ThaiPublica > คอลัมน์ > จีนกับการขยายอิทธิพลในแอฟริกา

จีนกับการขยายอิทธิพลในแอฟริกา

27 ธันวาคม 2020


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

เมื่อเอ่ยถึงทวีปแอฟริกา ภาพจำของผู้คนส่วนใหญ่นึกถึงความยากจน อดอยาก แร้นแค้น ด้อยพัฒนา เต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชัน และสงครามกลางเมือง

อย่างไรก็ดี ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา แอฟริกากลายเป็นภูมิภาคที่ถูกจับตามองมากที่สุด ด้วยสัดส่วนประชากรกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเหมืองแร่เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก รวมถึงหลายประเทศเติบโตกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market)

ขณะเดียวกัน ในศตวรรษที่ 21 บทบาทของรัฐบาลจีน นักลงทุนจีน และชาวจีนในแอฟริกาเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายประเทศถูกมองว่าเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีน ไม่ว่าจะเป็นเอธิโอเปีย เคนยา จิบูติ

ปัจจุบันนักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์สายพัฒนาหลายคนสนใจประเด็นการครอบงำของจีนในแอฟริกา โดยหนึ่งในนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คือ W. Gyude Moore ซึ่งเป็นนักวิจัยประจำ Center for Global Development

Moore เป็นชาวไลบีเรียน เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงโยธา (Minister of Public Works) ของประเทศไลบีเรีย ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2014-2018 โดยภารกิจสำคัญของ Moore คือ การติดตามประเมินผลความคืบหน้าการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไลบีเรียลงทุนก่อสร้างไป ทั้งที่ใช้เงินงบประมาณและเงินกู้

Gyude Moore ที่มาภาพ : https://www.cgdev.org/sites/default/files/media/images/experts/hi-res/moore-highres.jpg

การติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งถนน ท่าเรือ ทางรถไฟ ทำให้ Moore มองเห็นอิทธิพลของจีนในทวีปแอฟริกามากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่จำกัดเฉพาะแค่ในไลบีเรียเท่านั้น หากแต่ทั่วทั้งแอฟริกาที่เห็น “เงา” ลาง ๆ ของจีนในแทบทุกโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ

Moore เคยเขียนบทความเกี่ยวกับบทบาทของจีนในแอฟริกาและขึ้นเวทีสัมมนาวิชาการประเด็นนี้อยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่ Moore ค้นพบจากการศึกษาบทบาทจีนในแอฟริกามีอยู่หลายประเด็นที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนภาพของรัฐบาลปักกิ่งในยุคสี จิ้นผิง ที่แผ่ขยายอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองรวมถึงวัฒนธรรมแบบ “จีนาภิวัตน์” (Sinicization) ในกาฬทวีป

Moore เริ่มต้นอธิบายบริบทของแอฟริกาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ภายหลังสงครามเย็น ผลพวงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้เกิดปรากฏการณ์ “อาวุธ” ทะลักจากโลกสังคมนิยมเดิมเข้ามาในทวีปแอฟริกา

…พูดถึงตรงนี้ถ้าใครเป็นคอภาพยนตร์คงจำเรื่อง Lord of War (2005) นำแสดงโดยนิโคลัส เคจ (Nicolas Cage) ได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของพ่อค้าอาวุธคนนี้ คือ การรับเซ้งอาวุธจากค่ายสังคมนิยมมาขายต่อให้กับกลุ่มกบฏในประเทศแถบแอฟริกา

เมื่อมีดีมานด์ คือ การต่อสู้ของกลุ่มกบฏต่าง ๆ ในสงครามกลางเมือง ย่อมมีซัพพลาย หรือ พ่อค้าอาวุธหรือ Arm Dealer ที่พร้อมจะขายอาวุธเหล่านี้ให้

…สงครามกลางเมืองในแอฟริกาจึงไม่มีวันจบสิ้นเสียที ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สงครามกลางเมืองในรวันดาที่เกิดโศกนาฎกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างกลุ่มฮูตูและทุซซี่ สงครางกลางเมืองในเซียร่าลีโอน สงครามกลางเมืองในไลบีเรีย สงครามกลางเมืองในคองโก เป็นต้น

ช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ชัยชนะทางการเมืองของนายเนลสัน แมนเดลล่า (Nelson Mandela) รัฐบุรุษของแอฟริกาใต้ ทำให้ทวีปแอฟริกาเริ่มกลับมามีความหวังในการสร้างประชาธิปไตยและความสงบอีกครั้ง

