให้ทราบต่อไป

    ฟิลิปปินส์ประเดิมวัคซีนไข้เลือดออกล้านโดส

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/601062)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/601062)

    วันที่ 4 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงาน ว่านางเจนเน็ต พี.โลเรโต การิน รมต.สาธารณสุขของฟิลิปปินส์ เป็นประธานเปิดโครงการให้วัคซีนไข้เลือดออกแก่นักเรียนฟิลิปปินส์ อายุตั้งแต่ 9 ปี หรือชั้นเกรด 4 ขึ้นไป จำนวน 1 ล้านโดส นับเป็นชาติแรกที่มีนโยบายให้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแก่เด็กและถือเป็นการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเข็มแรกของโลก

    ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ รายงานจากเมืองมาริกิน่าว่า นางเจ็นเน็ตได้กล่าวระหว่างเปิดโครงการให้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแก่เด็กนักเรียน ว่ารัฐบาลได้บรรจุแผนการให้วัคซีนไข้เลือดออกแก่เด็กนักเรียนเป็นวาระแห่งชาติโดยทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ ในเฟสแรกจะนำร่องฉีดให้กับเด็กนักเรียนใน 3 เขตหลักๆ ของฟิลิปปินส์ คือ เขตที่ 3 เขต 5 A และ เขตเนชั่นแนล แค็ปปิตัล ซึ่งเป็นเขตที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงกว่าเขตอื่นๆ โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนในเฟสแรกของโครงการให้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแก่เด็กจำนวน 1 ล้านโดส

    “วันนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของฟิลิปปินส์ในด้านสาธารณสุขของประเทศที่ได้เปิดโครงการให้วัคซีนไข้เลือดออกเข็มแรกของโลกและถือเป็นชาติแรกในโลกที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งคร่าชีวิตชาวโลกไม่ต่ำกว่าปีละ 12,500 คนต่อปี และมีคนเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ถึงปีละ 390 ล้านคน” นางเจนเน็ตกล่าว

    สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เด็กนักเรียนตั้งแต่เดือนเม.ย.- มิ.ย. 2559 และอีก 6 เดือนหลังจากฉีดเข็มแรก จะฉีดเข็มที่สองให้กับเด็กคนเดิมที่ได้รับวัคซีนไปก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2559 และฉีดเข็มสุดท้ายในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2560 หลังการฉีดวัคซีนร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้เลือดออกไปได้นานกว่า 5 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น สำหรับวัคซีนไข้เลือดออกเข็มแรกของโลกชื่อว่า “เด็งวาเซีย” (Dengvaxia) ผลิตโดยบริษัทซาโนฟี่ปลาสเตอร์ ของฝรั่งเศส โดยนำเทคโนโลยีจากการวิจัยร่วม 5 ประเทศ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในอาสาสมัครกว่า 20,000 ราย และการทดลองในอีก 5 ประเทศในละตินอเมริกา ในอาสาสมัครจำนวนเท่าๆ กัน สามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์

    ด้าน รศ.พญ.อุษา ทิสยากร ที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกของประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับการตัดสินใจของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกให้กับนักเรียนใน 6,000 โรงเรียน จำนวน 1 ล้านโดส ในเขตที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงกว่าเขตอื่นๆ แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเล็กน้อยที่ประเทศไทยไม่สามารถเป็นชาติแรกในโลกที่จะได้ฉีดวัคซีนเข็มนี้ทั้งๆ ที่เราเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมาตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัย ศ.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ เริ่มเห็นความสำเร็จในปี 2552 โดยไทยเราเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ใช้วิจัยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ทั้งที่คือ โรงพยาบาลโพธาราม โรงพยาบาลบ้านโป่ง และโรงพยาบาลกำแพงเพชร ประเทศไทยเราถือว่ายังขับเคลื่อนได้ช้า แม้จะเทียบกับในกลุ่มแค่ประเทศอาเซียนด้วยกันอย่าง เช่น เวียดนาม ตอนนี้มีโรงงานผลิตวัคซีนเองแล้ว และวันนี้ฟิลิปปินส์ก็มีนโยบายชัดเจนในการให้วัคซีนป้องกันโรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตแก่เด็กของเขาเป็นชาติแรกของโลก

    6 องค์กรสิทธิฯ กังวลคำสั่ง คสช. 13/2559 แถลงการณ์ร่วมค้าน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (http://www.isranews.org/isranews-short-news/item/46046-no_npomc.html)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (http://www.isranews.org/isranews-short-news/item/46046-no_npomc.html)

