ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ไฟเขียวสินเชื่อ “บ้านประชารัฐ” วงเงิน 70,000 ล้าน – “ประยุทธ์” แจงเหตุใช้ ม.44 รวบอำนาจจัดการการศึกษา

ครม. ไฟเขียวสินเชื่อ “บ้านประชารัฐ” วงเงิน 70,000 ล้าน – “ประยุทธ์” แจงเหตุใช้ ม.44 รวบอำนาจจัดการการศึกษา

22 มีนาคม 2016


580202ประยุทธ์
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ใช้ ม.44 ดึงอำนาจจัดการการศึกษาสู่ส่วนกลาง

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงการใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ดึงอำนาจในการบริหารจัดการการศึกษาจากภูมิภาคเข้าสู่ส่วนกลาง พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาเป็นประธานว่า เป็นการปรับโครงสร้างให้เกิดการบูรณาการในการปฏิรูปการศึกษา จากเดิมที่อำนาจกระจัดกระจายไปอยู่ในภูมิภาค จึงจำเป็นต้องดึงมาอยู่ในส่วนกลางเพื่อให้สามารถเกิดการปฏิรูปได้จริง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล วันนี้อาจจะเริ่มจากเรื่องการศึกษาก่อน ต่อไปอาจเริ่มในเรื่องอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำ

“วันนี้อำนาจลงไปข้างล่างหมด แต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน รัฐมนตรีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย มันเป็นไปได้อย่างไร จึงต้องใช้มาตรา 44 ดึงอำนาจกลับสู่ส่วนกลาง และคอยประเมินว่ามันจะดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบครูกว่า 5 แสนคนพอใจกับคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ มีครูแค่ 2 พันคนเท่านั้นที่ไม่พอใจ เพราะยังติดอยู่กับกติกาเดิม” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ประมูลคลื่น 900 ใหม่ หลัง JAS เบี้ยวจ่ายเงิน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่เดินทางไปจ่ายเงินค่าชนะการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ ย่าน 900 MHz ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ตามกำหนดระยะเวลา ซึ่งนายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่าอาจต้องเสนอต่อหัวหน้า คสช. ให้ใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ตนทราบเรื่องแล้ว แต่คงไม่ต้องไปสั่งอะไรเพิ่มเติม กฎหมายเดิมว่าไว้อย่างไรก็ให้ทำตามนั้น ที่สุดก็คงต้องนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปเปิดประมูลใหม่

สั่งลงโทษผู้เกี่ยวข้องไฟฟ้าสำรอง “แอร์พอร์ตลิงก์” ขัดข้อง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาการให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับ ขณะที่ไฟฟ้าสำรองขัดข้อง ทำให้มีผู้โดยสารติดค้างอยู่ในขบวนรถไฟฟ้าจำนวนมากว่า ตนสั่งให้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่าปัญหานี้มีมานานแต่ยังไม่เคยมีใครแก้ไข โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าสำรองที่พบว่าชำรุดแต่ไม่ยอมซ่อมแซม แสดงให้เห็นถึงความละเลยไม่ใส่ใจ จึงต้องลงโทษผู้เกี่ยวข้องจากเบาไปหาหนัก ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับปรุงขบวนรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จก่อน 4 ขบวน ภายใน 4 เดือน รวมถึงหาทางเพิ่มจำนวนที่นั่งให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น

ปัดชง “ผบ.เหล่าทัพ” เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการพิจารณาข้อเสนอแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญขององค์กรแม่น้ำ 4 สาย โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยเฉพาะการกำหนดให้มี ส.ว.สรรหา จำนวน 250 คน มีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีฝ่ายความมั่นคง 6 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ส.ว.สรรหาโดยตำแหน่งว่า ตนยังไม่รู้ว่า กรธ. จะพิจารณาข้อเสนอขององค์กรแม่น้ำ 4 สายอย่างไร แต่ยืนยันว่าที่เสนอไปเป็นการเสนอไปด้วยเจตนาดี ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วออกมาดีก็ดี แต่ถ้าออกมาไม่ดีก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

“ที่ให้ฝ่ายความมั่นคง 6 คน เป็น ส.ว.สรรหาโดยตำแหน่ง ไม่ใช่จะไปใช้กำลังยึดรัฐสภา แต่เพื่อให้ข้อมูลกับรัฐบาล เวลาจะสั่งให้ใช้กำลังในกรณีใดจะได้ไม่มีปัญหาเหมือนในอดีตว่าฝ่ายความมั่นคงรับใช้แค่บางรัฐบาลเท่านั้น ที่ทำนี้เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลใหม่กับประชาชนทั้งสิ้น เพราะถึงเวลานั้นผมก็ไม่อยู่แล้ว จะเอากลไกประชาธิปไตยโลกมาโจมตีผม ถามว่าคนไทยคิดเหมือนคนทั้งโลกหรือยัง” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ย้ำไม่เลิก “EIA-EHIA” แค่ลัดขั้นตอนลุยโครงการขนาดใหญ่

พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงถึงการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ให้ส่วนราชการสามารถทำโครงการขนาดใหญ่ไปพลางก่อนได้โดยไม่จำเป็นต้องรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ไม่ได้เป็นการยกเลิกการจัดทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ เพียงแต่เป็นการทำให้ขั้นตอนต่างๆ สั้นลงเท่านั้น เพื่อให้โครงการขนาดใหญ่สามารถเดินหน้าได้ จึงอยากให้เอ็นจีโอต่างๆ เข้าใจด้วย อย่าเอาแต่ทำหน้าที่ของตนเพียงอย่างเดียว อยากให้คิดถึงการพัฒนาประเทศด้วย

“หลายๆ โครงการประชาชนอยากได้ ผมก็ต้องบอกว่า ช่วยไปบอกคนที่มันค้านหน่อย ถ้าไม่ค้านมามันก็เสร็จไปตั้งนานแล้ว ผมก็เลยใช้มาตรา 44 ลดเวลาให้ ก็มาหาว่าไปยกเลิกอีไอเออีก มันทำได้ที่ไหน ถ้าผมทำอะไรไม่ได้วันนี้ อย่าคิดเลยว่าจะทำอะไรได้อีกในวันหน้า ให้จำคำพูดผมไว้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

(กลาง) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
(กลาง) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้

ครม. ไฟเขียว สินเชื่อ “บ้านประชารัฐ” 70,000 ล้าน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ภาครัฐสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อย รวมวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 70,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  1. สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) สำหรับผู้พัฒนาโครงการ โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ ทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้รวม 30,000 ล้านบาท (ธนาคารละ 10,000 ล้านบาท)
  1. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) สำหรับประชาชนกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองหรือซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย โดย ธอส. และธนาคารออมสิน จะปล่อยกู้รวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารละ 20,000 ล้านบาท)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย จะเป็นส่วนที่จูงใจให้เอกชนผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หันมาทำบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 2 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) ที่ดินและที่อยู่อาศัยที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งที่สร้างบนที่ดินของตัวเอง ในโครงการของเอกชน หรือในโครงการของรัฐ ครอบคลุมที่อยู่อาศัยทั้งที่สร้างใหม่ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Assets: NPAs) และรวมไปถึงการซ่อมแซมและต่อเติมที่อยู่อาศัยด้วย โดยจะคิดดอกเบี้ยในอัตราผ่อนปรนพิเศษ

เห็นชอบ กม. ให้แบงก์ชาติลงทุน “ตราสารทุน” ได้

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มประเภทหุ้นที่ ธปท. สามารถซื้อได้ และเป็นการเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่ ธปท. สามารถเข้าลงทุนได้

“ที่ผ่านมา ธปท. ไม่ได้ลงทุนในตราสารทุน การแก้ไข พ.ร.บ. นี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ ธปท. สามารถเข้าถือหุ้นกับบริษัทในต่างประเทศได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ การเพิ่มการลงทุนจะช่วยให้ ธปท. สามารถกระจายความเสี่ยงในการบริหารสินทรัพย์ได้มากขึ้นและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ ธปท. สามารถเลือกหุ้นที่ได้อานิสงส์กับดอกเบี้ยที่ขึ้นได้ ขณะที่สัดส่วนที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไรคงต้องไปดูความเหมาะสมอีกที” นายวิสุทธิ์กล่าว

นายวิสุทธิ์ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารออมสินให้สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายของธนาคาร รวมถึงสามารถขอเพิ่มทุนจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (ระหว่างปี 2559-2563) โดยหนึ่งในสาระสำคัญคือการส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment)

ผู้ว่าฯ ธปท. แจงเพิ่มเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง

ด้านดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ในประเด็นดังกล่าวเป็นการลงทุนตราสารทุนในต่างประเทศเฉพาะเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนของ ธปท. เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินสำรองที่อยู่ใน พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ.2501 โดยมีเป้าหมายให้การบริหารความเสี่ยงและเงินสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินในโลกมากขึ้น ตัวอย่างการบริหารความเสี่ยงเช่น สมมติว่าญี่ปุ่นประกาศทำคิวอี อัดฉีดเงินเยนเข้าสู่ระบบ ผลที่ตามมาคือดอกเบี้ยจะลดลง ผลตอบแทนตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรต่างๆ จะลดลงเช่นกัน ขณะเดียวกันเงินที่ออกมาส่วนหนึ่งจะไหลไปที่ตลาดหุ้น ทำให้หุ้นและผลตอบแทนตราสารทุนเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ถ้า ธปท.ถือทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ผลกระทบจะสามารถหักล้างกันไป ช่วยบริหารความเสี่ยงอของการลงทุนได้ โดย ธปท.จะให้ความสำคัญกับสภาพคล่องและการบริหารความเสี่ยงของการลงทุนดังกล่าวมากกว่าจะเน้นไปที่ผลตอบแทนในลักษณะของกองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติ โดยสัดส่วนการลงทุนยังไม่สามารถระบุได้ แต่คาดว่าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งหมดขึ้นอยู่ภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องทำเรื่องเสนอคณะกรรมการ ธปท. เป็นครั้งๆไป

