ไม่ว่าจะชอบหรือไม่…ความจริงวันนี้คือนักท่องเที่ยวจีนกลายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุด ทะลุเพดานไปถึงเกือบ 8 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา
การมาของนักท่องเที่ยวจีนจึงเป็น “ความหวัง” ในเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศ ปี 2558 สามารถสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวไทยถึง 371,000 ล้านบาท และจากการประเมินของ อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป ผ่านรายงาน “อนาคตของนักท่องเที่ยวจีน” ระบุว่ารายได้ของไทยจากนักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่าตัวหรือราว 829,500 ล้านบาทในปี 2566
ทว่าในความหวังของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลกระทบและการบริหารจัดการการท่องเที่ยว อาทิ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่เหมาะสม กระบวนการกินรวบในซัพพลายเชนท่องเที่ยวโดยชาวจีน ไปจนถึงทัวร์ศูนย์เหรียญ ทัวร์ติดลบ ทัวร์ Kick Back หรือ KB นำมาสู่การ ประท้วงของมัคคุเทศก์ไทยต่อกรณีไกด์เถื่อนเมื่อเร็วๆนี้ จึงเป็นคำถามว่า ไทยได้ประโยชน์แค่ไหนจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีน
และนี่เป็นคำถามที่อาจต้องการคำตอบที่รวดเร็วมากพอกับการไหลบ่าเข้ามาของคลื่นคนจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก!
ปัจจุบันจีนครองแชมป์การเดินทางออกนอกประเทศมากที่สุดปีละกว่า 100 ล้านคน และนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จีนยังกลายเป็นประเทศที่มียอดการจับจ่ายในการท่องเที่ยวมากที่สุด แซงหน้าเยอรมนีและสหรัฐอมริกา และหากเป็นไปตามที่ประธานธิบดี สี จิ้นผิง เคยประกาศว่าภายในปี 2561 ชาวจีนจะเดินทางออกนอกประเทศปีละ 400 ล้านคน นั่นหมายถึงอีก 4 เท่าจากจำนวนคนจีนที่จะได้เห็นในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนในปัจจุบัน
คลื่นคนจีนทะลักทั่วโลก
ในรายงานของ อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป ยังระบุด้วยว่า ในปี 2557 นักท่องเที่ยวชาวจีนมีทริปท่องเที่ยวทั่วโลกรวม 67.5 ล้านทริป โดยที่ผ่านมาเมืองใหญ่ (major cities) จะเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ไปต่างประเทศ (รวมการไปฮ่องกงและมาเก๊า) คิดเป็น 85% ของจุดหมายทั้งหมด
กล่าวคือ ประเทศจีนกำลังเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของตลาดโลก ซึ่งชาวจีนมักเลือกเมืองจุดหมายที่เดินทางเข้าง่าย รวมถึงมีนโยบายด้านวีซ่าสะดวก และการท่องเที่ยวในอดีตที่ผ่านมามักเป็นไปในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ดังนั้น เมืองที่ชาวจีนจะไปก็จะเป็นเมืองที่มีศูนย์กลางเป็นเมืองธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจได้ลดลงไปกว่าครึ่ง แต่สัดส่วนของการท่องเที่ยวเมืองใหญ่ยังคงสูงเช่นเดิม ชี้ว่าแม้จะไปพักผ่อนชาวจีนก็จะยังเลือกเมืองใหญ่ๆ เป็นจุดหมาย
การไหลบ่าของคลื่นคนจีนจากจีนสู่ทั่วโลกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในรายงานแนวโน้มการอพยพย้ายถิ่นและนโยบายของจีน ที่จัดทำโดย The Migration Policy Institute ในวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า การผ่อนผันนโยบายการกำกับดูแลของรัฐเรื่องการย้ายถิ่นส่วนบุคคล และความเข้มแข็งในแง่ศักยภาพในการกำกับดูแลของรัฐ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จีนผงาดขึ้นมา โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือนโยบายการเคลื่อนย้ายคนจีนในปี 2529 ซึ่งเป็นปีแรกที่คนจีนสามารถถือพาสปอร์ตส่วนตัวได้ และนับตั้งแต่ปี 2545 ชาวจีนสามารถเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตหรือใบรับรองจากรัฐบาล
กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ปลายทางยอดนิยม
การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ทำให้ผู้คนในประเทศมีอำนาจการจับจ่ายได้มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ที่แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวบ้างแล้วแต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นอัตราการเติบโตยังดีเพียงพอ ทำให้การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวจึงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 4- 5 ปีหลัง และทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนเปลี่ยนไปในหลายเรื่อง ถึงขนาดเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติเช่นที่เคยอย่างการกลับบ้านในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน มาเป็นการพาครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยจีน ณ ปักกิ่ง เปิดเผยว่า หนังสือพิมพ์ Nanning Evening ถึงกับระบุว่า ชาวหนานหนิงเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติจากเดินทางกลับบ้านภูมิลำเนาเดิมเพื่อเตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนไปเป็นการนำครอบครัวเดินทางไปท่องเที่ยวช็อปปิ้งในต่างประเทศ และ “ไทย” เป็นจุดหมายปลายทางที่สุดในใจชาวหนานหนิง โดยให้เหตุผลถึงความคุ้มค่าของราคา
ในหลายเมืองของจีนยังเลือก “ไทย” เป็นอันดับหนึ่งสำหรับประเทศเป้าหมายปลายทางในการเดินทาง เช่น ส่านซี เฉิงตู ฯลฯ จากสถิติล่าสุดพบว่านิยมมาเที่ยวประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 โดย 2 เมืองหลังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเทศกาลตรุษจีน มีชาวเฉิงตูและหนานหนิงมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ที่ผ่านมามีชาวเฉิงตูมาเที่ยวไทยในช่วงตรุษจีน จำนวน 15,617 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,415 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30% ขณะที่นครหนานหนิงมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าออกต่างประเทศ 26,231 คน (เฉลี่ยวันละ 3,750 คน) ส่วนใหญ่มาไทยมีเครื่องบินขึ้นลง 191 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.03 และ 24.03 ตามลำดับ สำหรับเส้นทางบินสู่ประเทศไทยมีบริการทั้งเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำสู่ 5 จุดหมายปลายทาง คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และกระบี่ (ภูเก็ตและกระบี่เป็นแบบเช่าเหมาลำ) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
แม้ว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่มาจากแต่ละเมืองจะมีความแตกต่างกันระหว่างเมืองใหญ่และชนบท แต่จากการจัด 10 อันดับสถานที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนในปี 2558 ไทยก็ติดอันดับ โดยทั้ง10 อันดับประกอบด้วย 1. ฮ่องกง 2. กรุงโซล 3. กรุงโตเกียว 4. เกาะภูเก็ต 5. กรุงเทพมหานคร 6. ประเทศสิงคโปร์ 7. กรุงไทเป 8.จังหวัดเชียงใหม่ 9. เกาะบาหลี และ 10.เกาะเจจู ตามลำดับ
นอกจากนี้ ไทยยังติดอันดับที่เที่ยวยอดนิยมที่คาดว่าคนจีนอยากไป จากการคาดการณ์ของ Tourism Economics เมืองจุดหมายปลายทาง 5 อันดับแรกที่ชาวจีนอยากไป ในช่วงปี 2556-2566 ได้แก่ 1.นิวยอร์ก 2. ลอสแอนเจลิส 3. โตเกียว 4. กรุงเทพฯ 5. พัทยา
10ปี นักท่องเที่ยวจีนมาไทยโตเกือบ 1,000%
ทำไมคนจีนถึงสนใจมาเที่ยวเมืองไทย 10 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นลำดับ ที่น่าสนใจอยู่ที่ราวปี 2555 เป็นต้นมาที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดและขึ้นมาสู่จุดสูงสุดแตะสถิติเกือบ 8 ล้านคนในปี 2558 ที่ผ่านมา โดยข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ระบุว่า จำนวนรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2558 คือ 29.8 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวจีนถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนมากที่สุด หรือคิดเป็น 26.55% เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ
จากสถิติจำนวนของนักท่องเที่ยวสัญชาติจีน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปี 2548 – 2558 มีนักท่องเที่ยวสัญชาติจีนเพิ่มขึ้นจำนวน 7,157,999 คน คิดเป็น 921 % โดยในช่วง 5 ปีแรก ระหว่างปี 2548-2552 จำนวนนักท่องเที่ยวค่อยๆ เติบโตและลดลงบ้าง ในบางปีอยู่ในระดับ 7-8 แสนคน(ดูภาพประกอบ)
