ThaiPublica > เกาะกระแส > ชมรมมัคคุเทศก์จีนกลางรวมตัวเร่งรัฐจัดการไกด์เถื่อนต่างชาติ ใช้ทรัพยากรประเทศไทย แต่ผลประโยชน์ไม่ตกถึงมือคนไทย

ชมรมมัคคุเทศก์จีนกลางรวมตัวเร่งรัฐจัดการไกด์เถื่อนต่างชาติ ใช้ทรัพยากรประเทศไทย แต่ผลประโยชน์ไม่ตกถึงมือคนไทย

12 เมษายน 2016


ประท้วงไกด์ต่างชาติ

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ที่กองอำนวยการร่วมรับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล (จุดบริการประชาชน 1111) ทำเนียบรัฐบาล นายไพศาล ซื่อธานุวงศ์ ประธานชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีนกลางแห่งประเทศไทย นำกลุ่มมัคคุเทศก์ไทยทั่วประเทศไทย เช่น ชมรมมัคคุเทศก์รักษ์ล้านนา สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ และชมรมมัคคุเทศก์ภาษาอินโดนีเซีย เป็นต้น จำนวนประมาณ 300 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งรัดปราบปรามชาวต่างชาติที่ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในประเทศไทย และยังระบุว่าจดหมายของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีนที่ยื่นต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 นั้นมีข้อความอันเป็นเท็จ ในเรื่องมัคคุเทศก์ชาวไทยไม่พอและ “ไม่มีทัวร์ศูนย์เหรียญหรือทัวร์ KB” โดยมุ่งจะจ้างคนต่างชาติมาทำทัวร์ที่ได้ผลประโยชน์มากกว่าการจ้างมัคคุเทศก์ชาวไทย

นางกรกช โขนงนุช นายกสมาคมมัคคุเทศก์ เชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาของมัคคุเทศก์ไทยและแนวทางการแก้ปัญหาว่า ขณะนี้ปัญหาใหญ่คือไกด์เถื่อนหรือไกด์ต่างชาติ เช่น มัคคุเทศก์ภาษาเกาหลี, ภาษาเวียดนาม และภาษาจีน เป็นต้น ซึ่งมัคคุเทศก์ภาษาจีนนั้นมีมากขึ้นตามจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

“ที่ผ่านมาพบลักษณะของไกด์เถื่อนดังนี้ 1. คนจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวแล้วเห็นช่องทาง กลายเป็นผู้ประกอบการแล้วนำเที่ยวเอง จัดอะไรครบวงจรหมด 2. นักศึกษาชาวจีนที่มาเรียนหรือมาโครงการแลกเปลี่ยนในเมืองไทยจะไม่กลับ หาช่องทางทำธุรกิจท่องเที่ยว โดยทำการตลาดผ่านระบบแอปพลิเคชัน we chat 3. ผู้ประกอบการเอง ด้วยระบบทัวร์ของประเทศจีนที่มีการแข่งขันสูงด้านการแย่งลูกค้า ดังนั้นจึงเกิดการเสนอราคาทัวร์ให้ลูกค้าในราคาต่ำ (800-1,500 หยวน) เพื่อเอามาหากำไรในเมืองไทย ซึ่งมักเป็นการเอาเปรียบลูกค้า โดยมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”นางกรกชกล่าว

นางกรกชอธิบายถึงรูปแบบของทัวร์จีนที่ก่อปัญหาในประเทศไทยว่า “โดยปกติต้นทุนของการท่องเที่ยวจะมีค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่ารถนำเที่ยว และค่ามัคคุเทศก์ ซึ่งราคาสมเหตุสมผลแล้ว การมาเที่ยวเมืองไทย 5 วัน 4 คืน ราคาจะประมาณ 30,000-40,000 บาท ซึ่งรวมราคาตั๋วเครื่องบิน แล้วคุณมาขายค่าทัวร์ 1,000 หยวน ก็คือประมาณ 5,000 บาท ในขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 35,000 หรือ 40,000 บาท จะเอาทุนมาจากไหน เพราะว่านักท่องเที่ยวจ่ายแค่นั้น แล้วจะต้องพักโรงแรม อาหารวันละ 3 มื้อ มีมัคคุเทศก์ รถทัวร์นำเที่ยว แล้วตั๋วเครื่องบินไปกลับอีก นั่นคือปัญหา”

นางกรกชกล่าวอีกว่าจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 1. ทัวร์ราคาต่ำกว่าทุน คือ บริษัททัวร์จะต้องให้มัคคุเทศก์บีบนักท่องเที่ยวในการช็อปปิ้ง หรือซื้อ optional tour ในราคาที่แพง สูงกว่าปกติ

2. ทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งมีลักษณะเดียวกัน แต่รายได้ที่บริษัททัวร์ในเมืองไทยจะได้จากลูกทัวร์ชาวจีน คือ 0 บาท ในขณะที่ต้นทุนก็ยังเป็น 30,000-40,000 บาทเหมือนเดิม วิธีการไม่ต่างจากทัวร์ราคาต่ำ คือ มาขาย optional tour ในราคาสูง แต่จะรุนแรงกว่า คือบริษัทผู้ประกอบการไม่มีรายรับจากฝั่งจีนเลย แต่ผู้ประกอบการอาจได้รายรับจากมัคคุเทศก์ คือต้องซื้อหัวลูกทัวร์ หัวละ 3,000-5,000 หยวน แล้วแต่คุณภาพของลูกค้า โดยคุณภาพของลูกค้าที่เรียกกันคือ “ช็อปปิ้งดีขนาดไหน” เพราะการช็อปปิ้งจะมีค่าคอมมิชชั่นคืนให้บริษัททัวร์

นางกรกช โขนงนุช นายกสมาคมมัคคุเทศก์ เชียงใหม่
นางกรกช โขนงนุช นายกสมาคมมัคคุเทศก์ เชียงใหม่

3. ทัวร์ KB (Kick Back) กรณีนี้นอกจากจะไม่ได้เงินแล้วยังต้องคืนเงินให้เขา กล่าวคือ เก็บเงินคืนให้ประเทศจีน ต้นทุนของบริษัททัวร์ สมมติว่าต้นทุนอยู่ที่ 35,000 บาท ยังต้องจ่ายให้บริษัทต้นทางที่ประเทศจีนอีกประมาณ 200-300 หยวน แล้วแต่ข้อตกลง ดังนั้น ต้นทุนจะมากกว่า 35,000 บาทแล้ว ซึ่งขั้นตอนวิธีการคล้ายกัน แต่รุนแรงขึ้น

“ถามว่าแล้วจะเอาเงินคืนจากใคร ก็เอาเงินคืนจากนักท่องเที่ยวไง ปัญหาไกด์ทิ้งทัวร์ที่เป็นข่าวบ่อยๆ บอกว่าเป็นไกด์จีนๆ ถ้าติดตามข่าวจะเห็นว่าไกด์จีนที่ทิ้งนั้นไม่ใช่สัญชาติไทย เป็นกลุ่มของเขาเองมาทำทัวร์กันเอง แต่ใช้ฐานการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นแหล่งทำมาหากิน เวลาสื่อออกไป มันเสียที่วงการท่องเที่ยวไทย เสียที่วงการมัคคุเทศก์ไทย เขาไม่ได้บอกว่าไกด์เมืองจีนมาหลอกลวงนักท่องเที่ยวจีน แต่บอกว่าไกด์ภาษาจีนหลอกลวงนักท่องเที่ยวจีน แล้วไกด์ผีพวกนี้ เราไม่ควรเรียกว่าไกด์ เรียกว่าพวกนักต้มตุ๋น เขาก็อ้างว่าเป็นไกด์ไทย อยู่เมืองไทย เป็นคนไทย”

นางกรกชกล่าวต่อถึงการแก้ไขปัญหาไกด์เถื่อนที่แอบแฝงมาทำงานว่า “ขณะนี้ใช้กฎหมายแรงงานจับ กระทรวงแรงงานสามารถช่วยมัคคุเทศก์เป็นอันมาก เพราะว่าใช้วิธีดูว่าเป็นแรงงานเถื่อน ไม่ได้มีสัญชาติไทย หรือว่าทำงานผิดประเภท เป็นคนต่างด้าวแล้วแอบมาทำงานในเมืองไทย จะใช้กฎหมายเหล่านี้ในการจับ มันไม่ใช่กฎหมายท่องเที่ยวโดยตรง เพราะกฎหมายท่องเที่ยวโดยตรง ถ้าไปจับ เขาจะปฏิเสธ คือต้องมีภาพถ่ายเคลื่อนไหว ต้องรู้ว่าเขากำลังทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ ถึงจะจับหรือฟ้องขึ้นศาลได้ เงื่อนไขเยอะ แล้วพวกนี้ก็นกรู้ พอตำรวจมา เขาก็หยุกพากย์ ทำเนียนเป็นลูกทัวร์ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือการกวดขัน ซึ่งก็คงต้องทำกันหลายฝ่าย”