…ความสงบเรียบร้อยและมีเสรีภาพทางการเมืองนำมาซึ่งบรรยากาศที่ดีในการค้าการลงทุน

ผลพวงจากความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นนี้เองที่ทำให้รัฐบาลปักกิ่งและกองทัพนักลงทุนชาวจีนต่างมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาค้าขาย ลงทุนในแอฟริกา ปัจจัยหลักเริ่มต้นมาจากค่าแรงราคาถูก

Moore ชี้ให้เห็นว่า จีนใช้วิธีการแผ่ขยายอิทธิพลในแอฟริกาแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เข้าไปสูบใช้ทรัพยากร หรือบังคับขัดขืน ไม่เข้าไปแทรกแซงทางการเมือง แต่ใช้วิธีการแทรกซึม กล่าวโดยง่าย ๆ คือ เน้น soft power ในการผูกมิตร สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในแอฟริกาผ่านทางการค้า การลงทุน

…น่าสนใจว่า กลุ่มผู้นำในรัฐบาลปักกิ่งให้ความสำคัญกับผู้นำประเทศแอฟริกาอย่างสมเกียรติ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลปักกิ่งและนักลงทุนจีนจึงเข้าไปมีบทบาทในการวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างทางหลวงเชื่อมระหว่างเมืองใหญ่ในดินแดนกาฬทวีป

การตั้งคำถามถึงบทบาทจีนในแอฟริกาว่าเป็นการสร้างอาณานิคมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่มาภาพ : https://image.slidesharecdn.com/chinaafrica-141002140713-phpapp01/95/china-in-africa-1-638.jpg?cb=1430221063

เช่นเดียวกับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับกองทัพในประเทศแถบแอฟริกาหันมาใช้อาวุธจีนมากขึ้น การตีตลาดการค้าอาวุธเปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว…ทั้งในด้านการค้าระหว่างประเทศ และความมั่นคงที่อย่างไรเสียกองทัพของประเทศเหล่านี้หันมาซบจีนมากขึ้น

บทบาทของรัฐบาลปักกิ่งทำตัวเป็น “ป่าป๊าใจดี” มีการปล่อยกู้ให้กลุ่มประเทศแอฟริกาเพื่อนำไปลงทุนบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังสงครามกลางเมืองสงบลง

Moore ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลปักกิ่งมียุทธศาสตร์การสร้าง Soft power ที่ดีด้วยการให้ทุนการศึกษากับเหล่าข้าราชการกลุ่มที่เป็น Policy maker ไปเรียนต่อ ดูงาน ทำวิจัยที่จีนกันเป็นล่ำเป็นสัน เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะกลับมาเป็นโปรค่ายจีนมากกว่าค่ายตะวันตก

Soft power ในศตวรรษที่ 21 เมื่อจีนกับแอฟริกาผสมผสานกันอย่างลงตัว
ที่มาภาพ:https://cdn.cfr.org/sites/default/files/styles/full_width_xl/public/image/2018/03/RTX4X9X7.jpg

โปรเจค BRI หรือ Belt and Road Initiative ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา ยิ่งเด่นชัดว่าจีนให้ความสำคัญกับแอฟริกาทั้งเรื่องการหันมาสร้างถนนหกเลนไล่ไปถึงรถไฟความเร็วสูง ประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัด คือ การเติบโตแบบก้าวกระโดดของประเทศเอธิโอเปีย เคนยา จิบูติ

Moore สรุปได้น่าสนใจว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนแผ่อิทธิพลในแอฟริกาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด คือ วิธีคิดของรัฐบาลปักกิ่งที่มองแบบ Win-Win โดยจีนก็ได้ประโยชน์และประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาก็ได้ประโยชน์เช่นกัน

ทวีปแอฟริกายังเป็นดินแดนที่น่าค้นหา มีศักยภาพ เติบโตได้อีกไกล ด้วยข้อได้เปรียบทั้งความสมบูรณ์ของทรัพยากร จำนวนประชากรกลุ่มวัยแรงงานที่กำลังเพิ่มขึ้นสวนทางกับภูมิภาคอื่นที่เริ่มเผชิญปัญหา Aging society

…นับว่าพญามังกรจีนมีวิสัยทัศน์ มองเห็นโอกาสนี้มามากกว่า 20 ปีแล้ว