ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ม.ค. 2559: “สังคมสงสัย ทุจริตหรือไม่ ไฟ ‘ชายหมู’ 39 ล้าน” และ “บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 ปลด 7 บอร์ด สสส.”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ม.ค. 2559: “สังคมสงสัย ทุจริตหรือไม่ ไฟ ‘ชายหมู’ 39 ล้าน” และ “บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 ปลด 7 บอร์ด สสส.”

9 มกราคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ม.ค. 2559

  • สังคมสงสัย ทุจริตหรือไม่ ไฟ “ชายหมู” 39 ล้าน
  • กฤษฎีกาตีความ “บัตรทอง” ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ – บอร์ด สปสช. เตรียมอุทธรณ์
  • เกาหลีเหนือประกาศทดลอง “ระเบิดไฮโดรเจน” สำเร็จ – กต.ไทยชี้ ละเมิดข้อตกลงสากล
  • เอฟบีไอยก “ทำร้ายสัตว์” ระดับเดียวกับฆ่าคน-วางเพลิง
  • บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 ปลด 7 บอร์ด สสส.
  • สังคมสงสัย ทุจริตหรือไม่ ไฟ “ชายหมู” 39 ล้าน

    ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (http://www.thairath.co.th/content/557333)
    ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (http://www.thairath.co.th/content/557333)

    ช่วงปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2558) ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดให้มีการประดับไฟบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. โดยมีการระบุว่าใช้งบประมาณในการนี้ไป 39 ล้านบาท และต่อมา ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณดังกล่าว ดังนี้

    1. ค่าออกแบบตกแต่งการประดับไฟ (นำเสนอแนวคิด) 2 แสนบาท
    2. ค่าออกแบบและจัดทำโครงสร้างประดับตกแต่งไฟ 2.95 ล้านบาท
    3. ค่าประกอบและสร้างแผงไฟให้เป็นลวดลายและมีสีสันสวยงาม 29.51 ล้านบาท
    4. ค่าติดตั้งแผงไฟประดับและระบบควบคุมไฟฟ้า (ขนย้าย-ที่เก็บของชั่วคราว-รปภ. ค่าติดตั้ง) 8.5 แสนบาท
    5. ค่าควบคุม ตรวจสอบ ดูแลระบบ 2 แสนบาท
    6. การติดตั้งระบบไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3.55 ล้านบาท
    7. ค่าจัดพิธีเปิดงาน (เวที-backdrop-ของที่ระลึก-อาหาร) 1.02 ล้านบาท
    8. ค่าตกแต่งสถานที่ให้มีความสวยงาม 4 แสนบาท
    9. ค่าประชาสัมพันธ์กิจกรรมในบริเวณงาน 5.5 แสนบาท
    10. ค่าดูแลรักษาความปลอดภัยและจัดสิ่งอำนวยความสะดวก 5.3 แสนบาท
    11. ค่ารื้อถอนโครงสร้าง อุปกรณ์ และระบบ และการดูแลพื้นที่จัดงานภายหลังเสร็จสิ้นการจัดงาน 4 แสนบาท
    12. ค่าจัดทำสรุป และประเมินผลการดำเนินการตามโครงการ 2 แสนบาท ส่วนผู้ที่ชนะการประกวดราคา ชื่อ บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด … ประกวดราคา 2 บริษัท จากงบกลาง 40 ล้านบาท ชนะที่ราคาประมาณ 39.6 ล้านบาท และจัดทำสัญญา 39.5 ล้านบาท

    ที่มา: เว็บไซต์ PPTV

    จากรายงานของสำนักข่าวอิศรา บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด ซึ่งมีชื่อเป็นคู่สัญญากับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ในการรับงานว่าจ้างโครงการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (Motif of Light) บริษัทดังกล่าวนี้ปรากฏชื่อเข้ามาเป็นคู่สัญญารับงานว่าจ้างกับสำนักวัฒนธรรมฯ เป็นเวลา 6 ปี คือตั้งแต่ปี 2553-2558 รวมจำนวนทั้งสิ้น 10 สัญญา วงเงินกว่า 38,831,855 บาท โดยสัญญารับว่าจ้างประดับไฟในโครงการนี้จะเป็นสัญญาที่ 11 และทำให้วงเงินทั้งสิ้นกลายเป็น 78,331,855 บาท

