ThaiPublica > คอลัมน์ > ส่องสถานการณ์คอร์รัปชันทั่วโลก ปี 2016

ส่องสถานการณ์คอร์รัปชันทั่วโลก ปี 2016

9 มกราคม 2017


Hesse004

ปี 2016 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนับเป็นปีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในแวดวงการต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก สถานการณ์คอร์รัปชันเมื่อปีที่แล้ว ดูเหมือนจะส่งสัญญาณเตือนให้ผู้นำทั้งหลายควรใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง

ลองทบทวนสถานการณ์คอร์รัปชันจากทั่วทุกมุมโลก พบว่า มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นบทเรียนและกรณีศึกษาที่น่าค้นคว้าวิจัยอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ (1) กรณีปานามา เปเปอร์ส (Panama Papers) อันโด่งดัง (2) เรื่องทุจริตครั้งมโหฬารของบริษัท Petrobras บริษัทน้ำมันแห่งชาติของบราซิล และ (3) การใช้อำนาจโดยมิชอบของ “ปาร์ค กึน เฮ” ผู้นำหญิงเกาหลีใต้

กรณีศึกษาทั้ง 3 นี้ สะท้อนให้เห็นความพยายามของทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องการต่อสู้กับการทุจริตระดับใหญ่ (grand corruption) ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง กลุ่มทุนธุรกิจ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง

…น่าสนใจว่า การเปิดโปงปัญหาทุจริตระดับใหญ่มักมีจุดเริ่มต้นมาจากชนวนเล็กๆ ที่ต่อมาบานปลายขยายผลรวดเร็วผ่านทาง social media และสื่อมวลชนสาย investigative journalism จนนำไปสู่การออกมาเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องขับไล่ผู้นำลงจากตำแหน่ง

เคส Panama papers เผยให้เห็นข้อมูลลับๆ ทางการเงินของเหล่าคนดังทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อ ปรากกฏชื่อผู้นำหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายสัญชาติ ปานามา อย่าง Mossack Fonseca ที่เป็นธุระจัดการทรัพย์สินแบบลับๆ ให้ผู้นำเหล่านี้

แน่นอนว่า การทำอะไรแบบลับๆ ล่อๆ ปิดบัง อำพราง ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สิน เงินทอง ย่อมหนีไม่พ้นข้อครหาที่ว่า คนดังเหล่านี้ได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบหรือไม่ หรือได้มาแล้วต้องการหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่

เอกสารมากกว่า 11 ล้านฉบับ มีชื่อผู้นำคุ้นๆ หูหลายคน เช่น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีคนดังแห่งรัสเซีย นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ …ยังมีรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวโยงกับผู้นำระดับโลกหลายคน เช่น บุตรชายของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พี่เขยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่เว้นแม้แต่ลูกชายของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

ผลพวงของ Panama papers สะเทือนถึงนายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ นายซิกมุนด์เดอร์ กุนน์ลอคสัน (Sigmundur David Gunnlaugsson) ที่ต้องลาออก หลังจากมีชื่อติดอยู่ในรายงานอื้อฉาวฉบับนี้

พลันที่ชื่อของนายกุนน์ลอคสันปรากฏในในลิสต์ของ Panama papers เขาถูกกดดันทั้งจากสภาและประชาชนที่เริ่มชุมนุมประท้วงในกรุงเรคยาวิก ท้ายที่สุด เขาได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

Panama Papers รายงานอื้อฉาวที่พ่นพิษใส่ผู้นำประเทศหลายคน ที่มาภาพ : https://missiongalacticfreedom.files.wordpress.com/2016/04/panama-papers.jpg?w=722&h=457
Panama Papers รายงานอื้อฉาวที่พ่นพิษใส่ผู้นำประเทศหลายคน ที่มาภาพ : https://missiongalacticfreedom.files.wordpress.com/2016/04/panama-papers.jpg?w=722&h=457

ถัดจากปานามา มาที่บราซิล เกิดการทุจริตครั้งมโหฬารของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petrobras โดย Petrobras ถูกกล่าวหาว่าตั้งราคาเกินจริงในการทำสัญญาสัมปทานกับบริษัทต่างๆ เพื่อหักเงิน 3% นำไปจ่ายเป็นสินบนให้กับนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง

โดยหนึ่งในผู้บริหาร Petrobras คนสำคัญในเวลานั้น คือ นางดิลมา รูสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิล ซึ่งในอดีตนางเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งนี้ด้วย

เรื่อง Petrobras เป็นหนึ่งในเหตุผลของการเดินขบวนขับไล่นางรูสเซฟฟ์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2016 ณ กรุงซานเปาโล ขบวนประชาชนนับล้านออกมาเดินประท้วงขับไล่ จนกระทั่งนำไปสู่การถอดถอน (impeachment) ออกจากตำแหน่งผู้นำในที่สุด

กรณีทุจริตครั้งมโหฬารของ Petro bras ที่พ่วงเอานางดิลมา รูสเซฟฟ์ ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิล    ที่มาภาพ :http://images.bidnessetc.com/img/960-has-the-petroleo-brasileiro-sa-petrobras-adr-scandal-put-dilma-rousseffs-go.jpg
กรณีทุจริตครั้งมโหฬารของ Petro bras ที่พ่วงเอานางดิลมา รูสเซฟฟ์ ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิล ที่มาภาพ :http://images.bidnessetc.com/img/960-has-the-petroleo-brasileiro-sa-petrobras-adr-scandal-put-dilma-rousseffs-go.jpg

