ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > สิ่งที่เห็นจากดัชนี CPI ประเทศไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา กับความหวังในการสร้างความโปร่งใสที่ยั่งยืน

สิ่งที่เห็นจากดัชนี CPI ประเทศไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา กับความหวังในการสร้างความโปร่งใสที่ยั่งยืน

10 มกราคม 2022


หากจะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจัยที่ว่านั้น คือ การสร้างสังคมที่โปร่งใส รับผิดชอบและตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้องค์การสหประชาชาติจึงนำเรื่องดังกล่าวมาตั้งไว้เป็นเป้าหมายที่ 16 (SDG 16) ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

ตัวชี้วัดประการหนึ่งในการสร้างสังคมโปร่งใส คือ ดัชนี Corruption Perceptions Index หรือ CPI ซึ่งเผยแพร่โดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) หรือ TI โดย CPI นับเป็นดัชนีที่ได้รับความนิยมและถูกนำไปตีความอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการอธิบายสถานการณ์ความโปร่งใส (อันถูกตีความว่าการทุจริตไปด้วย)

CPI เป็นดัชนีที่เข้าใจง่าย มีระบบการคิดคะแนนที่ไม่ซับซ้อน เป็น Second hand index และที่สำคัญเมื่อนำมาจัดอันดับแล้ว ทำให้เราทราบว่า ประเทศเราอยู่ตรงไหนเรื่องความโปร่งใสบนโลกนี้

คำถามที่ว่า “ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในเรื่องความโปร่งใส เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล”

คำตอบถูกตีความได้หลากหลายเช่นกัน… หากเราเชื่อในตัวเลขว่าไม่ได้หลอกเรา เราย่อมมองเห็นสถานการณ์ความโปร่งใสของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

บทความนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเริ่มต้นย้อนหลังพาไปดู CPI ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2563 เมื่อเราเห็นตัวเลขเหล่านี้แล้ว เราย่อมเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ และนำไปสู่คำถามต่อมาว่า

“เราจะทำอย่างไรให้ความโปร่งใสที่เกิดขึ้นวันข้างหน้า เป็นความโปร่งใสที่ยั่งยืน ไม่ใช่ความโปร่งใสแบบไฟไหม้ฟาง”

จากตารางข้างต้น ค่า CPI ประเทศไทยสิบปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2563 นั้น คะแนนสูงสุดอยู่ช่วงระหว่างปี 2557-2558 โดยในสองปีนั้น เราได้ 38 คะแนน จากคะแนนเต็มร้อย และปี 2558 อันดับโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 76 จากการจัดอันดับ 168 ประเทศ

หากมองในแง่ของคะแนน CPI แล้ว คะแนนเฉลี่ยในสิบปีนั้นอยู่ที่ 36.2 คะแนน (หากคิดเทียบฐานของปี 2554 เป็น 100 ค่า CPI ปี ไทยเราจะได้ 34 คะแนน) ขณะที่อันดับโลกนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา อันดับคะแนน CPI ไทยร่วงลงมาเรื่อย ๆ จากอันดับที่ 96 มาอยู่อันดับที่ 104 จากประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศ

เช่นกัน หากเรามองอันดับ CPI ที่ร่วงลงมาเรื่อย ๆ หมายถึงว่า ประเทศอื่นมีสถานการณ์ความโปร่งใสดีขึ้น…ตัวอย่างเช่น ติมอร์ เลสเต ที่ค่า CPI ปี 2554 อยู่ที่ 2.4 จาก 10 คะแนน อันดับที่ 143 จาก 183 ผ่านไป สิบปี ค่า CPI 2563 ของติมอร์ เลสเต ขยับแซงไทยมาอยู่ที่ 40 เต็ม 100 อันดับบนตารางอยู่ที่ 86

หากเรามีสมมติฐานที่ว่า ตารางคะแนนเหล่านี้ไม่เคยโกหกใคร เราคงพอมองเห็นสถานการณ์ความโปร่งใสของประเทศไทยได้ว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนัก

อย่างไรก็ดี เรายังมีความหวังด้วยกันเสมอในการสร้างสังคมที่โปร่งใสอย่างยั่งยืน…ที่พูดมาเหมือนจะง่าย แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่ได้ง่ายเหมือนที่พูด

ความหวังที่ว่ามาจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม สื่อสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย องค์กรวิชาชีพ

…ผู้เขียนเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างรับรู้ปัญหา เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ อย่างไรก็แล้วแต่ หากไม่มองโลกแบบไร้เดียงสาจนเกินไปนัก การร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม จริงจัง ลงมือทำ ไม่เพียงแค่มีแผนยุทธศาสตร์ต่อต้านทุจริตเพียงอย่างเดียว หากแต่ควรมีกลไกที่มั่นใจพอว่าจะนำเสนอข้อเท็จจริงได้แบบไม่ลำเอียง นำเสนอบนฐานข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าปนเรื่องดราม่า โดยเข้าใจบริบทแวดล้อมประเทศเราเองว่ามีจุดแข็งเรื่องใด ข้อจำกัดส่วนใด แล้วหาทางออกไปด้วยกัน

โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ความโปร่งใสไม่ใช่มนต์คาถา แต่วิธีการสร้างความโปร่งใสแบบเป็นรูปธรรม จับต้องได้ นำไปใช้ได้จริงต่างหากที่เป็นปัจจัยลดเรื่องความคลุมเครือต่าง ๆ ในการใช้อำนาจรัฐหรือทรัพยากรส่วนรวม

ความโปร่งใสเกิดจาก การเปิดเผย (Openness) …ทุกวันนี้ การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองและผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ นับเป็นแบบปฏิบัติที่ดีอยู่แล้ว การเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐผ่าน Open government ยิ่งเป็นเรื่องดีเข้าไปอีก การเปิดเผยข่าวสาร ข้อมูลต่าง ๆ ที่รัฐเป็นผู้ตัดสินใจย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้เอง การเปิดเผยจึงนำมาซึ่งการสร้างความโปร่งใสที่เป็นรูปธรรม…แต่จะเป็นรูปธรรมต่อไปอย่างไร โจทย์ต่อไป คือ แล้วเราจะนำข้อมูลที่เปิดเผยเหล่านี้ไปขยายผล ใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ส่วนข้อมูลที่ยังปกปิดอยู่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานานั้น เราจะมีวิธีทำอย่างไร ให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาออกมาแสดงโดยไม่ขัดต่อเรื่องความมั่นคงหรือความลับทางราชการ

การเปิดเผยนำไปสู่กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่า ภาคส่วนเหล่านี้ย่อมต้องการเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่โปร่งใส ไม่คลุมเครือ ตรวจสอบได้ ผู้ใช้อำนาจรัฐแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง (Accountability)

สังคมไทยเราเดินมาไกลมากแล้ว..เรากำลังเผชิญการ Disrupt ทั้งจาก Digital และ Covid-19 Disruption เรากำลังเผชิญปัญหาหลายเรื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการหดตัวของตัวเลขเศรษฐกิจจากสภาวะวิกฤต ปัญหา Aging Society ปัญหาเรื่อง Intergeneration gap ไม่นับรวมปัญหาเรื่อง Climate change

…ปัญหาเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยของเราต้องปรับตัวและสร้างสมดุลของการพัฒนาครั้งใหญ่ในอนาคต

หมายเหตุเกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์ รับราชการในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งมากกว่า 23 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี โท และเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเน้นสาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development economics) สนใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ Emerging market อาเซียนศึกษา และ Belt and Road Initiative (BRI) รวมทั้งโลกในยุค Post- pandemic นอกจากนี้ยังสนใจประเด็นการสร้างความโปร่งใสภาครัฐ การต่อต้านคอร์รัปชันในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…