    นอกจากนี้ ในรายงานเดียวกัน สำนักข่าวอิศรายังตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2558 ก่อนที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรมฯ จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประกวดราคาในโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 หรือคิดเป็นระยะเวลาประมาณเกือบ 3 เดือน บริษัทดังกล่าวได้ทำเรื่องแจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอแจ้งวัตถุประสงค์การทำธุรกิจเพิ่มเติมมาอีก 3 ข้อ โดยมีการระบุถึงการประกอบกิจการจำหน่ายปลีก-ส่งไฟฟ้าประดับตกแต่ง ไฟฟ้าให้แสงสว่างทุกชนิด รวมทั้งอะไหล่และวัสดุที่เกี่ยวข้อง รับออกแบบ ตกแต่ง และติดตั้ง ไฟฟ้าประดับตกแต่งทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    ท่ามกลางความสวยงามของไฟประดับ ที่เมื่อถามถึงความคุ้มค่าแล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า “คนเห็นครั้งหนึ่งในชีวิต อาจจะมีค่าเกินตัวเงินจะบ่งบอกได้” ข้อสงสัยข้างต้นล้วนเป็นประเด็นน่ากังขาที่ผุดขึ้นมาพร้อมๆ กับการแถลงของนายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. ถึงความตั้งใจจะยื่นเรื่องข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใสของ กทม. ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบใน 3 ประเด็น โดยมีเรื่องโครงการไฟประดับนี้เป็นหนึ่งในนั้น และในวันเดียวกัน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า “ในเร็วๆ นี้ สตง. จะทำหนังสือแจ้งให้ กทม. ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดอีกครั้ง แต่ถ้ายังชี้แจงไม่เคลียร์ อาจจำเป็นจะต้องเชิญตัวแทน กทม. รวมถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เข้าชี้แจงให้ถ้อยคำกับ สตง. เป็นทางการด้วย”

    ยิ่งไปกว่านั้น ทางด้านภาคประชาชน ยังมีการจัดทำแคมเปญรวบรวมรายชื่อในเว็บไซต์ change.org เพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ด้วย

    งานนี้เลยทำให้ไฟของคุณชายหมูส่องสว่างข้ามปี และเป็นที่ต้องลุ้นกันต่อไปว่า จะดับลงในทางไหน

    กฤษฎีกาตีความ “บัตรทอง” ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ – บอร์ด สปสช. เตรียมอุทธรณ์

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง (http://www.citizenthaipbs.net/node/7405)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง (http://www.citizenthaipbs.net/node/7405)

    ร้อนต่อเนื่องจากปลายปีก่อน กับเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บัตรทอง” และ “30 บาทรักษาทุกโรค” โดยเว็บไซต์คมชัดลึกรายงานตามการเปิดเผยของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2558 ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของคณะกรรมการกฤษฎีกาใน 5 ประเด็น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขขอให้มีการตีความตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายหลังจากที่มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างบอร์ด สปสช. กับคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยผลการตีความออกมาว่ามีการจัดสรรเงินผิดวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ใน 4 ประเด็น ดังนี้

    1. การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข
    2. หน่วยบริการนำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าจ้างลูกจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตอบแทนบุคลากร
    3. สปสช. สาขาจังหวัด ใช้จ่ายเงินกองทุนงบบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในการพัฒนาบุคลากรของหน่วยบริการ
    4. สปสช. จ่ายค่าตอบแทนเกี่ยวกับการล้างไตผ่านช่องท้อง

    ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินกองทุนฯ ให้องค์กร มูลนิธิ หน่วยงาน และภาคประชาชนที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

    นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานบอร์ด สปสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม บอร์ด สปสช. มีมติว่าจะขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนผลการตีความดังกล่าว และ สปสช. จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ เพื่อให้พิจารณาออกระเบียบการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการสาธารณสุขต่อประชาชน ให้เอื้อต่อการทำงานของหน่วยบริการและคนทำงาน โดยมีเวลาการทำงาน 1 เดือน ระหว่างนี้ขอให้หน่วยบริการการต่างๆ ดำเนินการไปตามปรกติ

    ขณะเดียวกัน ทางด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตบอร์ด สปสช. ให้ความเห็นเป็นความว่า ผลการตีความนี้ได้ล้มหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไป การห้ามไม่ให้นำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำของโรงพยาบาล (ค่าสาธารณูปโภคและค่าตอบแทนบุคลากร) ในโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นการตีความในความหมายแคบว่าต้องจ่ายตรงให้ผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในการดำเนินงาน เพราะค่าใช้จ่ายประจำดังกล่าวเหล่านั้นก็เป็นไปเพื่อการบริการประชาชน นอกจากนี้ ยังจะเป็นปัญหาต่อขวัญกำลังใจบุคลากร ก่อเกิดปัญหาสมองไหล และการจ้างคนเพียงตามกรอบอัตรากำลังของรัฐโดยไม่นำเงินนี้ไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวก็ทำให้ไม่มีบุคลากรเพียงพอต่อการให้บริการ อีกทั้งระเบียบที่วุ่นวายก็จะผลักไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนอยากเข้ามาร่วมโครงการ

