เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558 รายงานล่าสุดของธนาคารโลกชี้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ เป็นประวัติการณ์ ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและร่ำรวยจะสูญเสียกำลังแรงงานประมาณร้อยละ 15 ภายในปี 2583
รายงาน “Live Long and Prosper: Aging in East Asia and Pacific” พบว่าร้อยละ 36 ของประชากรโลกที่มีอายุกว่า 65 ปีขึ้นไปหรือประมาณ 211 ล้านคนนั้นอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภายในปี 2583 จำนวนประชากรผู้ใหญ่วัยทำงานในเกาหลีใต้จะลดลงมากกว่าร้อยละ 15 ส่วนจีน ไทย และญี่ปุ่น ประชากรผู้ใหญ่วัยทำงานจะลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้สำหรับประเทศจีน
เทียบเท่ากับจำนวนแรงงานถึง 90 ล้านคน
การที่จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทำให้เกิดประเด็นท้าทายด้านนโยบายเศรษฐกิจ ความกดดันด้านการคลัง และความเสี่ยงด้านสังคม ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูป เช่น ระบบบำนาญ คาดว่าภายในปี 2583 ภูมิภาคนี้ต้องใช้เงินถึงประมาณร้อยละ 8-10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพื่อจ่ายเงินบำนาญ
ขณะที่ระบบสุขภาพของประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะมาพร้อมกับสังคมสูงวัย อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งเป็นโรคที่ผู้สูงวัยป่วยประมาณร้อยละ 85 ภายในปี 2573 นอกจากนี้ผู้สูงวัยที่มีครอบครัวดูแลในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงกว่าเมื่อก่อน
นายแอ็กเซล ฟานทรอตเซนบวร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านด้านประชากรอย่างรวดเร็วกว่าที่เราเคยเห็นมาก่อน และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะแก่ก่อนรวย และการจัดการกับเรื่องสูงวัยนั้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของคนสูงอายุเท่านั้น หากแต่ต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมเข้าถึงในทุกช่วงของชีวิตเพื่อช่วยกำลังแรงงานและส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเรื่องการดูแลเด็กเล็ก การศึกษา สุขภาพ บำนาญ การดูแลผู้สูงวัยในระยะยาวและอื่นๆ
รายงานนี้ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากสังคมสูงวัยที่อาจมีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมไปถึงแนวทางการใช้จ่ายภาครัฐ และยังได้วิเคราะห์ทบทวนนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศที่มีความหลากหลายด้านประชากร ว่าควรจะตระหนักถึงความท้าทายเรื่องตลาดแรงงาน ระบบประกันสังคม สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงผู้สูงวัยในภูมิภาคนี้ในด้านความเป็นอยู่ การทำงาน และการเกษียณอายุในปัจจุบัน
รายงานระบุว่า การที่ประชากรสูงวัยในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นมีสาเหตุบางประการจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และการที่ประชาชนมีรายได้สูงและมีการศึกษาที่ดีขึ้นส่งผลให้ประชาชนมีอายุยืนยาว ผนวกกับอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างมาก รวมถึงประเทศที่มีระดับอัตราการเกิดที่ไม่สามารถทดแทนประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภายในปี 2603 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะมีจำนวนประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดถึง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับ 1 ใน 25 เมื่อปี 2553
ประเทศต่างๆ กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยในรูปแบบที่แตกต่างกัน ประเทศที่ร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ จัดว่าเป็นสังคมสูงวัยแบบก้าวหน้า ด้วยประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนร้อยละ 14 หรือมากกว่า ประเทศที่ยังมีประชากรสูงวัยน้อยกว่าและยากจนกว่า เช่น กัมพูชา ลาว และปาปัวนิวกินี มีประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเพียงร้อยละ 4 แต่ประเทศเหล่านี้กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วภายใน 20-30 ปีข้างหน้านี้ ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เช่น จีน ไทย และเวียดนาม ต่างเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและได้เผชิญกับความท้าทายที่กดดันการบริหารจัดการเรื่องสูงวัย
นายชูเดีย เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะจัดการเรื่องสูงวัยไปพร้อมกับรักษาพลวัตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่ต้องดำเนินการผ่านการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เข้มแข็งและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเรื่องลูกจ้าง นายจ้าง และสังคมโดยรวมอย่างชัดเจน ภูมิภาคนี้กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านทั้งด้านประชากรและโรคระบาด ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายเชิงรุกเพื่อที่จะจัดการกับเรื่องบำนาญ การดูแลสุขภาพ และตลาดแรงงาน”
ทั้งนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความได้เปรียบหลายประการในการรับมือกับสังคมผู้สูงวัย โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้เริ่มเตรียมการรับมือมานานกว่าภูมิภาคอื่น ประชากรในภูมิภาคนี้มีอัตราการฝากเงินสูงในทุกช่วงอายุ ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น และมีระบบประกันสังคมที่มีกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์สูงเพียงเล็กน้อย
นายฟิลิป โอคีพ ผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าวว่า “ประชากรศาสตร์เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลมากต่อการพัฒนา แต่มันไม่ได้เป็นเรื่องของโชคชะตา การเลือกดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะช่วยให้สังคมสามารถปรับตัวรับมือกับเรื่องผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและการสูงวัยอย่างมีคุณค่า”
รายงานนี้ได้เสนอแนะการปฏิรูปที่ควรดำเนินการ ดังนี้
· ในเรื่องตลาดแรงงาน ประเทศที่มีความหลากหลายด้านประชากรอย่างญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิจิ สามารถส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาอยู่ในภาคแรงงานมากขึ้น โดยผ่านการปฏิรูปการดูแลเด็กเล็ก ส่วนจีน เวียดนาม และไทย ควรยกเลิกประโยชน์จากระบบบำนาญที่ส่งเสริมให้คนงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงในเมือง ให้เกษียณอายุเร็วเกินไป ส่วนประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นควรใช้ประโยชน์จากการเปิดให้มีแรงงานย้ายถิ่นอายุน้อยเข้ามาช่วยตลาดแรงงานในประเทศ นอกจากนี้ ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพของกำลังแรงงานที่มีอยู่ โดยสร้างความเข้มแข็งให้การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
· รายงานนี้เสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกปฏิรูประบบบำนาญที่มีอยู่ ซึ่งรวมถึงการขยายอายุเกษียณแบบค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายระบบบำนาญที่มีอยู่ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบ สำหรับประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย รายงานนี้ได้แนะนำให้รัฐบาลตระหนักถึงการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและสร้างระบบบำนาญที่ยั่งยืนเพื่อรับมือกับเรื่องสูงวัยในอนาคต
· รายงานนี้แนะนำให้เปลี่ยนการดำเนินงานระบบสุขภาพจากเดิมที่โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางไปสู่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลชุมชน รวมถึงส่งเสริมการจัดการผู้ป่วยที่มีสภาวะเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพและระบบการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพทางการเงิน การปรับโครงสร้างนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการในเรื่องเภสัชกรรมและเทคโนโลยี และการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังต้องการกำลังคนด้านสุขภาพที่สามารถให้บริการในระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนความท้าทายระยะยาวนั้น รายงานกล่าวว่าต้องมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ประชาชนสามาถจ่ายได้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวร่วมกับชุมชนและการใช้บ้านเป็นศูนย์กลาง