ทว่าในช่วง 5 ปีหลัง นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวสัญชาติจีนที่เดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 ล้านคนต่อปี ในปี 2555 และปี 2556 โดยมีเหตุผลจากกระแสภาพยนตร์ Lost in Thailand ที่ใช้เชียงใหม่เป็นฉากหลังของการถ่ายทำ โดย Lost in Thailand ถือเป็นหนังที่โด่งดังและทำรายได้มากถึง 200 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการทุบสถิติวงการภาพยนตร์ของจีน โดยหลังจากปลายปี 2555 ที่ภาพยนตร์ออกฉาย ทำให้อัตราเร่งของนักท่องเที่ยวจีนมายังไทยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่ในปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา 140,000 คน เพิ่มจาก 40,000 คนในปี 2555
แม้โดยตัวกระแสภาพยนตร์เองจะซาลง แต่แรงส่งที่เคยถูกจุดไว้และอีกหลายปัจจัยที่ระบุในรายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนกันยายน 2557 ระบุว่า การเร่งทำการตลาดของบริษัทนำเที่ยวของจีน ความนิยมต่อแหล่งท่องเที่ยวในไทยของชาวจีน การเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสถานการณ์ในประเทศไทย และการทำการตลาดของสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินเช่าเหมาลำที่กระจายนักท่องเที่ยวจีนสู่ภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ในปี 2558 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยว มากที่สุดถึง 7,934,791 คน เพิ่มขึ้น 3,298,493 คน คิดเป็น 71.63% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 4,636,298 คน
“ทัวร์จีน” โตแต่จำนวน ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่ำ
ในเชิงปริมาณ การมาถึงของนักท่องเที่ยวจีนอาจจะช่วยสร้างรายได้โดยจีนติดอยู่ในท็อป 10 ของการสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทย โดยนับตั้งแต่ปี 2551-2557 นักท่องเที่ยวจีนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากปี 2551 ที่สร้างรายได้ราว 28,470 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.96% ของรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติ จำนวน 574,520 ล้านบาท มาเป็น 130,650 ล้านบาทในปี 2557 คิดเป็นสัดส่วน 11.14% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติในภาพรวม 1,172,798.17 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจีน ในปี 2558 ขยับขึ้นจากปี 2551 ไม่มากนัก โดยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเพียง 5,747.95 บาทในปี 2558 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับเมื่อ 8 ปีก่อน ในปี 2551 ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัว 4,520.46 บาท ซึ่งดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของไทยยังไกลเกินสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายต่อหัวของการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตัวเองในประเทศอื่นๆ
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย-จีน ณ ปักกิ่ง ในปี 2558 ระบุว่าคนจีนมีการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนรวม 120 ล้านทริป มีการจับจ่ายรวม 0.7 ล้านล้านหยวน โดยเป็นการท่องเที่ยวด้วยตนเองประมาณ 80 ล้านทริป และท่องเที่ยวกับบริษัททัวร์ประมาณ 40 ล้านทริป โดยชาวจีนที่เลือกเดินทางด้วยตนเองมีการใช้จ่ายในต่างประเทศเฉลี่ย 11,625 หยวน (64,000 บาท) ต่อคนต่อทริป ว่ากันว่าเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนในสนามบินกรุงลอนดอน แม้จะมีเพียงร้อยละ 1 ของผู้โดยสารทั้งหมด แต่ยอดการซื้อสินค้าปลอดภาษีจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นร้อยละ 25 ของยอดขายรวมทั้งปีของสนามบินแห่งนี้
และนี่อาจจะเป็นคำตอบในคำถามของยุทธศาสตร์ที่ไม่ได้ยึดติดแต่เพียงจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะต้องมองในเรื่องคุณภาพ การบริหารจัดการ ที่อาจจะเป็นคำตอบที่สำคัญที่สุดในปรากฏการณ์จีนบุกไทย!!!