    ยิ่งไปกว่านั้น การห้ามไม่ให้ดำเนินการจัดหายาและอวัยวะเทียมบางรายการที่ สปสช. เคยจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เนื่องจากไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ก็จะส่งผลกระทบอีกมากมาย

    “คนส่วนใหญ่คิดว่า ก็กลับไปให้โรงพยาบาลซื้อยาเอง ไม่เห็นเป็นไร แต่ลืมคิดไปว่า การซื้อรวมระดับประเทศทำให้มีอำนาจต่อรองและได้ยาและเวชภัณฑ์ที่ราคาถูกลง ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานได้ ที่สำคัญ ซื้อผ่าน อภ. และไม่ได้ซื้อยาทุกตัว แต่ซื้อเฉพาะที่จำเป็น ราคาแพง และมีปัญหาการเข้าถึง อย่างน้ำยาล้างไต ถ้าให้แต่ละโรงพยาบาลซื้อเอง หรือแม้แต่ซื้อในระดับเขต ก็ไม่มีทางที่จะซื้อได้ในราคานี้ และส่งตรงถึงบ้านผู้ป่วยด้วย ที่สำคัญ โรงพยาบาลในระบบ 30 บาท ไม่ใช่มีแค่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีสังกัดภาครัฐอื่น มีเอกชน เมื่อขาดการซื้อรวม สุดท้ายก็กระทบการให้บริการของโรงพยาบาล กระทบผู้ป่วย และทำให้มีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น อภ. ที่เคยทำหน้าที่นี้ก็ต้องสูญเสียสถานะตรงนี้ไป แทนที่จะมาช่วยทำเรื่องความมั่นคงด้านยาของประเทศให้มีพลังมากขึ้น” นายนิมิตร์กล่าว

    เกาหลีเหนือประกาศทดลอง “ระเบิดไฮโดรเจน” สำเร็จ – กต.ไทยชี้ ละเมิดข้อตกลงสากล

    ภาพการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อปี 2514 ที่มาภาพ: หน้าเฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://goo.gl/VXAAL6)
    ภาพการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อปี 2514
    ที่มาภาพ: หน้าเฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://goo.gl/VXAAL6)

    6 ม.ค. 2558 หน้าเฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า ทางการเกาหลีเหนือได้ประกาศถึงความสำเร็จในการทดลองระเบิดไฮโดรเจน และยังบอกว่าการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 แมกนิจูด ก่อนหน้านี้เป็นผลจากการทดลองดังกล่าว ทั้งยังยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ ตราบที่สหรัฐฯ ยังแสดงท่าทีแข็งกร้าวอยู่

    แม้เรื่องนี้จะสร้างความกังวลให้หลายฝ่าย เพราะระเบิดไฮโดรเจนนั้นมีอานุภาพร้ายแรงกว่าระเบิดปรมาณูชนิดอื่นหลายเท่า แต่ก็มีนักวิเคราะห์ที่คิดว่าข่าวที่ออกมาเป็นเพียงการอวดอ้างของเกาหลีเหนือที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น เพราะการระเบิดของระเบิดไฮโดรเจนจะสร้างแรงสั่นสะเทือนมากกว่าที่เกิดขึ้นที่เกาหลีเหนือถึง 10 เท่า ผู้นำเกาหลีเหนืออาจโกหกเรื่องมีระเบิดในครอบครอง หรือไม่เช่นนั้น อาจมีการทดลองจริง แต่ล้มเหลวและไม่ได้ประสบความสำเร็จตามที่กล่าวอ้าง

    อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเกาหลีเหนือจะประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดไฮโดรเจนจริงหรือไม่ บีบีซีไทยรายงานว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีการประชุมฉุกเฉินตามข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยผลการประชุมระบุว่าคณะมนตรีฯ เตรียมทำงานเพิ่มมาตรการใหม่ในการต่อต้านเกาหลีเหนืออย่างทันที

    ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ต้องถูกตำหนิเพราะนอกจากละเมิดข้อมติต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแล้วยังเป็นการบั่นทอนความพยายามร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศต่อการไม่แพร่กระจายและการปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทันที และขอให้มีการกลับคืนสู่การเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของคาบสมุทรเกาหลี

    เอฟบีไอยก “ทำร้ายสัตว์” ระดับเดียวกับฆ่าคน-วางเพลิง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไวซ์นิวส์ (https://goo.gl/df7GhU)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไวซ์นิวส์ (https://goo.gl/df7GhU)

    วันที่ 8 ม.ค. 2558 สำนักข่าวไวซ์นิวส์ (VICE News) รายงานว่า สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ (FBI) ได้พิจารณาให้การกระทำทารุณโหดร้ายต่อสัตว์เป็นอาชญากรรมระดับเอ (Class A felony) เช่นเดียวกับการฆ่าคนตายและการวางเพลิง

    ทั้งนี้ การกระทำอันโหดร้ายทารุณต่อสัตว์นั้นประกอบด้วย

    1. การไม่ดูแลเอาใจใส่
    2. การทรมานและกระทำทารุณกรรมโดยจงใจ
    3. การกระทำทารุณกรรมอย่างมีการจัดตั้ง เช่น ชนไก่ หรือการนำสุนัขมากัดกัน
    4. การกระทำทารุณกรรมทางเพศต่อสัตว์

    การตัดสินใจของเอฟบีไอจะไม่เพียงช่วยเหลือสัตว์แต่ยังเป็นการช่วยให้สามารถบ่งชี้ว่าบุคคลใดอาจจะก่ออาชญากรรม เพราะตามรายงานจากเว็บไซต์ของ The Christian Science Monitor หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในสหรัฐฯ ผลการศึกษาทางจิตวิทยาแสดงให้เห็นว่าเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของอาชญากรที่ประกอบอาชญากรรมรุนแรงนั้นเริ่มต้นจากการทารุณกรรมสัตว์ นอกจากนี้ การเก็บสถิติจากแต่ละคดียังช่วยให้สามารถติดตามดูพื้นที่และกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงอีกด้วย

    ขณะนี้ การทำร้ายสัตว์ได้กลายเป็นอาชญากรรมระดับเอใน 13 รัฐของสหรัฐฯ รวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

    บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 ปลด 7 บอร์ด สสส.

    นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีต บอร์ด สสส. ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้ขัดการออนไลน์ (http://goo.gl/pIlcr4)
    นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีต บอร์ด สสส.
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้ขัดการออนไลน์ (http://goo.gl/pIlcr4)

    ท่ามกลางกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. วันที่ 5 ม.ค. 2558 เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โดยมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ปลดเจ้าหน้าที่รัฐบางตำแหน่งพ้นจากตำแหน่งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพงาน และกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) 7 คน ก็ถูกปลดพ้นจากตำแหน่งไปด้วย (ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน, นายสงกรานต์ ภาคโชคดี, นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ, นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, นายสมพร ใช้บางยาง, รศ.ประภัทร นิยม และนายวิเชียร พงศธร)

    นพ.วิชัย โชควิวัฒน หนึ่งในบอร์ด สสส. ที่ถูกปลด ให้ความเห็นว่า “โดยส่วนตัวเชื่อว่ามีกระบวนการล้มล้าง สสส. เพราะชนวนเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ การร่าง พ.ร.บ.เหล้าและบุหรี่ ทั้งที่โครงการ สสส. หลายอย่างที่ผ่านมาเกิดผลลัพธ์ที่ดี มีข้อมูลชัดเจน ขบวนการนี้มีบริษัทเหล้า-บุหรี่ต่างชาติอยู่เบื้องหลัง เพราะมองว่ากองทุน สสส. เป็นศัตรูที่จะขัดผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม มองว่า อนาคตของ สสส. หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าอำนาจรัฐที่จะดูแลให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างบริษัทบุหรี่ เหล้า กับผลประโยชน์ของประชาชน ว่าจะเอนเอียงไปในทิศทางใด”

    ในขณะเดียวกัน พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า สาเหตุในการปลดบอร์ด สสส. นั้นไม่ได้เป็นเพราะบริษัทเหล้าหรือบุหรี่อย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะการอนุมัติงบประมาณไม่ตรงวัตถุประสงค์ ซึ่งหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบนั้นพบหลักฐานชัดเจน และผู้ที่ถูกปลดสามารถขอดูรายละเอียดข้อมูลการตรวจสอบได้