จะว่าไปแล้ว ปีที่ผ่านมานับเป็น “ปีชง” ของเหล่าผู้นำประเทศหลายคน นอกเหนือจาก นายกุนน์ลอคสันแล้ว เดวิด คาเมรอน (ซึ่งมีชื่อติดใน Panama papers ด้วย) ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ หลังจากแพ้โหวตเรื่อง Brexit ขณะที่นางรูสเซฟฟ์ ผู้นำหญิงคนแรกแห่งบราซิลก็ถูกถอดถอน เช่นเดียวกับที่ “ปาร์ค กึน เฮ” ก็ถูกวิบากกรรมเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เล่นงานเสีย “งอมพระราม”

…เรื่องราวของผู้นำโสมขาว ปาร์ค กึน เฮ ถูกถอดถอนจากตำแหน่งก็เพราะคนใกล้ชิดโดยแท้

นางชเว ชุน ซิล (บางครั้งอ่านว่านางชอย) เพื่อนรักคนสนิทกับปาร์ค เข้ามามีบทบาทเจ้ากี้เจ้าการในรัฐบาลปาร์ค โดยแทรกแซงการเมืองทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง เช่น ปรับแก้สุนทรพจน์ อาศัยชื่อเพื่อนไปแอบอ้างหากิน เรียกรับผลประโยชน์เข้าตัวเอง หนำซ้ำยังทำตัวเป็น “เจ้าแม่” รีดไถเงินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มแชโบลให้บริจาคเงินเข้ากองทุนที่นางชอยดูแล

เรื่องการ “แอบอ้าง” และใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบนี้ นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดประธานาธิบดีหญิง พร้อมกันนั้น ชาวเกาหลีใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ประท้วง” มาแต่อดีต ได้ลุกขึ้นเดินขบวนขับไล่ปาร์ค กึน เฮ จนท้ายที่สุดชื่อของนางเหลือเพียงตำแหน่งอดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้

ปาร์ค กึน เฮ ร่วงจากตำแหน่งเพราะเพื่อนรักคนสนิท ที่มาภาพ : http://hilight.kapook.com/img_cms2/logo/24_41_1479612732.jpg
ปาร์ค กึน เฮ ร่วงจากตำแหน่งเพราะเพื่อนรักคนสนิท ที่มาภาพ : http://hilight.kapook.com/img_cms2/logo/24_41_1479612732.jpg

นอกเหนือเรื่องใหญ่ๆ ข้างต้นที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวระดับโลกแล้ว เรื่องคอร์รัปชันที่น่าสนใจในรอบปี 2016 ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น กรณีการจับกุมนายลิ้ม กวน เอง (Lim Guan Eng) อดีตมุขมนตรีแห่งรัฐปีนัง ที่ออกมาโจมตีวิพากย์วิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของนายนาจิบ ราซัค

นายลิ้มพยายาม “ขยี้” เรื่องกองทุน 1MDB ที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยัง “เมาหมัด” อยู่ แต่ในที่สุดนายลิ้มเองที่โดน Malaysian Anti-Corruption Commission (MACC) หรือ ป.ป.ช. เข้าจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชัน

กรณีนายลิ้มเป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำให้เห็นว่า การกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็น “อาวุธซัดทางการเมือง” ที่ทรงพลังยิ่งนัก

นายลิ้ม กวน เอง ที่แสดงตนเป็นปรปักษ์กับนายนาจิบ ราซัค พยายามจะขยี้เรื่อง 1MDB แต่ท้ายที่สุด เขาถูก MACC หรือ ป.ป.ช. ของมาเลเซียจับในข้อหาคอร์รัปชัน ที่มาภาพ : http://s3media.freemalaysiatoday.com/wp-content/uploads/2016/02/Lim-Guan-Eng.jpg
นายลิ้ม กวน เอง ที่แสดงตนเป็นปรปักษ์กับนายนาจิบ ราซัค พยายามจะขยี้เรื่อง 1MDB แต่ท้ายที่สุด เขาถูก MACC หรือ ป.ป.ช. ของมาเลเซียจับในข้อหาคอร์รัปชัน ที่มาภาพ : http://s3media.freemalaysiatoday.com/wp-content/uploads/2016/02/Lim-Guan-Eng.jpg

ในญี่ปุ่นเอง เรื่องอื้อฉาว ข่าวคอร์รัปชันโด่งดัง เกิดขึ้นที่มหานครโตเกียว เมื่อนายโยชิ มะซุโซะเอะ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียวต้องแสดงสปิริต (ภาคบังคับ) ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าใช้เงินหลวงฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเงินสำหรับดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (political funds) อย่างสุรุ่ยสุร่าย

คอร์รัปชันเป็นปัญหาสากล ที่รัฐจำเป็นต้องวางกลไกควบคุม ลดแรงจูงใจไม่ให้เกิดการทุจริต ติดสินบนหรือใช้ประโยชน์โดยมิชอบ ขณะเดียวกัน กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีมาตรฐานและเข้มแข็งย่อมเป็นหลักประกันสำคัญที่จะทำให้อัตราคอร์รัปชันลดลงได้จริง มิใช่แค่ “ไม้หลักปักขี้เลน” ที่ทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือบังคับใช้กับคนที่อ่อนแอกว่า ขาดเหลี่ยมคูทางกฎหมายมาต่อสู้ หรือไม่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์ connection กับผู้มีอำนาจ

ท้ายที่สุด สถานการณ์คอร์รัปชันปี 2016 จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรนั้น เราคงต้องติดตามจากรายงานการเผยแพร่ Corruption Perception Index 2016 ของ Transparency Survey ซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในเร็ววันนี้