    วันที่ 6 เม.ย. 2559 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรารายงาน ว่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ฮิวแมนไรท์ว็อชท์ (Human Rights Watch – HRW) แอมแนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International – AI) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Forum for Human Rights and Development – FORUM-ASIA) สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights – FIDH) และฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights – FR) กล่าวพร้อมกันในวันนี้ว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 ซึ่งให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ของกองทัพไทยโดยทันที เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

    เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557เพื่อประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2559 ซึ่งกำหนดให้แต่งตั้ง “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” และผู้ช่วยจากข้าราชการทหารซึ่งมียศร้อยตรี รวมถึงทหารประจำการ ทหารกองประจำการ และอาสาสมัครทหารพราน โดยมอบอำนาจหลายประการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด 27 ประเภท รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำการให้เกิดความไม่สงบในที่สาธารณะ ความผิดต่อเสรีภาพและชื่อเสียง การตรวจคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และการค้าอาวุธ

    วิลเดอร์ เทเลอร์ (Wilder Tayler) เลขาธิการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าวว่า “การปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักนิติธรรมอย่างแน่นอน นับเป็นคำสั่งที่ต้องถูกยกเลิกโดยทันที” “ที่ผ่านมาทางองค์กรสังเกตว่า นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในไทยได้เสื่อมถอยลงมาโดยตลอด คำสั่งนี้เป็นสัญญาณที่น่าตกใจอีกครั้งหนึ่ง และสะท้อนให้เห็นแนวโน้มแบบเดียวกัน”

    คำสั่งนี้ส่งผลให้เกิดข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการ รวมทั้ง

    1. การมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ พ้นจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อันส่งผลให้เกิดการลอยนวลเมื่อกระทำผิด นับว่าขัดต่อหลักการว่าด้วยความรับผิดตามหลักนิติธรรม

    แบรดอดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์ว็อชท์กล่าวว่า “แทนที่จะสนับสนุนให้มีการฟื้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลทหารไทยกลับขยายอำนาจของตนเพื่อให้ทำได้ในทุกสิ่งที่ต้องการ รวมทั้งการปฏิบัติมิชอบโดยไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด”“การปราบปรามกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรายวันในประเทศไทย มีลักษณะที่นำไปสู่ความเป็นเผด็จการทหารมากขึ้นเรื่อยๆ”

    2. การปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยอำนาจศาล ซึ่งขัดกับสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล สิทธิที่จะให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบการละเมิดเสรีภาพ และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งได้รับการรับรองตามข้อ2 9 และ 14 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)

    แชมพา พาเทล (Champa Patel) รักษาการผู้อำนวยการประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “คำสั่งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการลิดรอนอำนาจตุลาการอย่างร้ายแรงที่จะสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของกองทัพ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยของการคุ้มครองสิทธิและหลักนิติธรรม”

    3. การให้อำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางและคลุมเครือแก่เจ้าพนักงานทหารที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม ย่อมมีแนวโน้มนำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ ซึ่งไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่สอดคล้องต่อประมวลหลักปฏิบัติแห่งสหประชาชาติของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย(UN Code of Conduct for Law Enforcement Officials)และหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials)

    เอเวอลีน บาลาอิส-เซอร์ราโน (Evelyn Balais-Serrano) ผู้อำนวยการบริหารสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชียกล่าวว่า “คำสั่งนี้ให้อำนาจเจ้าพนักงานทหารในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่มีประสบการณ์และไม่ทราบขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวบุคคล การค้น และการจับกุมบุคคล”

    “การขาดการกำกับดูแลจากกระบวนการยุติธรรมยิ่งทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเนื่องจากคำสั่งนี้อาจนำไปสู่การใช้อำนาจอย่างมิชอบ และการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนเหมาะสมของเจ้าพนักงานทหาร ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งประมวลหลักปฏิบัติแห่งสหประชาชาติของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและมีความเสี่ยงอย่างมากที่อาจมีการใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ เพื่อจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม”

    4. คำสั่งนี้ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวันในสถานที่ซึ่งไม่เปิดเผย โดยไม่มีการตรวจสอบจากศาล ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

    คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji) ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลกล่าวว่า“แม้จะอ้างว่าการบังคับใช้คำสั่งนี้เป็นไปเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่คำสั่งนี้มีแนวโน้มให้เกิดการกระทำผิดทางอาญาระดับร้ายแรง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ลงนามหรือให้สัตยาบันรับรองไว้”

    5. ในทางปฏิบัติแล้ว คำสั่งนี้เปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้อย่างมิชอบ เพื่อปราบปรามและปิดปากผู้ที่ทางการมองว่ามีความเห็นแตกต่างจากรัฐซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

    เอมี สมิท (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ติฟายไรท์กล่าวว่า “คำสั่งนี้เปรียบเสมือนการราดน้ำมันบนกองไฟที่ทำให้เกิดการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย”

    “ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคำสั่งนี้อาจถูกใช้เพื่อพุ่งเป้าโจมตีและขัดขวางการปฏิบัติงานอันชอบธรรมของพวกเขา”

    อัดฉีดเอกชนเร่งนวัตกรรม ยกเว้นภาษี R&D 300%

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1459835063)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1459835063)

    วันที่ 5 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงาน ว่าการนำไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการได้มาซึ่งนวัตกรรมย่อมมาจากการให้น้ำหนักกับเรื่องการวิจัยและพัฒนา (Research & De-velopment : R&D) โดยที่ผ่านมามีมาตรการจูงใจสำหรับภาคเอกชนคือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% สำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมาตรการดังกล่าวขยายไปสู่การยกเว้นภาษี 300% เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558-31 ธ.ค. 2562

    มาตรการยกเว้นภาษี 300% มีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิ์ในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิ์หักรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาฯในวงเงินสูงสุดร้อยละ 60 ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาได้อีกร้อยละ 9 และส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาได้เพิ่มเติมอีกร้อยละ 6

    ในงาน CEO Innovation Forum 2016 มีการพูดคุยถึงการยกเว้นภาษี 300% ซึ่งไม่เพียงแต่การเปิดตัวมาตรการนี้อย่างเป็นทางการ แต่ยังมีการบอกเล่าถึงภาพรวมของวงการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยที่นับว่ามีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย “ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า “ปกติแล้วประเทศที่มีรายได้ประชาชาติ/คน/ปี อยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์สามารถเร่งการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติอยู่ที่ 7,000 กว่าดอลลาร์/คน/ปี จึงถือว่ามีโอกาสในการลงทุนอย่างมาก ปัจจัยที่เอื้อมาจากการที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุน”

    ด้าน “ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล” ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ผลการสำรวจมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของโครงการวิจัยที่ได้รับรองจากสวทช. ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2558 คิดเป็นมูลค่าผลกระทบรวม 16,489 ล้านบาท หรือสร้างผลกระทบประมาณ 8 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีที่ได้รับยกเว้นรวม 2,082 ล้านบาท อีกทั้งยังส่งผลให้มูลค่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 243.33 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังเกิดการลงทุนเพิ่มของภาคเอกชน 1,166.67 ล้านบาท”

    และ “น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนากล่าวว่า “R&D ถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบริษัททุกขนาด เพราะภาวะการแข่งขันในตลาดสูงมาก อีกทั้งธุรกิจมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีทั้งคุณภาพ นวัตกรรม เครือข่ายธุรกิจ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้”

    ย้ายด่วน “พ.ท.-ร.อ.” รับผิดชอบพลทหารตาย

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/98173)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/98173)

    วันที่ 8 เม.ย. 2559 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงาน ว่าเมื่อวันที่ 7 เมษายน พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณี 6 นายทหารที่ร่วมกันลงโทษ พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด สังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสะตา จ.ยะลา จนเสียชีวิต ว่า ตนได้สั่งให้ย้าย พ.ท. สมคิด คงแข็ง ผบ.ร.152 พัน 1 และนายทหารยศ ร.อ. ออกนอกหน่วยแล้ว เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของทหาร 6 นายที่กระทำความผิดนั้น ขอยืนยันว่าจะไม่ปกป้อง พร้อมทั้งจะเอาผิดทางวินัยและอาญาขั้นสูงสุด ทั้งนี้ ในกองทัพบกกำลังพลประมาณสองแสนนาย แต่มีทหารที่ไม่อยู่ในระเบียบวินัยแค่เพียงไม่กี่นายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ตนจึงไม่ต้องการให้สังคมเหมารวมว่าทหารทั้งหมดไม่ดี