“การแก้ไขกฎหมายนี้เป็นการเปิดทางและเพิ่มเครื่องมือให้ ธปท.ใช้บริหารความเสี่ยงมากขึ้น แต่ในรายละเอียดกฎเกณฑ์ยังต้องจัดทำอีกครั้งหนึ่ง รวมไปถึงการเปิดเผย้ข้อมูลด้วย แต่ที่ผ่านมา ธปท. ถือว่าเปิดเผยข้อมูลค่อนข้างมากและรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่นๆ” ดร.วิรไทกล่าว

เพิ่มเงินอุดหนุน “เด็กแรกเกิด” เป็นคนละ 600 บาท – จ่ายถึง 3 ขวบ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงโครงการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน สำหรับเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 จากเดิมที่ให้คนละ 400 บาท/คน/เดือน เพิ่มเป็นคนละ 600 บาท/คน/เดือน และขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนจาก 1 ปี เป็น 3 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1.3 พันล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุที่เพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 600 บาท/คน/เดือน เพราะมีข้อมูลว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กแรกเกิดต่อคนจะอยู่ที่ราว 500 บาท/คน/เดือน ส่วนสาเหตุที่ต้องขยายระยะเวลาจาก 1 ปี เป็น 3 ปี เนื่องจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ให้ข้อมูลตรงกันว่า ช่วงอายุ 1-6 ปี จะเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทั้งทางสมองและร่างกายมากที่สุด ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลมีสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4-6 ปีอยู่แล้ว การจ่ายเงินอุดหนุนให้เด็กระหว่างอายุ 1-3 ปี จึงเหมาะสม

ลุยอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้านปีละ 7,600 คน

พล.ต. สรรแสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนโครงการฝึกอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ จากที่ปัจจุบัน สามารถฝึกอบรมได้เพียงปีละ 380 คน จากจำนวนกำนันกว่า 7,000 คน และผู้ใหญ่บ้านกว่า 68,000 คน ถือว่าน้อยเกินไป ทาง มท. จึงเสนอให้เพิ่มโครงการฝึกอบรมเป็นไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด หรือปีละ 3,800 คนเป็นอย่างน้อย แต่หลังจากคำนวณพบว่าต้องใช้เวลาถึง 20 ปีถึงจะฝึกอบรมได้ทุกคน ครม. จึงมีมติให้ปรับเป็นไม่น้อยกว่า 10% หรือปีละ 7,600 คนเป็นอย่างน้อย สำหรับงบประมาณให้กรมการปกครอง มท. ไปหารือกับสำนักงบประมาณต่อไป เบื้องต้นมีการประมาณว่าในการอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจะใช้งบประมาณต่อคนราว 17,000 บาท

ปรับเพดานเงินเดือนทหาร/ตำรวจ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับเพดานเงินเดือนข้าราชการทหาร/ตำรวจ ให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับเพดานเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน/รัฐสภา ตั้งแต่ยศสิบตรีและเทียบเท่า ไปจนถึงยศพลโทและเทียบเท่า

– ยศสิบตรีและเทียบเท่า จากเดือนละ 21,480 บาท เป็นระหว่าง 21,880-38,750 บาท

– ยศจ่าสิบตรีและเทียบเท่า จากเดือนละ 29,690 บาท เป็นระหว่าง 30,220-38,750 บาท

– ยศพันเอกและเทียบเท่า จากเดือนละ 58,390 บาท เป็น 59,500 บาท

– ยศพลจัตวาและเทียบเท่า จากเดือนละ 69,040 บาท เป็น 70,360 บาท

– ยศพลตรีและเทียบเท่า จากเดือนละ 69,040 บาท เป็นระหว่าง 70,360-74,320 บาท

– ยศพลโทและเทียบเท่า จากเดือนละ 74,320 บาท เป็นระหว่าง 75,560-76,800 บาท

“ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จาก 300 บาท/คน/วัน เป็น 360 บาท/คน/วัน รวมถึงการแจกเงินให้กับข้าราชการที่มีรายได้น้อยคนละ 1,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยังไม่มีวาระนี้ในการพิจารณาของที่ประชุม ครม. แต่อย่างใด” พล.ต. สรรเสริญกล่าว