ส่วนกรณีที่มีนักเรียน-นักศึกษาชาวจีนมาแอบเป็นไกด์ภาษาจีน นางกรกชกล่าวว่า “จำนวนนักศึกษาชาวจีนขณะนี้มีเยอะมาก แทบทุกสถาบันอุดมศึกษา สมัยก่อนเยอะสุดคือราชภัฏเชียงราย ด้วยความที่ไปทำ MOU รวมทั้ง ราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น นักศึกษาก็ตั้งใจมาเรียนจริงๆ แต่เมื่อเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนเยอะ ก็เห็นช่องทาง และมีคนทำเป็นตัวอย่าง บางคนก็เช่าตึกแถวทำเกสต์เฮาส์ บางคนทำบ้านจัดสรร ทำโรงแรมขนาดเล็ก และบางส่วนก็ทำไกด์ทัวร์ จริงๆ แล้วที่เชียงใหม่เราเคยติดต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าขอให้ดูแลนักศึกษาจีนว่าอย่ามาเป็นผู้ประกอบการหรือไกด์เถื่อน แต่อำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็เป็นในลักษณะการดูแลเท่านั้น ไม่สามารถบังคับอะไรได้ เมื่อถามเด็ก เด็กก็จะตอบว่าไม่ได้ทำ ยกเว้นจับ ถ้าจับพวกนี้ก็ใช้กฎหมายหลายด้าน ทั้งกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ ประเภทวีซ่า เพราะประเภทวีซ่านักเรียนทำงานไม่ได้ สามารถส่งกลับประเทศได้เลย อาจจะจำนวนเยอะเลยทำไม่ไหว แต่ไม่ใช่ว่าทางการไม่รู้”

เมื่อถามถึงการมาร่วมยื่นจดหมายร้องเรียนในวันนี้ (11 เมษายน 2559) นางกรกชกล่าวว่า “ทราบว่ารัฐบาลก็พยายามทำอยู่ แต่อาจจะไม่เร็วพอในการแก้ปัญหา เพราะว่าทุกภาคส่วนก็ต้องช่วยกัน อย่างทางมัคคุเทศก์เชียงใหม่ มีการตามดูหรือว่าแจ้งตำรวจท่องเที่ยว แจ้งสำนักทะเบียนว่าตอนนี้มีไกด์เถื่อนเข้ามา ก็จะร่วมมือกัน แต่เนื่องจากในเชียงใหม่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่รุนแรง ในกรุงเทพฯ พัทยา หรือภูเก็ต จะรุนแรงมากกว่า”

นอกจากนั้น เมื่อถามถึงกรณีที่สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีนยื่นจดหมายต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาระบุว่า ไม่มีมัคคุเทศก์ให้จ้าง และต้องจ้างวันละ 2,000 บาทยังจ้างไม่ได้ นางกรกชกล่าวว่า “มันย้อนกลับมาที่ว่า จริงๆ แล้วจำนวนไกด์มีพอกับจำนวนนักท่องเที่ยว แต่วิธีการไม่ถูกต้อง ทำให้ไกด์ไทยไม่สามารถจะทำได้ ด้วยเหตุผลไม่ว่าจะเป็น 1) ต้นทุนสูงแต่ขายราคาขาดทุน เช่น ต้นทุน 3,500 หยวน แต่ขายมา 1,600 หยวน 2) ทัวร์ศูนย์เหรียญ คือไม่มีรายได้เลย 3) KB จ่ายให้บริษัททางเมืองจีนที่ส่งลูกทัวร์ให้ด้วย ซึ่งหนักที่สุด และวงจรของธุรกิจมันเริ่มจะซับซ้อนมากขึ้น ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ก็ขอให้ท่าน(นายกรัฐมนตรี)ดูปัญหาอย่างถี่ถ้วน เพราะในจดหมายร้องเรียนของเขามันแฝงนัยยะสำคัญ เขาอ้างว่ามัคคุเทศก์ไม่พอ แล้วเขาอาจจะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ใช้ไกด์ต่างชาติมา ก็แปลว่าเขาเจตนาที่จะใช้ โดยที่เขาไม่ได้แก้ว่าปัญหามาจากเขา”

ไกด์ประท้วง

ทั้งนี้ สำหรับกฎหมายที่จัดการกับปัญหาไกด์เถื่อน ขณะนี้มี 3 แนวทาง คือ 1. พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 51 ระบุว่า ห้ามชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ระบุว่าอาชีพมัคคุเทศก์หรือการจัดนำเที่ยว เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย

2. พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 16 ระบุว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย, มาตรา 17 ระบุว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว, ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัด ความรับผิดชอบต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และถ้าเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทุนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและกรรมการเกินกึ่งหนึ่งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และ มาตรา 50 ระบุว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ต้องมีสัญชาติไทย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขามัคคุเทศก์หรือสาขาการท่องเที่ยว หรือสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาในสาขามัคคุเทศก์ หรือได้รับใบวุฒิบัตรหรือหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการกำหนด

3. ตามกฎของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า คนต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยไม่ว่าประเภทวีซ่าใดๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน